Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในยุคที่มีการระบาดของโรคร้ายอย่าง โควิด-19 เกิดการปรับเข้าสู่สมดุลธรรมชาติใหม่ที่เป็นผลจากการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติจึงจำเป็นต้องลดจำนวนประชากรโลกให้มีจำนวนที่เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ หากแต่มนุษย์มีความพยายามป้องป้องตนเองไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไปสู่พื้นที่อื่นในวงกว้างที่นำไปสู่การทำลายล้างจำนวนประชากรที่มากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องป้องกันโรคด้วยการหยุดกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการหยุดกิจกรรมทางการศึกษาของโลกทุกระดับการเรียนรู้ที่ดำเนินการในสถาบันการศึกษา อาจกล่าวได้ว่า เกิดการชะงักงันทางการศึกษาจากการระบาดของโรคโควิด 19 (CoVid 19 Educational Disruption) จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับวิธีการเรียนรู้เข้าสู่สภาวะปกติแบบใหม่ (New Normal of Education) เห็นได้จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้เลื่อนกำหนดเปิดภาคเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จากเดิมที่จะเปิดเรียนในวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 ออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นับได้ว่าเป็นการปิดเรียนที่ยาวนานกว่า 4 เดือน นับจากวันที่ 18 มีนาคม 2563 ที่กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งปิดสถานศึกษาด้วยเหตุพิเศษทำให้นักเรียนต้องหยุดเรียนทันที จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่มีการเรียนการสอน หากแต่บุคลากรทางการศึกษา หรือครู ยังต้องทำงานตามภารกิจที่คั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาของปีการศึกษาอันเป็นกิจกรรมของงานในลักษณะเดิม ขณะเดียวกันภายใต้ภาวะ CoVid 19 Educational Disruption ครูจำเป็นต้องคิดค้นและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมให้สามารถใช้ได้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการจัดเตรียมการเรียนการสอนในลักษณะปกติสำหรับปีการศึกษาถัดไป 

กระทรวงศึกษาธิการในฐานะที่เป็นองค์กรหลักในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้การนำเสนอหลากหลายแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนในช่วงที่มีการระบาดของดชื้อโควิด-19 โดย นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้เสนอแนวคิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ที่ผ่านมาว่าได้จัดทำรูปแบบการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีทางไกลไว้รองรับ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 ชั้นอนุบาล-ม.3 เรียนผ่านระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) และรูปแบบที่ 2 ชั้น ม.4-ม.6 ให้เรียนผ่านระบบออนไลน์ แต่ในด้านการจัดสอบเพื่อประเมินผลการเรียนรู้นั้นต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าจะใช้วิธีใดในการจัดสอบที่เหมาะสม แนวความคิดดังกล่าวอาจไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงด้วยการเรียนผ่านระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ยังต้องเรียนด้วยระบบห้องเรียนเช่นเดิมที่เป็นการเติมเต็มทางโอกาสให้กับนักเรียนชายขอบที่อยู่ห่างไกลได้เพิ่มประสบการณ์ในการเรียนรู้เพื่อทดแทนครูและอุปกรณ์ที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งการเรียนผ่านระบบออนไลน์นั้นไม่สามารถตอบสนองต่อกระบวนการการเรียนในทุกสาระวิชาที่เท่าเทียมกันได้ อาจเหมาะกับสาระการเรียนรู้ที่ไม่ซับซ้อนและสาระที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งนัก แนวทางในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ครูผู้สอนต้องบูรณาการวิธีการและทรัพยากรที่มีอยู่สร้างเป็นรูปแบบลักษณะพิเศษขึ้นใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ตามแต่ละวัฒนธรรมสังคม สภาพทางเศรษฐกิจของชุมชนและองค์กร ทรัพยากรทางการบริหารการศึกษาและเทคโนโลยีที่มีอยู่ รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นให้สามารถดำเนินการได้

รูปแบบการเรียนการสอนในประเทศไทยที่ดำเนินการอยู่นั้นมีความหลากหลายตามแต่เนื้อหาสาระของวิชา หรือลักษณะเฉพาะของผู้เรียน โดยหลักแล้วในรูปแบบการเรียนรู้แต่ละแบบจะยึดฐานหลักในการจัดการเรียนรู้ เป็นต้นว่า บางสาระการเรียนรู้จะยึดหลักการใช้โครงงานเป็นฐานการเรียนรู้ ใช้ปัญหาเป็นฐาน บางพื้นที่อาจใช้สังคมวัฒนธรรมเป็นฐานในการเรียนรู้ เป็นต้น แต่รูปแบบที่น่าสนใจที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์นี้ได้ คือ รูปแบบ การจัดการศึกษาแบบเรียนร่วม (Presentation Transcript) เป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กพิการที่ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาทั่วไป โดยให้ผู้เรียนร่วมกิจกรรมและใช้ช่วงเวลาช่วงใดช่วงหนึ่งในแต่ละวันกับเด็กที่เรียนปกติทั่วไป มีครูที่สอบเด็กปกติทั่วไปกับครูการศึกษาพิเศษร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกัน (Collaboration) ในการจัดการเรียนร่วมอาจกระทำได้หลายลักษณะ และอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ คือ  Home School ระบบนี้กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดให้ดำเนินการอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติการศึกษา และกฎกระทรวงฯ ให้สามารถจัดการศึกษาได้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ อนุบาล ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งทุกครอบครัวมีสิทธิในการจัดการเรียนการสอนเองที่บ้านตามกฎหมาย โดยในระดับปฐมวัย (อนุบาล) และระดับประถมศึกษา ครอบครัวสามารถยื่นขออนุญาตจดทะเบียนจัดการศึกษาที่บ้าน ในเขตพื้นที่การศึกษาตามภูมิลำเนา ในระดับมัธยมศึกษา ครอบครัวจะต้องยื่นขออนุญาต จดทะเบียนจัดการศึกษากับสำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา หรือลงทะเบียนเป็นนักเรียนกับหน่วยงานการศึกษานอกระบบ (กศน.) หรือลงทะเบียนเป็นนักเรียนกับการจัดการศึกษาทางไกล ซึ่งการจัดการศึกษารูปแบบนี้ครอบครัวจะได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีและได้รับเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาเหมือนโรงเรียนในระบบด้วย  

ในทางปฏิบัติจำเป็นต้องนำแนวทางของรูปแบบดังกล่าวมาสังเคราะห์ขึ้นใหม่โดยผสมผสานให้ลงตัวและเหมาะสมสำหรับนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนเป็นรูปแบบทางเลือกในสถานการณ์ CoVid 19 Educational Disruption สำหรับผู้ปกครองของเด็กหรือนักเรียนมีความพร้อม สามารถดำเนินการร่วมกับโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง และครู ต้องร่วมมือกัน ในการให้ความรู้กับผู้เรียน รวมทั้งมีการใช้สื่อ แหล่งเรียนรู้ และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด อาจไม่จำเป็นต้องจัดหาหรือจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติม ที่สำคัญสามารถลงมือได้ทันที ในช่วงเวลาปลายเดือนเมษายน ในระยะเปลี่ยนผ่านอาจทดลองจัดการเรียนรู้  ในบางกลุ่มสาระวิชา เช่น การงานอาชีพและเทคโนโลยี สุขศึกษา ดนตรี ศิลปะ เป็นต้น หากมีความเหมาะสมอาจไม่ต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

การจัดการเรียนตามรูปแบบที่สังเคราะห์ขึ้นใหม่นี้อาจจำแนกผู้เรียนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่   

1. กลุ่มนักเรียนที่มีความพร้อมสามารถเรียนด้วยตนเองได้  

2. กลุ่มนักเรียนที่มีความพร้อมบางส่วนสามารถเรียนได้โดยการเรียนร่วมกับผู้อื่นหรือมีผู้ปกครองคอยดูแล

3. กลุ่มนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมไม่สามารถเรียนด้วยตนเองได้ครูต้องจัดการเรียนการสอนให้และคอยกำกับดูแล 

จากนั้นจัดการเรียนการสอนตามความพร้อม บริบทของผู้เรียนและครอบครัว โดยผู้สอนมีหน้าที่ในการดำเนินการจัดการเรียนการสอน ดังนี้

1. จัดเตรียมแผนการสอนและอุปกรณ์การสอน จากที่มีอยู่เดิม จัดชุดเป็นชุดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนแต่ละคน ในแต่ละวิชา 

2. จัดหาและสืบค้นสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นสื่อของสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่จัดทำเผยแพร่ หรือสื่อของระบบการจัดการเรียนการสอนทางไกล EDLTV ซึ่งเป็นสื่อการสอนทางไกลที่มีการจัดหมวดหมู่ตามเนื้อหาวิชาและมีกำหนดการสอบพร้อมแบบประเมินประกอบอยู่แล้วสะดวกแก่ผู้สอนที่จะนำมาประยุกต์ใช้ ไม่ต้องสร้างใหม่

3. ปรับปรุงแผนการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับรูปแบบที่จะนำมาใช้ กำหนดบทบาทของบุคคลที่จะต้องมีส่วนร่วมอย่างชัดเจนและครอบคลุม ตามระดับความพร้อมของผู้เรียน

4. จัดเตรียมระบบสื่อสารออนไลน์ระหว่าง ผู้เรียน ผู้ปกครอง และผู้สอนให้พร้อม โดยใช้ระบบที่มีอยู่เดิมและไม่จำเป็นต้องจัดหาเพิ่มเติม เช่น facebook ,Line ,Google หรือเบอร์โทรศัพท์ หากไม่สามารถสื่อสารในแบบออนไลน์ได้ ผู้สอนจำเป็นต้องรู้จักบ้านพักของผู้เรียน เพื่อเดินทางไปแนะนำและจัดการเรียน การสอนให้เป็นพิเศษ 

ผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบผสมผสานนี้ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ และระบบวัดผลประเมินผลเดิม เปลี่ยนไปตรงที่ผู้สอนต้องเป็นผู้รับภาระในการจัดการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับเวลาที่เพิ่มมากขึ้นจากการที่นักเรียนไม่ต้องมาโรงเรียน ปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้เรียนต้องมาโรงเรียน  เป็นผู้สอนเป็นผู้เดินทางไปหาผู้เรียนแทน อาจจะเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบเดลิเวอรรี่หรือ  การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ “ครูกระเป๋า” ก็เป็นได้ เพื่อก้าวผ่านวิกฤติโควิดครั้งนี้ไปด้วยกัน

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net