Skip to main content
sharethis
  • โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 34 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 2,613 ราย ในจำนวนนี้หายแล้ว 1,405 ราย แจงกรณีคนขับรถ ขสมก. ที่เสียชีวิต ช่วงแรกที่ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการ ไปตรวจแล้วไม่พบว่าติดเชื้อ จึงไปทำงานตามปกติ ผ่านไป 7 วันจึงมีอาการเพิ่มขึ้นและพบว่าติดเชื้อ
  • เลขาธิการ กสทช. ย้ำค่ายมือถือต้องให้บริการเน็ต 10 GB ด้วยความเร็วสูงสุดที่ดำเนินการได้ หากผิดเงื่อนไข กสทช. จะไม่จ่ายเงิน กรณีการกดรับสิทธิ์ของประชาชนน่าจะไม่เกิน 20 ล้านเลขหมาย
  • เทศบาลนครนนทบุรีดึงงบ "กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น" ต่อกรไวรัส COVID-19 จัดสรรการใช้จ่ายฝ่าวิกฤติ-รับมือเหตุการณ์ในอนาคต

14 เม.ย. 2563 เมื่อเวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในนามโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเริ่มต้นระบุว่า สถานการณ์การระบาดในประเทศไทยประจำวันที่ 14 เม.ย. พบว่า มีผู้ป่วยใหม่ 34 ราย มีผู้ที่หายป่วยกลับบ้านได้แล้ว 1,405 ราย ยังมีผู้ที่รักษาตัวอยู่ 1,167 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,613 ราย โดยกลุ่มคนไทยที่กลับจากอินโดนีเซียแล้วเข้า State Quarantine มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย ที่จังหวัดสตูล จากสถิติภาพรวมของผู้ที่หายป่วย ทำให้เตียงในโรงพยาบาลว่างมากขึ้น อย่างไรก็ตามกรุงเทพฯ และนนทบุรี ยังเป็นกลุ่มใหญ่ โดยมีผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ช่วงอายุที่มีการติดเชื้อมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 30-39 ปี รวม 623 ราย ผู้ติดเชื้อน้อยที่สุดอายุ 1 เดือน และสูงสุดอายุ 97 ปี อายุเฉลี่ยของผู้ที่ติดเชื้อ 40 ปี

ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตมีเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเป็น 41 ราย โดยรายที่ 41 ผู้ป่วยหญิงชาวไทย อายุ 52 ปี อาชีพพนักงานขับรถ ขสมก. สาย 140 มีโรคประจำตัวคือโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจโต มีประวัติสังสรรค์ดื่มสุราในวงเพื่อน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พบผู้ที่ติดเชื้อจากการสังสรรค์ทั้งหมด 10 ราย วันที่ 26 มี.ค. ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก มีเสมหะ ไปตรวจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ แล้วกลับไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ ต่อมาวันที่ 3 เม.ย. มีอาการไข้ ถ่ายเหลว หอบ หายใจเหนื่อย  ผลตรวจยืนยันติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 4 เม.ย. ต่อมามีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ และเสียชีวิต 12 เม.ย.

เมื่อดูแผนที่แสดงจังหวัดที่รับรักษาผู้ป่วยยืนยันสะสม พบว่า กรุงเทพฯ 1,311 ราย ภูเก็ต 186 ราย นนทบุรี 150 ราย สมุทรปราการ 107 ราย ยะลา 90 ราย และมี 9 จังหวัดที่ยังคงไม่มีรายงานการรับผู้ป่วย อัตราผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อประชากรแสนคน จำแนกตามจังหวัดที่รับการรักษา อันดับ 1 ยังเป็น ภูเก็ต รองลงมาคือ กรุงเทพฯ ยะลา นนทบุรี ปัตตานี และในผู้ป่วยรายใหม่ 34 คน มาจากกรุงเทพฯ เป็นอันดับ 1 คือ 8 ราย ยะลา 6 ราย ปัตตานี ภูเก็ต จังหวัดละ 5 ราย นครศรีธรรมราช 4 ราย  สมุทรปราการ 2 ราย เลย พังงา สตูล จังหวัดละ 1 ราย และอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรคอีก 1 ราย

โฆษก ศคบ. กล่าวด้วยว่า WHO หรือองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยได้ ชื่นชมประเทศไทยที่สามารถลดลำดับผู้ติดเชื้อ โดยระบุว่า ไทยมีระบบการดูแลสุขภาพถึงระดับครอบครัว คือ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) กว่า 1,040,000 คน ทำให้สามารถดูแลคนได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งนี่คือความภาคภูมิใจของประเทศไทย ซึ่งองค์กรด้านสาธารณสุขระดับโลกรายงานให้คนทั่วโลกรับทราบ ถึงศักยภาพการดูแลสาธารณสุขของคนไทย ซึ่งต้องขอบคุณ อสม. รวมถึงบุคลากรทุกฝ่ายที่ช่วยกัน 

สำหรับผลการปฏิบัติการจากการประกาศเคอร์ฟิวของคืนที่ผ่านมา พบว่า มีประชาชนที่กระทำความผิดออกนอกเคหะสถาน 806 ราย ชุมนุมมั่วสุม 155 ราย ทั้งนี้ สาเหตุส่วนใหญ่ของการชุมนุมมั่วสุม คือ เล่นพนัน ดื่มสุราและยาเสพติด เหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมายและผิดจริยธรรม จากรายงานผู้ละเมิดความผิดของแต่ละจังหวัดพบว่า กรุงเทพมหานคร 500 กว่าคดี  ปทุมธานี 325 คดี ภูเก็ต 216 คดี

เมื่อถามว่ากรณีการติดเชื้อของคนขับรถ ขสมก. ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 เม.ย. แต่เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ขณะที่เพิ่งมีการแจ้งให้ประชาชนได้รับรู้ ถือว่ามีความผิดฐานปกปิดข้อมูลหรือไม่ และเรื่องดังกล่าวมีการสอบสวนโรคผู้ที่เกี่ยวข้งจำนวนเท่าไร และมีการติดตามความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว นอกจากนี้ประชาชนที่อาจจะเคยขึ้นรถที่พนักงาน ขสมก. ที่เสียชีวิตเป็นผู้ขับ จะต้องปฎิบัติตัวอย่างไร โฆษก ศบค. ตอบว่า สาเหตุที่ติดเชื้อมาจากการดื่มสังสรรค์ และช่วงแรกอาจจะไม่รู้ว่าตนเองมีอาการ จึงไปทำงานหรือไปสังสรรค์กับเพื่อน เป็นเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ส่วนกรณีการแจงให้ผู้อื่นรับรู้นั้น หากทราบว่าติดเชื้อแล้ว จะต้องรีบแจ้งต่อหน่วยงาน หัวหน้างาน อาจจะไม่จำเป็นต้องแจงให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้อย่าง กรณีของดารา ซึ่งไม่ได้เป็นประเด็นที่ต้องบอกอะไรกับใคร เพียงแค่แจ้งไว้ตามขั้นตอนก็ถือว่าดีแล้ว  และตอนนี้ทีมสอบสวนโรคได้เข้าไปทำการสอบสวนโรคต่อได้ กรณีนี้พบว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิต ได้แก่ เพื่อนที่อยู่ในวงดื่มสังสรรค์จำนวน 9 คน เพื่อนที่ทำงานเดียวกันจำนวน 8 คน และเชื่อมโยงไปถึงผู้ร่วมงานจำนวน 20 คน ได้แก่ พนักงานเก็บค่าโดยสารในรถคันเดียวกัน พนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสารที่ได้เปลี่ยนช่วงเวลาทำงานต่อจากผู้ป่วย และกลุ่มผู้ที่ใกล้ชิดได้เข้ารับการตรวจสอบเชื้อทุกคนและอยู่ในขั้นตอนติดตามผล กรณีของประชาชนที่สงสัยว่าตนเองได้ใช้บริการรถเมล์สาธารณะสายดังกล่าว หากมีอาการลักษณะที่เข้ากับโรคโควิด-19 คือ ไอ มีไข้ เหนื่อยหอบ ขอให้รีบไปเข้ารับการตรวจ เพื่อความปลอดภัยของตนเองและคนในสังคม ทางกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานสาธารณสุขทุกแห่งพร้อมให้บริการ

ผุ้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า Timeline การทำงานของพนักงานคนดังกล่าว ซึ่งส่วนมากจะขับรถเมล์ปรับอากาศสีขาว KINGLONG เลขข้างรถดังต่อไปนี้

  • 24 มี.ค. 63 - เลขข้างรถ 5-90033 กะเช้า
  • 25 มี.ค. 63 - เลขข้างรถ 5-90022 กะเช้า
  • 26 มี.ค. 63 – เวรหยุด ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดจังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก มีเสมหะ ไม่พบว่าติดเชื้อจึงกลับไปทำงานตามปกติ
  • 27 มี.ค. 63 - เลขข้างรถ 5-90023 กะเช้า
  • 28 มี.ค. 63 - เลขข้างรถ 5-90011 กะเช้า
  • 29 มี.ค. 63 - เลขข้างรถ 5-90037 กะเช้า
  • 30 มี.ค. 63 - เลขข้างรถ 5-90039 กะเช้า
  • 31 มี.ค. 63 - เลขข้างรถ 5-90035 กะเช้า
  • 1 เม.ย. 63 - เลขข้างรถ 5-90019 กะเช้า (ขับรถวันสุดท้ายก่อนป่วย)
  • 2 เม.ย. 63 - เวรหยุด
  • 3 เม.ย. 63 - ถูกวัดไข้ก่อนทำงาน พบมีไข้สูง 38 องศา จึงให้พนักงานกลับบ้าน และไปพบแพทย์ จากนั้นได้ใบรับรองแพทย์ว่ามีไข้ ไอ มีเสมหะ และให้รอผลตรวจ COVID-19
  • 4 เม.ย. 63 - ตรวจพบติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยมีการยืนยันผลตรวจเมื่อเวลา 22.30 น. และรักษาที่ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า (รพ.ทหารเรือ)
  • 12 เม.ย. 63 - รับแจ้งว่า พขร.คนดังกล่าวเสียชีวิตแล้ว
เลขาธิการ กสทช. ย้ำค่ายมือถือต้องให้บริการเน็ต 10 GB ด้วยความเร็วสูงสุดที่ดำเนินการได้ หากผิดเงื่อนไข กสทช. จะไม่จ่ายเงิน กรณีการกดรับสิทธิ์ของประชาชนน่าจะไม่เกิน 20 ล้านเลขหมาย

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ตามที่มีประชาชนผู้ใช้บริการส่วนหนึ่งโทรศัพท์เข้ามาชื่นชมว่าเน็ต 10 GB ของรัฐบาลและ กสทช. มีความเร็วมากกว่าแพ็คเกจเดิมของตนที่ใช้งานอยู่ และมีอีกกลุ่มหนึ่งร้องเรียนเข้ามาว่า เน็ตมือถือ 10 GB ที่กดรับสิทธิ์มา ความเร็วช้ากว่าแพ็คเกจเดิมที่เคยใช้อยู่มาก สำนักงาน กสทช. ได้รับทราบข้อมูลแล้ว จึงจะมีหนังสือสั่งการไปยังค่ายมือถือทุกค่าย ย้ำให้ค่ายมือถือทุกค่ายต้องให้บริการเน็ตมือถือ 10 GB 30 วัน ของรัฐบาล และ กสทช. ด้วยความเร็วสูงสุดตามที่แต่ละค่ายดำเนินการได้ ตามที่ได้ตกลงไว้กับสำนักงาน กสทช. หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข สำนักงาน กสทช. จะไม่จ่ายเงินค่าบริการในส่วนนี้ สำหรับประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ใช้เน็ตมือถือ 10 GB และอัฟสปีดเน็ตบ้านเป็น 100 Mbps 30 วัน ของรัฐบาลและ กสทช. หากประสบปัญหาในการใช้งาน สามารถร้องเรียนมาได้ที่ Call Center สำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

ฐากร กล่าวต่อว่า ยอดผู้กดรับสิทธิ์เพิ่มเน็ตมือถืออีก 10 GB ณ เวลานี้ อยู่ที่ 11.007 ล้านเลขหมาย และผ่านการตรวจสอบและได้รับสิทธิ์แล้ว 10.541 ล้านเลขหมาย ผ่านมาถึงวันนี้เป็นเวลา 5 วันแล้ว จากข้อมูลพบว่าการกดรับสิทธิ์เน็ตมือถือฟรีของรัฐบาลและ กสทช. เฉลี่ยแล้วสูงสุดวันละไม่เกิน 5 แสนเลขหมาย ซึ่งถ้าเป็นไปตามสถิติในขณะนี้ คาดการณ์ได้ว่าเมื่อถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการกดรับสิทธิ์นั้น น่าจะมีผู้ได้รับสิทธิ์ไม่เกินประมาณ 20 ล้านเลขหมาย น้อยกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีผู้กดรับสิทธิ์ถึง 35 ล้านเลขหมาย โดยสาเหตุที่ประชาชนกดรับสิทธิ์ไม่มาก น่าจะมีสาเหตุ ดังนี้

1.จำนวนเลขหมายโทรศัพท์มือถือที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบันแม้จะมีจำนวนถึง 127 ล้านเลขหมาย แต่มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านเลขหมายที่เป็นการลงทะเบียนในนามของคนต่างชาติไม่ว่าจะเป็นแรงงานพม่า ลาว กัมพูชา หรือนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

2.เลขหมายโทรศัพท์มือถือจำนวนมากมีการลงทะเบียนในนามนิติบุคคล อาทิ บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วน ซึ่งไม่ได้รับสิทธิ์ในครั้งนี้

3.เลขหมายโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนไว้ในนามของส่วนราชการ อาทิ เบอร์ประจำตำแหน่ง เบอร์โทรศัพท์ที่ใช้เป็นเบอร์ส่วนกลาง ทั้งหมดไม่ได้รับสิทธิ์นี้

4.เลขหมายโทรศัพท์มือถือที่ซื้อจากตัวแทนจำหน่ายของค่ายมือถือ (ลูกตู้) ที่มีการลงทะเบียนซิมไว้โดยตัวแทนจำหน่าย หรือจากข้อผิดพลาดอื่น ที่อาจมีเลขหมายโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนไว้หากไม่ตรงกับหมายเลขบัตรประชาชนที่ลงทะเบียนไว้ ก็ไม่ได้รับสิทธิ์

5.เลขหมายโทรศัพท์ที่เป็นซิมรายเดือน (Postpaid) และซิมเติมเงิน (Prepaid) จำนวนมากที่มีแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตใช้งานสูงกว่า 10 GB ไม่ได้รับสิทธิ์

เทศบาลนครนนทบุรีดึงงบ "กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น" ต่อกรไวรัส COVID-19 จัดสรรการใช้จ่ายฝ่าวิกฤติ-รับมือเหตุการณ์ในอนาคต

สมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี ในฐานะประธานกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครนนทบุรี เปิดเผยว่า พื้นที่เทศบาลนครนนทบุรีได้มีการใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ในการสู้กับวิกฤติไวรัส COVID-19 ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ การจัดหาน้ำยาล้างมือ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในด้านการป้องกันตัวเองแก่ประชาชน

ขณะเดียวกันภายในพื้นที่ยังควบคุมการแพร่ระบาด รณรงค์ด้าน Social distancing เพิ่มระยะห่างลดความหนาแน่นของประชากรในกิจกรรมต่างๆ มีการจัด Big cleaning week ทำความสะอาดพ่นยาฆ่าเชื้อตามสถานที่สาธารณะ รวมทั้งรณรงค์การล้างมือ ใส่หน้ากาก การปฏิบัติตามประกาศของจังหวัดอย่างเคร่งครัด ตลอดจนยังมีการเช่าโรงแรมเพื่อจัดเป็นที่พักสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวเฝ้าระวังอีกด้วย

นอกจากงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแล้ว ยังมีการใช้งบประมาณส่วนอื่นๆ เช่น เงินสะสมของเทศบาลจำนวนกว่า 25 ล้านบาท นำมาจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจในโรงพยาบาล รวมทั้งยังมีการระดมทุนทรัพย์จากผู้บริหารเทศบาลเอง ร่วมกับผู้ใจบุญ เพื่อใช้ซื้อของมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ เช่น ตู้เย็น ไมโครเวฟ รวมไปถึงชุดกาวน์ที่มอบให้โรงพยาบาลและศูนย์ป้องกันต่างๆ

สมนึก กล่าวว่า การดำเนินงานภายใต้สถานการณ์ขณะนี้ จะต้องเร่งระดมสรรพกำลังเพื่อให้ประชาชนตระหนักและเข้าใจถึงการป้องกัน ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าทางเทศบาลได้ทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันเชื้อโรค ฉะนั้นหากทุกฝ่ายร่วมกันเฝ้าระวังและปฏิบัติตามสิ่งที่กำหนด ก็คิดว่าจะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในเขตนครนนทบุรีได้

"เรามีการใช้เงินสะสมของเทศบาลด้วยอีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากเกรงว่าหากใช้งบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพอย่างเดียว เงินอาจจะเหลือน้อย และหากมีเหตุฉุกเฉินอีกในอนาคตอาจไม่เพียงพอต่อการใช้งาน จึงเป็นมาตรการบริหารเพื่อเตรียมพร้อมในการรองรับอนาคต" นายสมนึก ระบุ

สมนึก กล่าวอีกว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นนับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การดำเนินงานต่างๆ มีความคล่องตัว ซึ่งทางเทศบาลได้มีการใช้มาตั้งแต่กรณีที่มีการเกิดโรคซาร์สและไข้หวัดนก โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาปกติงบประมาณจะถูกจัดสรรผ่านอำเภอต่างๆ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินแล้วท้องถิ่นมักจะกลายเป็นแขนขาในการดูแลประชาชน

"ต้องยอมรับว่าสาธารณสุขเรามองการณ์ไกลที่มีระบบกองทุนฯ ซึ่งเงินทุกอย่างมากองไว้ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนสามารถเสนอการใช้งบประมาณ โดยที่ภาคประชาชนเองมีส่วนร่วมเป็นกรรมการด้วย จึงเป็นการทำงานที่คล่องตัว เพราะหากไม่มีงบประมาณนี้ งานที่ต้องรออนุมัติแต่ละเรื่องจะเป็นไปได้ช้า" สมนึก ระบุ

สมนึก ยังกล่าวด้วยว่า ถ้าบ้านเมืองมีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นทั้งหมด ประโยชน์ทั้งหมดจะตกอยู่กับพี่น้องประชาชน โดยท้องถิ่นสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว เป็นการบำบัดทุกข์บำรุงสุขอย่างตรงไปตรงมา และตรงตามวัตถุประสงค์ของคนในพื้นที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net