Skip to main content
sharethis

The Story of แม่หญิงไฟ้ท์ เปิดเรื่องราวของ 'สมบุญ' ปธ.เครือข่ายสลัม 4 ภาค ผู้ขับวินฯ แต่ AI ฟันธงเป็น 'นักศึกษา' อดเงินเยียวยาโควิด 19 พร้อมข้อเสนอให้รัฐประสานกับบริษัทไฟแนนซ์และธนาคารต่างๆ พักหนี้แบบพักจริงๆ ไม่ใช่พักเงินต้นแต่ดอกก็ยังวิ่ง 

สมบุญ คงคา ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค (ที่มาภาพ เพจ The Story of แม่หญิงไฟ้ท์)

14 เม.ย.2563 จากปัญหาการรับสิทธิ์เงินเยียวยาการระบาดของโควิด 19 จำนวน 5,000 บาท ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com จนมีผู้ออกมาโพสต์ว่าตนเองถูกปฏิเสธสิทธิ์นั้น รวมทั้งมีเหตุประชาชนที่ไม่ได้รับสิทธิ์ เดินทางมาร้องเรียนที่กระทรวงการคลัง อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเช้า วันนี้ (14 เม.ย.63) นั้น

ก่อนหน้านี้ เพจ 'เครือข่ายสลัม๔ภาค Four Regions Slum Network' ออกมาเปิดเผยข้อมูลผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจว่า สมบุญ คงคา ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ประกอบอาชีพ ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นหนึ่งในหมวดงานที่ควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลเดือนละ 5,000 บาท แต่เนื่องจากไปสมัครเรียน กศน. กำลังจะจบอีกไม่นาน ระบบจึงระบุว่าเธอ คือนักศึกษา ไม่มีสิทธิ์รับเงินเยียวยาดังกล่าวนั้น

เพจ The Story of แม่หญิงไฟ้ท์ เปิดบทสัมภาษณ์ สมบุญ เพิ่มเติม ถึงความรู้สึกกับหลังเพิ่งทราบผลการลงทะเบียนดังกล่าวว่า ตอนที่รัฐประกาศออกมาว่าจะเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตนดีใจมาก เพราะตอนนั้นมันเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับที่ตนขับขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่ค่อยได้แล้ว เพราะรัฐประกาศให้คนทำงานที่บ้านคนก็ไม่ค่อยมาใช้บริการกันแล้ว ทำให้รายได้หายไปเกือบหมดเลย เมื่อรัฐประกาศออกมาตนกับเพื่อนๆ ที่วินก็ดีใจกัน เพราะเห็นเขาเขียนข้อมูลว่ากลุ่มอาชีพวินมอเตอร์ไซด์รับจ้างเป็นกลุ่มอาชีพแรกๆ เลยที่จะได้เงินเยียวยาก็ลงกันหมดทั้งวินเลย

"มาวันนี้พี่ไปเช็คระบบบอกว่าพี่ไม่ผ่านเพราะพี่เป็นนักศึกษาพี่ก็อึ้งเลย ไปไม่ถูกเลย มันรู้สึกเสียใจน้อยใจ และกังวลใจมากที่สุดเพราะถ้าพี่ไม่ได้เงินเยียวยาก้อนนี้พี่กับครอบครัวแย่มากๆ แน่ๆเลย” สมบุญ กล่าวถึงความรู้สึกหลังทราบผล

เพจ The Story of แม่หญิงไฟ้ท์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ สมบุญ เพิ่มเติมด้วยว่า เธออาศัยอยู่กับครอบครัวในบ้านหลังเล็ก ๆย่านชุมชนพูนทรัพย์เขตสายไหม กรุงเทพ โดยเธอเป็นเสาหลักคนเดียวที่หาเลี้ยงครอบครัวทั้งแม่ที่อายุ 66 ปี น้องชายที่พิการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และลูกที่พิการ

โดย สมบุญ ระบุด้วยว่า แม่ของตนก็แก่มากแล้วก็ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ ส่วนน้องตนก็พิการกล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่ก่อนเขาก็ยังพอช่วยเหลือตัวเองได้ แต่มาช่วงหลังนี้อาการหนักขึ้นก็ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้แล้ว ส่วนลูกสาวตนก็พิการเหมือนกัน ทั้งบ้านก็อยู่ได้ด้วยการวิ่งวินของตน วันหนึ่งได้ประมาณ 400-500 บาท แบ่งมาซื้อกับข้าวกับปลาและเก็บไว้เป็นค่าผ่อนรถมอเตอร์ไซด์ที่มาใช้วิ่งวิน พอโควิดมาตนหาได้มากสุดก็วันละ 150 บาท และน้อยสุดก็วันละ 50 บาท มันไม่มีคนมานั่งเลย ตนกับครอบครัวเดือดร้อนมากเลย ก็พอโดนระบบปฏิเสธมาก็ยิ่งรู้สึกแย่ไปกันใหญ่เลย

ต่อคำถามที่ว่าการมีอยู่ของสถานภาพนักศึกษานั้น สมบุญ กล่าวว่า ตนขับวินถูกต้อง กรอกขั้นตอนทุกอย่างตามที่เขาให้กรอก แล้วก็มีหมายเลขของใบขับขี่สาธารณะที่ถูกต้องมาตั้ง 2 ปีแล้ว ส่วนเรื่องที่ระบบไปประมวลผลว่าตนเป็นนักศึกษา ตนก็สงสัย เนื่องจากที่เรียนคือการศึกษานอกระบบ และที่ไปลงเรียนไว้เพราะพี่ต้องการหาความรู้เพิ่มเติม แล้วถ้าระบบไปประมวลผลให้คนที่ลงเรียน กศน. เป็นนักศึกษาเหมือนในระบบมหาวิทยาลัยนี่แย่เลยมันจะตัดโอกาสคนอีกจำนวนมาก  คนที่ไปลงเรียน กศน. ส่วนใหญ่ก็มีแต่คนหาเช้ากินค่ำที่เขาขาดโอกาสทางการศึกษา เขาทำงานเลี้ยงชีพเป็นหลักกัน ทำไมระบบถึงไม่ประมวลผลจากอาชีพหลักที่เขาลงทะเบียนไว้ 

“นี่ไม่เคยท้อเลย แล้วก็ไม่เคยคิดว่าจะไม่สู้อะไรด้วยเลยนะ แต่แค่รู้สึกเสียใจนั่นแหละว่าถ้าเราได้เงินเยียวยาจากรัฐจริงๆ 5,000 บาทก็จะมาช่วยต่อชีวิตครอบครัวพี่ไปได้เยอะเลยแหละ พี่ก็ต้องหาทางสู้ต่อไป จะได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้แต่มันก็ต้องอยู่ให้ได้ต้องไปต่อให้ได้ มันไม่ใช่แค่เราคนเดียวล่ะ มีคนอีกมายมายที่อยู่ข้างหลังเราที่เราต้องดูแล” สมบุญ กล่าว

นอกจากการดูแลครอบครัวเป็นหลักแล้ว สมบุญ ยังมีอีกหนึ่งบทบาทคือประธานสลัม 4 ภาคที่คอยดูแลแก้ไขเกี่ยวกับปัญหาคนจนเมืองและคนชายขอบ ซึ่งในสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้พี่สมและเพื่อนๆ อีกหลายคนได้สำรวจกลุ่มคนจนเมืองที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่ง สมบุญ ให้ข้อมูลด้วยว่า เมื่อเกิดวิกฤตโควิดพวกตนก็กระจายสำรวจในเครือข่าย ว่ามีใครได้รับความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งพบว่าทุกคนได้รับผลกระทบกันเหมดเลยทั้งคนจนเมืองที่อยู่ต่างจังหวัด คนไร้บ้านที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเข้าไม่ถึงหน้ากากอนามัย เครือข่ายสลัม 4ภาคเองได้ระดมสมาชิกที่เย็บผ้าเป็นมาช่วยกันเย็บเพื่อแจกจ่ายให้ทั่วถึงบรรเทาความเดือดร้อน และการระดมของบริจาคก็จะใช้โซเซี่ยลเป็นสื่อโดยมีกลุ่มภาคประชาสังคมและหลายๆ องค์กรที่เป็นพันธมิตรทำงานร่วมกันบริจาคสิ่งของมาให้ทางมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยเครือข่าย สลัม 4ภาคได้กระจายช่วยเหลือผู้เดือดเพื่อช่วยบรรเทาไปได้บ้าง

ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวด้วยว่า ที่ยากลำบากมากที่สุดก็คือคนจนเมืองที่เป็นผู้หญิงเหมือนตน ที่พวกตนลุกขึ้นทำงานเคียงข้างกับผู้ชาย แต่งานของพวกตนไม่ได้จบแค่ข้างนอก ยังเป็นผู้ดูแลที่ต้องดูแลทุกคนในบ้านด้วย งานของพวกตนจึงเยอะและจึงยากลำบากมากขึ้นอีกเท่าตัวด้วย

พวกตนไม่รู้เลยว่าปัญหานี้มันจะอยู่นานแค่ไหน แล้วพวกตนก็ไม่อยากแบมือของความช่วยเหลือจากรัฐใดๆ เลย ถ้าพวกตนมีช่องทางที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ หางานทำเองได้ แต่นี่งานที่จะให้ทำก็ไม่มี จะไปรับจ้างที่ไหนก็ไม่มีใครจ้าง บริษัทก็ปิดหมด ร้านค้าก็ปิดหมด ก็เลยจำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือจริงๆ ดังนั้นตนอยากบอกกับรัฐตรงนี้นอกจากอยากให้เร่งแก้ไขเรื่องที่พี่ถูกระบบประมวลผลให้เป็นนักศึกษาจนพลาดรับเงินเยียวยา 5,000 แล้วก็อยากให้รัฐเยียวยาคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ให้เยียวยาทั้งหมดเพราะตอนนี้ทุกคนเดือดร้อนเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นคนชายขอบ คนไร้บ้าน คนจนเมือง คนไร้สัญชาติ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ”

“และที่สำคัญพี่อยากให้รัฐไปประสานกับบริษัทไฟแนนซ์และธนาคารต่างๆ ให้มีการพักหนี้แบบพักจริงๆ ไม่ใช่พักเงินต้นแต่ดอกก็ยังวิ่งอยู่ พักการเก็บหนี้ไปก่อนสัก 3-6 เดือนไม่เก็บเขาได้ไหมในช่วงระยะเวลานี้ ให้สถานการณ์มันคลี่คลายก่อนแล้วค่อยกลับมาเก็บหนี้ ส่วนเรื่องน้ำและไฟก็อยากให้รัฐประกาศให้ยกเว้นการเก็บค่าน้ำค่าไฟกับคนที่พักอาศัยในบ้านไปก่อนในช่วงสถานการวิกฤตนี้พี่อยากให้รัฐช่วยตรงนี้มากๆ เพราะปัญหาใหญ่ๆ ของคนจนตอนนี้คือหนี้ที่มันไม่ได้กักตัวที่บ้านได้เหมือนกับเรา” สมบุญ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net