Skip to main content
sharethis

แม้ประกาศชัยชนะในการคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ แต่จีนยังถูกกังขาต่อเนื่องเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลของรัฐบาล มีกรณีที่ทางการจีนออกคำสั่งควบคุมเนื้อหาและการเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับโควิด-19 ที่จะต้องเจอการตรวจทานเข้มงวดขึ้น อาจเป็นเหตุให้ประชาคมวิชาการนานาชาติต้องมองงานวิจัยจากจีนในเรื่องนี้แบบระมัดระวัง

ห้องทดลองของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน ภาพถ่ายเมื่อ 19 มีนาคม 2020 (ที่มา: Official Photo by Mori / Office of the President)

14 เม.ย. 2563 สื่อ CNN รายงานเมื่อวานนี้ (13 เม.ย.) ว่าประเทศจีนเพิ่งประกาศจำกัดเรื่องการเผยแพร่ผลงานวิชาการเกี่ยวกับโควิด-19 โดยที่กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายใต้กระทรวงศึกษาธิการของจีนประกาศว่า "งานวิจัยใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับต้นตอของไวรัสจะต้องมีการจัดการอย่างเข้มงวดกวดขัน"

มีการโพสต์คำสั่งดังกล่าวนี้ผ่านทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยฟู่ตั้งในเซี่ยงไฮ้ หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน แต่ก็มีการปลดออกในเวลาต่อมา คำสั่งดังกล่าวลงวันที่ 25 มี.ค. ระบุให้งานวิจัยที่เกี่ยวกับโควิด-19 ต้องให้กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนพิจารณาแล้วส่งต่อให้คณะมนตรีเฉพาะกิจด้านโควิด-19 ตรวจสอบอีกขั้นตอนหนึ่ง ถ้าหากคณะมนตรีอนุญาตถึงจะสามารถตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการได้

มีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยไชนีสแห่งฮ่องกง เดวิด ฮุย ชูเจิง เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้พวกเขาสามารถตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานได้โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบหลายขั้นตอนเช่นนี้มาก่อน เดวิดและทีมงานในจีนแผ่นดินใหญ่เคยเผยแพร่การวิเคราะห์ทางคลินิคเกี่ยวกับกรณีโควิด-19 ผ่านวารสารวิชาการนิวอิงแลนด์ในเดือน ก.พ.  โดยกระบวนการมีความเรียบง่ายและไม่มีข้อจำกัดใดๆ นอกจากนี้ในเดือน ม.ค. ก็มีการเผยแพร่ทางวิชาการโดยนักวิจัยชาวจีนเป็นครั้งแรกที่ทำให้ทราบว่าโควิด-19 ติดต่อกันระหว่างคนได้

นั่นทำให้เดวิดสงสัยว่าอาจจะเป็นเพราะมีนักวิจัยบางส่วนที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในสิ่งที่จีนมองว่าเป็นเรื่อง "อ่อนไหว" หรือทางการจีนอาจจะกลัวว่าจะมีเนื้อหา "ชวนให้เกิดข้อโต้แย้ง" เกี่ยวกับต้นตอของไวรัส ขณะที่ CNN ตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นความพยายามล่าสุดที่รัฐบาลจีนต้องการควบคุมเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นตอของโควิด-19 ที่ตอนนี้กลายเป็นเหตุระบาดไปทั่วโลก

ก่อนหน้านี้ในเดือน ธ.ค. 2562 เมื่อมีการรายงานเกี่ยวกับไวรัสนี้เป็นครั้งแรกทางการจีนโยงว่ามีต้นตอมาจากตลาดอาหารทะเลในเมือง ต่อจากนั้นก็มีการประเมินจากนักวิทยาศาสตร์ทั้งในจีนและโลกตะวันตกว่าไวรัสอาจจะอาศัยตัวกลางเป็นสัตว์อื่นก่อนที่จะข้าม โดยมีการประเมินตัวกลางต่างๆ กันไปไม่ว่าจะเป็นงู ที่ต่อมาระบุว่ามีความเป็นไปได้ต่ำมาก จนกระทั่งล่าสุดในวันที่ 10 เม.ย. ศูนย์ทดลองจางแล็บ มหาวิทยาลัยแห่งมิชิแกนระบุว่า พวกเขาพบหลักฐานมากขึ้นว่าตัวนิ้มน่าจะเป็นตัวกลางที่รับเชื้อมาจากค้างคาว และแพร่เชื้อ SARS-CoV-2 ต่อมาสู่มนุษย์จนทำให้เกิดโรคโควิด-19

ในขณะที่จีนเริ่มประกาศชัยชนะเหนือการควบคุมโควิด-19 สื่อฮ่องกงฟรีเพรสกังขาว่าข้อมูลของจีนจะเชื่อถือได้มากขนาดไหน จีนมีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสเพราะรัฐบาลอำนาจที่ใช้อำนาจรัฐควบคุมเรื่องเล่าตามใจตัวเอง องค์กรรัฐอาศัยกฎหมายความลับทางราชการเพื่อควบคุมว่าเรื่องใดเป็นความลับของรัฐบาล ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีข้อมูลหลายอย่างที่ถูกปกปิดรั่วไหลออกมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประหารชีวิต การค้าอวัยวะของนักโทษ และโครงการค่ายกักกันปรับทัศนคติ

ฮ่องกงฟรีเพรสระบุว่ากฎหมายดังกล่าวยังระบุครอบคลุมให้เรื่องการประท้วงแรงงาน การทำลายสิ่งแวดล้อม และโรคระบาดเป็น "ข้อมูลลับของรัฐบาล" ด้วย

แม้ในช่วงประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมาจะมีกฎหมายใหม่ว่าด้วยการให้ "เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร" ทำให้ประชาชนสามารถขอข้อมูลจากรัฐบาลได้ ถึงแม้ศาลมักตัดสินให้ประชาชนได้รับข้อมูลจากรัฐบาลได้ และรัฐบาลท้องถิ่นก็มักจะยินยอมเปิดเผยข้อมูลทำให้มีการเปิดเผยข้อมูลหลายๆ ด้านจากจีนมากขึ้น แต่การใช้เสรีภาพนี้ก็ยังถูกจำกัดจากกฎหมายความลับทางราชการอยู่ดี กฎหมายดังกล่าวยังสร้างความยุ่งยากในการตีความด้วยว่าข้อมูลต่างๆ ที่ไม่ได้ถูกเก็บรวบรวมโดยรัฐบาล เช่น เก็บรวบรวมจากสื่อหรือจากเอกชน หรือบุคคลทั่วไป ควรจะถือว่าเป็นข้อมูลของรัฐบาลด้วยหรือไม่

ฮ่องกงฟรีเพรสยังระบุถึงการที่รัฐบาลจีนเคยควบคุมข้อมูลหลายๆ ด้านที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน หนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญคือกรณีของโรคซาร์สเมื่อราว 17-18 ปีที่แล้ว ที่มาจากการระบาดของไวรัส SARS-CoV-1 ในตอนนั้นมีกรณีการแพร่ระบาดหลายพันกรณี และในปักกิ่งเองก็มีแพทย์เจียงยันยงเปิดเผยข้อมูลโต้แย้งกับรัฐบาลว่าจำนวนตัวเลขผู้ป่วยในปักกิ่งมีจำนวนมากกว่าที่รัฐบาลอ้าง คือมีผู้ป่วยมากกว่า 60 ราย ขณะที่รัฐบาลระบุว่ามีเพียง 12 ราย ทำให้ในเวลาต่อมาทางการจีนขอโทษและแถลงยอมรับว่าการสื่อสารข้อมูลกับองค์การอนามัยโลกของพวกเขานั้นล่าช้าและสัญญาว่าจะพัฒนาเรื่องนี้ในอนาคต

เรียบเรียงจาก

Beijing tightens grip over coronavirus research, amid US-China row on virus origin, CNN, Apr. 13, 2020

Study shows pangolins may have passed new coronavirus from bats to humans, The Conversation, Apr. 10, 2020

Explainer: As Beijing declares victory over the coronavirus, can we trust its data?, Hong Kong Free Press, Apr. 13, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net