คุยกับคนหายป่วย เล่าช่วงติดเชื้อโควิด-19 และการโดนแอนตี้จากสังคม

คุยกับพนักงานต้อนรับที่สนามมวยผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการทำงาน เล่าประสบการณ์การรักษาตัวและพักฟื้น 28 วันในโรงพยาบาล และความรู้สึกเมื่อคนใกล้ชิดถูกสังคมแอนตี้ไปด้วยเพราะการติดโควิดของเขา


วุฒิศักดิ์ ม่วงไหมทอง ขณะทำการรักษาตัว

ทุกวันนี้มีคนที่หายแล้วเป็นพันๆ คน ไม่มีใครกล้าออกมาให้สัมภาษณ์ ก็เพราะแบบนี้ ใครออกมาปุ๊บ เพื่อนฝูง ครอบครัว คนใกล้ชิดพังไปด้วยหมด มีแต่คนรังเกียจ แอนตี้  

ติดเชื้อจากการทำงาน

วุฒิศักดิ์ ม่วงไหมทอง อายุ 39 ปี เป็นพนักงานต้อนรับที่สนามมวย คอยดูแลลูกค้าซึ่งส่วนมากเป็นชาวต่างชาติที่จองตั๋วมาดูมวยจากบริษัทของเขา งานส่วนใหญ่ของเขาคลุกคลีอยู่กับคนต่างชาติทุกวัน หมุนเปลี่ยนระหว่างสนามมวยลุมพินีและราชดำเนิน 

ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา วุฒิศักดิ์เริ่มตื่นตัวและกังวลกับข่าวไวรัสอู่ฮั่นที่ต่อมามีชื่อว่าโควิด-19 เพราะรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจากการต้องปฏิสัมพันธ์กับคนจากหลายประเทศเป็นประจำ เขาเป็นพนักงานไม่กี่คนที่สวมหน้ากากอนามัยมาทำงาน จนเพื่อนๆ ร่วมงานแซว   

“ตอนนั้นบ้านเรายังไม่ปิดประเทศ ทั่วโลกทั้งอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน มาหมด ดูข่าวก็คิดว่ามาแน่ เพราะบ้านเราเปิดกว้างเหลือเกิน มาตรการช่วงแรกไม่รัดกุม มีแค่วัดไข้ตามสนามบินอย่างเดียว บางคนไม่มีไข้แต่อาจมีเชื้อก็เข้ามาได้ เราไปเพ่งเล็งแต่คนไทยที่กลับมาต้องกักตัว แต่นักท่องเที่ยวก็ปล่อยเขาไปเที่ยวได้เลยไม่ต้องกักตัว”

วุฒิศักดิ์เริ่มมีอาการวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว มีไข้ เมื่อกินยาพาราเซตามอลก็ดีขึ้น วันรุ่งขึ้นเขาลางาน ต่อมาวันที่ 14 มี.ค. แม้อาการของวุฒิศักดิ์จะดีขึ้นแล้ว แต่เขาก็ตัดสินใจไปตรวจเชื้อที่โรงพยาบาลศิริราชเพราะใกล้บ้าน 

ตอนแรกเขาลองเข้าไปที่โรงพยาบาลศิริราช ตึกปิยมหาราชการุณย์ แต่พบว่าค่าตรวจเกือบหลักหมื่น จึงตรวจโดยใช้สิทธิบัตรทองแทน ที่แผนกโควิดโดยเฉพาะ ซึ่งแพทย์เห็นว่าเขาเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง อีกทั้งยังมีอาการ จึงได้รับการตรวจเชื้อฟรี  

หลังจากนั่งรอประมาณ 8 ชั่วโมง ผลตรวจก็ออกมาเป็นบวก แม้ตอนนั้นเขาแทบไม่มีอาการใดๆแล้ว 

“รู้สึกเคว้งๆ แต่ก็คิดว่าเรามีโอกาสจะติด แล้วเราก็ศึกษาข้อมูลมาว่ามันไม่ได้น่ากลัว เราไม่ได้มีโรคประจำตัว ก็คงไม่เป็นไรมั้ง แต่ก็หวิวๆ ตอนนั้นคนติดเชื้อไม่ถึงร้อยคน ช่วงแรกๆที่ต้องอยู่ห้องเดี่ยวมันมีความทรมาน คิดไปต่างๆนานา วิตกกังวลไปทุกอย่าง ทั้งที่เราก็ไม่ได้เป็นอะไร แต่มันอาจเป็นผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัส ที่ทำให้ท้องเสีย กระวนกระวาย ผะอืดผะอม ระบบหายใจพัง ตอนอยู่คนเดียวก็มีแว่บหนึ่งเหมือนกันที่คิดว่า กูจะตายไหม พอย้ายมาอยู่ห้องรวมก็แชร์ประสบการณ์กัน ทุกคนก็ผ่านจุดนั้นเหมือนกันหมด คงเพราะเราเป็นรุ่นแรกๆ ก็เลยอาจเหมือนการทดลองยา อาจเป็นยาแรง หลังจากนั้นเขาก็ค่อยๆปรับยาไปเรื่อยๆ”

ข้อสังเกตของวุฒิศักดิ์คือโควิดเป็นโรคที่ไม่มีอาการบ่งชี้ที่ชัดเจน บางคนเป็นไข้ เมื่อยตัว บางคนแค่ไอ เจ็บคอ บางคนปวดหัว บางคนแทบไม่มีอาการ แต่จากการพูดคุยของเขากับผู้ป่วยรายอื่นๆ พบว่าอาการหนึ่งที่แทบทุกคนเป็นคือ รับรสและกลิ่นไม่ได้ บางคนเป็นแค่อาทิตย์เดียว บางคนแม้หายจากโรคแล้วก็ยังคงปรากฎอาการนี้ นอกจากนี้เขายังเล่าว่าผู้ป่วยกว่า 90% ที่เข้ารับการรักษาพร้อมๆกัน ไม่มีอาการรุนแรง หากไม่ได้มีโรคประจำตัว หรืออายุมาก

"ที่ผ่านมาเราไม่เคยเป็นอะไรหนักจนต้องนอนโรงพยาบาลเลย พอเราเป็นผู้ประสบภัย ก็เห็นว่าวิธีการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์บ้านเราถือว่ามีคุณภาพเลย อุปกรณ์ทางการแพทย์ก็พร้อมในระดับหนึ่ง แล้วเขาดูแลรักษาทั้งกายและใจ มีคำถามอะไรก็ถามหมอหรือพยาบาลได้ตลอดเวลา ในไลน์กลุ่ม หรือจะคุยส่วนตัวก็ได้ ต้องการอะไร มีอาการอะไร ผิดปกติตรงไหน ก็บอกเขา เขาจะจัดยามาให้"

วุฒิศักดิ์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช 10 กว่าวัน เมื่อตรวจพบเชื้อน้อยลงแล้วเขาถูกส่งต่อไปพักฟื้นที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกจนครบ 28 วัน ซึ่งเป็นระยะที่เชื้อไวรัสตายหมด ไม่มีโอกาสแพร่เชื้อได้อีก

ตลอดระยะเวลา 28 วัน วุฒิศักดิ์เล่าว่าเขาเสียเงินเพียง 240 บาทเป็นค่าไฟให้โรงพยาบาลศิริราช นอกนั้นฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

วุฒิศักดิ์เล่าเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเพื่อนของเขาอยู่ที่นั่นและเล่าให้ฟังว่าที่อเมริกาต้องเข้าคิวนานหลายวันกว่าจะได้ตรวจ และต้องรอผลตรวจอีก 5 วัน เมื่อตรวจพบเชื้อทางโรงพยาบาลจะให้กลับมารักษาตัวที่บ้านเอง เฉพาะกรณีที่เข้าขั้นวิกฤตจริงๆ จึงจะให้มารักษาตัวที่โรงพยาบาล

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) กำหนดให้สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (โรงพยาบาล) ทุกแห่ง จะต้องให้การรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินแก่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จนพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของสถานพยาบาล และหากจะต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาพยาบาลยังสถานพยาบาลอื่น ต้องจัดการให้มีการจัดส่งต่อตามความเหมาะสม โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น 

 

สังคมที่แอนตี้จนเกินเหตุ

ผลกระทบจากการที่วุฒิศักดิ์โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวบอกกับคนรอบข้างว่าเขาติดเชื้อโควิด-19 และขอให้คนที่ใกล้ชิดกับเขาช่วงที่ผ่านมาสังเกตอาการและกักตัวเองด้วยถ้าเป็นไปได้ ทำให้คนรอบข้างของเขาโดนสังคมตั้งแง่ใส่ไปด้วย

“เราต้องตามไปขอโทษเขาหมด พ่อเรา แฟนเรา เพื่อนฝูงเราโดนหมด อย่างพ่ออยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้เจอกันหลายอาทิตย์ ไม่ได้เจอก่อนที่จะป่วยอีก เขาไม่มีโอกาสมาติดเชื้อจากเราได้แน่นอน แต่เรื่องเหลือเชื่อคือนายอำเภอไปหาพ่อถึงบ้าน สุดท้ายพ่อโดนกักตัวในบ้านสามวันห้ามออกไปไหน และต้องไปตรวจเชื้อ ต้องเจ็บตัวโดนแยงคอ แยงจมูก แฟนเราโดนที่ทำงานสั่งให้ไปตรวจเพื่อเอาผลมายืนยัน เพื่อนเราคนหนึ่งที่เตะบอลด้วยกันโดนให้ออกจากคอนโด ร้านแถวบ้านที่เราเคยไปกินนานแล้วและเคยโพสต์ลงเฟสบุ๊ค ถูกคนขุดขึ้นมาแล้วบอกว่าเราเพิ่งไปกินไม่นาน จนไม่มีใครกล้าไปกิน และร้านต้องปิดไป”

“สังคมไทยมันต้องอยู่กันอย่างนี้ใช่ไหม ไม่มีใครกล้าแสดงตัว เพราะมันเจอแบบนี้ ทุกวันนี้มีคนที่หายแล้วเป็นพันๆ คน ไม่มีใครกล้าออกมาให้สัมภาษณ์ ก็เพราะแบบนี้ ใครออกมาปุ๊บ เพื่อนฝูง ครอบครัว คนใกล้ชิดพังไปด้วยหมด มีแต่คนรังเกียจ แอนตี้ แต่เราอยากให้ความรู้ที่ถูกต้องกับคน การป้องกันนั้นสำคัญ แต่ต้องไม่ใช่การมาแอนตี้กันแบบนี้ อย่าลืมว่าโรคแบบนี้จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต ก็เหมือนกับไข้หวัดอื่นๆ ทุกคนมีสิทธิเป็นได้หมด และมันไม่ได้ร้ายแรงขนาดซาร์สหรือเมอร์ส อย่างเมอร์สมีโอกาสเสียชีวิต 30-40% ซาร์สประมาณ 10% แต่โควิด-19 เสียชีวิตแค่ 1% กว่า ซึ่งน้อยมาก น้อยกว่าโรคมะเร็ง หรือโรคหัวใจ”

วุฒิศักดิ์ยังเล่าว่ามีคนที่เข้ารับการรักษาโควิด เมื่อหายแล้ว แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ เจ้าหน้าที่ของสาธารณสุขจะเข้าไปสำรวจที่พักและแจ้งกับคนในชุมชนก่อน ซึ่งวุฒิศักดิ์พบว่ามีอยู่ 2 กรณีที่เข้ารับการรักษาตัวช่วงใกล้เคียงกับเขา โดนคนที่พักอาศัยในคอนโดเดียวกันกีดกันไม่ให้พัก จนต้องกลับไปอยู่กับทางครอบครัว

“ไม่ใช่ว่าเขาไม่ยอมกักตัว อันนั้นสมควรโดนประณาม แต่การที่หมอวินิจฉัยให้กลับบ้านได้ ใบรับรองแพทย์ก็มี เขาก็สมควรได้กลับบ้าน บางคนเขาอยู่คนเดียว ไม่ได้สุงสิงกับใคร ทางโรงพยาบาลก็จะพยายามส่งคนเหล่านี้กลับที่พักตัวเอง จะได้ให้ที่ในโรงพยาบาลกับผู้ป่วยใหม่ที่เข้ามา แต่สังคมก็ไม่ฟัง ถ้าคุณไม่เชื่อหมอ ไม่เชื่อเจ้าหน้าที่ แล้วเราจะอยู่กันยังไง”

“คนที่ป่วยแล้วไม่มีใครอยากแพร่เชื้อ เพราะรู้ว่ามันเสียเวลา อาการอาจไม่หนัก แต่นานกว่าร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาใหม่ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 14 วัน และเพื่อความชัวร์ก็ต้องกักตัวต่อจนครบ 28 วัน”

ขณะเดียวกันมีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ หรือ herd immunity ยิ่งมีผู้ติดเชื้อที่หายจากโรคมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งช่วยปกป้องกลุ่มคนไม่มีภูมิคุ้มกันจากเชื้อร้ายได้โดยอัตโนมัติ ทั้งยังป้องกันการกลับมาระบาดซ้ำของโรคในภายหลังด้วย โดยตามทฤษฎีระบุว่าจะต้องมีประชากรติดเชื้อมากถึง 60% จึงจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้

 

สื่อตีข่าว

วุฒิศักดิ์เล่าว่ามีสำนักข่าวกระแสหลักแห่งหนึ่งนำโพสต์ในเฟสบุ๊คของเขาไปออกข่าวโดยที่ไม่ขออนุญาต

“ไม่เบลอชื่อ เบลอหน้า ไม่ขออนุญาต และที่สำคัญคือเขาพูดไม่ตรงกับที่เราเขียนในโพสต์ เราลงเรื่องการระวังป้องกัน แต่เขาไปพูดว่านี่คือคนที่ติดจากสนามมวย คนที่ติดจากสนามมวยอาการหนักทุกคน ทั้งที่เราไม่ได้อาการหนักเลย กลายเป็นคนรอบข้างเรารีบโทรมาหา ไหนบอกว่าไม่เป็นไร ทำไมข่าวลงว่าอาการหนัก ทำให้เราหมดศรัทธากับช่องนี้ไปเลย มีจรรยาบรรณสื่อ มีจรรยาบรรณกับแหล่งข่าวมากแค่ไหน”

อีกประเด็นหนึ่ง วุฒิศักดิ์มองว่าสื่อมักลงข่าวว่าสนามมวยเป็นแหล่งแพร่เชื้อ บรรดาเซียนมวยก็ตกเป็นจำเลยสังคมไปโดยปริยาย ทั้งที่ในสถานบันเทิงเองก็มีคนติดไม่น้อย วุฒิศักดิ์เล่าว่าชุดแรกที่มารับการรักษาพร้อมๆ กันคือสนามมวย แต่หลังจากนั้นจะเป็นคนที่ทำงานในสถานบันเทิงซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน 

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้มีการวิเคราะห์กันว่าเชื้อโควิดที่พบในสนามมวยนั้นมาจากอิตาลี ซึ่งเซียนมวยคนหนึ่งติดมาจากสมาชิกในครอบครัวที่เดินทางกลับมาจากอิตาลี แต่วุฒิศักดิ์เห็นว่าไม่ได้มาจากแค่เซียนมวยคนนั้นเพียงคนเดียว เนื่องจากการติดเชื้อนั้นกินวงกว้าง และตนเองซึ่งทำงานเป็นพนักงานต้อนรับอยู่แต่ชั้นล่างไม่ได้ขึ้นไปบนสนามก็ยังติด จึงเห็นว่าน่าจะเป็นการแพร่เชื้อจากหลายคนมากกว่า และอาจมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ถูกคัดกรองเพียงการวัดไข้

นอกจากนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้โพสต์เฟสบุ๊คเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า 

“โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ระบาดในประเทศไทยในเดือนมกราคม เป็นสายพันธุ์ที่เข้ามาจากประเทศจีน สายพันธุ์อู่ฮั่น เป็นชนิด L (leucine) ต่อมาพบการระบาดมาก ในเดือนมีนาคมที่สนามมวย และ สถานบันเทิงทองหล่อ พบว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกัน เป็นชนิด S (serine) ไม่ได้แตกต่างกัน ที่กล่าวว่าสายพันธุ์สนามมวย รุนแรงกว่า ทองหล่อจึงไม่จริง สายพันธุ์สนามมวย และ ทองหล่อ ไม่ได้มาจากอิตาลี สายพันธุ์อิตาลี ที่พบในประเทศไทยก็มี จะเป็นคนที่กลับมาจากอิตาลี เป็นชนิด L (leucine) การระบาดที่มากขึ้นในกทม ในเดือนมีนาคม ถึงปัจจุบัน เป็นชนิด S (serine) มากกว่าชนิด L (leucine)..สายพันธุ์ที่ระบาดมากใน กทม มีลักษณะคล้ายคลึงกัน จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า สนามมวยรุนแรงกว่าสถานบันเทิง ความรุนแรง น่าจะเป็นเพราะปัจจัยผู้ป่วย กลุ่มสนามมวยน่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงมากกว่า อายุมากกว่า และอาจมีปัจจัยอื่นๆ มากกว่าทองหล่อ…”

“ทุกวันนี้บางคนมักชอบเสพแต่ข่าวดราม่า วันนี้มีคนตายเท่าไหร่แล้ว อาการหนักเท่าไหร่ แต่ข้อมูลอื่นๆ อาจไม่ค่อยเปิดรับ เช่น คนที่หายป่วยแล้วไม่มีโอกาสแพร่เชื้อซ้ำ อาการของโรคที่อาจไม่รุนแรง มีโอกาสหายเยอะ แต่เขาก็กลัวจนไปแอนตี้คนอื่น ทั้งที่ถ้าเราป้องกันถูกวิธี รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ มันก็ช่วยลดความเสี่ยงลงได้เยอะ” วุฒิศักดิ์กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท