เราควรทำอย่างไรเมื่อเครื่องช่วยหายใจขาดแคลนจากการระบาดของโรคโควิด19: มุมมองด้านจริยธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ถ้าหากมีคนไข้ติดเชื้อโรคโควิด19 เป็นจำนวนมาก จะมีคนไข้จำนวนหนึ่งที่อาการหนัก ต้องเข้าห้องไอซียูและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ปัญหาคือถ้าเครื่องช่วยหายใจซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญในการช่วยชีวิตมีไม่พอ เราควรจะใช้เครื่องช่วยหายใจกับใคร และคนไข้กลุ่มไหนที่ไม่ควรใช้เครื่องช่วยหายใจ

ผู้ป่วยโรคโควิด19 ส่วนใหญ่ จะมีอาการ คล้ายไข้หวัด ที่ไม่รุนแรง แต่จะมีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10 ที่มีอาการทางปอดรุนแรง เนื่องจากมีน้ำสะสมอยู่ในถุงลมปอด ทำให้แลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง และถ้าต่ำกว่า ร้อยละ 93 แพทย์จะพิจารณาใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อปั๊มอากาศเข้าไปในปอดให้มากขึ้น ขั้นตอนการใช้เครื่องช่วยหายใจเริ่มจากการใส่ท่อหายใน อาจผ่านทางปาก จมูก หรือเจาะที่คอ และต่อท่อนี้ เข้ากับเครื่องช่วยหายใจ

ปัญหาการขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจเกิดขึ้นแล้ว ในการระบาดของไข้หวัดโควิด19 ที่อิตาลี ทำให้แพทย์ต้องเจอกับทางเลือกที่ยากลำบาก ระหว่างความเป็นกับความตาย ว่าจะช่วยชีวิตคนไข้รายใด ข้อมูลเมื่อวันที่ 12 เมษายน มีคนไข้เสียชีวิตในอิตาลี ประมาณ 19000 คน โดยในจำนวนนี้ ราวครึ่งหนึ่งอยู่ในแคว้นลอมบาร์ดี ทางตอนเหนือของอิตาลี หลังจากที่เริ่มมีคนไข้มากจนเครื่องช่วยหายใจไม่พอใช้ ในต้นเดือนมีนาคม สมาคมแพทย์อิตาลีได้ออกแนวทางการปฏิบัติในการรักษาคนไข้ว่า คนไข้ที่อายุ 80ปีขึ้นไป จะไม่มีการใช้เครื่องช่วยหายใจ และหากหัวใจหยุดเต้นจะไม่มีการปั๊มหัวใจ 

การมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนมีส่วนช่วยให้แพทย์ ที่ดูแลคนไข้ ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่แรกรับ เพราะเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก และน่าเศร้าใจมากกว่าที่จะถอดเครื่องช่วยหายใจจากคนไข้ สูงอายุ เพื่อเอามาใช้กับคนไข้ที่อายุน้อยกว่า  เมื่อมีเกณฑ์อายุออกมาแล้ว จึงไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจตั้งแต่แรก สำหรับคนไข้อายุ 80ปีขึ้นไป คนไข้สูงอายุบางรายก็ตัดสินใจที่จะเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน ให้ญาติได้ดูแลอยู่ห่างๆ เพราะถ้ามาโรงพยาบาล ก็ต้องเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เนื่องจากในสถานการณ์โรคระบาดญาติจะตามมาดูแลที่โรงพยาบาลไม่ได้

หากมองด้านจริยธรรมทางการแพทย์แล้ว การปล่อยให้คนไข้เสียชีวิต โดยไม่ให้การช่วยเหลือ ถือว่าผิดหลักจริยธรรม เพราะตามปฏิญาณจริยธรรมแห่งวิชาชีพแพทย์ (Declaration of Geneva) แพทย์ต้องคำนึงถึงสุขภาพของคนไข้เหนือสิ่งอื่นใด และต้องยึดมั่นในคุณค่าแห่งชีวิตมนุษย์ ถ้าเป็นในสถานการณ์ปกติ ที่ไม่มีโรคระบาด หากว่าโรงพยาบาลแห่งใดเครื่องช่วยหายใจถูกใช้ไปหมดแล้ว เมื่อมีคนไข้รายใหม่ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเข้ามา แพทย์ต้องช่วยเหลือโดยส่งต่อคนไข้ไปยัง โรงพยาบาลอื่นที่ยังมีเครื่องช่วยหายใจว่างอยู่ หรือใช้หลัก “มาก่อนได้ก่อน” (first come first serve)

แต่ในช่วงวิกฤตการณ์โรคระบาดในแคว้นลอมบาร์ดีของอิตาลี ทุกโรงพยาบาลในเขตใกล้เคียงล้วนมีคนไข้เต็มเหมือนกัน การทำตามหลักจริยธรรมทางการแพทย์จึงไม่สามารถทำได้ แต่ต้องใช้หลักจริยธรรมทางสาธารณสุข (Public health ethics) ซึ่งต่างจากหลักจริยธรรมทางการแพทย์ เพราะจริยธรรมทางการแพทย์ เป็นความสัมพันธ์ ระหว่างแพทย์กับคนไข้เฉพาะราย แต่หลักจริยธรรมทางสาธารณสุข เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนทั้งประเทศ จึงเน้นผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาชีวิตของประชากรไว้ให้ได้มากที่สุด  หรือยึดแนวคิดประโยชน์นิยม (Utilitarianism) เพราะการใช้เครื่องช่วยหายใจกับคนไข้สูงอายุ มักต้องใช้เป็นเวลานานและอาจช่วยชีวิตคนไข้ไม่ได้ หากนำมาใช้กับคนไข้วัยหนุ่มสาว จะใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลาน้อยกว่า เพราะหายเร็วกว่า จึงช่วยชีวิตคนได้จำนวนมากกว่า    

อีกหลักการหนึ่งที่สนับสนุนการใช้เครื่องช่วยหายใจกับคนหนุ่มสาวมากกว่าคนสูงอายุ คือ คิดเป็นจำนวนปีของชีวิตที่ช่วยได้ (life-years saved) เช่นชาวอิตาลีมีอายุขัยเฉลี่ย (life expectancy) 83 ปี หากช่วยคนไข้อายุ 80ปี ให้รอดชีวิต เท่ากับได้เวลาของชีวิตมา 3ปี แต่ถ้าช่วยคนอายุ 50 ปีให้รอด จะได้เวลามาถึง 33 ปี หรือจะมองว่า ผู้สูงอายุ ได้ผ่านเวลาของชีวิตมากแล้ว ควรให้โอกาสคนอื่น ได้มีชีวิตที่ยืนยาวบ้างก็ได้ 

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อายุเป็นเกณฑ์เห็นว่า คนทุกคนควรมีความเท่าเทียมกันและควรมีโอกาสได้รับการรักษาไม่ว่าจะอายุเท่าไร  เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าคนแต่ละคนจะอายุยืนไปถึงแค่ไหน คนอายุ 80ปีอาจจะอยู่ถึงร้อยปีก็ได้ ขณะที่คนอายุ 50ปี อาจเสียชีวิต ด้วยโรคอื่นเมื่ออายุ 51ปี ถ้าหากเราใช้อายุเป็นเกณฑ์ ฆาตกรที่สังหารคนอายุ 50ปี ก็สมควรถูกลงโทษจำคุกนานกว่า ฆาตกรที่สังหารคนอายุ 80ปี ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว กฎหมายไม่ได้บ่งไว้เช่นนั้น เพราะถือว่าทุกคนเท่ากันไม่ว่าจะอายุเท่าไร

นอกจากเรื่องของอายุแล้ว หลักจริยธรรมทางสาธารณสุข ยังให้ความสำคัญในการรักษาบุคลากรทางการแพทย์ ก่อนประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายการแพทย์เลือกที่จะช่วยเหลือพวกเดียวกัน แต่เป็นเพราะหากรักษาบุคลากรทางการแพทย์ได้สำเร็จ เมื่อพวกเขาหายป่วย ก็จะสามารถกลับมาช่วยเหลือคนไข้รายอื่นต่อไปได้อีก  อีกประการหนึ่ง บุคลากรทางการแพทย์ ต้องเสียสละตัวเองเข้าเสี่ยงกับการติดเชื้อ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น จึงสมควรได้รับการตอบแทน นอกจากนี้ยังรวมถึงบุคลากรอื่นๆนอกจากบุคลากรทางการแพทย์ ที่ช่วยหยุดการระบาดของโรคด้วยอย่างเช่น ผู้ทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับศพ ไม่ว่าจะฝังศพ หรือเผาศพ เพราะมีส่วนช่วยไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาดออกไป เพราะถ้าไม่มีบุคลากรเหล่านี้ อาจจะมีศพถูกทิ้งกระจายอยู่เต็มเมือง   

หลักในการจัดสรรเครื่องช่วยหายใจ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์ ซึ่งยังมีทรัพยากรอื่นๆอีก ที่อาจมีปัญหาขาดแคลนได้ ในช่วงที่มีการระบาดของโรคอย่างเช่น หน้ากากอนามัย ยาต้านไวรัส หรือแม้กระทั่งเมื่อมีการคิดค้นวัคซีนสำเร็จแล้ว สังคมควรมีแนวทางในการจัดสรรวัคซีนว่า จะฉีดให้กับใครก่อน หลักจริยธรรมในการจัดสรรทรัพยากรจึงมีความสำคัญ ร่วมกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ว่าการจัดสรรอย่างไร จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมมากที่สุด ทั้งนี้ควรมีการตกลงร่วมกันในสังคมอย่างโปร่งใส เช่นสภาวิชาชีพต่างๆ รวมถึงประชากรทั่วไป และควรมีการกำหนดเป็นแผนไว้ล่วงหน้า อย่างเช่นที่รัฐนิวยอร์ก รัฐมินนิโซตา และหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา ก็มีแผนการจัดสรรเครื่องช่วยหายใจ เมื่อมีโรคระบาดไว้ล่วงหน้า และมีการปรับปรุงแผนอย่างสม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง 
1. Fairchild, A. L., Jennings, B., & Trumpy, M. (2019, November). New public health code of ethics. In APHA's 2019 Annual Meeting and Expo (Nov. 2-Nov. 6). American Public Health Association.
2. Persad, G. (2017). Public Preferences About Fairness and the Ethics of Allocating Scarce Medical Interventions. Interdisciplinary Perspectives on Fairness, Equity, and Justice, 51-65.
3. Zucker, H., Adler, K., & Berens, D. (2015). Ventilator allocation guidelines. Albany: New York State Department of Health Task Force on Life and the Law.
4.Prehn, A. W., & Vawter, D. E. (2008). Ethical guidance for rationing scarce health-related resources in a severe influenza pandemic: Literature and plan review. Minnesota: Minnesota Department of Health.

เกี่ยวกับผู้เขียน: นพ.ยุทธนา ป้องโสม ;นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข แพทย์ศาสตร์บัณฑิตศิริราชพยาล, แพทย์เฉพาะทางรังสีวินิจฉัย
Master of health economics and pharmacoeconomics, Pompeu Fabra University, Barcelona
Email. yuthanap@yahoo.com
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท