Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ต้องยอมรับกันเลยว่า สิ่งที่ทั่วทั้งโลก รวมทั้งประเทศไทย กำลังประสบอยู่ ณ ขณะนี้คือมหันตภัยครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ เป็นโรคระบาดอุบัติใหม่ ที่แพร่กระจาย ติดเชื้อ และเสียชีวิตได้ง่าย ขณะที่เขียนต้นฉบับบทความนี้ ผ่านเวลามาเพียง 3เดือนกว่าๆ พบจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกนับล้านราย และมีผู้เสียชีวิตนับแสนราย นี่คือสถานการณ์วิกฤตของโลก และแน่นอนเป็นสถานการณ์วิกฤตของไทยเราด้วยเฉกเช่นกัน

เมื่อโรคโควิด-19 (โคโรน่า 2019) แพร่ระบาดคือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาแล้วบนโลกใบนี้ สิ่งสำคัญที่จะได้เห็นนั่นก็คือฝีมือและความสามารถในการแก้ไขปัญหา จัดการปัญหา และการควบคุมสถานการณ์ของรัฐบาลในแต่ละประเทศว่ามีมากน้อยเพียงใด ซึ่งแน่นอนต้องยอมรับอีกเช่นกันว่าแต่ละประเทศ มีรัฐบาลที่มีฝีมือและความสามารถ ไม่เท่ากัน ซึ่งสะท้อนไปถึงศักยภาพของผู้นำในยามวิกฤตเช่นนี้

ในช่วงปลายปี 2019 ทันทีที่มีการพบการติดเชื้อไวรัสนี้ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน จนเริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อ หลายประเทศเริ่มมาตรการด้วยการประกาศไม่อนุญาตให้ชาวจีนเข้าประเทศ เพื่อเป็นการป้องกัน นับเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับพลเมืองในประเทศของตนเองที่ว่ากันว่าดีทีเดียวในขณะนั้น

แต่สำหรับประเทศไทย ที่รายได้หลักของประเทศมาจากการพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว การจะปฏิเสธชาวจีนที่ถือว่าเป็นนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาล ก็คือการปฏิเสธรายได้เข้าประเทศจำนวนก้อนมหึมานั่นเอง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลนั้นต้องพิจารณาเลือกระหว่างรายได้เข้าประเทศ กับความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่จะส่งผลต่อความปลอดภัยในสุขภาพของประชาชนในประเทศตัวเอง และเมื่อรัฐบาลไทยเชื่อว่ามีมาตรการที่เอาอยู่ จึงมิได้เลือกปฏิเสธการเข้าประเทศของชาวจีนที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย จนถึงขนาดมีคนระดับรัฐมนตรีออกมาบอกเพื่อมิให้คนไทยตื่นตระหนกว่านี่ก็คือไข้หวัดธรรมดาๆ นั่นเอง

และการเลือกเปิดประเทศให้แขกชาวจีนและชาวต่างชาติ ยังคงเข้ามาประเทศไทยได้อย่างไม่ขาดสายในครั้งนั้น มันก็คือการเปิดประตูบ้านรับแขกผู้มาเยือนที่ไม่พึงประสงค์ออกนามอย่างเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 ให้ได้เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย และนั่นคือสิ่งประจักษ์ถึงมาตรการที่ใช้ในการตรวจตราบุคคลที่จะเข้ามาในราชอาณาจักรที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลเอาอยู่ อย่างที่ปากพร่ำบอกประชาชนหรือเปล่า

13 ม.ค. 63 มีการแถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกในประเทศไทย โดยเป็นหญิงชาวจีนที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น และนี่ยังถือว่าเป็นการพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 นอกประเทศจีนเป็นครั้งแรกอีกด้วย แม้ว่าการแถลงในวันนั้นผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข จะยังยืนยันว่าสามารถรับมือเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ได้ ขอให้ประชาชนชาวไทยไม่ต้องตื่นตระหนก แต่ดูเหมือนความเชื่อมั่นของคนไทยที่มีต่อรัฐบาล จะไม่ได้เป็นเช่นนั้น ยิ่งมาเจอการแถลงข่าวกันไปคนละทิศ คนละทางของแต่ละหน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ยิ่งทำให้เห็นถึงศักยภาพและฝีมือของรัฐบาลในการรับมือกับปัญหานี้ว่าเป็นเช่นไรในสายตาประชาชน

หลายภาคส่วนพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศออกมาตรการปิดประเทศ หรืออย่างน้อยก็ประกาศเช่นชาติอื่นๆ คือการปฏิเสธการเข้าประเทศของชาวจีน แต่ดูเหมือนรัฐบาลยังมั่นใจในแนวทางรับมือของตนเอง ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะยังไม่ใช่จำนวนที่มาก แต่ก็เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นแบบมีนัยยะบางประการ จนกระทั่งหลายๆ ประเทศต้องประกาศเตือนพลเมืองของตัวเอง ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย หรือหลายๆ ประเทศก็เริ่มออกประกาศ ไม่อนุญาตให้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศไทยเข้าประเทศ ทำให้ประชาชนยิ่งสงสัยว่าในขณะที่ทั่วโลกต่างรับรู้ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิ-19 ในไทย แต่ทำไมรัฐบาลไทยเองถึงยังไม่รู้ตัว

และสิ่งที่ทุกคนคาดคิดไว้ ก็ไม่ไกลเกินจริง เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดช่วงเริ่มเข้าเดือนมีนาคม ได้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลเอาไม่อยู่กับเชื้อโควิด-19 แถมการแถลงแต่ละประเด็นของแต่ละหน่วยงานก็ไปคนละทิศคนละทาง ทำให้ในวันที่ 12 มีนาคม 2563 รัฐบาลตั้งประกาศตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

กระทั่งวันที่ 24 มีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้ออกทีวีพูลแถลงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน 2563 พร้อมยกระดับ ศบค. และรวบอำนาจสั่งการในทุกกระทรวงมาไว้ที่ตนเองในฐานะประธาน ศบค. เริ่มมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นในบางพื้นที่ เริ่มที่ กทม.และปริมณฑลในการออกประกาศปิดบางสถานที่ที่คาดว่าจะเป็นแหล่งกระจายเชื้อทำให้เกิดการแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างในการที่จะต้องหยุดประกอบอาชีพที่ใช้หารายได้ดำรงชีวิตประจำวัน

เพราะการที่ไม่มีการเตรียมการที่ดีในการออกคำสั่ง นำมาซึ่งการต้องออกคำสั่งมาขยายความในคำสั่งเดิมที่ออกไปก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงฝีไม้ลายมือของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับวิกฤตการณ์โควิด-19 และการออกคำสั่งโดยไม่มีการเตรียมมาตรการใดๆ รองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ก่อปัญหาให้กับประชาชนทั่วทุกหัวระแหง อันนำมาสู่การที่รัฐบาลต้องออกมาตรการเยียวยาตามหลัง (ทั้งๆ ที่ควรมีการคิดเตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบก่อน) โดยในช่วงแรกมีการประกาศเยียวยาเงินจำนวน 5,000 บาทให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของรัฐบาลจำนวน 3 ล้านคน (ไม่รู้คิดจากอะไร) ทันทีที่มีการเปิดให้ลงทะเบียนในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” แล้วมีคนจำนวนมหาศาลเข้าไปลงทะเบียนกว่า 26 ล้านคน รัฐบาลก็ประกาศขยายจำนวนผู้ที่จะได้รับการเยียวยาเป็น 9 ล้านคน โดยจะใช้ระบบสมองกล หรือ AI ในการประมวลผลว่าใครคือ 9 ล้านคน ที่ควรได้รับการเยียวยา (ซึ่งก็ยังคงไม่รู้อยู่เช่นเดิมว่าคิดจากอะไรว่ามีผู้ได้รับผลกระทบเพียงเท่านี้) แถมในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ยังมีการแถลงโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ขยายระยะเวลาในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 9 ล้านคนนี้เป็นเวลา 6 เดือนๆ ละ 5,000 บาท (จากเดิม 3 เดือน ) ซึ่งก่อให้เกิดคำถามตามมามากมายโดยเฉพาะในประเด็นจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบที่จะเยียวยา 9 ล้านคน จนมีหลายฝ่ายออกมาคัดค้านและตั้งประเด็นว่าถ้าจะขยายเป็น 6 เดือน 9 ล้านคน สู้จ่าย 3 เดือน แต่เยียวยา 18 ล้านคนจะดีกว่า จนรัฐบาลต้องถอยแบบไม่เป็นท่า โดยให้คนในฟากรัฐบาลรีบออกมาบอกว่า ที่แถลงว่าจะขยายการเยียวยาเป็น 6 เดือนน่ะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน รัฐบาลจะยังคงจ่ายเยียวยา 3 เดือนตามเดิม แต่อาจขยายเป็น 6 เดือนหากยังมีผลกระทบอยู่เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 เดือน

หลังการเริ่มจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยมีการแจ้งว่าใครได้หรือใครไม่ได้ ทำให้เกิดเสียงครหาถึงระบบการกลั่นกรองของโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” เพราะมีคนที่ไม่ควรได้รับ แต่กลับได้รับ และมีคนที่เดือดร้อนจริงๆ แต่กลับถูกปฏิเสธ โดยเฉพาะประเด็นการอ้างเหตุผลในการประกอบอาชีพเกษตรกร ทั้งๆ ที่หลายคนมิได้เป็นเกษตรกร ทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพของสมองกล หรือ AI ที่รัฐบาลคุยนักคุยหนาว่าเป็นอัจฉริยะ แต่กลับอาจจะก่อให้เกิดความโกลาหลในสังคม (ดูได้จากความวุ่นวายที่กระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563)

ซึ่งเชื่อว่าท้ายที่สุด รัฐบาลคงจะหนีไม่พ้นที่จะต้องขยายจำนวนผู้ที่ต้องได้รับการเยียวยาเพิ่มขึ้นแน่ๆ ส่วนจะไปถึงจำนวน 18 ล้านคนหรือไม่นั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องตามดู

แต่ที่แน่ๆ เราจะยังคงเห็นการกลับไปกลับมาในมาตรการเยียวยาของรัฐบาลกันอีกต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด เพราะความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารสถานการณ์วิกฤตฉุกเฉินของรัฐบาลนั่นเอง ตราบที่ยังเป็นรัฐบาลนี้บริหารราชการแผ่นดิน

เว้นเสียแต่ว่าประชาชนจะพร้อมใจกันออก “มาตรการเกินเยียวยา” ให้กับรัฐบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net