Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์ฯ เปิดรายงาน ฉบับ 2 ถึงสถานการณ์แรงงานไทยในมาเลย์หลัง รบ.ไทยให้ชะลอการเดินทางกลับประเทศ พร้อมในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ด้านเสบียงอาหารแก่แรงงานไทย การพาคนไทยในมาเลเซียกลับบ้าน และการกักตัวเมื่อเดินทางมาถึง

 

15 เม.ย.2563 จากเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาคณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.) ออกรายงาน ฉบับที่ 1 ต่อสถานการณ์แรงงานไทยในมาเลเซียภายใต้การแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการสัญจร (MCO) นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา คฉ.จม. ออกรายงานฉบับที่  2 ในหัวข้อ สถานการณ์แรงงานไทยในมาเลเซียหลังรัฐบาลไทยให้ชะลอการเดินทางกลับประเทศ

โดยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย ในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ด้านเสบียงอาหารแก่แรงงานไทย ต้องเร่งนำความช่วยเหลือเข้าไปในมาเลเซียอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ กลไกสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลที่ทำอยู่นั้น แม้จะทำสุดความสามารถแล้ว แต่ก็ยังไม่มีกำลังมากพอที่จะช่วยเหลือแรงงานไทยได้อย่างทั่วถึง การช่วยเหลือต้องอาศัยความร่วมมือระดับประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีของไทยต้องขอความช่วยเหลือโดยตรงจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในการขอส่งเสบียงอาหารมาทางเครื่องบินมาให้แก่แรงงานไทย รวมทั้งขอให้ทางการมาเลเซียช่วยกระจายสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้แก่คนไทยโดยใช้กลไกแนวหน้ามาเลเซียที่คุมพื้นที่ทั้งหมดอยู่ ได้แก่ ตำรวจ ทหาร และ อาสาสมัคร  ทั้งนี้ ระดับปฏิบัติการของฝ่ายไทยต้องมีรายชื่อและจำนวนผู้เดือดร้อนที่ชัดเจนและประสานงานกับทางมาเลเซียอย่างเป็นระบบและใกล้ชิด 

สำหรับข้อเสนอต่อการพาคนไทยในมาเลเซียกลับบ้านนั้น แม้รัฐบาลมาเลเซียอนุโลมให้แรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานและเอกสารการเดินทางหมดอายุอยู่ต่อในประเทศมาเลเซียได้ แต่ความอดยาก การไม่มีเงิน และความไม่แน่นอนของทั้งสถานการณ์โควิด 19 ในมาเลเซียและการจัดระบบแรงงานต่างชาติของมาเลเซียหลังโควิด 19 ทำให้แรงงานไทยจำนวนมากต้องการเดินทางกลับไทย ที่ผ่านมาข้อกำหนดเรื่องใบรับรองแพทย์ ได้สร้างภาระอย่างมากให้แก่แรงงานไทยที่ต้องการกลับบ้าน เพราะแรงงานไทยส่วนมากเข้าไม่ถึงสถานพยาบาล อีกทั้งใบรับรองแพทย์ที่แม้จะระบุคำว่า fit to travel ก็ไม่สามารถบ่งชี้ภาวะการติดโรคโควิด 19 ได้แต่อย่างใด คฉ.จม. เสนอว่า ควรยกเลิกเสีย เช่นเดียวกับหนังสือรับรองการเดินทางที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ไทย ที่ก็สร้างภาระให้กับแรงงานไทยมากเช่นกัน โดยเฉพาะที่คนเข้าไม่ระบบออนไลน์หรือใช้ภาษาไทยไม่คล่อง จึงสมควรยกเลิกด้วยเช่นกัน

ในส่วนการอนุญาตให้คนไทยในมาเลเซียเดินทางเข้าประเทศรอบใหม่ที่จะเริ่มในวันที่ 18 เม.ย. นี้ นั้น คฉ.จม. เสนอว่ารัฐบาลไทยควรกำหนดโควตาการอนุญาตให้เดินทางเข้าไทยในแต่ละวันที่เหมาะสม ต้องมีจำนวนที่ไม่น้อยเกินไปจนสร้างความเดือดร้อนแก่แรงงานไทย และต้องทำให้การลงทะเบียนแสดงความจำนงขอเดินทางกลับประเทศเป็นไปโดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีหลายช่องทางเพื่ออำนวยความสะดวก ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่สำคัญรัฐจะต้องอำนวยความสะดวกในการเดินทางมายังด่านชายถาวรแดนแดนโดยการเช่าเหมารถบัสในประเทศมาเลเซียบริการมาส่งยังด่านต่างๆ ทุกวัน เนื่องจากแรงงานไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินเหลือพอสำหรับการเดินทางด้วยตนเองอีกแล้ว

คฉ.จม. ข้อเสนอในการกักตัวเมื่อเดินทางมาถึงไทย นั้น คฉ.จม. เสนอว่า รัฐบาลไทยต้องจัดเตรียมสถานที่กักตัวผู้เดินทางกลับให้ได้พร้อม และอำนวยความสะดวกในการเดินทางจากด่านฝั่งไทยไปยังสถานที่กักตัว การไม่สามารถจัดหาสถานที่กักตัวรองรับผู้เดินทางกลับได้เพียงพอถือว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด 19 ทั้งนี้ รัฐสามารถเพิ่มสถานที่กักตัวโดยใช้โรงแรมต่างๆ ในอำเภอสุไหงโก-ลกและบริเวณด่านนอก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งมีโรงแรมที่ใกล้ปิดกิจการอยู่เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับที่รัฐดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ  ที่สำคัญ รัฐควรจ่ายเบี้ยเลี้ยงเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ที่กักตัวด้วย อันจะเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของพวกเขาได้ในทางหนึ่ง

โดยมีรายละเอียดดังนี้

รายงานฉบับที่ 2 สถานการณ์แรงงานไทยในมาเลเซียหลังรัฐบาลไทยให้ชะลอการเดินทางกลับประเทศ

โดย คณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.)

(เผยแพร่วันที่ 13 เมษายน 2563)

1. มาตรการของไทยและมาเลเซียในการรับมือโควิด 19

1.1 มาตรการของไทย

ในช่วงบ่ายวันที่ 2 เมษายน 2563  นายกรัฐมนตรีของไทยได้สั่งการในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการชะลอคนต่างชาติและคนไทยที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 15 เมษายน 2563 (1)  ข้อสั่งการดังกล่าวมาจากการที่ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ที่จากการเดินทางกลับประเทศของคนไทยยังคงมีมากอย่างต่อเนื่อง ในการแถลงข่าวประจำวันของ ศบค. ได้เน้นย้ำอยู่เสมอว่าจะต้องมีการเฝ้าระวังด่านพรมแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย  

ในช่วงเย็นของวันเดียวกันได้มี ประกาศสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เรื่อง สถานการณ์แพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ฉบับที่ 17/2563 อ้างถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีของไทยข้างต้น และแจ้งให้คนไทยชะลอการเดินทางจากมาเลเซียมายังประเทศไทยไปหลังวันที่  15 เมษายน 2563 แม้จะเป็นผู้ที่มีใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทยจากสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู หรือสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง แล้วก็ตาม

ต่อมาในวันที่ 3 เมษายน 2563 ได้มี ประกาศสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เรื่อง สถานการณ์แพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ฉบับที่ 18/2563 ระบุว่า ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับไทยสามารถเริ่มเดินทางกลับเข้าประเทศไทยได้อีกครั้งในวันที่ 16 เมษายน 2563 โดยทุกคนจะต้องเข้ากักกันเฝ้าระวังโรค (quarantine) ในพื้นที่ที่ทางการจัดไว้รองรับ และสถานเอกอัครราชทูตฯ จะหยุดออกหนังสือรับรองฯ ไปก่อนในทุกช่องทาง พร้อมทั้งแจ้งว่า ขณะนี้ด่านทุกด่านตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ได้ปิดทำการและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้จนถึงวันที่ 15 เมษายน 2563 

ขณะที่ในวันที่ 4 เมษายน  2563 เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้มีสารถึงคนไทยในมาเลเซียผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูตฯ อธิบายถึงความจำเป็นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงมากขึ้นของโควิด 19 ที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้คนไทยชะลอการเดินทางกลับประเทศ และขอร้องให้คนไทยอยู่กับที่ในที่พำนักให้มากที่สุด

ทั้งนี้ ในประกาศทั้ง 2 ฉบับของสถานเอกอัครราชทูตฯ และในสารจากเอกอัครราชทูตฯ ได้เน้นย้ำถึงความพยายามอย่างยิ่งยวดของสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ทั้ง 2 แห่ง และเครือข่ายอาสาสมัครคนไทยทั่วประเทศมาเลเซีย ในการช่วยเหลทืบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องคนไทยในมาเลเซียไปจนกว่าสถาการณ์จะคลี่คลายหรือจนกว่าจะเดินทางกลับประเทศได้

ล่าสุด วันที่ 10 เมษายน 2563 มีหนังสือจากกระทรวงมหาดไทยเลขที่ มท. 0230/5718 ส่งถึงปลัดกระทรวงต่างประเทศแจ้งกำหนดวันเริ่มอนุญาตให้คนสัญชาติไทยกลับเข้ามาผ่านช่องทางจุดผ่านแดนถาวรในพื้นที่จังหวัดชายแดน 21 จังหวัด 21 ช่องทาง ได้ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2563 เป็นต้นไป โดยกำหนดจำนวนผู้เดินทางเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้สำหรับจุดผ่านแดนถาวรอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และ จุดผ่านแดนถาวรอำเภอสุไงหโก-ลก จังหวัดนราธิวาส วันละไม่เกิน 100 ต่อด่าน ส่วนจุดผ่านแดนถาวรอำเภอเบตง จังหวัดยะลา จุดผ่านแดนถาวรวังประจัน จังหวัดสตูล และจุดผ่านแดนถาวรอำเภอเมืองสตูล (ท่าเรือตำมะลัง) จังหวัดสตูล วันละไม่เกิน 50 คนต่อด่าน โดยผู้เดินทางต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ fit to travel และหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสถานกงสุลไทยในมาเลเซียดังเดิม

1.2 มาตราการของมาเลเซีย

ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563  มาเลเซียได้ออกคำสั่งควบคุมการเดินทาง (Movement Control Order - MCO) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด 19 และได้ประกาศขยายเวลาการบังคับใช้ครั้งล่าสุดไปจนถึงวันที่ 28 เมษายน 2563 ทั้งนี้ MCO คือ การให้ประชาชนอยู่แต่ในที่พักเพื่อป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงจากการติดโรคโควิด 19 โดยมีการกำหนดระยะทาง ช่วงเวลา และจำนวนผู้เดินทางออกนอกบ้านอย่างเคร่งครัด มีการจำกัดเวลาเปิด-ปิดของซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายของชำ ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร และโรงอาหาร (ที่เปิดขายแค่ delivery/take out) อย่างไรก็ดีในช่วง MCO ระยะที่ 3 (14-28 เมษายน 2563) จะมีการผ่อนปรนให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมบางประเภทเปิดทำการได้ (2) นอกจากนั้นรัฐบาลมาเลเซียยังได้มีการประกาศห้ามรวมตัวในช่วงเดือนรอมฎอนที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วย

ในส่วนของชาวต่างชาติในมาเลเซีย ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีการผ่อนให้คนต่างชาติที่หนังสือเดินทางหรือวีซ่าหมดอายุ (overstay) ตั้งแต่หลังวันที่ 18 มีนาคม 2563 สามารถเดินทางออกจากมาเลเซียได้โดยไม่ถูกปรับและไม่โดนแบล็คลิสต์ (blacklisted)  ส่วนคนต่างชาติที่หนังสือเดินทางหรือวีซ่าหมดอายุ (overstay) ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึง 17 มีนาคม 2563 ก่อนที่ MCO จะประกาศบังคับใช้สามารถเดินทางออกจากมาเลเซียได้ในช่วง MCO โดยไม่โดนแบล็คลิสต์ แต่อาจต้องเสียค่าปรับ

สำหรับความเป็นอยู่ของคนต่างชาติในมาเลเซีย โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติที่มีเป็นจำนวนมากและเริ่มขาดสบียงอาหารนั้น รัฐบาลมาเลเซียอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติอยู่ต่อได้แม้เอกสารการเดินทางจะหมดอายุ โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศต้องดูแลคนของตนเอง ดังที่รัฐมนตรีอาวุโสมาเลเซียได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในวันที่ 3 เมษายน 2563 ว่า "semua warga asing di bawah tanggung jawap kedudataan mereka" ซึ่งหมายความว่า ให้ชาวต่างชาติทุกคนอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบดูแลของตัวแทนประเทศตนเอง (สถานทูตของแต่ละประเทศ)

2. ความพยายามกลับบ้านของแรงงานไทย

จากสถานการณ์โควิด 19 ที่ไม่สู้ดี แรงงงานไทยในมาเลเซียเริ่มทยอยกลับประเทศตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าที่ MCO บังคับใช้ใช้เมื่อวัน 18 เมษายน 2563 แต่ทั้งนี้การเดินทางกลับประเทศของแรงงานไทยทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ MCO ได้นำมาสู่การห้ามสัญจรเดินทางทั้งภายในและระหว่างรัฐ ทำให้รถบัสขนส่งแรงงานไทยหลายคันถูกสกัดและไม่สามารถเดินทางต่อได้ ที่สำคัญตั้งแต่ประมาณวันที่ 25-26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีข้อกำหนดให้คนไทยในมาเลเซียที่ต้องการเดินทางกลับประเทศต้องมีใบรับรองจากแพทย์ที่ระบุว่า "fit to travel" เพื่อยืนยันว่ามีสุขภาพที่เหมาะสมต่อการเดินทาง โดยใบรับรองแพทย์ต้องออกไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง และต้องมีหนังสือรับรองการเข้าประเทศที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสถานกงสุลใหญ่ นอกจากนั้น ตั้งแต่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ผู้ว่าราชการทั้ง 4 จังหวัดพื้นที่ชายแดน อันได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ได้ประกาศปิดด่านชายแดนไทย–มาเลเซียทั้งหมด โดยให้ระงับการเดินทางเข้า–ออกไทยของบุคคลทุกสัญชาติรวมถึงคนไทยในมาเลเซียที่จะเดินทางกลับประเทศไทย (ยกเว้นรถบรรทุก ขนส่งสินค้าที่เข้า–ออกได้เฉพาะบางจุด) (3) 

อย่างไรก็ดี ในช่วงก่อนการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศไทยที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 นั้น (4)  การเดินทางข้ามแดนกลับประเทศของคนไทยในมาเลเซียทางด่านชายแดนยังมีการผ่อนปรน ยังมีการเปิดด่านในบางวัน บางเวลา หรือกรณีการเดินทางกลับเป็นหมู่คณะก็ยังสามารถข้ามแดนได้ อันเกิดจากการประสานงานของหน่วยงานต่างๆ ในระดับพื้นที่ ดังเช่นการเดินทางข้ามแดนกลับประเทศของแรงงานประมงชาวไทยจำนวน 280 รายผ่านทางด่านวังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา (5) 

ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 2 เมษายน 2563  หลังมีข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีให้ชะลอการเดินทางเข้าประเทศของคนไทยในต่างแดน ด่านชายแดนไทย-มาเลเซียทุกด่านได้ปิดอย่างเข้มงวดและไม่อนุญาตให้คนไทยเดินทางออกจากมาเลเซียอีกอย่างเด็ดขาด มีรายงานว่าในวันนั้นมีแรงงานไทยหลายกลุ่มเดินทางถึงด่านสะเดา จังหวัดสงขลา พวกเขามีใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสถานกงสุลมาพร้อม และได้ผ่านขั้นตอนการตรวจคนขาออกจากด่านมาเลเซียแล้ว แต่ก็ไม่สามารถเข้าประเทศไทยได้และต้องเดินทางกลับไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพจ  TheEXITThaiPBS (6) ระบุว่า แรงงานต้มยำกุ้งกลุ่มหนึ่งจำนวน 32 คน ได้เดินทางออกจากกัวลาลัมเปอร์ช่วงเช้าวันที่ 2 เมษายน 2563 และมาถึงด่านบูกิตกายูฮิตัมช่วงเที่ยงคืน  เมื่อไม่สามารถข้ามเข้าด่านพรมแดนสะเดา จ.สงขลา ได้ จึงต้องเดินทางกลับไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ส่วนเพจ The Reporters (7)  ก็รายงานว่า แรงงานต้มยำกุ้งกว่า 120 คน รวมตัวกันหุ้นเงินเช่าเหมารถบัสจากกรุงกัวลาลัมเปอร์จำนวน 3 คันเพื่อเดินทางกลับไทย เมื่อไม่สามารถเข้าประเทศไทยได้ ก็ต้องนอนอยู่ริมถนนตรงข้ามด่านสะเดาหนึ่งคืน และต้องรวมเงินกันเช่ารถบัสเพื่อเดินทางกลับไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์อีกครั้ง จากเหตุการณ์ข้างต้น แรงงานต้มยำมองว่ามีความสับสน มีการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนในเรื่องการอนุญาตให้กลับประเทศ แรงงานได้ดำเนินการขอใบรับรองแพทย์และหนังสือจากสถานทูตฯ ตามขั้นตอนอย่างเรียบร้อยด้วยความยากลำบาก แล้วจึงเช่าเหมารถเดินทางไป แต่เมื่อไปถึงชายแดนไทยกลับไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ

ในช่วงเวลาที่ยังมีความสับสนนี้ มีกลุ่มคนที่อ้างว่าสามารถพาแรงงานไทยในมาเลเซียกลับประเทศได้ มีการประกาศโฆษณาตามกลุ่มไลน์และกลุ่มเฟซบุ๊กต่างๆ ของแรงงานต้มยำ โดยมีการเรียกเก็บเงินค่าเดินทางที่สูงเกินจริงและเรียบเก็บค่าอื่นๆ ตลอดเส้นทาง เมื่อมาถึงด่านชายแดนก็ทิ้งให้แรงงานเผชิญชะตาอยู่เพียงลำพัง  ในขณะเดียวกันก็ยังมีแรงงานไทยบางส่วนพยายามกลับประเทศไทยทางอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ด้วยการข้ามแม่น้ำ ซึ่งเป็นการเข้าเมืองที่นอกเหนือจากช่องทางที่รัฐกำหนด เมื่อข้ามมาก็ต้องเจอกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยที่รักษาการณ์อยู่ และต้องเสียค่าปรับขั้นต่ำ 800 บาทที่สถานีตำรวจในข้อหา “เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่อทางที่กำหนด” และถูกนำไปกักตัว 14 วันเพื่อสังเกตอาการที่ศูนย์กักตัวท้องถิ่นที่ทางการจัดเตรียมไว้

ทั้งนี้ แรงงานไทยมีความหวังอย่างมากว่าหลังวันที่ 18 เมษายน 2563 (ซึ่งเป็นวันที่กระทรวงมหาดไทยจะเริ่มอนุญาตให้คนสัญชาติไทยกลับเข้าประเทศ) จะเริ่มทยอยเดินทางกลับบ้านได้ และกำลังรอฟังประกาศจากสถานทูตฯ ถึงขั้นตอนและสิ่งที่จะต้องดำเนินการในการเดินทางกลับไทย

3. ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่แรงงานไทยที่ตกค้าง

กว่า  3 สัปดาห์แล้วที่ี่มาเลเซียบังคับใช้มาตรการจำกัดการสัญจรหรือ MCO ร้านอาหารไทยในมาเลเซียจำนวนมากต้องปิดตัวลงอย่างไม่มีกำหนด ลูกจ้างในร้านต้องหยุดงาน ขาดรายได้ และขาดเสบียงอาหาร ไม่สามารถออกจากที่พัก รวมทั้งขาดหน้ากากอนามัย ขณะที่การดูแลจากเถ้าแก่เจ้าของร้านก็เริ่มเกินกำลัง บางรายเถ้าแก่อยู่ฝั่งไทยไม่สามารถเดินทางกลับไปในมาเลเซียได้ แรงงานเริ่มมีความเครียด โดยเฉพาะในรายที่อาศัยอยู่รวมกันในห้องพักเล็กๆ ไม่มีห้องครัวปรุงอาหาร ต้องยังชีพด้วยข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และไข่ทุกๆ วัน

3.1 ความคืบหน้าการช่วยเหลือ

สถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลไทยในมาเลเซียทั้ง  2 แห่ง มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือแจกสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้แก่คนไทยทุกกลุ่มที่ตกค้างในมาเลเซีย รวมทั้งแรงงงานไทย โดยมีอาสาสมัครคนไทยในมาเลเซียเป็นกำลังหลักในการช่วยแจกจ่ายสิ่งของ ล่าสุด (9 เมษายน 2563) เพจสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดทำตารางวันและเวลาที่อาสาสมัครคนไทยตามรัฐต่างๆ จะออกไปให้ความช่วยเหลือแจกจ่ายอาหารและหน้ากากอนามัย โดยคนไทยทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อประสานอาสาสมัครเหล่านี้ (8)  อีกทั้งสถานเอกอัครราชทูตฯ ยังได้ประสานความร่วมมือกับกลุ่ม/ชมรมผู้ประกอบการร้านต้มยำในการแจกจ่ายสิ่งของด้วย

ปัจจุบันการแจกสิ่งของยังชีพโดยสถานทูตฯ คือ ความช่วยเหลือเดียวที่แรงงานไทยในมาเลเซียได้รับจากรัฐบาลไทย และเป็นเหตุผลที่รัฐบาลไทยใช้ในการขอให้แรงงานไทยชะลอการเดินทางกลับประเทศไปก่อนจนกว่าไทยจะมีความพร้อมในการจัดหาสถานที่กักตัวผู้ที่เดินทางกลับเข้าประเทศ อย่างไรก็ดี ในวันที่ 10 เมษายน 2563 ศบค. แถลงว่ามีแนวคิดที่จะช่วยเหลือคนไทยที่ลำบากในต่างแดนและเพื่อเป็นการชะลอการเดินทางกลับประเทศ โดยจะให้เงินเยียวยาเช่นเดียวการจ่ายเงินตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ให้กับแรงงานนอกระบบและอาชีพอิสระที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่

ในส่วนการดำเนินงานของคณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.) ที่ผ่านมาได้พยายามรวบรวมข้อมูลแรงงานร้านต้มยำที่ตกค้างในมาเลเซียให้เป็นระบบ โดยให้แรงงานลงทะเบียนผ่านแบบฟอร์มที่ คฉ.จม.ได้จัดทำขึ้น ฐานข้อมูลนี้ได้ถูกนำไปใช้ในการประสานงานเพื่อระดมความช่วยเหลือแก่แรงงานร้านต้มยำให้ทั่วถึง อนึ่ง ตั้งแต่วันที่  1 เมษายน ถึง 8 เมษายน 2563 มีคนลงทะเบียนกับ คฉ.จม.ทั้งสิ้น 2,253 ราย ในจำนวนนี้ระบุว่าเดือดร้อนขาดเงินมากถึง 53% ขาดเสบียงอาหาร 32% และที่เหลือเป็นปัญหาอื่นๆ ขณะที่ 80% ระบุว่ายังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ

รายชื่อแรงงานต้มยำที่ตกค้างในมาเลเซียที่ลงทะเบียนกับ คฉ.จม. ได้ถูกทยอยนำส่งให้แก่สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อประกอบการวางแผนการแจกจ่ายสิ่งของยังชีพให้ทั่วถึง ในขณะเดียวกัน คฉ.จม. ก็ได้ประสานกับแกนนำของชมรมผู้ประกอบการต้มยำในมาเลเซียในการช่วยเหลือแรงงานที่ตกค้าง โดย คฉ.จม.จะได้ติดตามและประสานงานเพื่อให้ทุกคนที่ลงทะเบียนได้รับความช่วยเหลือ รวมทั้ง คฉ.จม.ได้ประสานกับ NGOs ในมาเลเซียให้เข้ามาช่วยรับสิ่งของบรรเทาทุกข์จากสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลไปแจกจ่ายให้คนไทยตามที่ต่างๆ ที่ยากต่อการเข้าถึง นอกจากนี้ คฉ.จม.ยังได้ทำหน้าที่ประสานช่วยเหลือกรณีเร่งด่วนตามที่ได้รับแจ้ง เช่น คนป่วย (โรคประจำตัว) คนท้องแก่  คนที่อาหารหมดแล้วแต่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานต่อไปยังสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกสุล หรือแกนนำชมรมต้มยำในพื้นที่ หรือเครือข่ายคนมาเลเซียที่พร้อมให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น

นอกจากนั้นก็มีหน่วยงานรัฐที่เริ่มเข้ามาช่วยเหลือแรงงานไทยในมาเลเซีย เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนนภาคใต้ (ศอบต.) ที่ได้เข้ามาประสานงานกับ คฉ.จม. และยังจะได้จัดงบประมาณสนับสนุนช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดือดร้อนเป็นการเร่งด่วนต่อไป

3.2 ปัญหาในการช่วยเหลือการบรรเทาทุกข์

การช่วยเหลือแจกจ่ายอาหารเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่แรงงานไทยในมาเลเซียยังไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากแรงงานไทยมีเป็นจำนวนมากและทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต จากการประมาณการของเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 ระบุว่า  มีคนไทยในมาเลเซียทั้งหมดราว 150,000 คน ในจำนวนนี้อยู่โดยมีเอกสารถูกต้องราว 30,000 คน ช่วงก่อนหน้า MCO และก่อนที่ไทยจะกำหนดให้ต้องมีใบรับรองแพทย์ fit to travel และหนังสือรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลในการเดินทางกลับประเทศ มีคนไทยทยอยเดินทางกลับแล้วราว 3-40,000 คน และหลังจากมีข้อกำหนดดังกล่าว สถานทูตฯ ได้ออกหนังสือรับรองแก่คนไทยแล้วราว 6,000 คน และในจำนวนนี้ได้เดินทางกลับไทยไปแล้วราว 4,000 คน ยังเหลือที่มีใบรับรองจากสถานทูตแล้วแต่ยังไม่ได้เดินทางกลับราว 2,000 คน (9) จากตัวเลขประมาณการนี้ จะเห็นได้ว่ายังมีคนไทยตกตกค้างอยู่อีกมากอยู่ในมาเลเซียเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ได้รับการแจกจ่ายสิ่งของไปแล้ว เช่นเดียวกับจำนวนคนที่ลงทะเบียน กับ คฉ.จม. จำนวน 2,253 คน ที่ก็ยังถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก และตัวเลขผู้ลงทะเบียนก็ยังไปกระจุกตัวที่บางรัฐ แสดงว่ายังมีแรงงานในบางพื้นที่ที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารและการช่วยเหลือ

นอกจากนั้น การแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือที่ผ่านมายังประสบอุปสรรคมากเนื่องจาก MCO ห้ามการสัญจร ทำให้อาสาสมัครที่แจกจ่ายสิ่งของทำงานได้ลำบาก ส่งผลทำให้การแจกจ่ายสิ่งของไม่ทั่วถึง ประกอบกับในช่วงแรกของ MCO รัฐบาลมาเลเซียห้ามไม่ให้ NGOs ออกมาดำเนินการแจกจ่ายสิ่งของ แต่อย่างไรก็ดี ในระยะ 3 ของ MCO ทางการมาเลเซียเริ่มผ่อนคลายคำสั่ง ทำให้สถานเอกอัครราชทูตฯ เองก็พยายามเพิ่มช่องทางให้ NGOs มาเลเซียเข้ามาช่วยกระจายสิ่งของบรรเทาทุกข์แก่คนไทยด้วย

4.ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย

4.1 ข้อเสนอในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ด้านเสบียงอาหารแก่แรงงานไทย

รัฐบาลไทยต้องเร่งนำความช่วยเหลือเข้าไปในมาเลเซียอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ กลไกสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลที่ทำอยู่นั้น แม้จะทำสุดความสามารถแล้ว แต่ก็ยังไม่มีกำลังมากพอที่จะช่วยเหลือแรงงานไทยได้อย่างทั่วถึง การช่วยเหลือต้องอาศัยความร่วมมือระดับประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีของไทยต้องขอความช่วยเหลือโดยตรงจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในการขอส่งเสบียงอาหารมาทางเครื่องบินมาให้แก่แรงงานไทย และเพื่อแสดงความขอบคุณ รัฐบาลไทยควรบริจาคข้าวสารให้ประเทศมาเลเซียด้วย และควรเสนอพาคนมาเลเซียที่ตกค้างในไทยกลับมาเลเซียด้วยเครื่องบินลำที่จะบรรทุกสิ่งของช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซีย รวมทั้งขอให้ทางการมาเลเซียช่วยกระจายสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้แก่คนไทยโดยใช้กลไกแนวหน้ามาเลเซียที่คุมพื้นที่ทั้งหมดอยู่ ได้แก่ ตำรวจ ทหาร และ อาสาสมัคร  ทั้งนี้ ระดับปฏิบัติการของฝ่ายไทยต้องมีรายชื่อและจำนวนผู้เดือดร้อนที่ชัดเจนและประสานงานกับทางมาเลเซียอย่างเป็นระบบและใกล้ชิด 

4.2 ข้อเสนอต่อการพาคนไทยในมาเลเซียกลับบ้าน

รัฐบาลไทยต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การเดินทางเข้าประเทศของคนไทยเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองตามมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ว่า “การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้” (10) และรัฐจะต้องไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพนี้ของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ (11)  ทุกวันนี้แม้รัฐบาลมาเลเซียอนุโลมให้แรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานและเอกสารการเดินทางหมดอายุอยู่ต่อในประเทศมาเลเซียได้ แต่ความอดยาก การไม่มีเงิน และความไม่แน่นอนของทั้งสถานการณ์โควิด 19 ในมาเลเซียและการจัดระบบแรงงานต่างชาติของมาเลเซียหลังโควิด 19 ทำให้แรงงานไทยจำนวนมากต้องการเดินทางกลับไทย ที่ผ่านมาข้อกำหนดเรื่องใบรับรองแพทย์ ได้สร้างภาระอย่างมากให้แก่แรงงานไทยที่ต้องการกลับบ้าน เพราะแรงงานไทยส่วนมากเข้าไม่ถึงสถานพยาบาล อีกทั้งใบรับรองแพทย์ที่แม้จะระบุคำว่า fit to travel ก็ไม่สามารถบ่งชี้ภาวะการติดโรคโควิด 19 ได้แต่อย่างใด (12) จึงควรยกเลิกเสีย เช่นเดียวกับหนังสือรับรองการเดินทางที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ไทย ที่ก็สร้างภาระให้กับแรงงานไทยมากเช่นกัน โดยเฉพาะที่คนเข้าไม่ระบบออนไลน์หรือใช้ภาษาไทยไม่คล่อง จึงสมควรยกเลิกด้วยเช่นกัน

ในส่วนการอนุญาตให้คนไทยในมาเลเซียเดินทางเข้าประเทศรอบใหม่ที่จะเริ่มในวันที่ 18 เมษายน 2563 นี้ รัฐบาลไทยควรกำหนดโควตาการอนุญาตให้เดินทางเข้าไทยในแต่ละวันที่เหมาะสม ต้องมีจำนวนที่ไม่น้อยเกินไปจนสร้างความเดือดร้อนแก่แรงงานไทย และต้องทำให้การลงทะเบียนแสดงความจำนงขอเดินทางกลับประเทศเป็นไปโดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีหลายช่องทางเพื่ออำนวยความสะดวก ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่สำคัญรัฐจะต้องอำนวยความสะดวกในการเดินทางมายังด่านชายถาวรแดนแดนโดยการเช่าเหมารถบัสในประเทศมาเลเซียบริการมาส่งยังด่านต่างๆ ทุกวัน เนื่องจากแรงงานไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินเหลือพอสำหรับการเดินทางด้วยตนเองอีกแล้ว

4.3 ข้อเสนอในการกักตัวเมื่อเดินทางมาถึงไทย

รัฐบาลไทยต้องจัดเตรียมสถานที่กักตัวผู้เดินทางกลับให้ได้พร้อม และอำนวยความสะดวกในการเดินทางจากด่านฝั่งไทยไปยังสถานที่กักตัว การไม่สามารถจัดหาสถานที่กักตัวรองรับผู้เดินทางกลับได้เพียงพอถือว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด 19 ทั้งนี้ รัฐสามารถเพิ่มสถานที่กักตัวโดยใช้โรงแรมต่างๆ ในอำเภอสุไหงโก-ลกและบริเวณด่านนอก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งมีโรงแรมที่ใกล้ปิดกิจการอยู่เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับที่รัฐดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ  ที่สำคัญ รัฐควรจ่ายเบี้ยเลี้ยงเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ที่กักตัวด้วย อันจะเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของพวกเขาได้ในทางหนึ่ง

เชิงอรรถ/อ้างอิง

(1) พร้อมกันนี้ ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. ออกประกาศเรื่อง ‘ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว’ หรือที่เรียกว่าประกาศปิดน่านฟ้าด้วย โดยในประกาศฉบับแรกลงวันที่ 3 เม.ย. 2563 ประกาศปิดน่านฟ้าในช่วงระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2563 และต่อมามีประกาศฉบับที่  2 ประกาศปิดน่านฟ้าระหว่างวันที่ 2-18 เมษายน 2563 โดยระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการป้องกันมิให้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID19) รุนแรงมากยิ่งขึ้นและเพื่อสนับสนุนการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงโดยเร็ว

(2) ได้แก่ ธุรกิจและอุตสาหกรรมประเภท อุตสาหกรรมยานยนต์/อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล/อุตสาหกรรมการบิน/งานก่อสร้าง/ร้านตัดผม/ร้านซักรีด/ร้านขายฮาร์ดแวร์/บริการทางสุขภาพ (แพทย์แผนโบราณและแผนปัจจุบัน) /บริการกฎหมาย/อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ/การวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับ COVID-19

(3) ประกาศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เรื่อง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ฉบับที่ 10/2563

(4) ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 2) หรือการประการเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ห้ามบุคคลใดทั่วราขอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกาถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น

(5) 280 แรงงานไทยในมาเลย์กลับเข้าประเทศผ่านด่านสตูลได้แล้ว https://www.innnews.co.th/regional-news/news_632298/ (เผยแพร่เมื่อ 28 มีนาคม 2563 เข้าถึงเมื่อ 10 เมษายน 2563)

(6) ‘แรงงานต้มยำกุ้ง’ 32 ชีวิต ตีรถกลับถึงสถานทูตไทยในกัวลาลัมเปอร์แล้ว หลังเดินทางถึงพรมแดนไทย-มาเลเซียแต่ด่านปิด ตามคำสั่งชะลอคนกลับเข้าประเทศ ! https://www.facebook.com/TheEXITThaiPBS/photos/rpp.1750819098582067/2464013880595915 (เผยแพร่เมื่อ  5 เมษายน 2563 เข้าถึงเมื่อ 10 เมษายน 2563)

(7) COVID-19:”แรงงานไทย”ในมาเลเซีย วอนรัฐ เห็นใจ สับสนในคำสั่ง เปิด-ปิด ชายแดน มาถึงชายแดนแล้ว แต่ถูกทางการไทยปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ ต้องนอนริมถนนและเหมารถ กลับ กัวลาลัมเปอร์ ยันพร้อมถูกกักตัว เมื่อกลับไทย ขอความเข้าใจถึงความยากลำบากในต่างแดน https://www.facebook.com/TheReportersTH/posts/2602381926678858  (เผยแพร่ 4 เมษายน 2563 เข้าถึงเมื่อ 10 เมษายน 2563)

(8) ดูตัวอย่างคลิปประกอบเพลงแสดงความช่วยเหลือแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์แก่คนไทยในมาเลเซียของสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลไทย ได้ที่ https://www.facebook.com/ThaiEmbassyKL/videos/506138970077507/ https://www.facebook.com/RTCinPenang/videos/622109021965585/

(9) เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ให้สัมภาษณ์สด (live) ผ่านเพจเฟซบุ๊กของ The Reporters  เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563

(10) ดูเพิ่มเติมใน การเดินทางกลับบ้านเป็นสิทธิตาม รัฐธรรมนูญ / รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ http://www.law.tu.ac.th/tulawcovid19-right-of-return/?fbclid=IwAR0j_SQst6l8e30LnySvHHeTi_FGq05V_UQVe0A6TQiWJh6rbtz7blJxeEg


(11) “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง” (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26)


(12) ดูบทความ “Fit-to-fly ไม่ช่วยกันโควิด-19 ซ้ำเพิ่มภาระคนไทยในต่างแดน” https://www.isranews.org/article/isranews-article/87275-news-12.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net