Skip to main content
sharethis

"นักรบไซเบอร์" ที่คอยโต้ตอบหรือรุมถล่มคนที่วิพากษ์วิจารณ์จีนแผ่นดินใหญ่ตามอินเทอร์เน็ต รวมทั้งปั่นกระแสชาตินิยม นอกจาก "พลพรรค 5 เหมา" แล้ว ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ฉายาว่า "เสี่ยวเฟิ่นหง" หรือ "ชมพูน้อย" ซึ่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งสำรวจพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 83 เป็นผู้หญิง และโดยมากมีอายุระหว่าง 18-24 ปี ชื่อเรียกและที่มาของพวกเขาเเหล่านี้มาจากเว็บไซต์นิยายแห่งหนึ่งของจีนที่ลามจากเรื่องวรรณกรรมหันมาพูดเรื่องการเมืองด้วยท่าทีชาตินิยมจัด

ธงชาติจีนและกำแพงเมืองจีนเมื่อปี 2007 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Wikipedia)

ย้อนไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน หยางชู่ปิง บัณฑิตจากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ไปเรียนต่อในสหรัฐฯ กล่าวในพิธีจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งแมรีแลนด์ในทำนองว่าเธอชื่นชมเสรีภาพในสหรัฐฯ และกล่าวติดตลกเสียดสีเกี่ยวกับเรื่องปัญหาหมอกควันในบ้านเกิดของตัวเอง ในตอนนั้นคำกล่าวสุนทรพจน์ของเธอกลับถูกโต้ตอบจากกลุ่มชาวเน็ตจีนที่พากันกล่าวหาว่าเธอ "บิดเบือน" และ "ดูถูกประเทศตัวเอง"

อีกกรณีหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้คือกรณีนักแสดงหญิงซูต้าเปาไปเยือนเมืองคานส์ด้วยชุดลักษณะเดียวกับธงชาติจีน ทำให้มีกลุ่มคนกล่าวหาว่าเธอลบหลู่ธงชาติตัวเอง

ปรากฏการณ์เหล่านี้มีกลุ่มชาวเน็ตชาตินิยมที่เป็นคนรุ่นเยาว์ในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นตัวตั้งตัวตีในการแสดงออกโต้ตอบในเชิงชาตินิยม พวกเขาถูกเรียกว่า "เสี่ยวเฟิ่นฟง" หรือ "ชมพูน้อย" เป็นกลุ่มชาวเน็ตแบบเดียวกับ "แก็งค์ 50 เหรียญ" กลุ่มที่รับเงินรัฐบาลมาคอยคอมเมนต์ชื่นชมรัฐบาล ขณะที่กลุ่มชมพูน้อยเหล่านี้มักจะวนเวียนในโลกออนไลน์คอยโต้ตอบใครก็ตามที่มีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์จีนแม้เพียงเล็กน้อย

ผู้คนทั่วไปอาจจะมองว่ากลุ่มเกรียนออนไลน์ชาตินิยมเหล่านี้มักจะเป็นพวกคนหนุ่มที่ขี้โมโห แต่จากการสำรวจเมื่อปี 2017 ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งโดยอาศัยเครื่องมือวิเคราะห์ของเว่ยป๋อแล้วพบว่าชาวเน็ตชมพูน้อยเหล่านี้ร้อยละ 83 เป็นผู้หญิง และส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิงวัย 18-24 ปี คนเหล่านี้มีทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในจีนและอาศัยอยู่นอกประเทศ มากกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ ระดับสามระดับสี่ในจีนแผ่นดินใหญ่ โซเชียลมีเดียของบุคคลเหล่านี้มักจะแสดงความสนใจเรื่องการท่องเที่ยว, ดนตรี, ดารา และข่าวตลก

อะไรที่ทำให้คนกลุุมนี้ถูกเรียกว่าเป็นชมพูน้อย และพวกเขาปรากฏตัวตั้งแต่เมื่อไหร่ เว็บไซต์เซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์ (SCMP) เมื่อปี 2017 ระบุว่าคำว่า "ชมพูน้อย" ปรากฏครั้งแรกในเว็บไซต์วรรณกรรมผู้หญิงที่ได้รับความนิยมในจีน คือเว็บ "เมืองวรรณกรรมจินเจียง" ซึ่งเป็นเว็บคล้ายกับเว็บนิยายไทยอย่าง "เด็กดี" หรือ "ธัญวลัย" ที่ให้คนเข้ามาเขียนนิยายแชร์กันได้ แต่ต่อมาการพูดคุยกันเรื่องการเขียนและวรรณกรรมก็ขยายออกไปกลายเป็นเรื่องการเมืองและสถานการณ์ทั่วไปในโลกจริงนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จลาจลที่ลาซาในทิเบต และอุรุมฉีในซินเจียงอุยกูร์ รวมถึงหลังจากที่จีนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก

กลุ่มผู้ใช้เว็บไซต์กลุ่มนี้มีบางส่วนเป็นนักศึกษาจีนที่ไปเรียนต่างประเทศ พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์ใครก็ตามที่โพสต์ข่าวทางลบเกี่ยวกับจีนหรือแสดงความคิดเห็นในเชิงชื่นชมประเทศตะวันตก นั่นทำให้พวกเขาได้รับฉายาว่าเป็น "กลุ่มผู้หญิงจินเจียงเป็นห่วงบ้านเมือง" หรืออีกนามหนึ่งคือ "ชมพูน้อย" ซึ่งเป็นการสื่อถือสีหลักของเว็บไซต์จินเจียง ในเวลาต่อมาฉายานี้ก็ถูกใช้ไปทั่วเมื่อโซเชียลมีเดียจีนขยายตัว

แล้วอะไรที่ทำให้กลุ่มชมพูน้อยเหล่านี้โผล่มามากมายนักในพื้นที่อินเทอร์เน็ต โดยส่วนหนึ่งมาจากการเคลื่อนขบวนการผ่านโซเชียลมีเดียที่ถูกเซนเซอร์ในจีนอย่าง เฟสบุค, อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ เหตุการณ์ที่จุดประกายให้ชมพูน้อยโผล่ออกมามากเริ่มต้นมาจากการที่ โจวจื่อยุหวี นักร้องเพลงป็อบชาวไต้หวันอายุ 17 ปีโบกธงชาติสาธารณรัฐจีนหรือไต้หวันผ่านทางรายการโทรทัศน์ ทำให้ชาวชมพูน้อยแห่ถล่มอินสตาแกรมของโจวจื่อยุหวีกล่าวหาว่าเธอสนับสนุนให้ไต้หวันเป็นประเทศอิสระจากจีน และในอีกไม่กี่วันต่อมากลุ่มชาตินิยมจีนก็ลามปามไปถล่มประธานาธิบดีไช่อิงเหวินแห่งไต้หวัน ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งในนามตัวแทนของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าที่สนับสนุนไต้หวันอิสระ นอกจากนี้สื่อไต้หวันบางส่วนก็ถูกโจมตีจากกลุ่มชมพูน้อยเหล่านี้ด้วย

นอกจากกรณีนี้แล้ว กลุ่มชมพูน้อยยังไล่แสดงความไม่พอใจดารานักแสดงไต้หวันที่ให้การสนับสนุนการเป็นอิสระจากจีนและดาราที่หนุนหลังขบวนการประท้วงของนักศึกษาที่ชื่อขบวนการ "ดอกทานตะวัน" นอกจากนี้ยังแสดงการสนับสนุนการประท้วงแบบชาตินิยมภายในประเทศจีน เช่น เมื่อปีที่แล้วมีกลุ่มคนหลายสิบคนประท้วงหน้าร้านเคเอฟซีเพื่อแสดงการต่อต้านสหรัฐฯ โดยกล่าวหาว่าสหรัฐฯ กระตุ้นให้เกิดความตึงเครียดเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้ พวกชมพูน้อยก็สนับสนุนผู้ประท้วงกลุ่มนี้ หรือแม้กระทั่งเรื่องการกล่าวหากันในวงการกีฬากลุ่มชมพูน้อยก็เข้าไปแสดงความชาตินิยมด้วยการโจมตีนักว่ายน้ำชาวออสเตรเลียที่เคยกล่าวหาว่านักกีฬาจีนโกงการแข่งขั้นด้วยการ "ใช้ยา"

สื่อรัฐบาลจีนก็แสดงการชื่นชมกลุ่มชาตินิยมตัวน้อยเหล่านี้ เช่น สื่อโกลบอลไทม์กับสื่อพีเพิลเดลีที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สันนิบาตยุวชนพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองก็ชื่นชมการกระทำของชมพูน้อยเช่นกัน นั่นทำให้ยุวชนกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มชาตินิยมที่ดูเหมือนจะเป็นอาสาสมัครมาเอง แต่ก็น่ากังขาว่าจะเป็นกลุ่มคนของรัฐบาลหรือไม่

ถึงแม้ว่าจะมีชาวจีนที่อาศัยในต่างประเทศระบุว่าในเว็บไซต์ตะวันตกที่ถูกปิดกั้นในจีน อาจจะมีชาวจีนที่ได้รับจ้างจากรัฐบาลให้คอยโพสต์สนับสนุนจีนในพื้นที่เหล่านั้น แต่ก็น่าจะเป็นกลุ่มเคยถูกเรียกว่าเป็น "พลพรรค 5 เหมา" (เป็นหน่วยเงินตราของจีน 10 เหมาเท่ากับ 1 หยวน) โดยที่ยังไม่มีอะไรพิสูจน์ได้ว่า "ชมพูน้อย" เหล่านี้กระทำจากคำสั่งของรัฐบาล แต่ที่แน่ๆ คือรัฐบาลจีนให้การส่งเสริมเหล่าเกรียนชาตินิยมกลุ่มนี้

สื่อเดอะนิวส์เลนส์เคยนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้โดยระบุว่า ในขณะที่จีนกำลังส่งอิทธิพลทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกและช่องว่างวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกก็ลดลงเรื่อยๆ แต่การกระทำของกลุ่มชมพูน้อยก็ชวนให้นึกถึงกลุ่ม "กองทัพแดง" หรือ "เรดการ์ด" ในช่วงยุคปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นเยาว์ในจีนบูชาตัวบุคคลอย่างเหมาเจ๋อตุงแล้วไล่กวาดล้างคนที่พวกเขามองว่าไม่เป็นคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้มีคนเสียชีวิตหลายล้านคน

เรียบเรียงจาก

The rise of the Little Pink: China’s angry young digital warriors, South China Morning Post, 27-05-2017

China’s ‘Little Pink’ Army Is Gearing Up to Invade the Internet, The News Lens, 01-03-2019

What does the history of Sino-Thai relations tell us about its future?, Thai Enquirer, 15-04-2020

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Cultural_Revolution

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net