Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในจังหวัดแพร่ อำเภอสูงเม่น ตำบลบ้านปง(ท่าข้าม) อันเป็นบ้านเกิดของตัวผู้เขียนเอง อย่างไรก็ตามคงต้องเริ่มด้วยการตั้งคำถามที่ว่า อะไรที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เรื่องราวนี้ถูกเล่าโดยทวดของผม  ย้อนกลับไปในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2561 ขณะที่ผมนั่งพักภายหลังจากเดินทางกลับจากต่างจังหวัดและสนทนากันกับตาทวดในยามบ่ายแก่ๆ ของวัน  ผมเริ่มการสนทนาด้วยการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวในหมู่บ้านที่พึ่งสร้างขึ้นใหม่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา “ขัวแตะ”[1]  แน่นอนว่าการสร้างขัวแตะเลียบทุ่งนานั้น ไม่ได้ปรากฏเพียงหมู่บ้านของผมที่เดียว หากแต่ยังมีปรากฏในที่อื่นๆ ด้วย ดังเช่นที่มีปรากฏในจังหวัดน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ ด้วยความที่เห็นใครต่อใครหลายคนที่เป็นเพื่อนออนไลน์ในเฟสบุ๊คต่างเซลฟี่รูปคู่กับขัวแตะขึ้นหน้าฟีตข่าว จึงทำให้ผมเห็นรูปแบบและความแตกต่างของขัวแตะในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน เพราะบางที่ก็ใช้ไม้ไผ่สาน บางที่ก็ใช้ไม้ไผ่ซีกวางเรียงต่อๆ กันแต่ก็ยังเรียกว่าขัวแตะ และนำมาสู่การเปิดประเด็นคำถามที่เผยถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ของคนในสังคม และวีรกรรมอันโชกโชนผ่านเรื่องเล่าจากความทรงจำของชายผู้ที่เคยผ่านร้อนหนาวมาแล้วกว่า 90 ปี “ตะก่อนนี่ ‘ขัวแตะ’ มันเป็นจะใดละหม่อน?”


ภาพขัวแตะข้ามแม่น้ำยม ถ่ายโดยผู้เขียน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2562

มันเริ่มต้นขึ้นเมื่อราวๆ ปี พ.ศ.2501 ในขณะนั้นทวดของผมอายุได้ประมาณสามสิบต้นๆ ท่านไม่ใช่คนแพร่โดยกำเนิด หากแต่เดินทางมาจากจังหวัดน่านด้วยเกวียนและพร้าเล่มเดียว ท่านเริ่มต้นชีวิตด้วยการแต่งงานกับสาวชาวบ้านซึ่งห่างวัยกว่าท่านหลายปีและได้ให้กำเนิดบุตรสาวหนึ่งคน  การทำงานในชุมชน ทั้งการหักร้างถางพง และบุกเบิกที่ดิน ทำให้ท่านได้พบปะมิตรสหายใหม่ๆ หนึ่งในนั้นคือ ตาโม๊ะ ซึ่งอายุของตาโม๊ะคงไล่เลี่ยกันกับทวดของผม เพราะท่านเรียกตาโม๊ะว่า “ปู่โม๊ะ” ทั้งนี้ การใช้คำว่า “ปู่” ในคำเหนือนั้นมีค่าเท่ากับคำว่า ไอ้ หรือ บักนั่น บักนี่ จึงสื่อนัยของความเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันไม่ห่างกันสักเท่าไรหรือท่านอาจจะสนิทกันมากจนเรียกขานกันแบบนั้นหรืออาจจะไม่ได้ชอบพออะไรกันเลย

ตาโม๊ะ นั้นเป็นคนบ้านร่องกาดแต่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนในฐานะพ่อค้าไม้สัก และมักเดินทางข้ามมาติดต่อซื้อไม้จากชาวบ้าน และทวดของผมก็ได้มีโอกาสเข้าไปปฏิสัมพันธ์ด้วยการเข้าไปเป็นลูกจ้างช่วยขนไม้จากบ้านปงไปขายยังร้านรับซื้อที่ร่องกาด จากคำบอกเล่าจะเห็นว่าไม้บางส่วนก็ใส่เรือไปขายที่นครสวรรค์ โดยมีคนของตาโม๊ะเป็นคนนำ “ถ้าไม้ดีๆ ปู่โม๊ะเขาก่จะแยกใส่เฮียไว้ พ่องไหลไม้ลงลุกน่านมา กะเอาไม้นั่นไหลลงไปสุดนครสวรรค์ปุ้น ถ้าไปตางน่านกะหื้อไอ้เปียขนไป” (ถ้าไม้ดีตาโม๊ะก็จะแยกเอาใส่เรือไว้ บางส่วนก็ไหลไม้ลงมาจากน่านแล้วก็เอาไม้ที่รวมได้นั้น ล่องไปขายจนสุดนครสวรรค์ ถ้าไปทางน่านก็ให้นายเปียขนไป) และเมื่อขนเสร็จจึงจะกลับมารับเงินที่บ้านของตาโม๊ะ

การขนส่งไม้ไปร่องกาดนั้นน่าสนใจและสัมพันธ์กับประเด็นคำถามของผมที่เกี่ยวกับ “ขัวแตะ” ถึงแม้ว่า ในปัจจุบันนี้ เส้นทางข้ามแม่น้ำยมเพื่อไปยังตำบลบ้านปงนั้น มีสะพานคอนกรีตขนาดใหญ่แล้ว แต่ทว่าเมื่อเกือบ 60 ปีก่อนมันยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้น การเดินทางเพื่อข้ามแม่น้ำยมในขณะนั้นซึ่งลึกกว่าปัจจุบันมากจึงเป็นเรื่องยากและลำบาก เพราะลำพังจะใช้เรือข้ามฟากเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อปริมาณของความต้องการเดินทางเพื่อไปปฏิสัมพันธ์กับภายนอกของชุมชน ทางหมู่บ้านจึงเห็นควรว่าควรมีการสร้างสะพานให้พอได้ใช้ประโยชน์บ้าง โดยมีการระดมทุนจัดซื้อไม้ภายในชุมชนเพื่อนำมาสร้าง “ขัวแตะ” ข้ามน้ำ โดยสร้างในจุดที่เป็นสะพานคอนกรีตในปัจจุบัน หนึ่งในผู้ร่วมก่อสร้างในครั้งนั้นก็มีทวดของผมร่วมอยู่ในคณะด้วย โดยได้เกณฑ์ชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านมาช่วยกันสร้างขัวแตะขึ้น แม้นว่าโครงสร้างของมันจะดูไม่คงทนแต่ก็นานพอจนกระทั่งมีการสร้างสะพานคอนกรีตขึ้นในปี พ.ศ.2525

ขัวแตะนี้สัมพันธ์กับชีวิตของชาวบ้านปงท่าข้ามและการค้าไม้ของตาโม๊ะเป็นอย่างมาก เพราะการขนไม้ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ควายเทียมเกวียนขนไม้ออกไป อย่างไรก็ตาม นอกจากจะได้เห็นปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนแล้วยังอาจกล่าวได้ว่าบ้านปงก็เคยเป็นแหล่งส่งออกไม้สักขนาดใหญ่มาก่อนด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าการค้าไม้นั้นมิได้ราบรื่นเสมอไป จากคำบอกเล่าของทวดทำให้เห็นได้ว่าศัตรูของการค้ามิใช่รัฐหากแต่เป็นพ่อค้าด้วยกัน

“มีอยู่เตื่ออิป่อกับหมู่ปู่เปียปู่โม๊ะห้าหกคนกำลังขนไม้ไปหะถึงบ้านโตน กำนั้นกะหันหมู่ป่าไม้ขี่มอไซด์ซ้อนกันมาสองกันสะปายปื๋นเหียคนละบอก ไอ้มาหันลีหันขวากั๋วหลวงเขามายั๊บหังว่าไม้บ่มีต๋า ดีกะตี่วันนั้นปู่โม๊ะอยู่ขนไม้ตวย กะเดินไปอู้กับหลวง จกตังหื้อห้าร้อยละว่าเด่วขนไปจดทะเบียนตีต๋าตี่อำเภอเน้อปี้เน้อ กำนั้นป่าไม้กะบิดออกไป ไผมีสะตังมันกะตึงง่ายแต้เนาะน้อง ไอ้มานี่กะเป็นดาบละลักมาขนไม้ มันกะกั๋วหลวงเขาฮู้แล้วจะไล่มันออกยะ กะว่าใดหาสะตังมันหาเขียมอะหยังย๊ะได้กะย๊ะ” (มีอยู่ครั้งหนึ่ง พ่อกับพวกนายเปียนายโม๊ะห้าหกคนกำลังคนไม้ไปจวนจะถึงบ้านโตน คราวนั้นพวกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ขี่มอเตอร์ไซค์ซ้อนกันมาสองคนสะพายปืนคนละกระบอก นายมาก็เกิดประหม่ากลัวทางการจะจับเอาเพราะว่าไม้ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน โชคดีที่วันนั้นนายโม๊ะอยู่ด้วย จึงเดินเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่แล้วหยิบเงินให้ห้าร้อยพร้อมกับกล่าวว่า เดี๋ยวผมจะขนไม้ไปขึ้นทะเบียนที่อำเภอนะ[2] พอพูดเสร็จพวกป่าไม้ก็บิดรถออกไป  ทวดกล่าวต่อว่า ใครมีเงินสมัยนั้นนั้นมันก็ง่ายจริงๆ นะ อย่างนายมานี่ก็เป็นนายดาบแต่แอบมาขนไม้ด้วย มันก็เลยกลัวว่าทางการจะจับได้แล้วจะไล่มันออก จะทำยังไงได้เงินมันหายาก ทำอะไรได้ก็ต้องทำ)

จะเห็นได้ว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างตาโม๊ะกับส่วนกลางนั้นแนบแน่นมาก และอาจกล่าวได้ว่าตาโม๊ะเองก็มีอิทธิพลต่อข้าราชการในท้องถิ่นด้วยเช่นกัน ดังตอนหนึ่งที่ตาโม๊ะถูกตำรวจตั้งด่านสกัดไม้ก่อนออกไปจากบ้านปง ในวันนั้นตาโม๊ะได้ตะโกนออกไปว่า “มึงจะยั๊บกูกะไอ้ นั่งกินเหล้าอยู่หัวบันไดกูกู่วัน วันนี้มึงจะยั๊บกูก๊ะ” (มึงจะจับกูเหรอ นั่งกินเหล้าอยู่หน้าบ้านกูทุกวัน วันนี้มึงจะมาจับกูเสียแล้ว?) ทางตำรวจก็ตอบกลับมาว่า “ปี่โม๊ะหัวเขาสั่งมาหมู่ผมกะทำตามหน้าที่ ปี่กะหันใจ๋ผมน้อยเตอะครับ (พี่โม๊ะทางการเขาสั่ง พวกผมก็เพียงทำตามหน้าที่ พี่ก็เห็นใจผมหน่อยนะครับ) กำนั้นปู่โม๊ะกะสวนไปแหมกำว่า (จากนั้นตาโม๊ะก็สวนกลับไปว่า) ‘มึงจะหลบบ่หลบถ้ามึงบ่หลบ’ หมู่ปู่ดาบมามันกะจำเป็นต้องหลบหื้อ (สิ้นคำตาโม๊ะพวกดาบมาก็จำเป็นต้องหลบให้)” แม้นว่ารัฐจะทวีความเข้มข้นในการกวดขันมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่สายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์นั้นจะยังคงอำนวยความสะดวกให้แก่กิจการของตาโม๊ะได้ดำเนินต่อมาอีกระยะหนึ่ง

ความกล้าได้กล้าเสียของแกทำให้คู่แข่งทางการค้าซึ่งทำการรับซื้อไม้จากอีกตำบลหนึ่งไม่ชอบพอตาโม๊ะสักเท่าไรนัก ปัญหานั้นหนักขึ้นเมื่อมีการข้ามเข้ามาซื้อไม้ในเขตพื้นที่ของกันและกัน เพราะความต้องการไม้สักเพื่อนำไปแปรรูปสูงขึ้นจึงทำให้ราคาของมันเพิ่มสูงตาม เส้นทางของการขนส่งจึงเพิ่มขึ้น มีการสร้างขัวแตะในทีอื่นๆ เพื่อเชื่อมเข้ามายังบ้านปง และเปิดเส้นทางสู่การแข่งขันซื้อไม้ของกลุ่มตาโม๊ะกับกลุ่มอื่นๆ “ตี่พ่องกะไขขายเขากะแปงขัวไว้บ้านหล่ายหน้าพ่อง บ้านใต้พ่อง” (บางบ้านก็อยากขายเขาก็เลยสร้างขัวแตะไว้หลายที่ ตรงบ้านหล่ายหน้าบ้าง บ้านใต้บ้าง) การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ทำให้ตาโม๊ะต้องเปลี่ยนวิธีการคือการเพิ่มรอบในการขนส่ง ปกติจะขนช่วงเช้าแบบวันต่อวัน ก็เพิ่มการขนในตอนกลางคืนด้วย เพื่อกันไม่ให้คู่ค้าแอบตัดบางส่วนไปปันขายให้กับคู่แข่งของตน

อย่างไรก็ตาม การรับจ้างขนไม้ของตาทวดนั้นไม่ได้ทำเป็นประจำหากแต่รับจ้าในช่วงที่เว้นว่างจากการทำนา ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการขนส่งในช่วงหลังนี้ ทวดของผมท่านเลือกที่จะออกมาเพราะการจ้างงานของตาโม๊ะนั้นให้ราคาเท่าเดิมแต่เหนื่อยเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าจะออกมาแล้วแต่ตาโม๊ะก็ยังแวะเวียนมาเที่ยวหาอยู่บ้างเวลาที่เข้ามาซื้อไม้ แต่นั่นก็เป็นเวลาเพียงปีกว่าเท่านั้นที่ท่านได้แยกตัวออกมาและพบเจอกันอยู่บ้าง ข่าวของตาโม๊ะที่ได้ยินครั้งสุดท้ายคือการจมหายไปกับแม่น้ำยม

“กะว่าจะใดน้อง คนตะก่อนอะหยังกะบ่เหมือนมะเด่ว ปู่โม๊ะนี่กะต๋ายหนุ่ม หันหมู่ไอ้เปียว่าวันนั้นขนไม้กันมะคืนละฝนลมกะตกใส่ ยามต๋ามไฟกะผ่อหน้าบ่หัน งัวน้อยเลยเดินปั๊ดตกขัวลงน้ำไปยะ กำปู่โม๊ะหันไปใส่กะเลยโดดตวยลงไป ฮ้องไอ้เปีย ‘โจ้นเจือกหื้อกูกำ ไอ้เปีย โจ้นเจือกฮื้อกูกำ’ ป้นกำน้ำกะปั้ดคนหายไปตึงควายตึงคน ไปปะแหมกำกะเกยอยู่บ้านสบสายปุ้น” (จะว่าอย่างไรดี คนเมื่อก่อนไม่เหมือนสมัยนี้ ตาโม๊ะนี่ก็ตายตอนอายุยังไม่มาก เห็นพวกนายเปียเล่าว่าในวันนั้นออกไปขนไม้กันตอนกลางคืน แล้วบังเอิญพายุเข้าทั้งฝนและลมต่างกระหน่ำใส่ขบวนขนไม้ ถึงจะส่องไฟแต่ก็มองทางข้างหน้าไม่เห็น ทำให้ควายน้อยเดินพลัดตกจากขัวแตะลงไปในน้ำ พอตาโม๊ะเห็นอย่างนั้นแกจึงไม่รีรอที่จะกระโดดลงไปตามควายของแก พร้อมทั้งตะโกน ไอ้เปียโยนเชือกให้กูที โยนเชือกให้กูที พอสิ้นเสียงน้ำยมก็พัดทั้งคนทั้งควายหายไปในความมืด และไปพบศพอีกทีก็ไปเกยอยู่ที่บริเวณบ้านสบสาย)

นี่คือเรื่องราวและวีรกรรมอันโล้ดโผนของนักเลงค้าไม้ เรื่องราวที่ถูกบอกเล่าจากชายผู้บุกเบิกผืนดินให้ลูกหลาน เรื่องราวถึงสหายเก่าที่เริ่มต้นขึ้นจาก “ขัวแตะ” และผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเขียนขนาดสั้นนี้ จะเป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่ช่วยแผ่ขยายให้เห็นถึงประวัติศาสตร์สังคม และชีวิตของผู้คนที่ดินรนอยู่ในกระแสธารของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันไพศาลนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องราวและน้ำเสียงของคนในอดีตนั้นจะยังคงดำรงอยู่และเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้ที่ได้ผ่านเข้ามาอ่านเรื่องราวดังกล่าว

 

อ้างอิง
     นายสี กรุณา อายุ 93 ปี (สัมภาษณ์) 13 ตุลาคม 2561.

 

[1] ขัวแตะ คือ สะพานไม้ไผ่สาน คำว่า “ขัว” ในภาษาถิ่นเหนือแปลว่า สะพาน การสร้างขัวแตะจึงเป็นการนำไม้ไผ่ซีกมาสอดขัดกันในลักษณะขัดแตะ โดยมักจะใช้เชื่อมเส้นทางสัญจรระหว่างสองฝั่งแม่น้ำ ตามคำบอกเล่าของนายสี กรุณา กล่าวว่าในอดีตความสูงของขัวแตะมักจะขึ้นอยู่กับการคาดคะเนระดับของน้ำในแต่ละปี.

[2] จากคำบอกเล่าเข้าใจว่าอาจมีการตกลงกันกับทางการตั้งแต่แรกอยู่แล้วเพื่อให้สะดวกและเร็วต่อการรวบรวมไม้จึงไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนไม้ตั้งแต่ที่รับซื้อหากแต่นำไปขึ้นทะเบียนตรงหน้าที่ว่าการอำเภอแทน.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net