ดูออนไลน์ เทศกาลหนังปกาเกอะญอระลึกถึง 'บิลลี่ พอละจี' 17-23 เม.ย. นี้

ชวนชม 19 หนังในเทศกาล 'บินข้ามลวดหนามออนไลน์' ผู้จัดงานเผยหนังที่ทำโดยคนปกาเกอะญอแสดงถึงตัวตนและศักดิ์ศรีของคนทำได้ นักวิจารณ์หนังระบุหนังเหล่านี้ได้เปล่งเสียงของตัวเองเพื่อเล่าเรื่องตัวเองในฐานะคนชายขอบ ไม่ใช่เสียงครวญของการถูกกดขี่ แต่เป็นเสียงไพเราะของชีวิตและการอยากมีชีวิต

 

 

17 เม.ย. 2563 มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนและ Documentary Club ร่วมจัดงานเทศกาลหนังสั้นออนไลน์ในชื่อ 'บินข้ามลวดหนามออนไลน์' เทศกาลหนังปกาเกอะญอเพื่อเป็นเกียรติแก่ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ วันที่ 17-23 เม.ย. นี้ ที่ ที่ Doc Club Online Theater: https://vimeo.com/ondemand/onlinefffest โดยรายได้จากการจัดเทศกาลออนไลน์นี้จะมอบให้กับเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตตะนาวศรี เป็นกองทุนสนับสนุนชุมชนปกาเกอะญอ-โผล่วที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันระบาดของโควิดและไฟป่าในขณะนี้

เพจอีเว้นท์ ได้ระบุว่า เทศกาลหนังปกาเกอะญอออนไลน์ นี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้แก่บิลลี่ ผู้ผลักดันให้โครงการเกี่ยวก้อยที่กำลังจะหยุดลงในปี 2556 ได้ดำเนินต่อเนื่องมาอีก 5 ปี บิลลี่เชื่อมั่นว่า"หนัง" จะพาความคิด"ความรู้สึก" และ"ตัวตน" ของคนปกาเกอะญอ ไปได้ไกลเกินกว่าที่ขาและเสียงของเขาจะไปถึง

โดยในเทศกาลนี้ ได้รวบรวมหนังในความดูแลของเพื่อนไร้พรมแดนที่สร้างโดยคนปกาเกอะญอ 11 เรื่อง กับหนังเกี่ยวกับคนปกาเกอะญอที่สร้างโดยเพื่อนของพวกเขา 8 เรื่อง เรียบเรียงเป็น 3 โปรแกรม 3 แง่มุมตัวตนคนปกาเกอะญอ พร้อมซีรีย์ 3 ตอนคั่นรายการ

"หนังสั้นหนังยาวเหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่ ขายความทุกข์ยากหรือเรื่องราวชวนฟูมฟายหากเต็มไปด้วยพลังชีวิตที่พร้อมจะเปล่งเสียของตนเองออกมา ภาพยนตร์อย่าง Last Summer หรือ Last year in A Refugee Camp พูดถึงชีวิตของเด็กในค่ายผู้ลี้ภัยอย่างงดงาม ถ่ายทำในค่ายผู้ลี้ภัย ด้วยสายตาของเด็กที่ไม่ยอมจำนนต่อชีวิต ฝีมือของ ดาโพ มรดกพนา โดยทั้งสองเรื่องนี้เขาทำตั้งแต่ยังเรียนมัธยมอยู่"

"วิถีชีวิต และรอยเท้าของเรา ของต้าคว้า กลายเป็นหนังแสนสำคัญเพราะแม้จะเป็นหนังเล่าเรื่อง แต่เขาก็ได้บันทึกช่วงเวลาท้ายๆของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ก่อนที่บิลลี่จะหายตัวไป ภาพการต่อสู้ของกะเหรี่ยงบางกลอย ถูกบันทึกเอาไว้อย่างดงามและเจ็บปวดในหนังสำคัญคู่นี้" เพจอีเว้นท์ระบุ

พรสุข เกิดสว่าง ผู้จัดงานเทศกาลเล่าว่า คิดมานานแล้วเรื่องการจัดเทศกาลหนังปกาเกอะญอ ตนรู้สึกว่าหนังที่ทำโดยคนปกาเกอะญอแสดงถึงตัวตนและศักดิ์ศรีของคนทำได้ แล้วหนังที่ทำโดยเพื่อนฝูงของคนปกาเกอะญอก็เล่าเรื่องราวจากสายตาของมิตร

เธอกล่าวว่า หากอยากรู้จักคนปกาเกอะญอ การดูหนังเซ็ทนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ได้รู้จัก หรือหากอยากดูหนังเพราะอยากดูหนัง เราก็จะได้รู้จักเขาไปเอง ซึ่งการรู้จัก ไม่ใช่แค่ "เรื่อง" ที่เล่าออกมา แต่มันมีอารมณ์ ความรู้สึก มู้ด สไตล์ แนว ของคนทำด้วย

"งานนี้จัดเพื่อรำลึกและเป็นเกียรติให้บิลลี่ เพราะบิลลี่เป็นแอคติวิสต์ไม่กี่คนที่เห็นหนังแบบที่เราเห็น แอคติวิสต์ส่วนใหญ่จะเห็นคุณค่าของสื่อแบบข่าว สารคดี คลิปรณรงค์ แต่น้อยคนจะเห็นในแง่หนังที่เป็นศิลปะ ว่ามันจะถ่ายทอดตัวตนเราได้ขนาดไหน" พรสุขกล่าว

วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา นักวิจารณ์ภาพยนตร์และหนึ่งในผู้จัดฉายหนังกลุ่ม 'FILMVIRUS' ได้โพสต์เฟสบุ๊คเล่าว่า ตนมีโอกาสได้ดูหนังของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนหลายเรื่อง ไปจนถึงหนังของดาโพ มรดกพนา, ไมตรี จำเริญสุขสกุล หรือต้าคว้า

"ทุกครั้งที่ดูก็จะรู้สึกตื้นตัน เพราะหลายๆเรื่องเป็นเจ้าของเรื่องทำหนังออกมาเอง การได้เปล่งเสียงของตัวเองเพื่อเล่าเรื่องตัวเองในฐานะคนชายขอบที่หลายครั้งต้องให้คนอื่นพูดแทนมันงดงามมาก แล้วเสียงที่เปล่งออกมามันไม่ใช้เสียงครวญของการถูกกดขี่ แต่มันเป็นเสียงไพเราะของชีวิตและการอยากมีชีวิต"

วิวัฒน์ยังระบุว่า สองปีต่อมา เกิดเหตุไม่คาดคิดกับ ชัยภูมิ ป่าแส ซึ่งเป็นทีมงานในหนังของเพื่อนไร้พรมแดนที่เคยดูและชอบมากๆอย่าง เข็มขัดกับหวี (สุทิตย์ ซาจ้ะ) และ Chaw h'kaw (ไมตรี จำเริญสุขสกุล) FILMVIRUS เลยทำโปรแกรมเล็กๆเพื่อระลึกถึงเขา ในชื่อ Je Suis Condolences for the Young *2 ได้หนังของณฐพล บุญประกอบ มาปิดโปรแกรมแถมอย่างทรงพลัง

"หนังเหล่านี้อาจจะเป็นหนังที่พูดภาษาที่ผู้ชมไม่คุ้นเคย เล่าเรื่องที่เราอาจไม่รู้เลยว่าอยู่ตรงไหนบนโลกนี้ งานคราฟต์อาจจะไม่ละเอียด หรือมีพลอตหักมุมแข็งแรงแบบหนังกระแสหลักที่เหวี่ยงอารมณ์ผู้ชมขึ้นลงอย่างใจนึก หนำซ้ำนักแสดงก็อาจจะประดักประเดิด เขินกล้อง แต่หนังทั้งหมดในโปรแกรมนี้เต็มแน่นไปด้วยพลังของการเล่า ของความต้องการที่จะเล่า ที่จะบันทึก (เราจะได้เห็นภาพของบิลลี่ ในหนังเรื่อง รอยเท้าของเรา ในฐานะนักแสดงที่เล่นเป็นตัวเอง ไม่นานก่อนเขาหายตัวไป) เรื่องราว ประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลที่ไม่ถูกรัฐบันทึกไว้ หนำซ้ำหลายๆครั้งก็ยังพยายามลบเลือนออกไปอีกด้วย สำหรับเราหนังเหล่านี้จึงเป็นเครื่องยืนยันถึงความสามารถขอบเขต ความเป็นไปได้ และความจำเป็นของสิ่งที่เป็นศิลปะบ้างไม่เป็นศิลปะบ้างอย่างภาพยนตร์ ว่ามันมีพลังมากขนาดไหน" วิวัฒน์กล่าว

 

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนคือองค์กรเอกชนไทยที่ทํางานเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลาก หลาย ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัยในประเทศไทย

เก้าปีที่แล้ว มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ร่วมกับเครือข่ายตัดสินใจเปิดอบรมการผลิตภาพยนตร์สั้นในประเด็นของคนชาติพันธุ์ ผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติขึ้นที่เชียงใหม่ ในชื่อโครงการเกี่ยวก้อย และเทศกาลภาพยนตร์และศิลปะในชื่อ บินข้ามลวดหนาม ซึ่งจัดต่อเนื่องกันร่วมทศวรรษ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ ในหมู่บ้านของพี่น้องชาติพันธุ์  และในกรุงเทพ

ตลอดระยะเวลาสิบปีนี้ โครงการเกี่ยวก้อยได้สร้างคนทำหนังที่น่าสนใจมากมาย ทั้งจากคนชาติพันธุ์ที่ลุกขึ้นมาทำหนังบอกเล่าเรื่องของตัวเองด้วยตนเองอย่าง ดาโพ มรดกพนา และ ต้าคว้า ไปจนถึงพี่เลี้ยงในโครงการที่ได้รับทุนมาทำหนังด้วยอย่าง ศุภโมกข์  ศิลารักษ์ หรือ เชวง ไชยวรรณ

 

รายชื่อหนัง :
(ทุกเรื่องมีซับไตเติลภาษาอังกฤษ ยกเว้น "ห่อวอเนอมู" / All films have English subtitles except The Scent of Haw Wor) (ติดตามเรื่องย่อทั้งหมดได้ในเพจอีเวนท์นี้)

PROGRAM 1 : Our footprints
1. ห่อวอเนอมู (The Scent of Haw Wor, 2005, 82.19 min)
2. หม่อแฆะ (Mae Kaeh, 2017, 19.05 min)
3. วิถีชีวิต (The Way of Lives, 2013, 18.28 min)
4. รอยเท้าของเรา (Our Footprints, 2015, 25.16 min)
5. ไม้ใหญ่ สายน้ำเชี่ยว (The Big Tree, 2017, 23.36 min)
6. ซีรีย์ชุด “วันเกิด” EP 1 (2015, 8.17 min)

PROGRAM 2 : Last Year
7. Last Summer (2015, 19.09 min)
8. บทเพลงของแอ้โด้ะฉิ (The Songs of Eh Doh Shi, 2006, 86.37 min)
9. ต่าหมื่อหล่า (Tamula, 2012, 14.46 min)
10. Last Year in A Refugee Camp (2016, 18.16 min)
11. A Simple Truth (2017, 4.49 min)
12. ซีรีย์ชุด “วันเกิด” EP 2 : วันเกิด..เหตุ (2015, 10 min)

PROGRAM 3 : Opportunity Costs
13. นักมวยของน้อง (My Brother Is A Boxer, 2014, 9.38 min)
14. The Misplaced Flower (2014, 11.57 min)
15. ต่าหนะ (Tana, 2013, 12.27 min)
16. ภารกิจสุดท้าย (The Last Mission, 2016, 17.21 min)
17. Malaria and Mosquitoes (เพียงวันฉันเฝ้ารอ, 2013, 24.42 min)
18. Opportunity Costs: Diary of the Wild Birds (2018, 36.43 min)
19. ซีรีย์ชุด “วันเกิด” EP 3 : เกิด (2015, 9.13 min)

 

รายละเอียดวิธีการจองบัตร/เข้าชม

ถ้ามีบัตรเดรดิต, เดบิต ของมาสเตอร์การ์ด วีซ่า อเมริกันเอสเพรส หรือบัญชีเพย์พาล

1. เข้าไปที่ https://vimeo.com/ondemand/onlinefffest

2. กดจอง (pre-order หรือ rent)

3. (หากยังไม่เคยล็อกอินเข้าเว็บ vimeo) จะขึ้นหน้าล็อกอิน สามารถสร้างบัญชี vimeo ใหม่ หรือจะเชื่อมต่อกับ Facebook ก็ได้

4. กรอกข้อมูลบัตรเครดิตเพื่อชำระเงิน ($2.99 เหรียญ)

5. เมื่อจองหรือเช่าเสร็จแล้ว 
- จะขึ้นคำว่า pre-ordered ในหน้า https://vimeo.com/ondemand/onlinefffest
- เข้ามารับชมหนังได้ตั้งแต่ 17-23 เมษายนค่ะ ^^

ถ้าไม่มีมีบัตรข้างต้น

1. โอนค่าเข้าชม 99 บาทมาที่ บัญชีธ.กสิกรไทย (ชื่อบัญชี ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ เลขที่ 799-2-21364-3)

2. แล้วส่งหลักฐานการโอน + ชื่อของคุณ มาที่กล่องข้อความของ https://www.facebook.com/fwbfoundation/ เราจะส่งรหัสและลิงค์สำหรับเข้าชมหนังกลับไปให้ค่ะ

3. เข้าชมหนังได้ในวันที่ 17-23 เมษายน 2563 โดยใช้ลิงค์และรหัสที่ได้รับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท