Skip to main content
sharethis

ถึงแล้วแรงงานไทย หลังไทยเปิดด่านวันแรกรับ 91 คนไทยจากมาเลเซีย

หลังจากประเทศมาเลเชียปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.- 28 เม.ย. ส่งผลให้มีแรงงานไทยที่อยู่ประเทศมาเลเซีย ตกค้างเป็นจำนวนมาก วันนี้เป็นวันแรกที่เปิดด่านรับคนไทยจากประเทศมาเลเซีย ที่กลับเข้าประเทศไทย ซึ่งมีการเปิดด่านตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รับแรงงานไทยที่ลงทะเบียนไว้กับสถานทูตมาเลเซียจะเดินทางเข้ามาวันนี้ล็อตแรก จำนวนทั้งสิ้น 262 คน ดังนี้ ด่านสะเดา จ.สงขลา 100 คน ด่านสุไหงโกลก จ.นราธิวาส 91 คน ด่านเบตง จ.ยะลา 20 คน ด่านตำมะลัง (ด่านทางน้ำ) 16 คน ด่านวังประจัน จ.สตูล 35 คน

บรรยากาศที่ด่านพรมแดนไทย มาเลเซีย ด้าน อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ภายหลังจากที่ทางการมาเลเซียออกประกาศ ส่งผลให้แรงงานในร้านอาหารต้มยำกุ้ง หลายแห่งที่กระจายอยู่ตามรัฐต่างๆของมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ลงทะเบียนไว้กับสถานทูตมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาวันนี้ชุดแรกทางด่านสุไหงโกลก จ.นราธิวาส จำนวน 91 คน ซึ่งด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก เปิดรับตั้งแต่เวลา 07.00 – 12.00 น. ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทย คือ 100 คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่ทางสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ให้มาล่วงหน้าไม่เกิน 12.00 น. คนที่มีรายชื่อถ้าหากมาเกินเที่ยงก็ไม่ให้เข้าตามหลักเกณฑ์ หลังจากแรงงานทั้งหมดตรวจร่างการตามจุดคัดกรองตามหลักแล้ว จะได้ส่งจ่อไปยังสถานที่กักกันตัวหรือ local quarantine ไว้แล้วกว่า 67 แห่ง ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไว้รองรับ

ด้าน พ.ต.อ.ศุภชาติ เวชพร​ ผกก.ตม.จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า จะอนุญาตให้เฉพาะคนไทยกลับเข้าประเทศเท่านั้น โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นคนที่ผ่านการลงทะเบียนเพื่อขอกลับไทย กับกระทรวงการต่างประเทศ และกลับเข้ามาได้วันละไม่เกิน 100 คน ต่อช่องทาง ซึ่งทุกคนที่จะกลับเข้าประเทศต้องมีใบรับรองแพทย์ Fit to Travel และหนังสือรับรองจากสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ ที่มีการลงนามยินยอมให้กักตัว 14 วัน เพื่อสังเกตอาการในสถานที่ที่รัฐกำหนด และเมื่อมาถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง บริเวณจุดผ่านแดน เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคจะคัดกรองโดยตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หากไม่มีไข้ จะกำหนดจุดให้พักรอ เพื่อตรวจเอกสารการเข้าเมือง และถ้าผ่านจุดนี้แล้วจะมีเจ้าหน้าที่รับตัวไปขึ้นรถ เดินทางไปยังสถานที่กักตัวที่แต่ละจังหวัดกำหนดไว้

ต่างตกใจกับการประกาศดังกล่าว เนื่องจากต้องปิดร้านตามประกาศเตือนของรัฐบาลและได้มีการรวมตัวจับกลุ่มวิพากย์วิจารณ์กันหลังทราบข่าว และมีการประชุมย่อยตามรัฐต่างๆของบรรดาแรงงานไทย เพราะย่อมส่งผลกระทบ ต่อรายได้ ประกอบกับช่วงนี้ขายของไม่ค่อยได้เพราะคนกลัวติดเชื้อโควิด-19 จึงไม่มาใช้บริการ แต่เมื่อมีประกาศปิดประเทศอย่างเป็นทางการแล้ว อาหาร เช่น ปลาเนื้อ ผักต่างๆ ที่สั่งซื้อมาแล้วย่อมเกิดความเสียหาย อีกทั้งคนงานที่อยู่ตามร้านต่างๆ ต้องไม่มีงานทำในช่วงที่ทางการมาเลเซียปิดประเทศ

ขณะที่บรรดาพ่อ ค้าแม่ค้า ที่ทำมาค้าขายกับพ่อชาวมาเลเซียตามชายแดนถึงกับตกใจเมื่อทราบข่าว ทางการมาเลเซียจะทำการปิดด่าน 14 วัน เพื่อป้องกันการลามของเชื้อโควิด -19 เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีมาเศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดีและต่อมามีการแพร่ระบาดเชื้อโควิด – 19 ขึ้นมาอีก ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ต้องทรุดหนักเข้าไปอีก เนื่องจากอำเภอเบตง จะทำการค้าขายกับชาวมาเลเซีย และมีสินค้าที่ส่งออกสูงสุด ได้แก่ ยางพารา ไม้ยางพารา ส่วนการนำเข้าได้แก่ แอมโมเนียที่ใช้ในกระบวนการแปรรูปยางพารา ทั้งนี้ที่ผ่านมาไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้ามาเลเซีย

ซึ่งการการปิดประเทศมาเลเชียในครั้งนี้จะเริมปิดอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 18-31 มี.ค. นี้ โดยคนไทยที่อยู่ในประเทศมาเลเซียเดินทางออกได้ตามปกติแต่เข้าประเทศมาเลเซียไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 18-31 มี.ค. ส่วนคนมาเลเซียเดินทางออกนอกประเทศ ไม่ได้เลย ซึ่งคนไทยที่จะเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียไม่ได้ ในระหว่างวันที่ 18-31 มีนาคมนี้ และคนมาเลเซีย กลับเข้า ประเทศมาเลเซียได้ หลังวันที่ 18 มี.ค. นี้ แต่ต้องไปตรวจร่างกาย และ กักตัวเอง 14 วัน

ที่มา: สยามรัฐ, 18/4/2563 

กสร.ติดตามเลิกจ้างลูกจ้าง มิตซูบิชิอิ เล็คทริค จ.ชลบุรี

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กรณีบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอนซูเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเลิกจ้างลูกจ้าง จำนวน 1,000 คนนั้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า บริษัทดังกล่าวมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ประกอบกิจการผลิตเครื่องปรับอากาศสำเร็จรูปและผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ มีลูกจ้างโดยตรง 2,500 คน และมีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงอีก 2,600 คน ซึ่งการเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างลูกจ้างรับเหมาค่าแรงจากบริษัทรับเหมาค่าแรง 7 บริษัท จำนวนลูกจ้าง รวม 1,119 คน และให้มีผลทันทีโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 2563

ทั้งนี้ บริษัทแจ้งว่าได้กำหนดจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 41 ล้านบาท โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารของลูกจ้างทุกรายที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งขณะนี้ลูกจ้างได้รับเงินดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และจะจ่ายค่าจ้างในวันที่ 20 เม.ย. 2563 โดยการโอนเข้าบัญชีธนาคารลูกจ้างเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กสร. ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีลงพื้นที่ไปพูดคุยกับนายจ้าง ลูกจ้าง พร้อมทั้งชี้แจงสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายให้แก่นายจ้างลูกจ้างได้ทราบเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม กสร.ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยให้ตรวจสอบกับลูกจ้างว่าได้รับค่าจ้างถูกต้องหรือไม่ หากพบว่าไม่ถูกต้องให้ดำเนินการ ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างทันที พร้อมทั้งให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการจัดหางานในการจัดหางานใหม่ทดแทน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกรณีที่ลูกจ้างต้องการฝึกอาชีพและสำนักงานประกันสังคมในการดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างด้วย

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 17/4/2563

ระดมกำลังบุกจับแรงงานต่าวด้าวรวมตัวเล่นกีฬา

ตำรวจ สภ.คลองหลวง และ ฝ่ายปกครองอำเภอคลองหลวง สนธิกำลัง 30 นายเข้าจับกุมแรงงานต่างด้าว ที่กำลังร่วมกลุ่มเล่นกีฬาในที่สาธารณะ ในเขตพื้นที่อำเภอคลองหลวง ซึ่งถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ไม่ให้มีการรวมกลุ่ม ชุมนุม หรือมั่วสุมทำกิจกรรมที่อาจทำให้โรคระบาดแพร่ออกไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อแรงงานต่างด้าวเห็นเจ้าหน้าที่ จึงพยายามวิ่งหนี ก่อนถูกติดตามตัวมาดำเนินคดีรวมทั้งสิ้น 21 คน พร้อมของกลางทั้ง เน็ต, ตาข่าย และลูกวอลเลย์บอล ซึ่งแรงงานทั้งหมดไม่สวมหน้ากากอนามัย จึงเกรงว่าอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค “โควิด-19” จากนั้นตำรวจจึงควบคุมตัวทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ดำเนินคดีต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 16/4/2563 

ก.แรงงานฯ เผย SCCC ปิดโรงงานปูนสระบุรีปลดลูกจ้าง 144 คน โรงงานปูนฯ อื่นยังไม่มีรายงานเลย์ออฟ

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า การที่บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) ประกาศปิดสายการผลิตโรงงาน 1 ของกิจการสระบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.63 เป็นต้นไปนั้น ขณะนี้ได้รับรายงานจากทางจังหวัดสระบุรีว่า การปิดสายการผลิตในโรงงาน 1 ดังกล่าวจะกระทบต่อพนักงานที่มีอยู่ 144 คน ซึ่งได้แจ้งการปลดพนักงานทั้งหมดทั้งในส่วนของโรงงานและสำนักงาน จากพนักงานที่มีอยู่ทั้งหมด 2,100 คน จากโรงงานปูนซีเมนต์ 3 แห่งของ SCCC โดยให้เหตุผลในการปิดสายการผลิตดังกล่าว เนื่องจากกำลังซื้อในตลาดที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีความจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลง

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทอื่นแจ้งการปิดโรงาน หรือปลดพนักงานเข้ามาแต่อย่างใด

"เรื่องนี้คงกระทบไปทั่วหมด เพราะตามรายงานเข้ามาแต่ละวันก็จะมีจำนวนโรงงานที่แจ้งเข้ามารายวัน มีทุกวัน มีโรงเล็ก โรงใหญ่ บางโรงมีสายป่านยาวก็ใช้การหยุดกิจการชั่วคราว ถ้าเป็นบริษัทที่ประเมินว่าสถานการณ์ยืดเยื้อยาวนาน ก็อาจจะสู้ไม่ไหว เลิกกิจการไป เทียบกับปีที่ผ่านมา เราก็ยอมรับว่าแนวโน้มค่อนข้างเยอะ ถ้าเป็นตัวเลขของหน่วยงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จากการที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างแล้วมาเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย เราพบว่าปีนี้มีจำนวนสถานประกอบการเลิกจ้างเป็น 2 เท่า ลูกจ้างได้รับผลกระทบจำนวนมากเกือบ 4 เท่า" นายอภิญญา กล่าว

นายอภิญญา กล่าวว่า การจัดเก็บตัวเลขการเลิกจ้างของกรมฯ มาจากจำนวนพนักงานที่ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายแล้วมายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562- มี.ค. 2563) มีแจ้งการปิดกิจการทั้งสิ้น 992 แห่ง จาก 511 แห่งในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีพนักงานที่มายื่นคำร้องทั่วประเทศ จำนวน 13,407 คน จาก 3,040 คนในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่สถานประกอบการที่หยุดกิจการชั่วคราว มีทั้งสิ้น 1,113 แห่ง จาก 117 แห่งในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า ในแง่พนักงานที่ได้รับผลกระทบมีจำนวน 271,446 คน จาก 37,821 คนในช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.น่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก โดยตัวเลขดังกล่าวเฉพาะยอดผู้ที่เข้ามาร้องต่อกรมฯ ไม่นับรวมยอดการเลิกจ้างที่ไม่ได้เกิดข้อพิพาท

ทั้งนี้ การพิจารณายอดการเลิกจ้างต้องดูที่ตัวเลขของการขึ้นทะเบียนประกันตนกรณีการว่างงาน ซึ่งจะสะท้อนตัวเลขการถูกเลิกจ้าง โดยเบื้องต้นเฉพาะเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มีประมาณ 140,000 คน ซึ่งเป็นผู้มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน ทำให้ตัวเลขยอดการว่างงานในระบบขณะนี้น่าจะอยู่ที่ราว 700,000 คน ขณะที่คาดว่าสถานการณ์ตั้งแต่เดือนเม.ย.น่าจะเพิ่มขึ้นอีก โดยในส่วนของของกรมฯก็จะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมาย

ส่วนรายงานข่าวการเลิกจ้างพนักงานซับคอนแทรกต์ของโรงงานแอร์มิตซูบิชิ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ประมาณ 1,200 คนนั้น เบื้องต้นมีรายงานเข้ามาบ้างแล้ว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสต์, 17/4/2563 

แรงงานไทยในมาเลเซียหลบหนีเดินข้ามแม่น้ำโก-ลก กว่า 90 คน

16 เม.ย.2563 ที่บริเวณหน้าด่านพรหมแดนสุไหงโก-ลก เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง อ.สุไหงโกลก ได้ควบคุมตัวแรงงานไทยที่หลบหนีเข้ามาทางช่างทางธรรมชาติตามแนวชายแดนริมแม่น้ำสุไหงโก-ลก เพรากลัวว่าวันที่ 18 เม.ย. นี้ที่ทางรัฐบาลไทยอนุญาติให้กลับมาได้เพียงแค่ 100 คน ก็เลยกลัวว่าจะไม่ได้กลับบ้านจึงยอมเสี่ยงให้ทางการไทยจับดีกว่าอดตายอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย

นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก กล่าวว่า แรงงานไทยที่หลบหนีเข้าเมืองได้หลบหนีมาตามทางเส้นทางธรรมชาติ ที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำสุไหงโก-ลก ทางเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงได้จับกุมได้จำนวนทั้งหมด 94 ราย ได้ดำเนินการพามา ณ จุดคัดกรอง เปรียบเทียบปรับ รายละ 800 บาท ก่อนที่จะประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่คนไทยกลุ่มนี้อาศัยอยู่ มารับตัวที่ด่านพรมแดน อ.สุไหงโก-ลก โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแต่ละจังหวัดจะทำการกักตัวเพื่อดูอาการ 14 วัน ตามศูนย์ Local Quarantine รองรับผู้ที่ต้องกักตัวเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตามกระบวนการควบคุมโรคระบาดต่อไป

จากการสอบถามแรงงานกลุ่มนี้ เปิดเผยว่า พวกเดินทางตั้งแต่เมื่อเช้า จากรัฐปาหัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งไกลจากด่านลันเตาปันยัง ประเทศมาเลเซีย ประมาณ 300 กิโลเมตร จะไปภูมิลำเนา เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลมีมาตรการปิดด่านพรมแดนทุกช่องทางซึ่งพวกตนไม่รู้จะไปช่องทางไหน จึงชวนกันลักลอบจะข้ามแดนไป โดยแอบลักลอบข้ามแดนทางช่องทางข้ามธรรมชาติ จำนวน 94 คน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่มา: เว็บไซต์บ้านเมือง, 16/4/2563 

รมว.แรงงาน แจงโยกผลกำไรกองทุนชราภาพ เยียวยาว่างงานจาก COVID-19

16 เม.ย. 2563 ที่กระทรวงแรงงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้กระทรวงแรงงาน หาเม็ดเงิน 2.3 แสนล้าน เพื่อจ่ายเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ในเบื้องต้นจะต้องจ่ายให้ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบและลงทะเบียน ในรอบแรกให้ได้ก่อน คาดว่าจะเริ่มจ่ายได้ในวันที่ 17 เม.ย. 2563 ขณะนี้เตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่กล้าเซ็นจ่ายออกไป ต้องรอกฎกระทรวง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ จะดำเนินการจ่ายทันที ส่วนที่มีความกังวลว่า จะมีการโยกเงินจากกองทุนชราภาพมาเพิ่มเติม หากเงินในกองทุนว่างงานไม่เพียงพอ การจะโยกตัวเงินต้นของกองทุนอื่นมาใช้ข้ามกองทุนทำไม่ได้อยู่แล้ว

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวอีกว่า กองทุนประกันสังคม ตั้งขึ้นมาเพื่อประกันสังคมในหลายเรื่อง ทั้งชราภาพ ตกงาน บางกองทุนก็ใหญ่ บางกองทุนก็เล็ก มีกฎกระทรวงเขียนกฎเกณฑ์ไว้ชัดเจน เก็บเรื่องไหนก็ใช้เรื่องนั้น เงินต้นนำมาใช้ข้ามกองทุนไม่ได้ แต่การใช้เงินจากดอกผลจากกองทุนนั้นๆ สามารถพูดคุยกันได้ว่า จะทำอย่างไรได้บ้าง คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความไว้แล้ว จึงต้องค่อยๆ ดู จะแก้ปัญหาครั้งเดียวไม่ได้ ขณะนี้ขอให้จ่ายเงินชดเชยงวดแรกให้ได้ก่อน แล้วค่อยมาเจรจาเรื่องที่ 2-3 ต่อไปว่าจะทำอย่างไรได้บ้างในเรื่องของการใช้เงินที่เป็นดอกผลของของกองทุน มีหลายคนคัดค้าน จึงต้องหาข้อสรุปให้ได้ โดยคาดการณ์ว่า จะมีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ขอรับสิทธิชดเชยจากผลกระทบไวรัส COVID-19 ไม่เกิน 9 ล้านคน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 16/4/2563 

ต่ออายุแรงงานต่างด้าว 1.2 ล้านราย ทำงานในไทยต่อได้ถึง 30 พ.ย. 2563

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2563 นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยความคืบหน้า การดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และขออยู่ต่อในราชอาณาจักร ของแรงงานต่างด้าว ตามมติ ครม.วันที่ 20 ส.ค. 2563 ว่า ขณะนี้มีนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานยื่นบัญชีรายชื่อ (Name List) ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 แล้วจำนวน 1,266,351 คน เป็นสัญชาติ กัมพูชา 213,461 คน ลาว 50,581 คน และเมียนมา 1,002,309 คน

ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานแล้ว 1,044,055 คน ยื่น ตท.2 แล้ว 760,837 คน ได้รับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ซึ่งจะอนุญาตทำงานถึง 31 มี.ค. 2565 แล้ว 710,358 คน จำแนกเป็น กัมพูชา 105,779 คน ลาว 28,541 คน และเมียนมา 576,038 คน และมีแรงงานต่างด้าวคงเหลือที่จะต้องดำเนินการอีก จำนวน 555,993 คน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่า คณะรัฐมนตรีจะมีมติเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2563 เห็นชอบผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามมติ ครม.วันที่ 20 ส.ค. 2563 ที่นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ต่อกระทรวงแรงงานแล้วภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

“แต่ไม่สามารถดำเนินการขออนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จได้ตามกำหนดในช่วงระยะเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้อยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราวและสามารถทำงานไปพลางก่อนได้ ถึงวันที่ 30 พ.ย. 2563 และยกเว้นค่าเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด (Over Stay)”

แต่ขอให้นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงาน ที่ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ติดตามดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อให้แล้วเสร็จตามที่กำหนด ได้แก่ การนัดหมายให้แรงงานต่างด้าวเข้ารับการตรวจสุขภาพในโรงพยาบาลของรัฐ การยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานผ่านทางระบบออนไลน์ (https://e-workpermit.doe.go.th/) และการจัดเก็บข้อมูลชีวภาพและอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics Data)

และในระหว่างระยะเวลาที่ผ่อนปรนนี้ให้ใช้บัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Name List) ที่กรมการจัดหางานออกให้ และใบอนุญาตทำงานฉบับเดิม ในการเป็นหลักฐานจ้างแรงงานต่างด้าว ไปพลางก่อน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 16/4/2563 

ครม.เพิ่มสิทธิประโยชน์บุคลากรการแพทย์สู้ COVID-19 'เงินเพิ่ม-โควตาพิเศษ 2 ขั้น-ลดดอกเบี้ยเงินกู้'

ครม.มีมติอนุมัติบรรจุข้าราชการ 24 สายงานวิชาชีพสาธารณสุข 38,105 อัตรา นักศึกษาแพทย์-ทันตแพทย์จบใหม่ 2,792 อัตรา ส่วนเภสัชกร พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข 4,787 อัตรา ให้ทำแผนเสนออีกครั้ง พร้อมสิทธิประโยชน์อื่น เช่น เงินเพิ่มพิเศษ 2,700 ล้านบาท, โควตาพิเศษ 2 ขั้น, ลดดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทุกสังกัดตำรวจ ทหาร มหาวิทยาลัย ท้องถิ่น สายแพทย์ที่เกี่ยวกับ COVID-19 ด้วย

15 เม.ย. 2563 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เสนอดังนี้คือ

1. อนุมัติ 38,105 อัตรา (24 สายงาน) ตามเงื่อนไขคือให้ยกคนกลุ่มเดิมที่ทำงานอยู่แล้วเป็นข้าราชการโดยการสอบคัดเลือกและจะไปทำความตกลงกันอีกครั้งว่าจะใช้วิธีสอบคัดเลือกรูปแบบใด ซึ่งผลจากการยกให้คนกลุ่มนี้เป็นข้าราชการทำให้ไทยมีอัตราแพทย์เต็มตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้และห้ามใช้เงินเดิมไปบรรจุคนใหม่

ทั้งนี้การที่จะบรรจุอัตราว่างได้นั้นต้องเป็นตำแหน่งอื่นที่จำเป็น ไม่ได้อยู่ในสายงาน 24 สายงานที่ได้รับการบรรจุไปแล้ว เช่น แพทย์แผนไทย และต้องทดลองปฏิบัติราชการตามปกติ ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ได้บรรจุ ในส่วนอายุราชการให้นับย้อนได้แต่ไม่นำมาคิดเวลาเพื่อรับบำนาญ และจะมีการทยอยบรรจุ 3 รุ่น คือรุ่นเดือน พ.ค., ส.ค และ พ.ย. ทั้งนี้การบรรจุก่อน 1 ต.ค.63 ทำให้ต้องใช้งบกลางปี 2563

2. จัดสรรอัตราข้าราชการให้นักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์จบใหม่ 2,792 อัตรา (จากที่ขอ 7,579) ส่วนเภสัชกร พยาบาลและนักวิชาการสาธารณสุข (4,787 อัตรา) โดยให้ทำแผนเสนออีกครั้ง

3. ให้เงินเพิ่มพิเศษ 2,700 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มปฏิบัติงานตรง เช่น แพทย์ พยาบาล 1,500 บาทต่อเดือน ถึงเดือน ก.ย.และกลุ่มสนับสนุน 1,000 บาทต่อเดือน ถึงเดือน ก.ย.นี้เช่นกัน

4.ให้โควตาพิเศษ 2 ขั้น

5. อายุราชการทวีคูณ ไม่อยู่ในเกณฑ์ตามกฎหมาย ซึ่งตามกฎหมายจะระบุให้เฉพาะตอนประกาศกฎอัยการศึกเท่านั้น

6. ลดดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ สำหรับธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน

7.จ่ายเงินช่วยบุคลากรที่ติดเชื้อตามเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด

8.บุคคลากรทางการแพทย์ได้รับบริจาคการทำประกันสุขภาพแล้ว จำนวน 320,000 กรมธรรม์

ทั้งนี้ สำหรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐมอบให้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ยังมอบให้แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ของสังกัดอื่นด้วยเช่น ตำรวจ ทหาร มหาวิทยาลัย ท้องถิ่น สายแพทย์ที่เกี่ยวกับ COVID-19 อีกด้วย

ที่มา: Hfocus, 15/4/2563 

พยาบาลขอบคุณ หลังได้บรรจุเป็นข้าราชการ 'อนุทิน' หวังเป็นแรงผลักทำงานบริการประชาชน

ที่กระทรวงสาธารณสุข พยาบาลกว่า 50 คนจากโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า สถาบันบำราศนราดูร และโรงพยาบาลศรีธัญญา นำดอกไม้มาขอบคุณนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบบรรจุพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เป็นข้าราชการ ได้สำเร็จ 45,684 ตำแหน่ง

นายอนุทิน กล่าวแสดงความยินดีที่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ และขอขอบคุณ สำหรับน้ำใจที่นำมามอบให้ สิ่งที่พวกทุกคนได้รับในวันนี้ ควรค่าแก่การทำงานหนักของทุกคน จากนี้ หวังว่าขวัญกำลังใจที่ได้รับมา จะเป็นแรงผลักดันในการทำงาน เพื่อบริการประชาชนอย่างสุดความสามารถ โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ที่สุดแล้ว ความสำเร็จดังกล่าว จะไม่มีทางเกิดขึ้น หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวง สาธารณสุข และเร่งให้ดำเนินการโดยเร็ว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 15/4/2563 

ร้องคมนาคมช่วย 'บุคลากรด้านการบิน' รับผลกระทบ COVID-19

นายสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย เปิดเผยภายหลังการเข้าหารือกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าได้ยื่นหนังสือประเด็นความเดือดร้อนของบุคลากรด้านการบิน และแนวทางช่วยเหลือ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ทำแบบสำรวจผลกระทบจากปัญหา COVID-19 ต่อบุคลากรด้านการบิน ระหว่างวันที่ 2-7 เม.ย.2563

จากการรวบรวมประมาณ 2,000 คน แต่ทั้งหมดตอบว่าไม่ได้รับการช่วยเหลือและไม่ได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากธุรกิจการบินมีข้อจำกัด ในขั้นตอนการขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจซึ่งมีความยุ่งยากมาก ทำให้ไม่สามารถปิดตัวได้เพื่อให้พนักงานไปรับเงินช่วยเหลือตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด

ขณะที่ผู้ประกอบกิจการต่างๆ เลือกใช้วิธีลดค่าตอบแทนพนักงานลงตามปริมาณงานที่น้อยลง ซึ่งทำให้เกิดความเดือนร้อนในพนักงาน 2 กลุ่มคือ กลุ่มพนักงานในกิจการที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีรายได้น้อย หรือถูกลดค่าตอบแทนในอัตราที่สูง ซึ่งตามกฏหมายถือเป็นพนักงานของรัฐ และกลุ่มพนักงานในกิจการเอกชนที่มีรายได้น้อย หรือถูกลดค่าตอบแทนในอัตราที่สูง เนื่องจากรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนแปรผันตรงกับชั่วโมงการทำงาน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นำประเด็นความเดือดร้อนของบุคลากรด้านการบินหารือเพื่อกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือต่อรัฐบาล ได้แก่ เรื่องมาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน โดยให้พนักงานในทุกกิจการด้านการบินซึ่งมีรายได้ไม่ถึง 150,000 บาทต่อปี เช่น การใช้สิทธิรับเงิน 5,000 บาท ในโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" มาตรการเงินกู้พิเศษจากสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ ยังขอให้พิจารณาช่วยเหลือมาตรการลดรายจ่ายให้พนักงาน เช่น มาตรการทางภาษี มาตรการลดภาระสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

ที่มา: Thai PBS, 15/4/2563 

พรรคก้าวไกลจี้รัฐบาลเยียวยา ปชช.ให้ครอบคลุม พร้อมเปิดเว็ปไซต์ 'ทำไมไม่ได้ 5 พัน' รับเรื่องร้องทุกข์

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ทีมโฆษกพรรคก้าวไกล นำโดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรค นายณัฐชา บุญไชยอินทร์สวัสดิ์ น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา และนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โดยนายสุพร อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน

นายวิโรจน์ กล่าวว่า การเปิดให้ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000บาท เป็นเวลา 3 เดือน ให้ประชาชน 8 ล้านคนผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน .com ของกระทรวงการคลัง และใช้ระบบ AI ตรวจคัดกรองผู้มีคุณสมบัตินั้น พรรคก้าวไกลได้ท้วงติงและมีข้อเสนอรัฐบาลตั้งแต่ต้นว่าควรจะช่วยเหลือเยียวยาแรงงานนอกระบบทั้งหมดแบบถ้วนหน้า ทั้งที่อยู่ในระบบประกันตนมาตรา 39 มาตรา40 ซึ่งว่างงานอยู่ประมาณ 14.5 ล้านคน โดยเทียบเคียงกับกรณีที่การท่าอากาศยานไทย มีมติช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในการท่าอากาศยานฯ ถึงปี 2565 ทำให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้รับประโยชน์ ขณะที่การท่าอาจสูญเสียกำไรถึง 22,536ล้านบาท ทั้งที่ขณะนั้นสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่รุนแรงเท่ากับปัจจุบัน แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

นายวิโรจน์ กล่าวว่า และเมื่อเปิดลงทะเบียนพบว่าการตรวจคัดกรองความเดือดร้อนของประชาชนโดยใช้ระบบที่มีความซับซ้อน ซึ่งประชาชนบางส่วนอาจไม่คุ้นกับเทคโนโลยีและเข้าไม่ถึงการลงทะเบียนของรัฐจนเสียสิทธิ์ไป ที่สำคัญได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดกรองโดยตัดบางอาชีพที่ได้รับผลกระทบจริงออกไปจำกัดวงให้เหลือเพียง 8 ล้านคน ทำให้แรงงานนอกระบบอีก 6.5 ล้านคนถูกทอดทิ้ง และล่าสุดมีผู้ลงทะเบียน 27 ล้านคน คัดกรองไปได้ 7.99 ล้านคน มีคนที่ผ่านเกณฑ์เพียง 1.68 ล้านคน และยังต้องกรอกข้อมูลเพิ่มเติมอีก 1.53 ล้านคน และประชาชนที่ไม่ผ่านถึง 4.78คน ทั้งที่กรอกข้อมูลตามความเป็นจริงแต่ถูกระบุว่าไม่เข้าเกณฑ์ซึ่งทั้งหมดพิสูจน์ให้เห็นว่ากระบวนการประสบความล้มเหลวทั้งที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ดังนั้นหากรัฐบาลยังยืนยันที่จะดำเนินมาตรการดังกล่าวจะเป็นการซ้ำเติมประชาชนในช่วงเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือ

นายวิโรจน์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนแนวทางดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มอื่นๆให้ครอบคลุม ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลเปลี่ยนความคิดว่าเป็นเจ้าของเงิน ที่ต้องนำมาบริจาคให้กับประชาชน เป็นรัฐบาลคือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนให้จัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือเยียวยาให้เกิดประโยชน์กับประชาชน 2.ให้รัฐบาลยกเลิกกระบวนการพิสูจน์ความทุกข์ของประชาชน ยกเลิกเกณฑ์อาชีพเดิมที่ปฏิเสธช่วยเหลือ เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับเงินโดยเร็ว เพราะหากเยียวยารายละ 5,000บาทให้กับรายงาน 14.5 ล้านคนเป็นเวลา3เดือนจะใช้งบประมาณ 217,500 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถจัดสรรได้ 3.ให้รัฐบาลเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคมที่มีอยู่ประมาณ 12ล้านคน ที่ประสบปัญหารายได้ เนื่องจากถูกลดเงินเดือน ถูกสั่งให้หยุดงานในบางวันจ่ายค่าแรงบางส่วน หรือลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลา รวมทั้งเยียวยาแรงงานนอกระบบภาคเกษตรที่มีประมาณ 11.5 ล้านคนด้วย และ4.ขอให้รัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเก็บตกสำหรับกลุ่มประชาชนที่เข้าไม่ถึงระบบการลงทะเบียนออนไลน์ให้สามารถลงทะเบียนกับเจ้ากน้าที่ได้ พร้อมจัดหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต เช่นศูนย์พักพิงศูนย์กักกันโรคสิ่งของบริโภคและสิ่งของจำเป็นตามที่รัฐบาลบอกไว้ว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

อย่างไรก็ตามสมาชิกพรรคก้าวไกลจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชนในส่วนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเยียวยาโดยได้เปิดเว็บไซต์ www.ทำไมไม่ได้ 5พัน. com เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและนำเข้าสู่กระบวนการกลไกของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเป็นปากเสียงให้กับประชาชนได้รับสิทธิ์อันชอบธรรม

ที่มา: สยามรัฐ, 15/4/2563 

จ.สตูล เตรียมรับแรงงานไทยวันละ 100 ราย จากมาเลเซีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพื่อเตรียมความพร้อมแผนรับแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซียกลับประเทศ วันละ 100 คน ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2563 เป็นต้นไป โดยผ่านทางด่านท่าเรือตำมะลัง อ.เมืองสตูล และด่านวังประจัน อ.ควนโดน ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ให้เตรียมความพร้อมทุกด้าน เช่น การจัดทำประวัติของแรงงาน การตรวจคัดกรองโรค และการจัดรถโดยสารเพื่อไปยังสถานที่กักตัวที่เตรียมไว้ ตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยแรงงานรับจ้างที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดสตูล และพื้นที่ใกล้เคียงให้ส่งตัวไปยังสถานที่กักตัวที่เตรียมไว้ภายในวันนั้น

ส่วนแรงงานที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ภาคอื่น ให้นำมากักไว้ชั่วคราวที่สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ก่อนส่งตัวกลับภูมิลำเนา เนื่องจากยังไม่ทราบจำนวนตัวเลขแรงงานที่แน่ชัดที่เดินทางเข้ามาทาง ด่านจังหวัดสตูล ทั้งนี้แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศจะเดินทางเข้ามา ผ่านด่านในจังหวัดภาคใต้ได้แก่ ด่านสุไงโก-ลก จ.นราธิวาส, ด่านเบตง จ.ยะลา, ด่านสะเดา จ.สงขลา, ด่านตำมะลัง และด่านวังประจัน ของ จ.สตูล โดยจะเดินทางผ่านจังหวัดละ 100 คนต่อวัน โดยจะเริ่มทยอยเดินทางเข้ามาในวันที่ 18 เม.ย. เป็นต้นไป

โดยทาง นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล มีคำสั่งเร่งด่วนให้ทางอำเภอทั้ง 7 อำเภอเร่งจัดสถานที่กักตัวให้พร้อม และชี้แจงประชาชนในท้องที่นั้นๆเข้าใจในเรื่องการนำสถานที่ดังกล่าว เช่น โรงเรียน อาคาร สถานที่ทางราชการมากักตัวแรงงานไทย เฝ้าระวัง 14 วัน ล่าสุดทางอำเภอต่างๆ ทั้ง 7 อำเภอเร่งหาที่เหมาะสมห่างไกลชุมชน โดยที่อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล นำโดย นายสิทธิชัย เทพภูษา นายอำเภอควนกาหลง เร่งลงพื้นที่ดูจุดกักตัว 14 วันในพื้นที่ๆ ตำบลต่างๆ ที่อยู่ในท้องที่ของอำเภอควนกาหลง โดยเร่งจัดการสร้างตกแต่ง ห้องน้ำ สถานที่ให้พร้อม ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ระดับความพร้อม 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว ส่วนด้านสถานการณ์โรคโควิด–19 ในจังหวัดสตูล ยังคงมีการติดเชื้ออยู่ในกลุ่มดาวะห์ ในขณะนี้ 18 คน

ที่มา: One31, 14/4/2563 

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศกระทรวงแรงงาน หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการส่งเงินสมทบของนายจ้าง 4% และผู้ประกันตน 1% บรรเทาความเดือดร้อนช่วงการแพร่ระบาด COVID-19

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 โดยมีรายละเอียดดังนี้

เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่นายจ้าง และผู้ประกันตนซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติร้ายแรง กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่กำาหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่าจะมีการแพร่ระบาดมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในท้องที่ประเทศไทย จึงควรลดหย่อนการออกเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนดังกล่าว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

1.ให้นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2563 โดยให้นายจ้างส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละ 4 และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละ 1 ของค่าจ้างของผู้ประกันตน

2.ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2563 โดยให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 86 บาท

3.ในกรณีที่มีการส่งเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้ ให้นายจ้างหรือผู้ประกันตนตามข้อ
1 หรือข้อ 2 แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องขอรับเงินในส่วนที่เกินคืนได้ ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 14/4/2563

ผู้นำเอกชน-ที่ปรึกษานายกฯ ประเมินตกงานเพิ่ม 10 ล้านคน หาก COVID-19 ยืดเยื้อ

นายกลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวภายหลังการประชุมว่า จะเสนอให้บางธุรกิจบางกิจการกลับมาเปิดกิจการได้ การขนสินค้าสำคัญบางประเภทเพิ่มเติม ที่ผ่านมารัฐบาลได้ผ่อนผันไปบ้างแล้ว ก็จะมีการศึกษาว่ามีธุรกิจใดบ้างที่จะเปิดได้เพิ่มเติม เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย ต้องดูวิธีการทำอย่างไร รวมทั้งปรึกษาหมอและศูนย์โควิดของรัฐบาลด้วย

“ขอให้รัฐบาลช่วยเรื่องภาษี กรณีที่นำผลขาดทุนไปเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 5 ปี เป็น 7 ปี รวมถึงเวลาการบริจาคช่วยเหลือโควิดโดยไม่ต้องมีเพดานกำหนดว่า นิติบุคคลห้ามเกิน 2% ของกำไร และบุคคลธรรมดาไม่เกิน 10% ของเงินได้”

ประธานสภาหอการค้าไทย ประเมินว่าผู้ประกอบการประเมินว่าในช่วงนี้จะมีแรงงานภาพรวมทั้งหมดตกงาน 7 ล้านคน และหากสถานการณ์โควิดยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 เดือน โดยที่ไม่มีมาตรการดูแลผู้ประกอบการเพิ่มเติม จะทำมีคนตกงานเพิ่มเป็น 10 ล้านคน

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมหารือหลายแนวทางหลายเรื่อง จึงให้ตั้งทำงาน 5 ชุด เพื่อไปศึกษารายละเอียดกลับมาเสนอที่ประชุมในวันจันทร์ที่ 20 เม.ย.นี้ หากมาตรการไหนทำได้ก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ

โดย คณะทำงานชุดที่ 1 ให้ไปดูมาตรการที่รัฐบาลออกไปชุดที่ 1-3 ก่อนหน้านี้ ว่าภาคเอกชน ธุรกิจ ที่ดำเนินการอยู่ คิดว่ายังติดขัดอะไร จะเสนออะไรเพิ่มเติม ซึ่งปัญหาใหญ่คือหลายธุรกิจเข้าไม่ถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จึงให้ นายปรีดี ดาวฉาย นายกสมาคมธนาคารไทย เป็นหัวหน้าคณะทำงานดูแนวทางว่าจะปลดล็อกได้อย่างไร

คณะทำงานชุดที่ 2 ให้ไปพิจาณาธุรกิจบางธุรกิจที่สามารถกลับมาเปิดได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบสภาพคล่องและการจ้างงาน การขยายเพิ่มการขนส่งโลจิสติกส์ โดยมีนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

คณะทำงานชุดที่ 3 ดูเรื่องระบบเกษตรกร เรื่องเร่งด่วนทำอย่างไรให้ผลผลิตสามารถขายได้

คณะทำงานชุดที่ 4 มาตรการดูแลผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี โดยเฉพาะไมโครเอสเอ็มอี ที่มีทุนต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สามารถอยู่ได้ มีการจ้างงาน โดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

คณะทำงานชุดที่ 5 เป็นคณะทำงานฟื้นฟูหลังวิกฤตโควิด เรื่องระบบดิจิทัลโซลูชั่น โดยมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

นายสุพันธุ์กล่าวว่า การกู้เงินซอฟต์โลนของเอสเอ็มอี ยังมีเงื่อนไขไม่ชัดเจน ผู้ประกอบการต้องการให้บรรษัทค้ำประกันสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อ 80% ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ก็ยังไม่ได้ ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% เท่ากับลูกจ้าง เอกชนสามารถนําค่าใช้จ่ายสําหรับปกองกันโควิด-19 มาหักภาษีได้ 3 เท่า

นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลออกคําสั่งปิดกิจการโรงแรม เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม ขอให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเอสเอ็มอี 2 ปี ขยายเวลาการส่งมอบงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐออกไป 4 เดือน และลดค่าจดจำนองโอนที่ดินเหลือ 0.01%

ส่วนสำคัญที่สุดที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือทันที ให้รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบค่าจ้างแรงงานให้ผู้ประกอบการ 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำ 15,000 บาท หรือให้รัฐช่วยจ่าย 7,500 บาทต่อเดือน ส่วนที่เหลือผู้ประกอบการจ่ายให้ 25% ให้นำไปหักภาษี 3 เท่า และลูกจ้างต้องยอมลดค่าจ้าง 25% เพื่อให้คงการจ้างงานประมาณ 10 ล้านคน ต่อไปได้ รวมทั้งอนุญาตให้จ้างงานเหลือ 4 ชั่งโมงต่อวัน จาก 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ผิดกฎหมาย

“ถ้ารัฐบาลทำตามข้อเสนอการช่วยเหลือจ่ายค่าจ้างแรงงานให้ผู้ประกอบการ 50% ซึ่งไม่ได้เป็นการจ่ายเต็มเงินเดือน เป็นการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น ก็จะทำให้ลูกจ้างไม่ถูกเลิกจ้างแน่นอน ซึ่งตอนนี้มีบางกิจการมีปัญหา ไม่ได้ถูกรัฐสั่งปิดกิจการ แต่ยังต้องมีการจ้างงานอยู่ ถึงแม้ว่าจะประกอบธุรกิจไม่ได้” นายสุพันธุ์กล่าว

นายปรีดีกล่าววว่า การปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน มี 2 ส่วน ในส่วนแรกเป็นวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ของธนาคารออมสิน ซึ่งมีเงื่อนไขปล่อยกู้ให้ได้รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยมีผู้ต้องการสินเชื่อจำนวนมาก ทำให้ธนาคารต้องพิจารณาให้รอบคอบ ถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ

ในส่วนที่สอง เป็นซอฟต์โลนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 5 แสนล้านบาท ต้องรอให้ พ.ร.ก. มีผลบังคับใช้เสียก่อน เพื่อดูรายละเอียดที่แท้จริงของการปล่อยกู้ซอฟต์โลน ที่ตอนนี้ มีแค่กรอบกว้างๆ ว่า ธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้ลูกค้าได้ไม่เกิน 20% ของหนีที่ค้างอยู่ โดยยอดสินเชื่อคงค้างไม่เกิน 500 ล้านบาท

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 13/4/2563 

ผู้ประกันตนเริ่มได้เงินคืนจากที่ถูกหักประกันสังคมไว้ ตามมาตรการเยียวยาจาก COVID-19

ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 13 เม.ย. 2563 มีรายงานข่าวว่าผู้ประกันตนประกันสังคม จะมีเงินเข้าบัญชีเงินเดือน 500 - 600 บาท ซึ่งเป็นการคืนเงินที่ถูกหักประกันสังคมไว้ ตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนจาก COVID-19

โดยมาตรการช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน มี 3 มาตรการ คือ ช่วยเหลือ นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เป็นการ "ลด-ขยาย-เพิ่ม"

"ลด" คือ ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน โดยนายจ้างเหลืออัตราร้อยละ 4 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือร้อยละ 1 เป็นระยะเวลา 3 เดือน และผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลือ 86 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน

"ขยาย" คือ ขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 สำหรับงวดค่าจ้างเดือน มี.ค.- พ.ค. ออกไปอีก 3 เดือน

งวดค่าจ้างเดือน มี.ค. 2563 ให้นำส่งเงินภายในวันที่ 15 ก.ค. 2563
งวดค่าจ้างเดือน เม.ย. 2563 ให้นำส่งเงินภายในวันที่ 15 ส.ค. 2563
งวดค่าจ้างเดือน พ.ค. 2563 ให้นำส่งเงินภายในวันที่ 15 ก.ย. 2563

"เพิ่ม" คือ เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ให้รับเงินว่างงาน 62% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน

ที่มา: TNN, 13/4/2563 

ผลการวิจัยชี้ 'คุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพไทยโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง' แนะควรส่งเสริมให้พยาบาลมีสมดุลชีวิตกับการทำงาน 

นายปราโมทย์ ถ่างกระโทก อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย ในฐานะเลขานุการเครือข่ายการวิจัยและนวัตกรรมทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย (Nursing Research and Innovation Network of Thailand) กล่าวว่า จากการทำวิจัยเรื่อง "อิทธิพลของสมดุลชีวิตกับการทำงาน และความพึงพอใจในงานต่อคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพไทย" โดยดำเนินการเก็บข้อมูลการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) จำนวน 400 ตัวอย่าง ด้วยแบบสอบถามออนไลน์ ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 ผลการวิจัยพบว่า

คุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพไทยโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลีย 78.90 จาก 130 คะแนน) สมดุลชีวิตกับการทำงานของพยาบาลวิชาชีพไทยอยู่ในระดับน้อย (ค่าเฉลี่ย 2.44 จาก 5 คะแนน) ความพึงพอใจในงานของพยาบาลวิชาชีพไทยอยู่ในระดับน้อย (ค่าเฉลี่ย 2.37 จาก 5 คะแนน) ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า สมดุลชีวิตกับการทำงานและความพึงพอใจในงานมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

อาจารย์ปราโมทย์ กล่าวต่อว่า พยาบาลวิชาชีพไทยมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม เนื่องจากปัจจุบันวิชาชีพพยาบาลประสบกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ทำให้พยาบาลมีภาระงานเพิ่มมากขึ้น จากการศึกษาและวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบภาระงานและอัตรากำลังด้านการพยาบาลพบว่า ในปี พ.ศ. 2558 มีอัตราภาระงานเพิ่มมากขึ้นสูงเกือบร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2550 ในขณะที่อัตรากำลังด้านการพยาบาลเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น

ผลการศึกษาครั้งนี้ยังพบอีกว่าคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพที่มีคะแนนน้อยที่สุด ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าตนเองมีโอกาสได้พักผ่อนคลายเครียดน้อย รวมถึงพยาบาลส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าตนเองนอนหลับไม่เพียงพอ นอกจากนี้การศึกษาก่อนหน้านี้ยังพบว่า พยาบาลวิชาชีพมีปัญหาการนอนหลับและมีความชุกของคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดีสูงถึงร้อยละ 65.1 ถึง 93.3 ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากลักษณะการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่ต้องปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง มีการผลัดเปลี่ยนการขึ้นเวรทั้งกลางวันและกลางคืน ส่งผลให้แบบแผนการนอนหลับและการพักผ่อนเปลี่ยนแปลงไปจากปกติทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับพักผ่อน เช่น เวลาในการนอนไม่เพียงพอ การนอนหลับยาก การนอนหลับไม่สนิท การใช้ยานอนหลับ เป็นต้น

อีกทั้งภาระงานของพยาบาลวิชาชีพที่เพิ่มมากขึ้นจากที่กล่าวไปแล้วข้างต้นและผลจากการศึกษาครั้งนี้ที่พบว่า พยาบาลวิชาชีพมีความพึงพอใจต่อการจัดสรรอัตรากำลังในการทำงานของหน่วยงานน้อยที่สุด จึงส่งผลให้พยาบาลมีโอกาสได้พักผ่อนน้อยและมีการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ ทำให้พยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง

นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่า สมดุลชีวิตกับการทำงานมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าการที่พยาบาลมีสมดุลชีวิตกับการทำงานส่งผลให้พยาบาลวิชาชีพไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากสมดุลชีวิตกับการทำงานเป็นการรักษาสมดุลระหว่างแบบแผนการดำเนินชีวิตส่วนตัวและแบบแผนการทำงานให้สามารถดำเนินร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ผลการศึกษาพบว่า สมดุลชีวิตกับการทำงานของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับน้อย ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการที่พยาบาลยังไม่สามารถบริหารจัดการให้ตนเองมีดุลยภาพระหว่างชีวิตกับการทำงานได้ เนื่องจากพยาบาลส่วนใหญ่มีภาระเพิ่มมากขึ้นจากเหตุผลที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

ผลการศึกษายังพบอีกว่า พยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในงานอยู่ในระดับน้อย ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการที่พยาบาลรับรู้ว่าองค์การมีนโยบายหรือมาตรการในการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานให้กับบุคลากร และมีการจัดสวัสดิการในการทำงานและนอกเหนือจากการทำงานของหน่วยงานในระดับน้อย ดังนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบควรให้ความสำคัญกับการสร้างขวัญกำลังใจและการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมและเพียงพอแก่พยาบาลวิชาชีพ เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพมีความพึงพอใจในงานเพิ่มมากขึ้น อันจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

อาจารย์ปราโมทย์ กล่าวทั้งท้ายว่า พยาบาลวิชาชีพไทยมีคุณภาพชีวิตโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้นการส่งเสริมให้พยาบาลวิชาชีพไทยมีสมดุลชีวิตกับการทำงานและความพึงพอใจในงานเพิ่มมากขึ้น เช่น การจัดสรรอัตรากำลังในการทำงานของหน่วยงานให้เพียงพอ มีกระบวนการพิจารณาความดีความชอบบุคลากรในหน่วยงานที่เหมาะสม มีนโยบายหรือมาตรการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานให้กับบุคลากรที่ดีขึ้น และมีการจัดสวัสดิการในการทำงานและนอกเหนือจากการทำงานของหน่วยงานให้เพียงพอและเหมาะสม จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้พยาบาลวิชาชีพไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะสามารถธำรงรักษาบุคลากรทางการพยาบาลไว้ในองค์การ ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณค่าในการพยาบาลแก่ประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น

ที่มา: การวิจัยเรื่อง "อิทธิพลของสมดุลชีวิตกับการทำงาน
และความพึงพอใจในงานต่อคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพไทย" โดย อาจารย์ปราโมทย์ ถ่างกระโทก วท.ม. (สาธารณสุขศาสตร์) พย.ม. (การบริหารการพยาบาล) อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สกาชาดไทย อาจารย์ภราดร ยิ่งยวด พย.ม. (การพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน) อาจารย์วินัย ไตรนาทถวัลย์ พย.ม. (การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดนนทบุรี และเอกกมล ไชยโม พย.บ. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี

หมายเหตุ: เนื่องจากการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นควรมีการศึกษาระยะยาวเพื่อให้สามารถวัดระดับคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพได้ดียิ่งขึ้น และเนื่องจากการศึกษาครั้งนี้เป็นการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ส่งแบบสอบถามผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และใช้แบบสอบถามออนไลน์ ดังนั้นการกระจายตัวของกลุ่มตัวอย่างอาจยังไม่เป็นตัวแทนของประชากรได้ทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้ผลการศึกษาคุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพมีความแตกต่างออกไปจากความเป็นจริงได้

ที่มา: Nursing Research and Innovation Network of Thailand, 12/4/2563

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net