COVID-19 : 19 เม.ย. ป่วยเพิ่ม 32 คน สะสม 2,765 คน - ไทยทดลองวัคซีนกับสัตว์แล้ว

19 เม.ย. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 32 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,765 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 47 คน และรักษาหายสะสม 1,928 คน ยังไม่มีข้อสรุปปลดล็อกเปิดห้างวันที่ 1 พ.ค.นี้ ขอหารือก่อนแถลงความชัดเจน เผยทีมวิจัยไทยอยู่ระหว่างผลิต-ทดลองวัคซีนวัคซีนกับสัตว์แล้ว ส่วนสหรัฐฯ จีน และอังกฤษ คืบหน้าทดสอบในคนระยะที่ 1-2 ด้าน 'พัทยา' ตรวจเชิงรุก COVID-19 ครบ 2,000 คน แล้ว


นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) แถลงระบุทีมวิจัยไทยอยู่ระหว่างผลิต-ทดลองวัคซีนวัคซีนกับสัตว์แล้ว ส่วนสหรัฐฯ จีน และอังกฤษ คืบหน้าทดสอบในคนระยะที่ 1-2

19 เม.ย. 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ว่าไทยติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 32 คน ยอดสะสม 2,765 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดเสียชีวิตสะสม 47 คน รักษาตัวใน รพ. 790 คน หายดีเพิ่ม 141 คน รวม 1,928 คน

“วันนี้พบผู้ที่กลับจากอินโดฯ ติดเชื้อเพิ่ม 1 คน เป็น 62 คน จากสหรัฐฯ เพิ่ม 1 คน เป็น 3 คน และจากอังกฤษ เพิ่ม 2 คน”

สำหรับผู้ติดเชื้อใหม่ 32 คน แบ่งเป็นผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ หรือสถานที่ 18 คน ไปสถานที่ชุมนุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด 2 คน อาชีพเสี่ยง หรือทำงานในสถานที่แออัด หรือสัมผัสชาวต่างชาติ 3 คน อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 5 คน และผู้ที่กักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด 4 คน ซึ่ง กทม. และนนทบุรี มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขอให้ประชาชนอย่าชะล่าใจ ส่วนภาคใต้มีแนวโน้มลดลง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่าคนไทยในมาเลเซียลงทะเบียนขอกลับไทยในช่วงวันที่ 18-30 เม.ย.นี้ จำนวน 2,548 คน ซึ่งไทยรับได้วันละ 350 คน ผ่านด่าน 5 แห่ง พร้อมขอให้กระจายลงทะเบียนกลับไทย เพราะพบว่าช่วงวันที่ 26-30 เม.ย. ขอกลับหลักสิบคนเท่านั้น

ส่วนด่านอื่นๆ ในชายแดนทั่วประเทศ ลงทะเบียนแล้ว 3,211 คน ส่วนใหญ่กระจุกตัวในช่วงแรก แต่ช่วงสิ้นเดือนนี้ยังมีจำนวนน้อย นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้รายงานข้อมูลว่ามีคนไทยอยู่ในมาเลเซีย 7,000 กว่าคน กระจายพักอาศัยตามรัฐต่าง ๆ โดยมีอาสาสมัครนำถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง และสิ่งจำเป็น ไปให้กับคนไทย

ส่วนกระแสข่าวว่าสถานประกอบการบางแห่ง เช่น ห้างสรรพสินค้า เตรียมเปิดให้บริการวันที่ 1 พ.ค.นี้ อาจเป็นการตีความจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย.2563 แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติว่าจะขยายเพิ่มหรือไม่ เพราะต้องใช้มติที่ประชุม ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รวมทั้งใช้ชุดข้อมูลต่างๆ ซึ่งปรากฎใกล้ช่วงวันที่ 30 เม.ย.2563 มาประกอบการพิจารณา เช่น พฤติกรรมของคนไทยที่ต้องร่วมมือกันป้องกันโรคอย่างน้อย 90%

“ยังตอบไม่ได้ว่า 1 พ.ค.นี้ จะเกิดอะไรขึ้น แต่ขอให้ทุกคนเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุด ทั้งส่วนตัวและสังคม สิ่งที่อยากได้ หรือผ่านคลายจะเกิดขึ้นตามชุดพฤติกรรม new normal เช่น เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย”

เผยไทยทดลองวัคซีนกับสัตว์แล้ว

เวลา 13.00 น. กระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยว่าขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการผลิตวัคซีนต้านไวรัส COVID -19 โดยมีทีมวัคซีนไทยแลนด์ นำโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดลและเอกชน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลอง

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) กล่าวว่าขณะนี้นักวิทยาศาสต์ทั่วโลกอยู่ระหว่างผลิตทั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ หรือ อื่นๆ และนำมาฉีดในสัตว์ทดลองว่ากระตุ้นให้สัตว์ทดลองเช่นลิง หรือ หนู ว่าเกิดภูมิค้มกันและปลอดภัยหรือไม่

ต่อมาจึงทดสอบในคนโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ในระยะที่ 1.ดูในเรื่องความปลอดภัย จำนวน 30 - 50 คน ระยะที่ 2. ดูว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันตัวที่จะกั้นไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้หรือไม่ โดยยทดลองในคนจำนวน 100 - 150 คน และระยะที่ 3 ดูว่าวัคซีนสามารถป้องกันโรคได้หรือไม่จำนวนคน 500 คน ขึ้นไป หากผ่านการทดสอบจากนั้นขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีน COVID -19 โดยความคืบหน้าอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมิรกา และจีนซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นทดลองในคน ระยะที่ 2 

ในส่วนการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัส COVID -19 ของไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มวิจัยในขั้นห้องทดลอง ขณะที่คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเอกชน สามารถเดินหน้าทดลองจากขั้นตอนของห้องทดลองสู่ขั้นของการทดลองในสัตว์แล้ว

ขณะที่ในต่างประเทศ ที่มีความก้าวหน้าคือในประเทศสหรัฐอเมริกา จีนและอังกฤษ ที่สามารถเริ่มทดสอบในคนในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ได้ โดยขณะนี้มีวัคซีนทั้งหมด 6 ชนิด

นพ.นคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในไทยหากจะให้เข้าถึงวัคซีนต้านไวรัส COVID -19 หากไทยสามารถทำแผนร่วมมือในการวิจัยและแผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี จะเป็นหนทางในการเข้าถึงวัคซีนโดยเร็วที่สุด พร้อมกันนั้นต้องมีการพัฒนาวัคซีนต้นแบบ ที่ขณะนี้ดำเนินการอยู่เพื่อให้ไทยมีนักวิจัยและโรงงานที่ผลิตวัคซีนที่มีศักยภาพที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกัน

นพ.นคร กล่าวว่า ไทยไม่สามารถรอจนกว่าเข้าสู่ภาวะสงบ เนื่องจากต้องรอให้ประชากรมีภูมิคุ้มกันมากกว่าร้อยละ 60 หรืออย่างน้อยประชากร 35 ล้านคน ซึ่งการมีภูมิคุ้มกันต่อโรคไม่ว่าจะด้วยการติดเชื้อตามธรรมชาติหรือวัคซีน หากปล่อยเป็นไปตามธรรมชาติจะสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก

“การรอซื้อวัคซีนโดยไม่ทำอะไรเลยจะทำได้ยาก เพราะต้องรอต่อคิวซื้อ การผลิตวัคซีนครั้งแรกที่ได้ผลแล้ว ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะผลิตให้เพียงพอต่อคนทั้งโลกได้ การผลิตวัคซีนของไทยได้เริ่มแล้วและควรสร้างโรงงานผลิตวัคซีนที่ได้มาตรฐาน หากทำได้เร็วขึ้นแม้เพียง 1 เดือนก็ถือว่าคุ้มค่า และจะเป็นพื้นฐานในการรับภาวะโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ได้ในอนาคต”

ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การทดลองวิจัยพัฒนาวัคซีนในสัตว์ทดลองมีแล้ว คือที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยขณะนี้ฉีดทดลองในสัตว์ทดลองไปแล้ว 2 ครั้ง สถาบันฯอยู่ระหว่างการตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันว่ามีเพิ่มแค่ไหน

นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ขอให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพิ่มจำนวนไวรัสเพื่อจะนำไปฆ่าเชื้อ เพื่อให้เป็นวัคซีนเชื้อตายเพื่อนำไปทดสอบในสัตว์ทดลอง และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อไป

'พัทยา' ตรวจเชิงรุก COVID-19 ครบ 2,000 คน แล้ว

แผนปฏิบัติการเชิงรุกของพัทยา จ.ชลบุรี ที่ต้องการค้นหากลุ่มเป้าหมาย 2,000 คน ที่อยู่ในพัทยาและมีอาชีพเสี่ยงที่ต้องพบคนจำนวนมากในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ขณะนี้ได้ใช้ชุดอุปกรณ์ตรวจจากกระทรวงสาธารณสุข ครบตามเป้าหมาย 2,000 คนแล้ว โดยวันนี้เก็บตัวอย่าง 165 คน

สำหรับผลการดำเนินงานค้นหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 เชิงรุกในพื้นที่เมืองพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ที่มีกลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบการมาเข้ารับการตรวจคัดกรองที่โรงแรมแกรนด์ เบลลา พัทยากลาง ตั้งแต่วันที่ 10-16 เม.ย.2563 นั้น ประกอบด้วย พนักงานบาร์เบียร์ ผับ ร้านนวด พนักงานโรงแรม พนักงานคอนโดมีเนียม พนักงานขายของ บริการทั่วไป พนักงานขับรถรับจ้าง กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและคนไทย กลุ่มผู้ทำงานด้านการดูแลสุขภาพ รวมทั้งผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ผลตรวจล่าสุดพบว่า มีผู้ติดเชื้อ 4 คน ซึ่งเป็นผลตรวจถึงวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนผลตรวจของวันที่ 16-19 เม.ย.ที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานผลตรวจ

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] [3]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท