COVID-19 : 20 เม.ย.63 ไทยหายป่วยแล้วเกือบ 2 พัน เลขาฯ เพื่อไทย ค้านต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 วันที่ 20 เม.ย.63

  • ไทยผู้ที่หายป่วยเพิ่มขึ้น 71 ราย รวมผู้ที่หายป่วยแล้ว 1,999 ราย 
  • ออกนอกเคหะสถาน 660 ราย ชุมนุมมั่วสุม 86 ราย
  • โลกติดเชื้อ 2.4 ล้าน เสียชีวิต 1.65 แสน
  • เลขาฯ เพื่อไทย ค้านต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
  • รอง หน.ปชป. แนะรัฐต้องคิดรอบด้านก่อนคลายล็อก
  • ปธ.วิปรัฐบาลยันต้องประเมินการแพร่ระบาดก่อนเปิดประชุมสภาฯ
  • 'ก้าวไกล' จับตา เปิดอุทธรณ์เยียวยารับ 5 พันวันแรก ชี้ แค่ ‘ซื้อเวลา’
  • ศรีสุวรรณ จ่อร้อง สตง. ปมค่าไฟแพง แม้ไฟฟ้ามีล้นประเทศ
  • รพ.นครธน ตรวจหาเชื้อฟรี ตอบรับนโยบาย สปสช. รู้ผลเร็วใน 6 ชม. สำหรับผู้เสี่ยง

20 เม.ย. 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 วันนี้ เมื่อเวลา 12.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์และผลการประชุมศบค. ดังนี้

ไทยผู้ที่หายป่วยเพิ่มขึ้น 71 ราย รวมผู้ที่หายป่วยแล้ว 1,999 ราย

ไทย พบมีผู้ที่หายป่วยเพิ่มขึ้น 71 ราย รวมผู้ที่หายป่วยแล้ว 1,999 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,792 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ 27 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ที่ 47 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มอายุ 20-29 ปี ผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ 746 ราย ขณะที่มีผู้ที่ออกจากโรงพยาบาลได้เพิ่มขึ้น ทำให้คนป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลน้อยลง
 
ผู้ป่วยใหม่ 27 รายมาจาก จำแนกเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ 16 ราย ผู้ที่ไปในที่ชุมนุมชน ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 2 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 8 ราย และมีผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากประเทศอังกฤษ อยู่ในสถานที่ State Quarantine จังหวัดกระบี่ 1 ราย

โฆษก ศบค. เน้นย้ำว่า เวลาที่มีคนมาชุมนุมกันทั้งด้วยเหตุที่ไม่ได้ตั้งใจหรือจะตั้งใจ เช่น กรณีการรวมกลุ่มของคนที่รอรับบริจาคนั้น ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
 
การกระจายตัวของผู้ป่วยในประเทศยังคงอยู่ในกรุงเทพฯ ภูเก็ต นนทบุรี สมุทรปราการ ยะลา ตามลำดับเดิม ขณะที่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ ยะลา ปัตตานี เป็นจังหวัดที่มีการจัดพื้นที่กักกันที่รัฐจัดให้สำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ จึงทำให้มีตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ขณะที่มี 9 จังหวัดยังคงเดิมไม่มีรายงานการรับรักษาผู้ป่วย และจังหวัดที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วยในช่วง 14 วันที่ผ่านมา มีรวมเพิ่มขึ้นเป็น 35 จังหวัด โดย 2 จังหวัดที่เพิ่มขึ้นมาคือจังหวัดสระแก้วและอุบลราชธานี

โลกติดเชื้อ 2.4 ล้าน เสียชีวิต 1.65 แสน

โลก ตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 2,400,000 กว่าราย  อาการหนัก 54,000 กว่าราย หายป่วยแล้ว 616,000 กว่าราย เสียชีวิตไป 165,059 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตมีจำนวนมากถึงร้อยละ 6.9 มากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ประมาณร้อยละ 3-4  และการเสียชีวิตครั้งนี้มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในเรื่องของไข้หวัดใหญ่ หรือโรคอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
 
ทั้งนี้ ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันอับที่ 1 ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา โดยวานนี้เสียชีวิตเพิ่ม 1,550 รายภายในวันเดียว รวมแล้วผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวน 40,565 ราย รองลงมาอังกฤษมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 596 ราย  ฝรั่งเศสมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 395 ราย และรัสเซียเมื่อวานนี้มีผู้เสียชีวิตไป 48 ราย รวมเสียชีวิตทั้งหมด 361 รายและมีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 42,000 ราย
 
ในกลุ่มเอเชียขณะนี้ ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อวานนี้เพิ่มขึ้น 501 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 14 รายและผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 10,797 ราย รองลงมาคือสิงคโปร์ มีการติดเชื้อรายใหม่ 596 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มของผู้ใช้แรงงาน อินโดนีเซียมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 327 ราย ฟิลิปปินส์พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 172 ราย และมาเลเซีย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 84 ราย ปัจจุบันไทยลงมาอยู่ในอันดับที่ 54 แล้ว

ออกนอกเคหะสถาน 660 ราย ชุมนุมมั่วสุม 86 ราย

ผลการปฏิบัติการจากการประกาศเคอร์ฟิวประจำวันที่ 20 เม.ย. 63 พบว่า มีประชาชนที่กระทำความผิดออกนอกเคหะสถาน 660 ราย ลดลง 14 ราย ชุมนุมมั่วสุมทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ 86 ราย เพิ่มขึ้น 18 ราย โดยมีสาเหตุของการชุมนุมมั่วสุม 3 อันดับแรก คือ ดื่มสุรา เล่นการพนัน และยาเสพติด จึงอยากขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน เนื่องจากมาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง รายงานผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีออกนอกเคหะสถานในแต่ละภาคพบว่า จังหวัดที่พบมากที่สุดในภาคกลางคือจังหวัดปทุมธานี 40 ราย ภาคอีสานจังหวัดนครราชสีมา 25 ราย ภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ 18 ราย ภาคใต้จังหวัดภูเก็ต 38 ราย และกรุงเทพมหานคร 30 ราย สำหรับ 10 อันดับจังหวัดที่พบผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มากที่สุด ได้แก่ ปทุมธานี 40 ราย  ภูเก็ต 38 ราย สมุทรปราการ 35 ราย กรุงเทพมหานคร 30 ราย นครราชสีมา 25 ราย ชลบุรี ราชบุรี สระบุรี สงขลา และเชียงใหม่ ตามลำดับ ทั้งนี้ โฆษก ศบค. ยังกล่าวชื่นชม 10 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ฝ่าฝืนต่ำที่สุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน สิงห์บุรี พิจิตร สกลนคร ศรีสะเกษ อุทัยธานี บุรีรัมย์ อ่างทอง ลำปาง และหนองคาย ตามลำดับ

โฆษก ศบค. ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีจำนวนตัวเลขผู้ป่วยยืนยันน้อย มาจากการตรวจหาผู้ติดเชื้อน้อยหรือไม่ รวมถึงการทำ Active Case Finding ที่ได้เริ่มดำเนินการได้ผลมากน้อยเพียงใดว่า ตัวอย่างที่ได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 สะสมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จนถึง 17 เม.ย. 63 รวมทั้งหมด 142,589 ตัวอย่างด้วยกัน โดยสูงสุดที่ภาคเอกชน ตามมาด้วยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เป็นสถานที่ในการตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัสด้วย สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 11 – 17 เม.ย. 63 มีทั้งหมด 21,715 ตัวอย่าง หากดูการตรวจเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ 4 – 17 เม.ย. 63 ได้มีการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เฉลี่ยวันละประมาณ 3,000 ตัวอย่าง ช่วงวันหยุดมีการตรวจประมาณ 1,900 ตัวอย่าง ซึ่งมีแนวโน้มในการตรวจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

จากผลการตรวจนั้น ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 63 มีเปอร์เซ็นต์ผู้ติดเชื้อร้อยละ 2.61 วันที่ 5 เม.ย. 63 มีเปอร์เซ็นต์ผู้ติดเชื้อร้อยละ 2.85 และสูงสุดในวันที่ 12 เม.ย. 63 มีเปอร์เซ็นต์ผู้ติดเชื้อร้อยละ 3.82 ซึ่งจำนวนการตรวจมีน้อยแต่ก็ยังพบเจอผู้ติดเชื้อ จนถึงวันที่ 17 เม.ย. 63 ที่มีการเก็บตัวอย่าง 3,397 ตัวอย่าง มีเปอร์เซ็นต์ผู้ติดเชื้อ 1.41 คิดเป็นประมาณร้อยละ 3 โฆษก ศบค. ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่าการจะตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 กับทุกคน ค่าตรวจยังถือว่ามีราคาสูงรวมทั้งต้องใช้ทรัพยากร เช่น ชุด PPE ของบุคลากรทางการแพทย์ จึงจำเป็นต้องเน้นตรวจหาในกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับแรก

เลขาฯ เพื่อไทย ค้านต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า จากตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลรายงานให้ทราบดีขึ้นเป็นลำดับนั้น แสดงว่ามาตรการทางสาธารณสุขดำเนินการมาอย่างได้ผล ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่ระดมกำลังช่วยกัน จนสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการล็อคดาวน์ ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อรัฐเห็นว่ามาตรการด้านสาธารณสุขอยู่ในระดับคงที่แล้ว คงต้องเร่งพิจารณามาตรการผ่อนปรนต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การเปิดร้าน เปิดเมืองกันต่อไป

“สถานการณ์โควิดกำลังจะคลี่คลาย แต่ยังไม่หายขาด เชื่อว่ารัฐบาลคงมีแผนป้องกันไม่ให้โรคร้ายกลับมาระบาดซ้ำอย่างแน่นอน แต่สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับการควบคุมโรค คือการกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ขณะนี้ประชาชนเดือดร้อนเพราะขาดรายได้จากมาตรการของรัฐเป็นจำนวนมาก ตัวเลขคนตกงานอาจสูงถึง 10 ล้านคน ดังนั้นการชดเชยเงิน 5,000 บาทเพียงอย่างเดียว จึงไม่เพียงพอ รัฐบาลคงต้องเร่งพิจารณาผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ที่ไม่กระทบกับการควบคุมโรค โดยต้องเร่งเปิดร้าน เปิดเมือง เพื่อทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถกลับมาทำงานได้ใหม่โดยเร็วที่สุด” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวอีกว่า หวังว่ารัฐบาลคงไม่มีความจำเป็นในการขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก เพราะสถานการณ์หลังจากนี้ เชื่อว่าหากรัฐบาลบังคับใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ อย่างเคร่งครัด น่าจะเพียงพอ ส่วนการปลดล็อคธุรกิจบางสาขาอาชีพที่ทำได้ ต้องเร่งกำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อม เมื่อรัฐไฟเขียวจะได้ลงมือกันได้ทันที ยิ่งปลดล็อคธุรกิจที่ไม่กระทบกับการควบคุมโรคได้มากเท่าไร ยิ่งเป็นการลดภาระรัฐบาล และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วมากขึ้นเท่านั้น

รอง หน.ปชป. แนะรัฐต้องคิดรอบด้านก่อนคลายล็อก

ขณะที่ องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลคลายล็อกมาตรการต่าง ๆ ขณะนี้ว่า จากการที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและแจกแอลกอฮอล์เจลให้ประชาชพบว่าประชาชนเรียกร้องให้คลายล็อกบางกิจการ บางอาชีพ เช่น ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม แต่ควรมีมาตรการที่เข้มงวด เช่น ช่างทำผม ต้องสวมหน้ากากอนามัย ถ้าเป็นร้านตัดผมชาย ต้องงดเว้นการให้บริการโกนหนวด กันหน้า การตัดขนจมูก การแคะหู การล้างตา 

องอาจ กล่าวว่า ร้านเสริมสวยสตรี ควรละเว้นการเสริมสวยใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดสารคัดหลั่งได้ ทั้งร้านตัดผมและร้านเสริมสวยควรทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ปลอดเชื้อ ควรจัดที่นั่งให้ลูกค้าระหว่างนั่งรอรับบริการในร้าน ควรเว้นระยะห่างหรือใช้วิธีนัดหมายลูกค้าล่วงหน้าทางโทรศัพท์ เพื่อป้องกันความแออัดในร้าน เชื่อว่าถ้าคลายล็อกให้เปิดร้านตัดผม ร้านเสริมสวยได้ประชาชนจะพึงพอใจ นอกจากนั้นประชาชนอยากให้คลายล็อกร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารเล็กๆ ตามข้างทางหรือร้านเล็ก ๆ ในชุมชนที่มีเพียง 2 - 3 โต๊ะ ให้ลูกค้านั่ง รวมถึงร้านอาหารขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ ต้องจัดโต๊ะเก้าอี้ให้มีระยะห่างตามที่ทางการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

“รัฐบาลควรพิจารณาด้วยความรอบคอบบนพื้นฐานข้อมูลที่รอบด้าน ทั้งข้อมูลทางด้านสาธารณสุขและข้อมูลผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา ควรทำอย่างมีกลยุทธ์ ถ้าจะคลายล็อกทั้งประเทศ รัฐบาลต้องมั่นใจว่าเอาอยู่ ไม่ปล่อยให้สถานการณ์กลับไปเหมือนเดิม ถ้ารัฐบาลต้องการผ่อนคลายสถานการณ์ไม่ให้ตึงเครียดจนเกินไป อาจจะคลายล็อกบางส่วน บางอาชีพ บางกิจกรรม ให้สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ข้อกำหนดหรือคำสั่งที่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ รวมทั้งอาจเลือกคลายล็อกบางพื้นที่ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประชาชนให้ความร่วมมือกับทางราชการจนควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีการแพร่ระบาดได้" องอาจ กล่าว

ปธ.วิปรัฐบาลยันต้องประเมินการแพร่ระบาดก่อนเปิดประชุมสภาฯ

วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าอาจจะมีการเลื่อนวันประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาพระราชกำหนดและร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ว่า ยังไม่ได้มีการหารือและกำหนดวันที่แน่นอน แม้จะเปิดสมัยประชุมรัฐสภาในวันที่ 22 พฤษภาคม แต่คุยกันเป็นการภายในแล้วว่า จะต้องรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด19 ก่อน ว่าในช่วงนั้นเป็นอย่างไรและรัฐบาลได้ผ่อนปรนมาตรการ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากรัฐบาลยังคงมาตรการอยู่ ก็คงต้องเลื่อนการประชุมออกไป เพราะการที่จะนำคนมารวมกัน ในสถานที่เดียวกันจำนวน 500 คน อีกทั้งยังมีองคาพยพ ของส.ส. ไม่น้อยกว่า 1000 คน มีข้าราชการรัฐสภา สื่อมวลชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการอื่น รวมแล้ว 2,500-3,000 คน ซึ่งมาจากทั่วสารทิศ เชื่อว่า ไม่ว่าจะตรวจสอบอย่างไร ก็มีความเสี่ยง และอาจไม่ครบถ้วน จึงควรต้องรอดูสถานการณ์ แม้จะมีมาตรการ( distancing) เว้นระยะห่างในห้องประชุมแบบที่เว้นที่ แต่ก็ยังอยู่รวม ในห้องเดียวกันอยู่ดี อย่างไรก็ตามทันทีที่ประชุมได้ก็จะต้องพิจารณาพระราชกำหนด ต่อด้วย พระราชบัญญัติ โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 แล้วสัปดาห์ต่อมาก็จะพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 เป็นลำดับต่อไป

"อยู่ที่รัฐบาลจะประกาศ ส่วนที่พิจารณานั้นก็ เข้าพิจารณาโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว มีการเตรียมการอยู่แล้ว พ.ร.ก. ก็เข้าพิจารณาโดยไม่ชักช้า เสร็จจากพ.ร.ก.ก็ต่อพ.ร.บ. แม้จะใช้มาตรการที่เว้นที่ แต่ก็ยังอยู่ในห้องเดียวกันอยู่ดี แล้วเราห้ามเขาไอได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ ดังนั้นอยู่ที่รัฐบาลถ้าบอกว่าประเทศปลอดแล้วผ่อนปรนมาตรการแล้ว ก็ประชุมได้ ถ้าเราด่วนตัดสินใจเปิดล็อคดาวน์เอาไว้ เห็นประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของเราหรือไม่ ตอนนี้กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเยอะที่สุด มากกว่าอินโดด้วยซ้ำ" วิรัช กล่าว

'ก้าวไกล' จับตา เปิดอุทธรณ์เยียวยารับ 5 พันวันแรก ชี้ แค่ ‘ซื้อเวลา’

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานด้วยว่า ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า วันนี้ตนได้ตั้งโต๊ะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มีข้อจำกัดเรื่องของเทคโนโลยี ที่ศูนย์ประสานงานเขตบางขุนเทียน ซึ่งเป็นวันแรกที่รัฐบาลเปิดให้มีการอุทธรณ์เพื่อให้ประชาชนส่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อขอรับเงิน 5000 บาท ในเว็บไซค์ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ พบว่า ไม่มีช่องไหนที่ให้กรอกเป็นการป้อนข้อมูลใหม่เพื่อนำไปสู่การพิจารณาเพิ่มเติมได้เลย ขณะที่ปัญหาเก่าก็ยังค้างอยู่ คนจำนวนมากยังคงรอการตรวจสอบข้อมูลจากการลงทะเบียนรอบแรกโดยไม่รู้ชะตากรรมว่า AI เทียม จะแจ้งผลเสร็จได้เมื่อไหร่ 

นับจากรัฐบาลการเปิดให้ลงทะเบียนรอบแรกตั้งแต่ วันที่ 28 มี.ค. ถึงวันนี้ เป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือนแล้ว แต่ประชาชนที่มีความลำบากเป็นล้านคนยังไม่ได้รับเงินเยียวยาแม้แต่บาทเดียว แถมยังถูกกันสิทธิออกไปอีกจำนวนมาก พอเปิดให้อุทธรณ์แทนที่จะมีส่วนให้เติมข้อมูลเพื่ออธิบายเหตุผลว่าทำไมเขาจึงควรต้องได้เงินก้อนนี้ ให้เติมแต่ข้อมูลที่ให้ไปแล้ว หากมีแค่นี้ก็ไม่ควรให้ประชาชนเสียเวลาแต่ควรไปเคลียร์ฐานข้อมูลของรัฐที่สับสนให้เสร็จโดยเร็วจะดีกว่า 
นอกจากนี้เท่าที่ติดตามพบว่า หลังจากได้ข้อมูลชุดนี้จะมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยตรวจสอบและติดต่อกลับมาภายใน 3 วัน จึงขอถามว่าจะเป็นไปได้จริงหรือ เพราะขนาดใช้เทคโนโลยีมาช่วยแล้วหนึ่งเดือนยังคัดกรองไม่เสร็จ ประชาชนยังรอ SMS อยู่ทุกวัน การอุทธรณ์ครั้งนี้เป็นข้อมูลของคนเป็นล้าน หากในสามวันตรวจสอบไม่เสร็จประชาชนก็ต้องรอต่อไปอยู่ดีใช่หรือไม่

สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำขณะนี้ ตนมองว่าบอกเป็นเพียงระเบิดเวลา เพื่อทยอยฆ่าประชาชน เท่านั้น อย่าลืมว่า ประเทศไทยประสบกับสถานการณ์วิกฤติโควิด 19 มาแล้วกว่าสี่เดือนแล้ว มีคนมากมายกำลังรออยู่ ความช่วยเหลือที่ล่าช้า ยิ่งเป็นสิ่งยืนยันว่า รัฐบาลนี้ไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยรู้สึกถึงความเดือดร้อนของประชาชน ไม่เคยรับรู้ใส่ใจว่าท้องที่หิวโหยนั้นรอไม่ได้ แทนที่จะเอาเวลามาวุ่นวายกับการคัดกรองหรือการอุทธรณ์ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ ทำไมจึงไม่จ่ายเยียวยาประชาชนแบบถ้วนหน้าไปเลย หากไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร ขอให้ไปเปิดดูที่เพจพรรคก้าวไกล - Move Forward Party  เราได้เสนอ มาตราการเยียวยาถ้วนหน้าทั่วถึง เอาไว้ พร้อมแนวทางที่ควรปฏิบัติ และจะไม่ว่าอะไรเลยหากท่านจะนำไปใช้เพื่อทำให้ประโยชน์สูงสุดตกเป็นของประชาชน

“รัฐบาลนี้จะฆ่าประชาชนด้วยการยื้อเวลาไปอีกกี่ชีวิต วันก่อนมีการกระโดดคอนโดตาย เมื่อวานมีลุงคนขับแท็กซี่ฆ่าตัวตายเพราะความเครียดหลังจากมาเรียกร้องที่หน้ากระทรวงการคลังแล้วไม่ได้รับความคืบหน้ากลับไป เขาสิ้นหวัง ประชาชนสิ้นหวังกันหมด การที่พวกเขาออกมารวมตัวเรียกร้องกันที่หน้ากระทรวงการคลังเพื่อขอรับเงิน 5000 บาท ไม่ใช่เรื่องที่ดูเบาหรือแค่บอกว่าไม่ทราบได้ ต่อให้เงินก้อนนี้ไม่มากในสายตาท่าน แต่ก็มีความหมายกับชีวิตของพวกเขามากในเวลานี้” โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าว

สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.เขตนครปฐม และโฆษกคนที่สี่ ของพรรคก้าวไกล ระบุว่าตนได้ลงพื้นที่เข้าไปให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่ต้องการอุทธรณ์เงินเยียวยาเช่นกัน สิ่งที่พบในวันนี้ประชาชนไม่สนใจการอุทธรณ์มากนักเพราะยังคงรอผลการตรวจสอบคุณสมบัติที่ลงทะเบียนไปตั้งแต่รอบแรกอยู่ ซึ่งนี่คือปัญหาว่ารัฐบาลยังไม่ให้ความชัดเจนในรอบแรก แล้ววันนี้มาเปิดอุทธรณ์ ตนจึงอยากตั้งข้อสังเกตว่าคนที่ยังไม่ได้คำตอบรอบแรกแล้วไม่ยื่นอุทธรณ์ในวันนี้สุดท้ายพวกเขาจะไม่ได้รับการเยียวยาใช่หรือไม่ และจะมีการอ้างว่าประชาชนไม่ยื่นอุทธรณ์เอง ทั้งนี้จึงอยากขอร้องรัฐบาลว่าอย่าให้ข้ออ้างการทำงานไม่เป็นระบบของรัฐบาลเองมาเป็นเหตุผลในการปฏิเสธประชาชน วันนี้ประชาชนทุกคนยังมีความหวังว่าจะได้รับเงินเยียวยา ดังนั้นตนในฐานะตัวแทนประชาชน ขอร้องรัฐบาลอย่าตบตาประชาชน

ศรีสุวรรณ จ่อร้อง สตง. ปมค่าไฟแพง แม้ไฟฟ้ามีล้นประเทศ

ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้ใช้ไฟฟ้าออกมาบ่นและร้องเรียนว่าค่าไฟฟ้าในเดือนรอบบิลที่ผ่านมา ทำไมจึงมีราคาแพงแบบก้าวกระโดด ทั้งๆที่รัฐบาลออกพระราชกำหนดฉุกเฉินขอให้ประชาชนอยู่กับบ้าน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ควรที่จะหันมาดูแลเอาใจใส่ต่อปัญหา ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ทำได้แค่ลดค่าไฟให้ 3 % เท่านั้นนั้น

กรณีดังกล่าว เป็นความผิดพลาด ล้มเหลวของการบริหารจัดการระบบพลังงานไฟฟ้าทั้งระบบของรัฐบาล ตั้งแต่การฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญโดยให้เอกชนมาผลิตไฟฟ้ามากเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดเกินกว่า 70% ไปแล้วโดยมีการทำสัญญาซื้อขายถาวรล่วงหน้าทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาได้ เพราะโรงไฟฟ้าของรัฐผลิตได้ไม่ถึง 30% นั่นเอง ทำให้ขณะนี้มีปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้ามากถึง 43,372 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่ซื้อมาจากเอกชน ขณะที่ปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่28,338 เมกะวัตต์ (สถิติใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดเมื่อปี 62 เพียง 32,272 เมกะวัตต์) ทำให้ปริมาณไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้เหลือทิ้งเป็นปริมาณที่สูงมาก ทำให้ภาครัฐต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมฉกเงินจากกระเป๋าผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนโดยผ่านค่า FT ไปจ่ายให้เอกชนตลอดเวลา รวมทั้งการคิดค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันไดคือใช้จำนวนมากก็เสียค่าไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งๆที่ควรเรียกเก็บตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าตามจำนวนหน่วยต่อเดือนจากปริมาณการใช้จริง ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ต้องมีคำตอบ

ก่อนหน้านี้รัฐบาลโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าทั้งหลายทั้ง กฟผ. - กฟน. และ กฟภ. ลดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสุทธิที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วลงอีก 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท ตั้งแต่บิลค่าไฟฟ้างวดเดือน เม.ย.-มิ.ย. รวม 3 เดือน แต่นั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของการช่วยเหลือประชาชนแบบจิ๊บๆเท่านั้น แต่ทำมาเป็นคุยโวเสียใหญ่โตว่าได้ช่วยประชาชนในยุคโควิด-19 แล้ว ทั้งๆที่ควรจะลดค่าไฟฟ้าให้ทุกครัวเรือน 50% ในยามที่ต้องอยู่บ้านหนีภัยโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนในระยะยาวต้องเร่งลดสัดส่วนโรงไฟฟ้าเอกชนลงมาให้ได้ 50% จึงจะชอบ

เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุอีกว่า การที่หลายบ้านได้รับบิลค่าไฟฟ้าแพงมหาโหด ทั้งๆที่เทียบกันเดือนต่อเดือนแล้วไม่น่าจะแพงขนาดนั้นและได้ส่วนลด 3% แล้วก็ยังแพงอยู่ดีนั้น เรื่องนี้อาจมีกลเล่ห์ฉลที่ซ่อนเงื่อนงำไว้อีกมากที่รัฐบาลโดยหน่วยงานไฟฟ้า และผู้กำกับไฟฟ้า ไม่ได้บอกความจริงต่อประชาชนทั้งหมด โดยเฉพาะการเตรียมการการจ่ายโบนัสให้พนักงานเจ้าหน้าที่กันอย่างมากมายแบบอู้ฟู้ บนความเดือดร้อนของประชาชนในยุคโควิด-19 และรวมทั้งการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์การผลิต การส่ง การบำรุงรักษาไฟฟ้าที่ราคาแพงเว่อร์ๆ ซึ่งเป็นต้นทุนของการไฟฟ้าที่ผลักภาระมาให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนช่วยรับผิดชอบทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องนี้สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจะนำหลักฐานไปร้องเรียนให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบในเร็วๆ นี้ 

รพ.นครธน ตรวจหาเชื้อฟรี ตอบรับนโยบาย สปสช. รู้ผลเร็วใน 6 ชม. สำหรับผู้เสี่ยง

บริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด แจ้งว่า นพ.วิโรจน์ ตระการวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า โรงพยาบาลนครธน มีศักยภาพในการรองรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ผู้ที่มีความเสี่ยง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถแจ้งผลตรวจได้รวดเร็ว ภายใน 6 ชั่วโมง สำหรับคนไทยทุกคนที่มีสิทธิ์บัตรทอง ข้าราชการ และประกันสังคม ด้วยวิธี Real-time RT PCR โดยนำสารคัดหลั่งที่อยู่ในคอผ่านโพรงจมูกไปตรวจหาเชื้อโดยตรงในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล ที่เป็น 1 ใน 23 ศูนย์ห้องปฏิบัติการเอกชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งสามารถยืนยันการติดเชื้อได้เร็ว โดยวิธีนี้เป็นวิธีที่ได้มาตรฐานแม่นยำ และได้รับการรับรองจากทั่วโลก  

ทั้งนี้ ผู้รับบริการจะต้องเข้าเกณฑ์ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยจะต้องมีอาการไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียส หรือมีประวัติไข้ ร่วมกับ มีอาการระบบทางเดินหายใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ เจ็บคอ และเหนื่อยหอบ รวมถึง มีประวัติไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น แหล่งชุมชน พื้นที่แออัด ตลาดสด ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ขนส่งสาธารณะ เป็นต้น”

นพ.วิโรจน์ กล่าวเสริมว่า สำหรับประชาชนที่ไม่เข้าเกณฑ์ฯ หรือ มีความวิตกกังวล เพราะเคยพบปะ มีกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วยโควิด-19 หรือ เคยไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยง แต่ยังไม่มีอาการ และอยากตรวจว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ทางโรงพยาบาลนครธน ได้จัดบริการ Drive Thru Test ตรวจคัดกรองในราคาพิเศษ เพื่อยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่ต้องลงจากรถ สะดวก ปลอดภัย รู้ผลเร็ว ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย

อย่างไรก็ตาม หากมีผู้รับบริการมาตรวจที่โรงพยาบาลนครธน ทั้ง 2 กรณี แล้วพบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นทางโรงพยาบาลจะดำเนินการรับผู้ที่ติดเชื้อไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และส่งต่อตามสิทธิ์การรักษาต่อไป นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลนครธนได้จัดเตรียมพื้นที่เฉพาะสำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยแยกเป็นพื้นที่ควบคุมเชื้อออกจากผู้ป่วยทั่วไป พร้อมทีมแพทย์และพยาบาลดูแลโดยเฉพาะ ส่วนการรองรับจำนวนผู้ป่วยกรณีที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ทางโรงพยาบาลได้จัดเตรียมสถานที่เหมาะสมที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์และพยาบาลสามารถให้การดูแลได้อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ป่วยและญาติ

 

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล สำนักข่าวไทย 1, 2, 3,  ทีมสื่อพรรคก้าวไกล, ใบแจ้งข่าวของ ศรีสุวรรณ จรรยา และบริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท