Skip to main content
sharethis

ครม. เห็นชอบร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 วงเงิน 100,395 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็นงบกลางเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 กระทรวงการคลังมากสุด 3.6 หมื่นล้านบาท กระทรวงกลาโหม 1.8 หมื่นล้านบาท คมนาคม 1.1 หมื่นล้านบาท มหาดไทย 6 พันล้านบาท


แฟ้มภาพ

 

21 เม.ย. 2563 วันนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 วงเงิน 100,395 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็นงบกลางเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 โดยจะนำเข้าสภาพิจารณาวาระ 1 ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2563

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมากสุด 3.6 หมื่นล้านบาท กระทรวงกลาโหม 1.8 หมื่นล้านบาท คมนาคม 1.1 หมื่นล้านบาท มหาดไทย 6 พันล้านบาท

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงหลังการประชุมวันนี้ว่า ในวันอังคารหน้า (28 พ.ค.) ที่ประชุม ครม. จะพิจารณาเกี่ยวกับการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ว่ามีความจำเป็นต้องขยายเวลาต่อไปอีกหรือไม่ โดยระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาพรวมนั้นดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าสังเกตสถานการณ์ต่อไป และนำข้อมูลจากหลายฝ่ายมาประกอบการตัดสินใจอย่างถี่ถ้วน

โดยหลักเกณฑ์และแนวทางการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 กำหนดให้รายการที่นำงบประมาณรายจ่ายไปจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย มีดังนี้

1.รายจ่ายประจำในทุกงบรายจ่ายที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายและไม่มีข้อผูกพันหรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ ณ วันที่ 7 เม.ย. 2563 ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ (รวมถึงการศึกษาดูงานในต่างประเทศที่อยู่ในหลักสูตรการฝึกอบรม) รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ อาทิ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พักและค่าพาหนะ และการดำเนินกิจกรรมที่มีการจ้างผูัจัดกิจกรรมหรือดำเนินการเอง

และรายการและงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถชะลอการดำเนินการได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการหรือไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมดหรือบางส่วนในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 

2.รายจ่ายลงทุนในทุกงบรายจ่าย

รายการปีเดียวที่ยังไม่ประกาศดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายในวันที่ 7 เม.ย. 2563 หรือไม่สารถลงนามจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในวันที่ 31 พ.ค. 2563

รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการใหม่ในปีงบประมาณพ.ศ.2563 ที่ยังไม่สามรถดำเนินการก่อหนี้ผูกพันได้ภายในวันที่ 7 เม.ย. 2563 ให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปีแรกลดลงร้อยละ 5

รายการและงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถชะลอการดำเนินการได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการหรือไม่สามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563

3.หน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ องค์กรมหาชน และหน่วยงานของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้รับงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนและทุนหมุนเวียน ที่พิจารณาเห็นว่ารายการที่ได้รับงบประมาณไม่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ของการตั้งงบประมาณ หรือมีเงินรายได้ เงินรายได้สะสมคงเหลือเพียงพอต่อการดำเนินภารกิจของหน่วยงานทดแทนงบประมาณที่ได้รับ โดยใช้หลักเกณฑ์และแนวทางตามข้อ 1 และข้อ 2 โดยอนุโลม

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มีวงเงินทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น

รายจ่ายประจำ 2.4 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 75.1 )

ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ 1.12 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 35.1)

รายจ่ายลงทุน 6.44 แสนล้านบาท (ร้อยละ 20.1)

รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 8.9 หมื่นล้านบาท (ร้อยละ 2.8 )

รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 6.2 หมื่นล้านบาท (ร้อยละ 2)

โดยงบกลาง มีวงเงิน 518,770 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 1พันล้านบาท

2.ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน 3 พันล้านบาท

3.ค่าใช้จ่ยตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2.5 พันล้านบาท

4.ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 7.12 หมื่นล้านบาท

5.เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 5 ร้อยล้านบาท

6.เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 4.9 พันล้านบาท

7.เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 2.65 แสนล้านบาท

8.เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 1.04 หมื่นล้านบาท

9.เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 6.7 ร้อยล้านบาท

10.เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 6.2 หมื่นล้านบาท

 

อ้างอิง: ประชาชาติ, วอยซ์ทีวี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net