Skip to main content
sharethis

จังหวัดคย็องกี ประเทศเกาหลีใต้เสนอให้รายได้ขั้นพื้นฐาน (Universal Basic Income หรือ UBI) แก่ผู้อพยพที่แต่งงานกับชาวเกาหลีและผู้อาศัยถาวรในช่วงที่มีการระบาดหนักของโควิด-19 ในขณะที่ประเทศฝั่งยุโรปเริ่มกลับมาพิจารณาเรื่องรายได้ขั้นพื้นฐานในฐานะสวัสดิการของประชาชนกันอีกครั้งเช่นกัน

ที่มาภาพ: pixabay/butti_s

22 เม.ย. 2563 ลีแจมุง ผู้ว่าราชการจังหวัดคย็องกีของเกาหลีใต้ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (19 เม.ย.) ว่าผู้ที่มีวีซ่าแบบ F-5 และ F-6 ของเกาหลีใต้สามารถรับเงินรายได้ขั้นพื้นฐาน 100,000 วอน (ราว 2,600 บาท) เช่นเดียวกับประชาชนชาวเกาหลีใต้ได้ จากเดิมที่ชาวต่างชาติจะไม่สามารถได้รับสวัสดิการนี้

ลีแจมุงชี้แจงผ่านทางเฟสบุ๊คว่ามันเป็นการยากที่จะให้เงินรายได้ขั้นพื้นฐานแก่ชาวต่างชาติทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติที่ไม่ได้มีเอกสารรับรองและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ชั่วคราว อย่างไรก็ตามผู้อพยพที่แต่งงานกับชาวเกาหลีใต้สามารถเข้ารับสิทธินี้ได้ ลีแจมุงบอกอีกว่า มันเป็น "เทรนด์" ของทั่วโลกที่ผู้อาศัยถาวรควรจะได้รับสวัสดิการด้วยโดยไม่ถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติ

ในจังหวัดคย็องกีมีประชากรชาวต่างชาติที่แต่งงานกับคนในประเทศ 48,000 ราย และมีชาวต่างชาติผู้อาศัยถาวร 60,000 ราย การแจกรายได้ขั้นพื้นฐานนี้มีการดำเนินการหลังจากที่มีคนล่ารายชื่อเรียกร้องให้ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นให้มีการช่วยเหลือทางการเงินแก่แรงงานข้ามชาติที่จ่ายภาษีด้วย เพราะพวกเขาเหล่านี้ก็ทนทุกข์กับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มาจากการระบาดของโควิด-19 เช่นกัน โดยมีคนเรียกร้องร่วมลงนามอย่างน้อย 14,000 รายชื่อ

การการันตีให้เงินในระดับพื้นฐานแก่ประชาชนทุกคนโดยเท่าเทียมกันนั้นมีการพูดถึงกันมาหลายปีแล้ว เคยมีบางประเทศในยุโรปนำมาทดลองใช้แล้ว การระบาดหนักของโควิด-19 ที่กระทบต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วไป ทำให้เรื่องรายได้ขั้นพื้นฐานกลับมาเป็นข้ออภิปรายอีกครั้งในยุโรป เช่น ในประเทศสเปน

พรรคโปเดมอสที่เป็นฝ่ายซ้ายจัดในสเปนเคยยื่นข้อเสนอว่าจะจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคสังคมนิยมถ้าหากพรรคยอมนำแนวทางรายได้ขั้นพื้นฐานที่โปเดมอสหาเสียงเอาไว้มาใช้ เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ทำให้รัฐบาลประกาศให้รายได้ยังชีพแก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อยโดยที่ยังไม่ได้ระบุจำนวนชัดเจน ซึ่งมาตรการนี้จะนำมาใช้ในเดือน พ.ค. นี้

สเปนได้รับผลกระทบอย่างหนักในแง่นี้ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ มีสถิติระบุว่าผู้คนตกงานราว 900,000 ราย ในช่วงกลางเดือน มี.ค. ถึงวันที่ 1 เม.ย. ซึ่งมากกว่าช่วงวิกฤตการเงินปี 2551 เสียอีก

ฆวน คอร์ตินาส มูยอซ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองสเปนยังอธิบายว่านโยบายที่รัฐบาลปัจจุบันใช้ต่างจากสิ่งที่โปเดมอสเคยหาเสียงไว้เพราะมันถือเป็น "โมเดลรายได้ขั้นต่ำ" (minimal income model) ที่แค่เพียงพอต่อความต้องการดำรงชีพขั้นพื้นฐานซึ่งต่างจากรายได้ขั้นพื้นฐานที่ครอบคลุมมากกว่านี้ ในบางพื้นที่ของสเปนที่มีความสามารถในการปกครองตนเองก็เคยนำโมเดลรายได้ขั้นต่ำมาใช้แล้วซึ่งมีให้กับคนที่กำลังหางานทำ

อย่างไรก็ตามมีการตั้งคำถามจากคอร์ตินาส มูยอซ ว่าวิธีการนี้จะใช้ได้จริงหรือไม่ เพราะหลังจากวิกฤตนี้แล้วสิ่งที่ตามมาคือวิกฤตด้านเศรษฐกิจที่อาจะทำให้ใครหลายคนถูกตัดสวัสดิการสังคม และระบบรายได้ขั้นต่ำที่สเปนนำมาใช้ตอนนี้ก็จ่ายให้ต่อคนต่ำกว่ารายได้ระดับเส้นความยากจน

ในประเทศอื่นๆ ก็เริ่มมีการเอ่ยถึงระบบรายได้ขั้นพื้นฐานเช่นกัน ในเยอรมนี โทเนีย เมอร์ซ ที่มีอาชีพดีไซเนอร์ ล่ารายชื่อในเรื่องนี้จนมีผู้สนับสนุนถึง 460,000 คน และได้ยื่นคำร้องถึงรัฐสภาแล้ว ส่วนที่อังกฤษ สมาชิกรัฐสภา 170 คนเรียกร้องให้มีการสนับสนุนทางการเงินอย่างไม่มีเงื่อนไขตลอดช่วงวิกฤตการระบาด แต่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังปฏิเสธแนวคิดนี้

ทางพระสันตะปาปาฟรานซิสแห่งนครรัฐวาติกันก็ดูจะสนับสนุนความคิดนี้เช่นกัน จากที่มีจดหมายเปิดผนึกในช่วงวันอีสเตอร์ว่าควรจะมีรายได้ขั้นพื้นฐานเพื่อให้เกียรติแก่คนทำงานผู้มีรายได้น้อยที่ถือเป็นงานมีศักดิ์ศรีและเป็นงานที่มีความสำคัญต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนขายของข้างทาง เกษตรกรรายย่อย คนทำงานก่อสร้าง คนทำงานสิ่งทอ และคนทำงานด้านการดูแลซึ่งเป็นคนที่ระบบมองไม่เห็น

สำหรับฝรั่งเศสก็มีการพูดถึงเรื่องนี้โดย นิโคล ทีค โฆษกของขบวนการเพื่อรายได้ขั้นพื้นฐานในฝรั่งเศส (MFRB) ที่ระบุว่าคนทำงานที่มีความเสี่ยงและไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ได้เทียบเท่างานอื่นๆ อาจจะต้องการรายได้ขั้นพื้นฐานนี้ เพราะถ้าหากพวกเขาต้องหยุดงานเพื่อดูแลสุขภาพตัวเองก็ไม่มีอะไรรับประกันด้านการเงินให้พวกเขา เพราะระบบสวัสดิการปัจจุบันก็ยังมีช่องว่างอยู่ พวกเขาต้องการสวัสดิการที่แท้จริงสำหรับคนทุกคน

กระนั้นปัญหาทางการเงินที่จะตามมาหลังจากวิกฤตโควิด-19 ก็น่าเป็นห่วงสำหรับทั้งสเปนและฝรั่งเศส  องค์กรการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ประเมินในวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมาว่าอัตราหนี้สินของสเปนจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 95 เป็นร้อยละ 113 ขณะที่ฝรั่งเศสที่มีลูกจ้างมากกว่า 9 ล้านคนเป็นลูกจ้างชั่วคราวจะมีอัตราหนี้สินเพิ่มจากร้อยละ 98 ไปเป็นร้อยละ 115

ทีคกล่าวว่าเรื่องนี้จะสะท้อนวิสัยทัศน์ทางสังคมสองแบบที่ขัดแย้งกัน แบบแรกคือการใช้โอกาสวิกฤตนี้ในการพิจารณาระบบใหม่อีกครั้งโดยเน้นเรื่องความเป็นธรรมในสังคม กับแบบที่สองคือการเอาแต่อุ้มธุรกิจกับเศรษฐกิจด้วยการรัดเข็มขัด

เรียบเรียงจาก

Gyeonggi to offer universal basic income to marriage immigrants, permanent residents, The Korea Times, Apr. 21, 2020

In Europe, Covid-19 puts idea of universal income back into welfare debate, France 24, Apr. 19, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net