Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์ กรณีชาย 2 คนถูกกลุ่มที่อ้างว่าเป็นทหารปราบยาเสพติดอุ้มและซ้อมทรมาน จี้รัฐเร่งนำตัวคนผิดมาลงโทษอย่างเปิดเผย โปร่งใส และชดเชยเยียวยาผู้เสียหาย และขอให้รัฐแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายพิเศษที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ซ้อมทรมาน


ภาพจากสำนักข่าวไทย

22 เม.ย. 2563 วันนี้มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์ จากกรณีที่เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563 นิวัฒน์ ซ้ายซา และป่าน ซ้ายซา สองสามีภรรยา บ้านยางคำ ต.อุ่มเหม้า อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ได้นำหลักฐานเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ธาตุพนมว่า ลูกชาย 2 คน คือ ยุทธนา ซ้ายซา และ นัตพงศ์ ซ้ายซา ถูกกลุ่มชายอ้างตนเป็นทหารชุดปราบปรามยาเสพติด สวมใส่ชุดพราง เข้ามาอุ้มลูกชายทั้ง 2 คน ขณะพักอยู่กระท่อมนาใกล้สวนยางท้ายหมู่บ้าน

เหตุเกิดช่วงเวลา 20.30 น. ของวันที่ 17 เมษายน 2563 จนกระทั่งต่อมาเวลา 01.00 น.ของวันต่อมาซึ่งเป็นคืนเดียวกันนั้นเอง  ได้มีผู้ใช้โทรศัพท์ของลูกชายคนโตคือ ยุทธนา ซ้ายซา โทรศัพท์เข้ามาแจ้งว่า ให้ไปดูอาการลูก ซึ่งได้รับบาดเจ็บถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม เมื่อตนไปถึงแพทย์ได้แจ้งว่า ยุทธนา ซ้ายซา ได้เสียชีวิตแล้ว ในสภาพที่ร่างกาย คล้ายถูกทำร้าย สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนัก หน้าอกเขียวช้ำ ส่วนลูกชายคนเล็กคือ นัตพงษ์ ซ้ายซา ที่ตนไปช่วยมาจากการควบคุมตัวของทหารในฐานปฏิบัติการที่วัดแห่งหนึ่ง ใน ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลเดียวกัน โดยอาจจะต้องนอนรักษาตัวนานเป็นเดือน ต่อมาปรากฎแน่ชัดตามข่าวว่า กลุ่มคนในชุดพรางที่จับและควบคุมตัวยุทธนา ซ้ายซาและนัตพงศ์ ซ้ายซาไปและลงมือซ้อมทรมานจนเสียชีวิตและบาดเจ็บคือทหารชุดปราบปรามยาเสพติด สังกัดศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน) หรือ ศอ.ปส.ชอน.

ก่อนหน้านี้ เมื่อกลางดึกของวันที่ 29 มีนาคม 2563 มีข่าวและมูลนิธิได้รับการร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งของ สภ.เวฬุวัน จังหวัดขอนแก่น ก็ได้ควบคุมตัวพุทธพร โสภาพล ชาวบ้านหมู่ที่ 2 ตำบลโนนท่อน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ไปควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจดังกล่าวเพื่อให้สงบสติอารมณ์ เนื่องจากเมาและทะเลาะกับภรรยา ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ญาติได้รับแจ้งว่าพุทธพร โสภาพล ได้เสียชีวิตในห้องขัง พบศพอยู่ในสภาพที่ศีรษะแตก ร่างกายบอบช้ำ คล้ายถูกทำร้าย มีเลือดไหลออกทางปาก และจมูก ทั้งๆที่ก่อนถูกจับกุมมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงเป็นปกติทุกอย่าง

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน รวมทั้งการช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ประชาชนที่เป็นผู้เสียหายจากการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยึศักดิ์ศรี ได้ติดตามปัญหาการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน มูลนิธิฯ ได้ศึกษาปัญหาดังกล่าวจากข้อมูลที่ได้จากการร้องเรียนของผู้ถูกทรมาน ญาติ เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชน และจากกรณีที่ปรากฎเป็นข่าวตามสื่อมวลชน และสื่อโชเชียล พบว่า

1.       การซ้อมทรมานเกิดขึ้นเป็นประจำในขอบเขตทั่วประเทศ กรณีทั้งสองข้างต้นที่เกิดเป็นข่าวขึ้นนี้ มิใช่เป็นกรณีแรกๆ และมีใช่มีเพียงหนึ่งหรือสองกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในอดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว มีผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารซ้อมทรมานเป็นจำนวนมากในขอบเขตทั่วประเทศ เพื่อให้รับสารภาพหรือเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิด มีจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

2.       การซ้อมทรมานเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงจากการใช้กฎหมายพิเศษ  การใช้กฎหมายพิเศษได้แก่กฎอัยการศึกและประกาศและคำสั่ง คสช. โดยเฉพาะฉบับที่ 3/2558 และฉบับที่ 13/2559 ที่ให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจตรวจค้น จับกุม คุมขังบุคคลได้เป็นเวลา 7 วัน โดยไม่ต้องมีหมายศาล และ พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  พ.ศ. 2548  ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลได้ครั้งละ 7 วัน รวมแล้ว 30 วัน โดยกฎหมายเหล่านั้นให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลไว้ใน “สถานที่พิเศษ” ของหน่วยงานด้านความมั่นคงเช่น ค่ายทหารและศูนย์ซักถามเพื่อใช้ “กรรมวิธี” ซึ่งส่วนหนึ่งคือการทรมานทั้งทางร่างการหรือจิตใจ เพื่อให้ได้คำรับสารภาพหรือข้อมูลจากผู้ถูกควบคุมตัว พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ที่ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมผู้ต้องสงสัยว่าได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยขังไว้ใน “เซฟเฮาส์” ได้เป็นเวลาสามวัน เพื่อ “ขยายผล” โดยที่การจับกุมและควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษดังกล่าว ไม่สามารถตรวจสอบได้โดยศาล ไม่แจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกควบคุมตัว ไม่แจ้งและพบกับญาติและทนายความ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับยุทธนา ซ้ายซาและนัตพงศ์ ซ้ายซา ดังกล่าวข้างต้น

3.       การซ้อมทรมานมักเกิดขึ้นในช่วง 24 ชั่วโมงแรกของการควบคุมตัว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องการให้ผู้ถูกจับรับสารภาพหรือให้ข้อมูลโดยเร็ว และการควบคุมตัวในช่วงชั่วโมงแรกๆ ยังไม่เป็นข่าว หรือไม่มีการติดตามหรือร้องเรียนของญาติ รวมทั้งยังสามารถซ้อมทรมานในสถานทีอื่นที่รอดพ้นจากสายตาของประชาชนได้ ก่อนที่จะส่งตัวไปไว้ที่สถานที่คุมขังอย่างเป็นทางการ

4.       การซ้อมทรมานที่ปราศจากร่องรอยบาดแผลและพยานหลักฐาน การซ้อมทรมานจำนวนมากกระทำโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้ผ่านการฝึกฝนให้ใช้ “กรรมวิธี” ในการทรมานมาเป็นอย่างดี ทำให้การทรมานไม่มีร่องรอยบาดแผลโดยเฉพาะบาดแผลภายนอกเช่น การทุบตีด้วยท่อนไม้หุ้มผ้า วอเตอร์บอร์ดดิ้ง (Waterboarding) เป็นต้น ทั้งมักเกิดขึ้นในที่ลับตา ไม่มีคนภายนอกรู้เห็นเช่น เซฟเฮาส์ หรือที่คุมขังพิเศษ จึงจากที่จะสืบสวนสอบสวนหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิด เว้นแต่จะได้รับความร่วมมือจากผู้บังคับบัญชา

5.       การซ้อมทรมานเกิดขึ้นจากนโยบายหรือการรู้เห็นเป็นใจของผู้บังคับบัญชาระดับสูง โดยทั่วไป เจ้าหน้าที่ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่กล้าที่จะทรมานผู้ถูกควบคุมตัว เนื่องจากเป็นการกระทำที่เสี่ยงต่อการที่ต้องรับผิด ทั้งในทางวินัย อาญาและในทางแพ่ง เหตุที่เจ้าหน้าที่บางคนกล้ากระทำผิดดังกล่าว เนื่องจากได้รับคำสั่ง การสนับสนุน รู้เห็นเป็นใจหรือกระทั่งเป็นนโยบายของผู้บังคับบัญชาระดับสูงหรือนโยบายของหน่วยงาน และมั่นใจว่าเมื่อมีการร้องเรียน ตนจะได้รับการปกป้องจากผู้บังคับบัญชาเสมอ

6.       เจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดลอยนวลพ้นผิด ในกรณีที่เป็นข่าวหรือมีการร้องเรียน ซึ่งยังเป็นส่วนน้อยของกรณีที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะหากการทรมานไม่ถึงขั้นเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจนพิการ ญาติหรือผู้ถูกทรมานมักไม่กล้าร้องเรียนเนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพลของเจ้าหน้าที่หรือเกรงกลัวอำนาจรัฐ ในกรณีที่มีการร้องเรียน มีผู้บังคับบัญชาไม่น้อยที่พยายามปกปิด ไกล่เกลี่ยให้ผู้เสียหายยอมประนีประนอม รับค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ที่กรระทำผิด หรือในกรณีที่กรทรมานเป็น “นโยบาย” หรือรู้โดยการเห็นเป็นใจของผู้บังคับบัญชา จะใช้งบปรระมาณจากภาษีของประชาชนเพื่อชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย โดยเจ้าหน้าที่ผู้กระทำทรมาน ไม่ถูกลงโทษทั้งทางวินัยและในทางอาญา

7.       ศาลไม่ตรวจสอบพยานหลักฐานที่ได้จากการทรมานอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ตามหลักของการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ที่กำหนดว่าในการพิจารณาคดี ศาลจะต้องไม่รับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการซ้อมทรมาน แต่ในทางปฏิบัติเมื่อจำเลยหรือพยานอ้างว่าคำรับสารภาพหรือพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ นำเสนอต่อศาลได้จากการทรมาน ศาลมักจะไม่รับฟังข้อต่อสู้หรือข้ออ้างดังกล่าว โดยเห็นว่า หากผู้ต้องหาหรือพยานถูกทรมานจริง ควรต้องแจ้งความหรือฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดเจ้าหน้าที่เป็นคดีต่างหาก

8.       การซ้อมทรมานเป็นอาชญากรรมร้ายแรงแต่กฎหมายไทยไม่มีข้อหาความผิดฐานทรมาน การซ้อมทรมานบุคคลโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ว่าจะกระทำโดยวิธีใด ณ สถานที่ใด ต่อบุคคลใด ในสถานการณ์หรือโดยเหตุผลใดๆ ถือว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรงตามกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ. 1984 มาตั้งแต่ปี 2550  แต่ประเทศไทยก็ยังไม่ตรากฎหมายอนุวัติการเพื่อปฏิบัติตามพันธะกรณีภายใต้อนุสัญญาดังกล่าวอย่างได้ผล ทั้งในเรื่องการป้องกัน ปราบปราม สอบสวนดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดและการชดใช้เยียวยาผู้เสียหาย

 

จากข้อเท็จจริงของปัญหาการทรมานดังกล่าว มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานดังต่อไปนี้

1.       ขอให้รัฐบาลแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายพิเศษและมาตรการพิเศษ ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัว อาทิเช่น (1) แก้ไขกฎหมายพิเศษให้ การค้น การจับ และการขังตต้องมีหมายศาล เพื่อให้ศาลได้ใช้อำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจโดยเจ้าหน้าที่ ป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินสมควร จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน (2) ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวผู้ถูกจับในสถานที่พิเศษเช่น เซฟเฮาส์ ศูนย์ซักถาม ค่ายทหาร เช่นกฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  รวมทั้ง ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 3/2558 13/2559 และมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519

2.       ขอให้เร่งรัดการตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ตามที่องค์การภาคประชาสังคมเสนอ โดยมีบทบัญญัติที่เป็นไปตามอนุสัญญาทั้งสองฉบับอย่างครบถ้วน กฎหมายดังกล่าวจะทำให้เป็นมาตรการในการป้องกันการทรมาน การสอบสวน ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดและเยียวยาผู้เสียหายสามาถดำเนินการอย่างได้ผล

3.       มาตรการป้องกันชั่วคราว ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมาน รัฐบาลควรถือเป็นนโยบายของชาติและการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญในการคุ้มครองสิทธิในชีวิตร่างกายของประชาชน โดยการป้องกันและปราบปรามการทรมาน ซึ่งนอกจากจะยกเลิกกฎระเบียบและมาตรการตามข้อ 1 แล้ว ขอให้รัฐบาลตั้งคณะกรมการหรือคณะทำงานขึ้นมาเพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันการทรมาน รับเรื่องร้องเรียน สอบข้อเท็จจริงกรณีซ้อมทรมาน และติดตามสอดส่องให้หน่วยราชการดำเนินมาตรการป้องกันการทรมานและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดอย่างจริงจัง

4.       การสอบสวนกรณีการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้น ดังเช่นกรณีของพุทธพร โสภาพล ยุทธนา ซ้ายซา และนัตพงศ์ ซ้ายซา รัฐบาลจะต้องดำเนินให้มีการสอบข้อเท็จจริงและสอบสวนอย่างตรงไปตรงมา รวดเร็ว โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อนำตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดหรือปล่อยปละละเลยมาลงโทษทางวินัย และดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว โดยหน่วยงานต้นสังกัดคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพบก จะต้องให้ความร่วมมือในการสอบสวนอย่างเต็มที่ จะต้องให้ความคุ้มครองพยาน ไม่ให้ถูกคุกคามหรือมีการดำเนินการใดๆเพื่อบิดเบือนคดี และขอให้รายงานผลและความคืบหน้าของการดำเนินการให้ความเป็นธรรม รวมทั้งความคืบหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริง การลงโทษทางวินัย และการสอบสวนคดี ให้ญาติของผู้ตายและประชาชนทราบเป็นระยะ

5.       ขอให้ให้ชดใช้เยียวยาผู้เสียหาย ในกรณี ขอให้รัฐบาลดำเนินการชดใช้เยียวยาญาติของพุทธพร โสภาพล และยุทธนา ซ้ายซา ผู้เสียชีวิต และนัตพงศ์ ซ้ายซา ผู้บาดเจ็บอย่างเป็นธรรมทั้งในรูปแบบตัวเงิน การเยียวยาทางจิตใจเชิงสัญลักษณ์เช่นการขอโทษต่อสาธารณะเป็นต้น และเมื่อหน่วยงานต้นสังกัดชดใช้เยียวยาแก่ผู้เสียหายแล้ว จะต้องไล่เบี้ยความรับผิดเอาจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net