Skip to main content
sharethis

องค์กรสื่อไร้พรมแดนรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อจาก 180 ประเทศทั่วโลก ไทยอยู่อันดับ 140 ตกลงมาอีก 4 อันดับ เหตุเลือกตั้งไม่สร้างความแตกต่างทางการเมือง นักข่าวยังถูกดำเนินคดี กฎหมายหมิ่นสถาบันฯ ยังถูกใช้ป้องปราม ภาวะฉุกเฉินคุมโควิด-19 เปิดช่องรัฐใช้อำนาจนิยามความจริง-เท็จ

โทรศัพท์มือถือกำลังถ่ายทอดสดการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้ง (ที่มา: แฟ้มภาพ)

22 เม.ย. 2563 องค์กรสื่อไร้พรมแดน (RSF) จัดทำดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปี 2563 รายงานจัดอันดับเสรีภาพสื่อประจำปีจาก 180 ประเทศทั่วโลก

ในปีนี้ นอร์เวย์ มีเสรีภาพสื่อมากเป็นอันดับ 1 เป็นเวลา 4 ปีซ้อน ตามมาด้วยฟินแลนด์ สวีเดนและเนเธอร์แลนด์ตามลำดับ ประเทศที่เสรีภาพสื่อต่ำที่สุดคือเกาหลีเหนือ รองลงมาคือเตอร์กเมนิสถานและเอริเทรีย

ประเทศที่มีพัฒนาการด้านเสรีภาพสื่อดีที่สุดได้แก่ มาเลเซีย (อันดับ 101) และมัลดีฟส์ (อันดับ 79)  และซูดาน (อันดับ 159) ตามลำดับ อันเกิดจากการเลือกตั้งที่เปลี่ยนขั้วการเมือง 

ไทยอยู่ในอันดับที่ 140 ลดลงมา 4 อันดับ โดย RSF วิเคราะห์ว่า การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน มี.ค. 2562 ไม่ได้สร้างความแตกต่างไปจากยุค คสช. เพราะชนชั้นนำที่รายล้อม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงกุมอำนาจอยู่ การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลยังคงมีความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี ในปี 2562 มีนักข่าวถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปีจากการทวีตเรื่องปัญหาสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (กรณีบริษัทธรรมเกษตรฟ้องหมิ่นประมาทสุชาณี รุ่งเหมือนพร)

นอกจากนั้น กฎหมายอาญามาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นสถาบันฯ) ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือป้องปรามนักข่าวและบล็อกเกอร์ที่เห็นต่าง นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่รัฐยังมีพฤติกรรมแบบผ่อนปรน ให้เจ้าหน้าที่ทางการจากกัมพูชา จีนและเวียดนามมาจับกุมนักข่าวและบล็อกเกอร์ที่ลี้ภัยอยู่ในไทย

ศาลลพบุรีพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญากรณีอดีตนักข่าววอยซ์ ทีวี หมิ่นฟาร์มไก่

เฉื่องซวีเญิ๊ต: นักข่าวเวียดนามลี้ภัยมาไทย ถูกจับกลับลึกลับก่อนถูกจำคุก 10 ปี

ไม่ใช่ครั้งแรก ข่าว 'อัลจาซีรา' โดนเซ็นเซอร์บนเคเบิลทีวีทรู วิชั่นส์ เช้านี้

RSF ประณามการประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลประยุทธ์ หนึ่งในความพยายามควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ที่ไม่ได้ให้นิยามคำว่าข้อมูล “เท็จ” ที่ระบุอยู่ในประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งอาจเป็นช่องว่างให้รัฐบาลกำหนดความเป็นเท็จหรือจริงของข้อมูล นำไปสู่การสั่งให้สื่อมวลชนแก้ไขเนื้อหาต่างๆ

RSF ยกตัวอย่างกรณีของดนัย อุศมา ศิลปินอายุ 42 ปีที่ถูกจับกุมหลังโพสท์เฟสบุ๊ค เล่าว่าที่สนามบินสุวรรณภูมิไม่มีกระบวนการคัดกรองผู้โดยสารเที่ยวบินจากประเทศสเปน หนึ่งในประเทศที่มีการระบาดสูง โดยอุศมาถูกจับกุมที่แกลเลอรี่ของเขาใน จ.ภูเก็ตขณะกักตัวเองเป็นวันที่ 8 เขามีกำหนดขึ้นศาลในวันที่ 12 พ.ค. นี้

จับศิลปินโพสต์เฟสว่าไม่มีการคัดกรองโควิดที่สนามบิน โดน พ.ร.บ.คอมฯ

RSF มีข้อสรุปว่า ใน 1 ทศวรรษข้างหน้านี้ถือเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญต่อเสรีภาพสื่อ เพราะจะเป็นช่วงที่ปัจจัยวิกฤตต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อจะหลอมรวมกัน โดยแบ่งเป็น 5 วิกฤต ได้แก่วิกฤตด้านภูมิรัฐศาสตร์จากระบอบเผด็จการนิยมที่เข้มข้นขึ้น ด้านเทคโนโลยีที่ไม่การันตีคุณค่าประชาธิปไตย ด้านประชาธิปไตยที่เกิดจากการแบ่งขั้วการเมืองและนโยบายที่กดปราบ ด้านความเชื่อมั่นต่อสื่อ และวิกฤตเศรษฐกิจที่จะบ่อนทำลายคุณภาพของวิชาชีพสื่อ

การตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 ในหลายรัฐนำมาซึ่งการคุกคามการทำงานของสื่อและสิทธิการได้รับข้อมูลข่าวสาร เช่นความพยายามปิดกั้นข้อมูลของรัฐบาลจีนและอิหร่าน การเพิกถอนใบอนุญาตทำงานของรอยเตอร์สในอิรักหลังเผยแพร่เนื้อหาที่ตั้งคำถามกับสถิติจากทางภาครัฐ รวมถึงการออกกฎหมายใหม่ในฮังการีที่มีโทษสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลเท็จด้วยการจำคุกสูงสุด 5 ปี

คริสตอฟ เดอลูวา เลขาธิการของ RSF กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นปัจจัยในเชิงลบที่คุกคามสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้ วิกฤตด้านสาธารณสุขที่ทำให้การเมืองและการออกประท้วงชะงักงัน ให้โอกาสรัฐเผด็จการได้ออกนโยบายที่ยามปกติไม่สามารถทำได้ ขอให้ประชาชนสนับสนุนให้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในฐานะคนกลางที่เชื่อถือได้ของสังคม

แปลและเรียบเรียงจาก

2020 World Press Freedom Index: “Entering a decisive decade for journalism, exacerbated by coronavirus”, RSF

Thailand uses Covid-19 to restrict the freedom to inform, RSF, Mar. 31, 2020

Thailand: Gen. Prayuth in ever greater control, RSF

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net