Skip to main content
sharethis

สถานการณ์โควิด-19 วันที่ 22 เม.ย. 2563 ไทยมีผู้ติด COVID-19 เหลือ 15 คน ต่ำสุดในรอบ 1 เดือน ศบค.ระบุ นิยามตรวจ COVID-19 ฟรี: มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่น ชี้การจะปลดล็อกหรือไม่ขึ้นกับสถิติผู้ติดเชื้อ ด้านกฟภ. รับค่าไฟแพง เกิดจากความผิดพลาดของพนักงานจดหน่วยไฟฟ้า พร้อมเร่งคำนวณใหม่

ไทยมีผู้ติด COVID-19 เหลือ 15 คน ต่ำสุดในรอบ 1 เดือน

วันนี้ (22 เม.ย.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่าภาพรวมสถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อ 2,555,568 คน เสียชีวิต 177,402 คน โดยสหรัฐอเมริกา ยังมียอด ติดเชื้อ 817,952 คน เสียชีวิต 45,279 คน 

ส่วนไทยยังอยู่ในอันดับที่ 55 ของโลกพบมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นพียง 15 คน ผู้ป่วยสะสม 2,826 คน หายป่วยกลับบ้านเพิ่มอีก 244 คน รวมหายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,352 คน เสียชีวิต เพิ่ม 1 คนรวม 49 คนขณะที่ประเทศในแถบเอเชีย ญี่ปุ่น มีผู้ติดเชื้อวันเดียวเพิ่ม 338 คน รวม 11,135 คน ส่วนสิงคโปร์น่าเป็นห่วงมาก ตอนนี้ปรับไปอยู่ในอันดับ 31 ของโลก 9135 ตัวเลขป่วยวันเดียว 1,111 ตาย 11 คน

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านวิจัยและวิชาการ วช.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รายงานล่าสุดพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวัน ตั้งแต่วัน 9 มี.ค.ถึงวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ต่ำสุดในรอบ 1 เดือนนับจากวันที่ 22 มี.ค.ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่สูงสุดจำนวน 188 คน 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้เสียชีวิต 1 คน เป็นหญิงไทยอายุ 58 ปี อาชีพแม่บ้าน มีโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดลูกสาวที่เป็นผู้ป่วยยืนยันเข้ารักษา 22 มี.ค.และได้รับการยืนยันติดเชื้อ เมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นอาการแย่ลง และเสียชีวิต ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15 คน แบ่งเป็นใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 10 คน คนไทยกลับจากต่างประเทศ 1 คน ไปสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด 1 คน อาชีพเสี่ยง พนักงานขาย ขนส่งสินค้า ทำงานกับนักท่องเที่ยว 3 คน

นอกจากนี้ใน 14 จังหวัดมีรายงานผู้ป่วยในช่วง 7 วัน เช่น กทม. นนทบุรี ภูเก็ต, 18 จังหวัด มีรายงานผู้ป่วยช่วง 7-14 วัน และ 9 จังหวัดที่ไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ 36 จังหวัด ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในช่วง 14 วันคือ จ.นครราชสีมา และปรับ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่พบผู้ติดเชื้อใหม่ในวันนี้ กทม. และนนทบุรี พบผู้ติดเชื้อสูงสุด ส่วนภาคใต้มีแนวโน้มลดลง

 

นิยามตรวจ COVID-19 ฟรี: มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่น

นพ.ทวีศิลป์ระบุว่า มีการออกนิยามผู้สงสัยติดเชื้อสำหรับประชาชนทั่วไปที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ดังนี้ มีไข้ อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับมีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ร่วมกับปัจจัยเสี่ยง เช่น ในช่วงเวลา 14 วันไปสถานที่เสี่ยง สถานที่แออัด ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ตลาดนัด หรือทำงานกับนักท่องเที่ยว

“ประชาชนที่มีอาการตามนิยามดังกล่าวสามารถเข้าตรวจฟรีได้โดย สปสช.รับผิดชอบในการตรวจให้กับทุกคน เพื่อที่จะดึงเข้ามา เพราะเปิดแล้วตอนนี้มีการทำแลบและชุดตรวจสามารถตรวจเพิ่มได้ 100 แห่งรวมทั้งในกทม.และปริมณฑล เพื่อช่วยคัดกรองอย่างดี ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นอกจากนี้นพ.ทวีศิลป์ ยังระบุอีกว่า นอกจากนี้จากการทำข้อมูลสถานที่แออัด หรือสถานที่ชุมนุมชนที่ผู้ป่วยแจ้งว่าเคยเดินทางไปในช่วง 14 วันก่อนเริ่มป่วย (จากตัวเลขผู้ป่วย 84) พบข้อมูล ดังนี้ กทม. คือ สถานบันเทิง สถานที่ท่องเที่ยว เช่น ทองหล่อ สนามมวย สถานที่มั่วสุมเล่นการพนัน ตลาด ห้างสรรพสินค้่ ฟิตเนส ร้านเสริมสวย มหาวิทยาลัย สถานพยาบาล ขนส่งสาธารณะ

ส่วนของต่างจังหวัด คือ สถานบันเทิง สนามมวย สถานที่มั่วสุมเล่นการพนัน ห้างสรรพสินค้า พื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต หาดใหญ่ สงขลา ชะอำ สถานที่ทำงาน สถานพยาบาล วัด มัสยิด สถานที่แออัด สถานที่มั่วสุมเล่นการพนัน  

 

ประชาชน-บุคลากรแพทย์มีภาวะเครียด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตสำรวจความเครียดครั้งที่ 3 วันที่ 13-19 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข และประชาชน ในวัยทำงาน มีทั้งเพศหญิงและเพศชาย พบว่าบุคลากรสาธารณสุข มีความเครียดมาก โดยเทียบระหว่างเดือน มี.ค.พบว่าเดือน เม.ย. มีความเครียดมาก 5.2% เครียดปานกลาง 4.2%ส่วนประชาชนมีความเครียดมากที่สุดในช่วงหลังสงกรานต์เพิ่มขึ้นชัดเจน 2% และเครียดมาก 4.1% หรือราว 6 %

“ความเครียดที่เกิดขึ้นสอดค้องกับช่วงของเคอร์ฟิวและการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากสถานการณ์ไม่ปกติในการควบคุมโรคนี้ แต่ตัวเลขเหล่านี้ จะต้องได้รับการดูแล เพราะแต่ละคนมีความสามารถปรับตัวแตกต่างกันไป แต่อีก 80% ปรับตัวได้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ”
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ทั้งนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มอบกรมสุขภาพจิตเข้าไปดูแลบุคลากรทางการแพทย์ เชื่อมโยงจัดการเรื่องการหมุนเวียนให้ได้พักบ้าง รวมทั้งดูแลชีวิตความเป็นอยู่ ค่าตอบแทน ส่วนประชาชน ถ้ามีความเครียดให้ขอแสดงตัวและขอความช่วยเหลือ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ศบค.จัดหน่วยงานต่างๆเข้าไปดูแลทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม

“เข้าใจผู้ที่เดือดร้อนจากภาวะความเครียดที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากไวรัสที่ทำให้มีมาตรการของรัฐต่างๆ ขึ้นมา แนวทางการแก้ไขถ้าเริ่มจากการควบคุมโรคได้ และจะช่วยให้มีการดูแลทางเศรษฐกิจ ซึ่งศบค.เน้นนโยบายในการดูแลทางด้านสุขภาพมาก่อนแล้วค่อยจัดการเยียวยาทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหลายมาตรการได้นำมาใช้แล้ว”

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า วันนี้คนไทยกลับจากรัสเซีย 25 คน เกาหลีใต้ 60 คน เวียดนาม 115 คน โดยจะเข้ากักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด 14 วัน ส่วนข้อมูลว่าบางจังหวัดจะปลดล็อกนั้น  ประธานศบค.ระบุว่าต้องใช้สถิติ ชุดข้อมูล ทั้งเรื่องของสถานการณ์ระบาด และความร่วมมือด้านต่างๆ การจะผ่อนปรนขึ้นอยู่ตัวเลขเหล่านี้ ย้ำว่ายังไม่มีการยกเลิกมาตรการ เพราะประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นที่จับตาของทั้งโลกหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

“การจะผ่อนปรนหรือการปิดถาวรขึ้นอยู่กับสถิติผู้ติดเชื้อ แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่เป็นคำสั่งของนายกฯเพียงคนเดียว ซึ่งคาดว่าจะออกมาในเร็วๆนี้”

 

กฟภ. รับค่าไฟแพง เกิดจากความผิดพลาดของพนักงานจดหน่วยไฟฟ้า พร้อมเร่งคำนวณใหม่

วันเดียวกัน จาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ยอมรับว่า หากเลขมิเตอร์ในบิลแจ้งหนี้ไม่ตรงกับบนมิเตอร์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะกรณีที่จดเกิน หรือน้อยกว่า เป็นความผิดพลาดที่เกิดจากพนักงานจดมิเตอร์ หรือ Human error โดยเมื่อพนักงานตรวจสอบเลขมิเตอร์ไฟฟ้าแล้วก็จะทำการพิมพ์ใบแจ้งหนี้ทันที ซึ่งกรณีความผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้จากการดูเลขบนมิเตอร์ไฟฟ้า อาจทำให้ตัวเลขคลาดเคลื่อนโดยระบบโปรแกรมของ กฟน.จะตั้งไว้ในเครื่องแฮนด์เฮลด์ ซึ่งเครื่องนี้จะเเจ้งเตือนพนักงานถ้าอ่านเลขหน่วยสูงเกิน 100 หน่วย เมื่อเทียบเคียงกับปริมาณใช้ไฟฟ้าในเดือนก่อน แต่หากจำนวนหน่วยไม่ได้สูงเกิน 100 หน่วยเครื่องก็จะไม่ได้แจ้งเตือน ทั้งนี้ กฟน.ระบุว่าเคยพบความผิดพลาดเพียง 2 ราย ต่อมิเตอร์ 100,000 เครื่อง

จาตุรงค์ ยังระบุว่า หากผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับบิลค่าไฟฟ้าแล้วสามารถตรวจสอบกับมิเตอร์ไฟฟ้าได้อีกครั้ง และเห็นว่าไม่ตรง สามารถแจ้งมายังการไฟฟ้าฯ จะดำเนินการแก้ไขคำนวนค่าไฟฟ้าใหม่ได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าในครัวเรือน จำนวน 22 ล้านคนในระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ มี.ค. - พ.ค.จะต้องใช้งบประมาณ วงเงิน 23,688 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเยียวยาค่าไฟฟ้าในครัวเรือน ทั้งกลุ่มมิเตอร์ไฟขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ จะได้ใช้ฟรี 150 หน่วย หากเกินก็จะได้รับการดูแลให้ใช้ฟรีเช่นกัน

ส่วนกลุ่มมิเตอร์ไฟขนาดเกิน 5 แอมป์ จะมีข้อกำหนด คือ หากใช้มากกว่าเดือน ก.พ.แต่ไม่เกิน 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. แต่หากใช้เกินเดือน ก.พ.ไป 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ.เมื่อบวกกับส่วนที่เกิน 800 หน่วย จะได้รับส่วนลด ร้อยละ 50 แต่หากใช้เกิน 3,000 หน่วย จะให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ.เมื่อบวกกับส่วนเกิน 3,000 หน่วย จะได้รับส่วนลด ร้อยละ 30 โดยการลดหย่อนดังกล่าวจะมีการคืนค่าใช้จ่ายให้ในรอบบิลถัดไป

ส่วนค่าไฟฟ้าภาคธุรกิจ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบและร้องขอการเยียวยาเช่นกัน เเต่อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ศึกษาปัญหาและอุปสรรค ก่อนจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง

 

อ้างอิง: ไทยพีบีเอส, ไทยพีบีเอส

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net