Skip to main content
sharethis

กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และฟอร์ตี้ฟายไรท์ ออกแถลงการณ์กรณีบริษัทธรรมเกษตร ฟ้องร้องธนภรณ์ สาลีผล อดีตเจ้าหน้าที่ฟอร์ตี้ฟายไรท์ จากทวีตให้กำลังใจ 2 จำเลยที่ฟาร์มไก่เคยฟ้องหมิ่นประมาท เรียกร้องให้รัฐไทยทำตามหน้าที่ปกป้องการทำงานด้านสิทธิฯ และเสรีภาพการแสดงออก

ธนภรณ์ สาลีผล (ภาพจากธนภรณ์)

23 เม.ย. 2563 เมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) ออกจดหมายเรื่อง ขอความช่วยเหลือเร่งด่วนกรณีการถูกกลั่นแกล้งด้วยกระบวนการยุติธรรม กรณีบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ฟ้องหมิ่นประมาทต่อธนภรณ์ สาลีผล อดีตเจ้าหน้าที่องค์กรฟอร์ตี้ฟาย ไรท์

บ.ธรรมเกษตร ฟ้องหมิ่นประมาทอดีต จนท. องค์กรสิทธิฯ นับเป็นรายที่ 22

กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และองค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (OMCT) ประณามการฟ้องร้องปิดปากธนภรณ์ ซึ่งเหมือนว่าเป็นการลงโทษการใช้สิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมายในการใช้เสรีภาพการแสดงออก

กลุ่มสังเกตการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ไทยหยุดการคุกคามต่างๆ ต่อธนภรณ์ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนที่ตกเป็นจำเลยของคดีหมิ่นประมาททางแพ่งและทางอาญาโดยบริษัทธรรมเกษตร

กลุ่มสังเกตการณ์ได้ขอให้มีการเขียนส่งจดหมายถึงเจ้าหน้าที่ทางการไทย อาทิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยเรียกร้องให้

  1. หยุดการคุกคามต่างๆ รวมถึงกระบวนการในชั้นศาลต่อ นางสาวธนภรณ์ สาลีผล และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนในประเทศไทยที่ถูกฟ้องร้องโดยบริษัทธรรมเกษตร
  2. ให้รับรองว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยจะสามารถดำเนินกิจกรรมถูกต้องตามกฎหมายได้ในทุกสถานการณ์ โดยไม่มีการกีดขวาง หรือ ก่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อการตอบโต้ด้วยกำลัง (fear of reprisals)
  3. ให้รับประกันสิทธิเสรีภาพการแสดงออก (Freedom of expression) ดังที่ปรากฏในมาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR)
  4. แก้ไขบทบัญญัติการหมิ่นประมาท (มาตรา 326 และ 328 ในประมวลกฎหมายอาญา) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานนานาชาติ
  5. ปฏิบัติตามบัญญัติทั้งหมดภายใต้ ปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นมติโดย ที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 โดยเฉพาะในมาตราที่ 1 และ 12
  6. ให้รับรองว่าในทุกสถานการณ์จะเคารพสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และตราสารระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเข้าร่วม

ฟอร์ตี้ฟายไรท์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ธนภรณ์เคยทำงาน ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยกฟ้องและป้องกันการฟ้องคดีหมิ่นประมาทอย่างไม่ชอบธรรมโดยบริษัทธรรมเกษตร จำกัด 

“ในขณะที่โลกตกอยู่ในภาวะวิกฤติโรคโควิด-19 บริษัทแห่งนี้ยังคงมุ่งโจมตีโดยการฟ้องคดีที่ปราศจากมูลความผิดต่อผู้หญิง บริษัทธรรมเกษตรควรจะหยุดได้แล้ว” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว “คดีความเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานที่อันตรายสำหรับประเทศไทย ซึ่งอาจหมายถึงว่า การทวีต รีทวีต หรือการโพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ อย่างชอบธรรม อาจเป็นเหตุให้ต้องขึ้นศาลและได้รับโทษอาญาที่หนักได้” 

แถลงการณ์ยังระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2559 ธรรมเกษตรได้ฟ้องคดีกว่า 35 คดีเมื่อรวมคดีธนภรณ์ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ ต.ค. 2561 ธรรมเกษตรได้ฟ้องคดี 5 คดีที่เกี่ยวโยงกับวิดีโอความยาว 107 นาทีที่ผลิตโดยฟอร์ตี้ฟายไรท์เมื่อ ต.ค. 2560 ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญากับอดีตลูกจ้าง 14 คนของธรรมเกษตร

แถลงการณ์ของฟอร์ตี้ฟายไรท์ทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยควรปฏิบัติตามพันธกิจของตนที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกรวมทั้งหลักการด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พันธะตามกติกา ICCPR วิธีพิจารณาความอาญาที่แก้ไขให้ศาลยกฟ้องคดีของเอกชนที่เไม่สุจริต บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือกลั่นแกล้งเอาเปรียบจำเลย และแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net