โฆษก ศบค. เผยยังไม่ยืนยันปลดล็อค 32 จังหวัด ย้ำมีแนวโน้มยึดอายุสถานการณ์ฉุกเฉิน

นพ.ทวีศิลป์เผย เจ้าหน้าที่ ตม. ติดโควิด สั่งกักตัวกลุ่มเสี่ยง 142 ราย ปิดด่านสะเดา จนกว่าจะมั่นใจว่าจะไม่แพร่เชื้อ  ระบุยังไม่ยืนยันปลดล็อค 32 จังหวัด ย้ำมีแนวโน้มต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่จะมีการผ่อนปรน

ที่มาภาพจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย

23 เม.ย. 2563 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า มีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้ามเมืองที่ ด่านสะเดา จ.สงขลา ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ต้องกักตัวผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดและเสี่ยงสูง รวม 49 คน และมีกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำอีก 93 คน รวมทั้งหมด 142 คนที่ต้องกีกตัว โดยขณะนี้ อยู่ในกระบวนการหาต้นเหตุและสอบสวนโรค โดยทางศูนย์ควบคุมโรคกำลังร่วมมือกับทางจังหวัด เบื้องต้นได้ดำเนินการปิดด่านสะเดาไปก่อน 7 วัน และต้องให้มั่นใจก่อน จึงค่อยเปิดด่านอีกครั้ง

“ไม่โทษว่าเป็นความผิดใคร แต่ต้องหาต้นทาง และหาแนวทางป้องกัน และควบคุมไม่ให้มีการแพร่กระจายของโรค ซึ่งทั้งไทยและมาเลเซียพยายามควบคุมโรคทั้ง 2 ฝั่ง แต่เมื่อมีการติดเชื้อ และทำให้คนทำงานหายไปจำนวนมาก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจึงต้องสั่งปิดด่านสะเดาไปก่อน แล้วใช้ด่านปาดังเบซาร์ จ.สงขลา แทน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดชี้แจง วานนี้ (22 เม.ย.) ว่า มีคนไทยเข้ามาทางด่านภาคใต้แล้ว 1,600 คน ขณะนี้ยังดูแลได้ดี และยังไม่มีใครแสดงอาการ และทราบว่ายังมีคนไทยอีกหลายพันคน ที่ลงทะเบียนต้องการเข้ามาในไทย แต่ต้องขอความร่วมมือว่า ทุกคนต้องมีใบรับรองแพทย์ และลงทะเบียนก่อน เพื่อให้รัฐจัดหาสถานที่กักกันของรัฐ ซึ่งทั้ง 3 ด่านใหญ่ในภาคใต้ รองรับได้เพียง 350 คน ต่อวัน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะที่ กระทรวงต่างประเทศแจ้งว่า มีอีกหลายคนที่พักอยู่ในมาเลเซีย หากต้องการความช่วยเหลือ ก็ขอให้แจ้งเข้ามาทางสถานทูต โดยสถานทูตอาจจะส่งของยังชีพเพื่อให้สามารถอยู่ได้ ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในประเทศมาเลเซียก็สามารถควบคุมได้ในระดับเลข 2 หลักเช่นเดียวกับไทย ส่วนการต้องอยู่อาศัยในช่วงนี้แบบผิดกฎหมายก่อนนั้น สถานทูตก็ได้คุยกับทางการมาเลเซีย ยืนยันว่าพยายามช่วยอยู่ อย่าตกใจ หากไม่สบายใจก็โทรติดต่อเข้าไปที่สถานกงสุลได้

ต่อข้อถามถึง การปรับลดด่านเคอร์ฟิว จะมีผลต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นอกจากกระทรวงสาธารณสุขจะมี Active Case Finding แล้ว ตำรวจก็มีวิธีการเชิงรุกเช่นกัน โดยเป็นสายตรวจที่จะออกไปในพื้นที่ ตามชุมชน และตรงเข้าสู่บ้าน ซึ่งคนที่เป็นเพื่อนบ้านในหมู่บ้านนั้นๆ จะเป็นผู้แจ้งเบาะแสได้ ตำรวจยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการเข้าไปจับกุม เบื้องต้นหากพบการกระทำผิด ก็จะพยายามแจ้งเตือน แต่หากเป็นกรณีเล่นการพนัน ก็ต้องจับกุมดำเนินคดีทันที เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เพราะหลายกรณีที่ติดเชื้อเกิดจากการเล่นการพนัน จึงหวังว่าการกระทำผิดจะลดน้อยลง

เมื่อถามว่า ศบค. มีแนวทางการรับมือการแพร่ระบาดระลอกใหม่อย่างไร หลังประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้บริการรถสาธารณะ นพ.ทวีศิลป์ ยอมรับว่า น่าเป็นห่วง เพราะหลายคนหลังจากเห็นตัวเลขแล้วก็เบาใจ ว่าน่าจะผ่อนปรนได้ ประกอบกับต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ แต่ตนยังต้องการย้ำว่า การออกไปข้างนอกมีความสุ่มเสี่ยงแน่นอน ดังนั้น ทุกคนต้องปฏิบัติเช่นเดิมคือ สวมหน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนตัวเอง ก็จะป้องกันได้ กิจกรรมใดไม่จำเป็นก็ไม่ต้องออกไป จึงฝากให้ทุกคนดูแลตัวเอง ขณะที่ผู้ประกอบการรถขนส่งก็ต้องยึดแนวทางการโดยสารที่ไม่ให้แออัด ห้ามพูดคุยกันบนรถสาธารณะ เพราะเมื่อใดที่พูดคุยกัน ละอองน้ำลายก็จะออกมาด้วย แม้จะสวมหน้ากากผ้า ฝอยละอองน้ำลายก็ยังสามารถเล็ดรอดออกมาได้ 

เมื่อถามว่า ตอนนี้การเดินทางไปมาระหว่างจังหวัดได้หรือไม่ และต้องกักตัวหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ต้องศึกษาจากพื้นที่จังหวัดเหล่านั้น เพราะ ศบค.มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้สถิติในจังหวัด เพื่อออกกฎเกณฑ์ของแต่ละจังหวัดที่แตกต่างกันออกไป ทุกคนต้องเข้าใจและปฏิบัติตามที่จังหวัดนั้นๆกำหนดไว้ แต่ย้ำว่า ห้ามเดินทางช่วงเคอร์ฟิวทั่วประเทศ

สำหรับกรณีที่มีนำเสนอข่าวว่า วันที่ 1 พฤษภาคม จะปลดล็อค 32 จังหวัดก่อนนั้น นพ.ทวีศิลป์ ยืนยันว่า ยังไม่มีมตินี้ออกมาจาก ศบค.และครม. ยังเป็นในรูปแบบข้อเสนอ ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่า ต้องศึกษาอย่างชัดเจนก่อน และต้องอนุมัติผ่าน ครม.ก่อน

“ขณะนี้ยังไม่ได้มีการประกาศแต่อย่างใด แต่ยอมรับว่ามีแนวโน้มต้องยืดระยะเวลาการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แน่นอน แต่มีการผ่อนปรนบ้าง สุดท้ายต้องรอมติ ครม.ก่อน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 21 นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากการหารือเห็นตรงกันว่า ควรต้องเปลี่ยนผ่านจากวิกฤตโควิดในปัจจุบัน แต่การเปลี่ยนผ่านจะไม่กลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม โดยจะมีเงื่อนไขต่างๆ สำคัญ โดยอยู่ระหว่าง รมว.สธ. เซ็นหนังสือกรอบความคิดนี้เสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และหารือภาคส่วนต่างๆ เพื่อทำเป็นมาตรการระดับประเทศต่อไป

มาตรการต่างๆ จะไม่เดินพร้อมกันหมด 77 จังหวัด จะแบ่งเป็นพื้นที่ตามข้อมูลของ สธ. ที่จัดกลุ่มจังหวัด คือ กลุ่ม 32 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยในรอบ 2 สัปดาห์ ถือว่ามีการติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่สามารถเปลี่ยนผ่านได้ในช่วงต้นเดือน พ.ค.

แต่อาจจะมีการทดลอง 3-4 จังหวัดช่วงปลายเดือน เม.ย. ก่อน ขึ้นกับความพร้อม จากนั้น 2 สัปดาห์ถ้าสถานการณ์เรียบร้อยดี ก็จะเป็นกลุ่ม 38 จังหวัดที่มีการติดเชื้อประปรายคือกลาง พ.ค. เพราะถึงเวลานั้นจังหวัดเหล่านี้คงมีผู้ป่วยน้อยและจะเป็นกลุ่ม 7 จังหวัดที่มีการติดเชื้อต่อเนื่องแต่ไม่มีการระบาดใหญ่ ก็จะเป็น 2 สัปดาห์ถัดไป คือ ต้น มิ.ย.

จากเอกสารประกอบการประชุม ภาคผนวกที่ 1 ระดับการระบาดของจังหวัด จะมีการอัปเดตทุกวันและพิจารณารายชื่อจังหวัดก่อนสิ้นเดือน เม.ย. อีกครั้ง เบื้องต้นข้อมูลวันที่ 14 เม.ย. พบว่า

กลุ่ม 1 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยในช่วง 14 วัน 32 จังหวัด ได้แก่ น่าน กำแพงเพชร พิจิตร สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท บึงกาฬ ตราด ระนอง จันทบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด สุโขทัย อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครนายก นครพนม พังงา สกลนคร สตูล หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน ลพบุรี สระบุรี

กลุ่ม 2 พบผู้ป่วยในรอบ 14 วันแบบประปรายในวงจำกัดไม่เกิน 5 ราย ต่อสัปดาห์ สามารถหาความเชื่อมโยงของผู้ป่วยได้ รวม 38 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี เชียงใหม่ นราธิวาส กระบี่ กาญจนบุรี ขอนแก่น ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พัทลุง เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สงขลา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี

กลุ่มที่ 3 จังหวัดที่พบผู้ป่วยในช่วง 14 วันย้อนหลัง แบบมีการแพร่เชื้อต่อเนื่องมากว่า 5 รายต่อสัปดาห์และไม่สามารถหาความเชื่อมโยงของผู้ป่วยได้ มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพ ชลบุรี นนทบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ ปัตตานี และยะลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท