Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ เรามีเรื่องให้ต้องติดตามกันอยู่ทุกวัน เราเห็นการทำงานของรัฐบาลในแต่ละประเทศที่พยายามจะควบคุมสถานการณ์นี้แตกต่างกันออกไป และในขณะเดียวกัน เราก็เห็นว่าสถานการณ์นี้ได้สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อยในแต่ละประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การตกงาน การขาดแคลนรายได้ การไม่มีอาหารประทังชีวิต รวมถึงข่าวการฆ่าตัวตายที่มีให้เห็นอยู่ทุกวัน ผู้เขียนเชื่อว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้เป็นการพลิกผันครั้งสำคัญของคนจำนวนมากทั่วโลกที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนล่วงหน้าว่าต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร ไม่มีใครรู้เลยว่า เราจะมาอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ร่วมกัน

ในขณะที่เรากำลังเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่สถานการณ์จะดีขึ้นและเมื่อไหร่เราจะกลับมาอยู่ในสภาวะปกติเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยก็กำลังดิ้นรนเพื่อที่จะมีชีวิตรอดให้ผ่านพ้นไปได้ในแต่ละวัน ในขณะที่รัฐบาลในหลายประเทศเริ่มออกมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ประชาชนในประเทศตัวเอง รัฐบาลไทยก็มีนโยบายให้ลงทะเบียนเพื่อรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท จนนำมาสู่การรวมตัวกันของผู้เดือดร้อนเพื่อประท้วงร้องเรียนที่ไม่ได้รับสิทธิ์ในนโยบายดังกล่าวที่กระทรวงการคลัง การแสดงออกถึงสภาวะที่ถูกบีบคั้นในชีวิตและนำมาสู่การระบายออกทางด้าน “อารมณ์ความรู้สึก” กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่มีการพูดคุยกันมากที่สุด ณ เวลานี้ ในขณะเดียวกัน การแสดง “ความรู้สึก(ส่วนตัว)” ที่ไม่สอดคล้องกับความทุกข์ยากลำบากของคนจำนวนมาก ก็กลายมาเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ เกิดการตั้งคำถามกับ “ความเป็นมนุษย์” ที่ควรจะแสดงออกถึงความ “รู้สึกเห็นอกเห็นใจ” ต่อเพื่อนมนุษย์ในยามเดือดร้อนร่วมกัน

สถานการณ์นี้ได้สร้างระบบคุณค่าทาง “ศิลธรรม” ในยามวิกฤตขึ้นมา และเมื่อไหร่ก็ตามที่คนในสังคมแสดง “ความรู้สึก” ไปในทิศทางตรงกันข้าม ก็จะนำไปสู่การถูกวิพากษ์วิจารณ์และการลงโทษทางสังคมในที่สุด

จริงๆ แล้วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ มีการพูดคุยกันในสังคมออนไลน์เยอะมากระหว่าง “เหตุผล” และ “อารมณ์” เช่น อย่าใช้เพียงอารมณ์ในการตัดสินปัญหา ควรจะใช้เหตุผลในการเผชิญปัญหาในยามวิกฤต เพราะไม่เช่นนั้น สังคมก็จะมีแต่ปัญหาที่จัดการไม่ได้ เป็นต้น

“อารมณ์ความรู้สึก” ถูกมองว่าอยู่ตรงกันข้ามกับ “ความมีเหตุผล” เสมอ ไม่เคยถูกนำมาพิจารณาร่วมกันว่า ในความเป็นมนุษย์ของเราและการดำรงอยู่ของสังคมนั้นล้วนประกอบกันจากทั้งสองด้าน ในขณะที่เรามองว่า “เหตุผล” ขับเคลื่อนสังคมไปได้แม้ในยามวิกฤต แต่เราก็หลงลืมไปว่า “อารมณ์ความรู้สึก” ก็ทำหน้าที่ของการเติมเชื้อไฟให้ผู้คนออกมาขับเคลื่อนทางสังคมในสภาวะวิกฤตด้วยเช่นเดียวกัน “อารมณ์ความรู้สึก” จึงทำงานไปพร้อมๆกับ “ความมีเหตุและผล” เพราะมันเป็นตัวช่วยกระตุ้น ศิลธรรม ของความเป็นมนุษย์ในสังคมให้ออกมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พึ่งพากันเพื่อให้ทุกคนอยู่รอดในสภาวะวิกฤตเช่นนี้ไปด้วยกัน อีกทั้งมันยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งในสภาวะที่ รัฐบาล ซึ่งเป็นเสาหลักของประเทศไม่สามารถประคับประคองปากท้องและจิตใจของผู้คนในสังคมในสภาวะวิกฤตได้

และนอกจากนั้น ในสภาวะที่มืดมนและหาทางออกด้วย “เหตุผล” ไม่ได้เช่นนี้ มนุษย์เองก็ใช้ “ความรู้สึก” หรือ ความหวัง ในการประคับประคองและปลอบใจตัวเองว่า สถานการณ์จะดีขึ้น ชีวิตจะดีขึ้น ชีวิตจะมีทางออก ประเทศต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ก็พิสูจน์ไม่ได้ ไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่มันเป็นความรู้สึกที่ช่วยทำให้มนุษย์พยายามประคับประคองตัวเองเพื่อจะหาทางรอดในยามท้อแท้สิ้นหวังได้ 

เราอยู่ในความกลัวร่วมกัน แต่ต่างรูปแบบกันและอยู่ในระดับที่ไม่เท่ากัน ในขณะที่คนบางกลุ่มกำลังกลัวติดเชื้อไวรัสและเก็บตัวเองอยู่แต่ในบ้านได้ เพราะมีอาหาร เครื่องมือเครื่องใช้และผู้คนมากมายที่อำนวยความสะดวกในชีวิต แต่คนอีกจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยกำลังกลัวอดตาย ไม่มีอาหารประทังชีวิต กลัวลูกหิว กลัวพ่อแม่อดตาย กลัวจะถูกไล่ออกจากห้องเช่า กลัวครอบครัวไม่มีที่ซุกหัวนอน กลัวจะมีหนี้สินเพิ่มขึ้น สถานการณ์เช่นนี้ผลักคนจำนวนไม่น้อยให้อยู่ในสภาวะจนตรอก ไม่มีทางเลือกให้อยู่รอดในสังคมได้มากนัก เมื่อความเป็นมนุษย์ถูกบีบคั้นอย่างถึงที่สุดก็จะเกิดการประทุทางด้านอารมณ์ออกมา และบางครั้ง “เหตุผล” ก็ทำงานไม่ได้ในสถานการณ์แบบนี้ เหมือนเช่นในกรณี ที่เราอาจจะเข้าใจว่า ความหิว คืออะไร เพราะเราต่างก็เคยรู้สึกหิวเหมือนกัน แต่เราอาจจะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ความหิวที่เกิดขึ้นในบริบทที่ไม่มีอะไรให้กิน หรือกินอะไรก็ได้ โดยไม่มีโอกาสที่จะคิดถึงรสชาติหรือคุณภาพอาหาร แต่กินเพื่อให้อยู่รอดนั้นเป็นอย่างไร

การต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดและไม่สามารถจะสร้างทางเลือกให้กับตัวเองได้รวมถึงแม้กระทั่งการกิน จึงเป็นข้อจำกัดที่ทำลายความเป็นมนุษย์มากที่สุด และยิ่งทำร้ายความเป็นมนุษย์เข้าไปอีก หากเรายังต้องดูแลปากท้องของอีกหลายชีวิตในบ้าน เพราะสิ่งนี้เข้าไปกระทบกับระบบคุณค่าทางสังคมที่เรากำลังดำรงบทบาทหรือยึดถืออยู่ ไม่ว่าจะในฐานะ พ่อ แม่ หรือ ลูกที่ต้องดูแลพ่อแม่ ดังนั้น ความมีเหตุผลของคนบางกลุ่ม จึงอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลในตัวมันเองเมื่อถูกนำไปใช้ในบริบทชีวิตของกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม ที่มีเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกันและมีทางออกในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้เอง คนบางกลุ่มในสังคมไทยจึงมองการแสดงออกทางด้านอารมณ์ความรู้สึกของคนที่ไปประท้วงเมื่อไม่ได้รับสิทธิความช่วยเหลือจากรัฐบาลว่า “โง่” เพราะคนที่ไปประท้วงเหล่านี้ถูกมองว่าควบคุมอารมณ์ความรู้สึกและการกระทำไม่ได้และไม่มี “เหตุผล” จริงๆ แล้ว “อารมณ์ความรู้สึก” ถูกใช้ควบคู่กับ “เหตุผล” เพื่อกำหนดการกระทำทางสังคมของมนุษย์มาโดยตลอดและอยู่ในทุกพื้นที่ทางสังคม ตั้งแต่ในระดับการสร้างอุดมการณ์รัฐชาติ การสร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์ สถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมถึงแม้กระทั้งในพื้นที่ครอบครัวและความสัมพันธ์ส่วนตัว ดังนั้น เราจึงไม่ได้คิดด้วยเหตุและผลแต่เพียงอย่างเดียว เราใช้ใจหรือความรู้สึกในการทำความเข้าใจชีวิตทางสังคมและการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมมาโดยตลอดด้วยเช่นเดียวกัน นักวิชาการบางคนเสนอว่า “อารมณ์ความรู้สึก” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ความกลัวซึ่งเป็นผลมาจากการตอบสนองของร่างกายต่อบางสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ในขณะที่นักวิชาการบางคนก็เสนอว่า ความกลัวนั้นเป็นสิ่งที่ถูกผลิตสร้างมาจากวาทกรรมทางสังคม เช่นเดียวกับชุดความรู้สึกทางสังคมอื่นๆ อีกทั้งความรู้สึกแต่ละชุดก็มีระดับความเข้มข้นที่ทำงานแตกต่างกันออกไป เมื่ออยู่ภายใต้เงื่อนไขของชนชั้น เพศภาวะ สีผิวและชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน

และเช่นเดียวกัน “เหตุผล” ก็ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ แต่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อควบคุม “อารมณ์ความรู้สึก” ที่มนุษย์มีร่วมกันอีกทีหนึ่ง อะไรที่เราแสดงออกทางความรู้สึกได้หรือไม่ได้ จึงถูกกำหนดด้วย “เหตุผล” ที่ผลิตสร้างโดยคนบางกลุ่มบางชนชั้นบางเพศภาวะในสังคมไทยด้วยเช่นกัน

และด้วยเหตุนี้ คนบางกลุ่มในสังคมไทยจึงใช้ข้ออ้างว่าด้วย “เหตุผล” เป็นตัวกำหนดว่า เราควรจะรู้สึกแบบไหนและแสดงออกอย่างไร หรือ ต้องยอมรับกับสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร แต่ในขณะเดียวกัน คนจำนวนมากในสังคมก็ “รู้สึก” ว่า ความเป็นไปในชีวิตแต่ละวันบนความรู้สึกที่บีบคั้นและทุกข์ยากไม่สามารถจัดการได้ด้วย “เหตุผล” เสมอไป และเพราะว่า เรายังคงเป็นมนุษย์ เราจึงยัง รู้สึกได้ และคิดเป็นในบริบทความเป็นจริงที่เราต้องเผชิญอยู่ มากกว่า “เหตุผล” ที่มีความเป็นนามธรรมและไม่เกี่ยวพันกับการดำรงอยู่ของเราในสถานการณ์นั้นๆ หรือ จริงๆ แล้ว เราอาจจะต้องการ “เหตุผล” ที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ที่หลากหลายมากกว่านี้

ดังนั้น รัฐบาลที่ “ฉลาด” จึงต้องเรียนรู้ด้วยว่าจะเข้าใจ “อารมณ์และความรู้สึก” ของคนในประเทศตัวเองเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่วิกฤตเช่นนี้อย่างไร เพื่อสร้างความชอบธรรมต่อ “เหตุผล” ที่ตัวเองกำลังผลิตสร้างเพื่อคนอื่นๆในสังคมด้วยเช่นเดียวกัน

 

เอกสารอ้างอิงเพิ่มเติม

  1. Ahmed, Sara. 2004. The Cultural Politics of Emotion. New York:Routledge.
  2. Halbwachs, Maurice. 1992. On Collective Memory, trans. Lewis Coser. Chicago: University of Chicago Press.
  3. Harding, Jennifer and Pribram, E. Deidre. 2002. “The Power of Feeling: Locating Emotions in Culture.” Cultural Studies, 5(4):407-426.
  4. Herzfeld, Michael. 1997. Cultural Intimacy: Social Poetics in the Nation-State. New York and London: Routledge.
  5. Leavitt, John. “Meaning and Feeling in the Anthropology of Emotions” American Ethnologist, 23(3):514-539.
  6. Lutz, Catherine and White, Geoffrey M. 1986. “The Anthropology of Emotions.” Annual Reviews Inc., 15:405-36.
  7. Skidmore, Monique. 2003. “Darker than midnight: Fear, Vulnerability, and terror making in urban Burma (Myanmar).” American Ethnologist, 30(1):5-21.
  8. Thoits, Peggy A. 1989. “The Sociology of Emotions.” Annual Review of Sociology, 15: 317-342.
  9. Werbner, Richard. 1998. Memory and the Postcolony: African anthropology and the critique of power. London: ZED Books.
  10. White, Geoffrey M. 1999. “Emotional Remembering: The Pragmatics of National Memory.” Ethos, 27(4): 505-529.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: สุนทรีย์ สิริอินต๊ะวงศ์ เป็นนักศึกษาปริญญาเอก ด้านมานุษยวิทยา ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net