Skip to main content
sharethis

ประกันสังคมออกระเบียบขอรับเงินสมทบที่นำส่งไว้เกินจำนวนคืน

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบสำนักงานประกันสังคม ว่าด้วยการขอรับเงินสมทบที่นำส่งไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระคืน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 ระบุว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักงานประกันสังคม ว่าด้วยการขอรับเงินสมทบที่นำส่งไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระคืน เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการแพร่ระบาดขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการยื่นคำขอรับเงินสมทบส่วนที่เกินจำนวนที่ต้องชำระคืน และเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันการแพร่ระบาด

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 47 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมจึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักงานประกันสังคม ว่าด้วยการขอรับเงินสมทบที่นำส่งไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระคืน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับต้ังแต่วันที่ 21 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564

ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นข้อ 4/1 แห่งระเบียบสำนักงานประกันสังคม ว่าด้วยการขอรับเงินสมทบที่นำส่งไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระคืน พ.ศ.2560

“ข้อ 4/1 นอกจากการยื่นคำร้องขอรับเงินคืนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 แห่งระเบียบสำนักงานประกันสังคม ว่าด้วยการขอรับเงินสมทบที่นำส่งไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระคืน พ.ศ.2560 นายจ้างหรือผู้ประกันตนที่นำส่งเงินสมทบเกินจำนวนที่ต้องชำระ อาจยื่นคำร้องขอรับเงินคืนพร้อมแนบสำเนาเอกสารประกอบการยื่นคำร้องขอรับเงินคืนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สํานักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่ สํานักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสํานักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา ด้วยวิธีการทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โทรสาร ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) หรือแอปพลิเคชันไลน์

ในกรณียื่นคำร้องขอรับเงินสมทบส่วนที่เกินจำนวนคืนตามวรรคหนึ่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ จะถือวันประทับตราไปรษณีย์ต้นทางเป็นสำคัญ หรือกรณียื่นคำร้องขอรับเงินสมทบส่วนที่เกินจำนวนคืน ทางโทรสาร ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) หรือแอปพลิเคชันไลน์ ให้ผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินคืน เก็บหลักฐานการส่งเพื่อการตรวจสอบ”

ประกาศ ณ วันที่ 21 เม.ย. พ.ศ.2563
ทศพล กฤตวงศ์วิมาน
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

ที่มา: Thai PBS, 24/4/2563 

‘ผู้นำแรงงาน’ ซัดนายจ้างผลักภาระ สปส. จ่ายชดเชยลูกจ้าง แนะรัฐหาแนวทางแก้ไขผู้ประกอบการฉวยโอกาส

24 เม.ย. 2563 ภาคีสังคมสู้โควิด -19 จัดเสวนาออนไลน์และแถลงข่าว หัวข้อ “ประกันสังคมว่างงาน 62 เปอร์เซ็นต์ มาตรการล้มบนฟูกซุกปัญหาแรงงานใต้พรม” โดยมีผู้ร่วมเสวนา นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย นายวิจิตร ดาสันทัด ประธานสมาพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการ นายวรวิชญ์ เจริญเลิศ นักวิชาการแรงงาน นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

นายมานิตย์ กล่าวถึงการออกกฎกระทรวงแรงงาน เรื่องเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลดีผลเสียต่อลูกจ้าง นายจ้างอย่างไร ว่า ประกาศกฎกระทรวงดังกล่าวได้เพิ่มเหตุสุดวิสัย เพื่อนำเงินประกันสังคมออกมาใช้ในกรณีที่รัฐสั่งให้สถานประกอบการปิดกิจการ ผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงจะไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งเขาจะยังไม่ได้รับเงินชดเชย ในส่วนนี้เราเห็นด้วยที่จ่ายเงินชดเชย แต่ประกาศของกฎกระทรวงได้ขยายวงกว้างไม่ได้มองเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหรือรัฐให้หยุดกิจการ

ในกรณีดังกล่าวนี้ทำให้มีบางสถานประกอบการใช้ประกาศกฎกระทรวงเป็นประโยชน์ เพื่อจะไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยในมาตรา 75 ซึ่งส่วนนี้เราไม่เห็นด้วย เนื่องจากผู้ประกันตนบางส่วนได้ร้องเรียนมาที่ตน เช่น นายจ้างเรียกพนักงานไปพูดคุยเป็นรายบุคคลให้หยุดงาน โดยไม่จ่ายค่าจ้าง และบางที่ได้มีการออกใบรับรองว่าปิดกิจการและให้พนักงานไปติดต่อรับเงินชดเชยจากประกันสังคม และบางทีไม่มีการออกใบรับรองแต่ไปพูดคุยและให้พนักงานเซ็นรับทราบว่าให้หยุดโดยไม่รับค่าจ้างจากบริษัท โดยมองว่าการกระทำลักษณะนี้เป็นการเอาเปรียบลูกจ้าง ทั้งโยนภาระให้กับประกันสังคม

นายสาวิทย์ กล่าวว่า ภาพรวมมองว่าเป็นประโยชน์ เพราะคนงานที่จ่ายเงินสมทบเมื่อได้รับความเดือดร้อนก็ควรจะได้รับความช่วยเหลือ และอีกส่วนคือกิจการที่รัฐไม่ได้สั่งปิดแต่ได้รับผลกระทบก็มี แต่ส่วนจะจริงหรือไม่นั้นต้องพิสูจน์กัน ซึ่งก่อนหน้านี้เราเคยเสนอว่า หากนายจ้างพยายามปิดเบือนโดยไม่ได้เดือดร้อนจริงและอ้างเหตุสุดวิสัยและให้ลูกจ้างรับเงินจากประกันสังคมเรื่องนี้เป็นปัญหา นอกจากนี้มองว่ากฎกระทรวงต้องมองให้ครอบคลุมถึงแรงงานทุกส่วนทั้งในระบบ นอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ ต้องเอาจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมดมาประเมินว่าเขาควรจะได้รับการเยียวยาอย่างไร และส่วนที่อ้างเหตุสุดวิสัย ไม่กำหนดเวลาที่ชัดเจนว่าจะเลิกจ้างหรือไม่ รัฐบาลและกระทรวงแรงงานต้องมีแนวทางแก้ไข

นายวรวิชญ์ กล่าวว่า การเลิกจ้างงานค่อนข้างคลุมเครือ ผู้ประกอบการบางส่วนผลักภาระให้ประกันสังคม ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งนี้หากพูดถึงเพียงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมองว่าเกิดขึ้นกะทันหัน ซึ่งมองว่ายังขาดการเข้าไปตรวจสอบ นอกจากนี้ยังต้องเผชิญปัญหาซ้อนคือเรื่องเศรษฐกิจที่มีปัญหาจริง ฉะนั้นเงินประกันการว่างงานต้องดูกันดีๆ และระบบประกันสังคมจะต้องมีการปฏิรูป

ที่มา: เดลินิวส์, 24/4/2563 

เสนอตั้งกลไกพิเศษดูแลผู้ใช้แรงงาน คสรท.เผยลูกจ้างได้รับผลกระทบแล้ว 8.8 แสนคน

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2563 ที่กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดยนายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. และนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19

นายชาลี กล่าวว่า คสรท.และ สรส.ได้เปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และได้ทำการสรุปผลสำรวจรับเรื่องร้องทุกข์จากศูนย์พื้นที่ 14 แห่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. จนถึงวันที่ 22 เม.ย. 2563 โดยมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบจำนวน 880,212 คน สาเหตุปัญหาหลักการร้องทุกข์เกิดจากประกาศใช้มาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ของนายจ้างทุกๆอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ลูกจ้างหลายแห่งถูกนายจ้างเลิกจ้าง บอกเลิกสัญญาจ้างงาน ให้คนงานบางส่วนหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง หยุดการผลิตชั่วคราว รวมทั้งนายจ้างปิดกิจการไม่จ่ายค่าจ้าง

นายสาวิทย์กล่าวว่า หลังจากตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากร้องเรียน ซึ่งโดยสถานการณ์ปกติก็มีปัญหามากอยู่แล้ว แต่ยามนี้สถานการณ์ไม่ปกติยิ่งมีปัญหามาก ลำพังกลไกของรัฐเพียงลำพังอาจแก้ไขปัญหาได้ไม่เพียงพอ เพราะปัญหาการเลิกจ้างทุกอย่างต่างอ้างเหตุสุดวิสัยในสถานการณ์โควิด โดยนายจ้างขอยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าจ้างตามมาตรา 75 ท้ายสุดคนงานต้องพึ่งกองทุนประกันสังคม ที่สำคัญอุตสาหกรรมการบินหยุดอย่างสิ้นเชิง พนักงานได้มาร้องทุกข์เพราะยังไม่มีความแน่นอนว่าถูกเลิกจ้างหรือไม่

นายสาวิทย์กล่าวว่า ปัญหาลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอีกมากมาย และคาดว่าคงไม่จบในเวลาอันใกล้ใน 2-3 เดือน แต่อาจยืดเยื้อนานนับปี ท้ายที่สุดคนจะแห่มาที่กระทรวงแรงงาน ดังนั้นจึงควรสร้างกลไกพิเศษขึ้นมาโดยเอาความยุติธรรมเป็นตัวตั้ง หากนายจ้างประสบปัญหาจริงจากไวรัสโควิดก็ช่วยเหลือกันไป แต่หากนายจ้างยังมีทุนหรือเงินเยียวยาช่วยเหลือลูกจ้างได้ก็ควรช่วยกันเพื่อลดภาระรัฐบาล ไม่ใช่โยนภาระให้รัฐบาลหรือประกันสังคมทั้งหมดซึ่งไม่ยุติธรรม เพราะในยามที่นายจ้างมีกำไรเกิดขึ้น ครั้งนี้เมื่อเกิดวิกฤต นายจ้างควรช่วยเหลือให้ลูกจ้างได้มีงานทำต่อไป

“ลำพังรัฐคงช่วยได้ไม่เต็มที่ มาตรการช่วยเหลือ 5 พันบาท คงช่วยเหลือได้ไม่หมด เราได้นำข้อเสนอมาให้กระทรวงแรงงานเพื่อแสดงความตั้งใจว่าอยากช่วยเหลือกระทรวงแรงงานเพื่อให้มีการตั้งกลไกพิเศษขึ้นมาดูแล ซึ่งเราพร้อมเข้าไปช่วยเป็นหนึ่งในกลไกและอยากให้กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการ มิฉะนั้นกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้” นายสาวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ในเอกสารที่ คสรท.นำเสนอให้ผู้บริหารกระทรวงแรงงานนั้น ได้สรุปผลสำรวจจำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จำนวน 880,212 คน ซึ่งระบุถึงแรงานที่ได้รับผลกระทบจากแหล่งต่างๆ เช่น พื้นที่อมตะ จำนวน 130,000 คน, พื้นที่บ่อวิน ระยอง 55,000 ,ธุรกิจการบิน 80,000 คน, บริการท่องเที่ยว การโรงแรม 200,000 คน

“การประกาศกระทรวงเรื่องโรค COVID-19 เป็นเหตุสดวิสัย ทำให้นายจ้างหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าจ้างตามมาตรา 75 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 และให้ลูกจ้างไปใช้ประโยชน์กรณีว่างงานจากประกันสังคมแทน” ในเอกสารระบุ

นอกจากนี้ คสรท. ยังได้จัดทำข้อเสนอ จำนวน 12 ข้อ อาทิ รัฐต้องนำเงินสมทบค้างจ่าย 95,989 ล้านบาทคืนประกันสังคม, ห้ามนำเงินกองทุนชราภาพจ่ายชดเชยแทนกองทุนว่างงาน กรณีกองทุนว่างงานหมดลงและรัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนตาม มาตรา 24 , รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างละเมิดสิทธิของคนงาน จ่ายเงินไม่ครบ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม จากผลกระทบการระบาดของไวรัส COVID-19, ต้องช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา 50% ในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว ในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19

ที่มา: สยามรัฐ, 23/4/2563 

ปลัด สธ.แจงตัดงบบัตรทอง 2.4 พันล้านไม่กระทบเงินรักษารายหัว เป็นงบเงินเดือนบุคลากร

23 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ ว่าในส่วนของงบบัตรทอง จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้น เป็นการตัดงบประมาณ ในส่วนของเงินเดือนบุคคลากรสาธารณสุขที่เพิ่งได้รับการบรรจุใหม่ 45,684 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 46 (2) ที่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนของเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคคลากร ให้สำนักงบประมาณดูแล

“ยืนยันว่าการตัดงบประมาณส่วนนี้ไม่ได้กระทบต่องบบริการของ สปสช. ที่มีให้กับประชาชนแน่นอน เพราะหากไม่เพียงพอทาง สปสช. สามารถทำเรื่องเสนอของบประมาณสนับสนุนเพิ่มได้ ซึ่งทุกปี ตั้งแต่ปี 2561 และ ปี 2562 มีการของบประมาณเพิ่ม ปีละ 5,186 ล้านบาท และ 5,000 ล้านบาท และที่ผ่านมาทาง สปสช.เพิ่งได้รับงบประมาณส่วนกลางอีก 3,260 ล้านบาท มาใช้เป็นบริการจัดการสถานการณ์โควิด -19 อาทิ ค่าตรวจแล็บ เป็นต้น” นพ.สุขุม กล่าว

ปลัด สธ.กล่าวอีกว่า ส่วนงบฯ กระทรวงสาธารณสุข ที่ถูกตัด 1,233 ล้านบาท นั้น เป็นงบครุภัณฑ์ งบก่อสร้าง หากไม่มีการใช้จ่ายส่วนนี้จะต้องส่งคืนสำนักงบประมาณอยู่แล้ว ซึ่งเนื่องจากว่ามีสถานการณ์โควิด ทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนสร้างตึก สร้างอะไรไม่ทัน หรือเป็นงบครุภัณฑ์ไม่ทัน ซึ่งตามกฎหมายต้องคืนสำนักงบประมาณกลับไปอยู่แล้ว โดยตอนนี้ยังไม่มีการประกาศหรือว่ายังไม่ได้ทำการทำสัญญาซื้อหรือก่อสร้างอะไร

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้ ทำให้บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขมีขวัญกำลังใจมากขึ้น สามารถลดภาระเงินบำรุงของหน่วยบริการอีกด้วย และมีการจัดนวัตกรรมในการดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น การส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้านผ่าน อสม. การขยายบริการปฐมภูมิ เพื่อประชาชนจะได้ประโยชน์จากการได้รับบริการจากโรงพยาบาลมากขึ้น

ที่มา: Hfocus, 23/4/2563 

ไปรษณีย์ไทยแจ้งพนักงานที่ทำการป่าตอง ติด COVID 1 ราย ยืนยันอยู่ในส่วนคัดแยกไม่เกี่ยวกับลูกค้า

บริษัท ไปรษณีย์ไทย ยืนยันเจ้าหน้าที่ที่ติด COVID-19 ปฏิบัติงานหน้าที่คัดแยกไปรษณียภัณฑ์ ไม่ได้เป็นผู้ให้บริการลูกค้า โดยเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 เป็นไข้หวัดจึงไปตรวจที่โรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัด และตรวจไม่พบเชื้อ COVID-19 แต่แนะนำให้สังเกตอาการ 14 วัน จึงได้เข้ารับการกักตัว ณ สถานที่เทศบาลเมืองป่าตองกำหนด เป็นเวลา 14 วัน จนถึงวันที่ 16 เม.ย. 2563 และให้กลับบ้านได้เนื่องจากครบกำหนดเวลาแล้วแต่ไม่มีอาการบ่งบอกแต่อย่างใด พร้อมขอลาหยุดงานต่อจนถึงวันที่ 19 เม.ย. 2563

แต่เมื่อกลับมาปฏิบัติงานตามปกติเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2563 โดยมาตรการของไปรษณีย์ไทยจะมีการตรวจวัดไข้เจ้าหน้าที่ทุกคนก่อนปฏิบัติงานทุกวัน ซึ่งเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวไม่มีไข้ แต่มีอาการไออย่างรุนแรง จนกระทั่งเมื่อเวลา 10.30 น. จึงได้ไปพบแพทย์อีกครั้งและผลตรวจครั้งนี้ปรากฎว่ามีผลเป็นบวก จึงได้เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลทันที

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 ไปรษณีย์ไทยได้สั่งการให้ที่ทำการไปรษณีย์ ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต หยุดให้บริการชั่วคราว 1 วันในวันที่ 23 เม.ย. 2563 เพื่อฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดสถานที่ และสิ่งของทางไปรษณีย์ที่รอการส่งต่อเรียบร้อยแล้ว ตามคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคไวรัสโคโรน่า (COVID -19) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ­พร้อมให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว หยุดปฏิบัติงานเพื่อเฝ้าระวังที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน โดยจัดเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานแทน

โดยในระหว่างที่ที่ทำการไปรษณีย์ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระงับการให้บริการชั่วคราว ผู้ใช้บริการยังสามารถใช้บริการไปรษณีย์ไทยได้ที่เคาน์เตอร์ไปรษณีย์นาใน เคาน์เตอร์ไปรษณีย์กมลา ไปรษณีย์ทวีวงศ์ ไปรษณีย์กะทู้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/4/2563 

แรงงานชาวเมียนมา 130 คนใน จ.สมุทรปราการ เข้าร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ เรียกร้องให้นายจ้าง จ่ายค่าชดเชยเยียวยา

แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาย 130 คน รวมตัวกันที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สมุทรปราการ ย่านถนนเทพารักษ์ เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2563 เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ โดยอ้างว่า ถูกเลิกจ้างงาน โดยไม่ทราบล่วงหน้า

แรงงานที่เข้าเรียกร้อง เปิดเผยว่า ถูกนายหน้า ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมาจัดหาแรงงาน แห่งหนึ่ง ย่าน ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี ส่งไปทำงานที่บริษัทผลิตและขายส่งชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ขนาดใหญ่ ย่านถนนเทพรัตน หรือถนนบางนา-ตราด พื้นที่เดียวกัน แต่ต่อมา ก็ถูกบอกเลิกจ้าง โดยไม่ทราบล่วงหน้า เมื่อทวงถามสิทธิ์ในส่วนของค่าชดเชยเยียวยา ก็ได้รับการปฏิเสธ โดยนายหน้าอ้างว่าผู้ประกอบการไม่มีเงินจ่าย เนื่องจากประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จึงรวมตัวมาร้องเรียน

ต่อมาวันที่ 23 เม.ย. 2563 ขณะที่นายศักดิ์ศิลป์ ตุลาธร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ได้เรียกบริษัทผู้รับเหมาจัดหาแรงงานในฐานะนายหน้า มาเจรจาร่วมกับตัวแทนแรงงานฯ แล้ว แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เบื้องต้น จึงให้พนักงานตรวจแรงงาน รับคำร้องของแรงงานทั้งหมดไว้ และนัดตัวแทนแรงงานฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มในวันนี้ อีกครั้ง

ทั้งนี้ ระหว่างที่แรงงานฯ เหล่านี้ เข้าร้องเรียน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวของ เช่น สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฯ ประกันสังคม ฝ่ายปกครอง และตำรวจภูธรสำโรงเหนือนำกำลังดูแลความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะการจัดระเบียบ เว้นระยะบุคคล หรือ Social distancing เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตามมาตรการสาธารณสุขด้วย

ที่มา: Thai PBS, 23/4/2563 

ก.แรงงาน เร่งช่วย 22 ลูกจ้างเมียนมา จ.เชียงราย ได้สิทธิทดแทนว่างงาน

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2563 ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวว่า กระทรวงแรงงานมีมาตรการเร่งด่วนกรณีวิกฤติการณ์โรค COVID-19 เพื่อป้องกันและเยียวยาในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ได้แก่

1) การชะลอการอนุมัตินำเข้าแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 2) การผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไปจนถึง 30 พ.ย. 2563 3) ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว โดยร่วมมือกับสภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการป้องกันนำร่องในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและขยายความร่วมมือไปยังจังหวัดต่างๆ

4) การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคโควิด – 19 ในสถานประกอบการ 5) การให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรค COVID-19 6) การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน และ 7) ลดหย่อนอัตราเงินสมทบและขยายกำหนดเวลายื่นแบบอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน เป็นต้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 22/4/2563 

กสร. เข้มนายจ้างดูแลแรงงานต่างด้าวประมงเสี่ยง COVID-19

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันยังพบว่ามีสถานประกอบกิจการบางแห่งยังขาดการจัดมาตรการและการกำกับดูแลที่รัดกุมและทั่วถึง โดยเฉพาะในสถานประกอบกิจการที่มีการใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอุปสรรคทางด้านภาษาทำให้แรงงานกลุ่มนี้ไม่เข้าใจมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐได้เท่าที่ควร

ดังนั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19ในกลุ่มของสถานประกอบกิจการที่มีการใช้แรงงานต่างด้าว กสร. ได้ให้พนักงานตรวจแรงงานเข้าไปทำความเข้าใจกับนายจ้างในการจัดมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แก่แรงงานต่างด้าว โดยให้นายจ้างจัดทำเอกสารเผยแพร่เป็นภาษาของแรงงานต่างด้าว เพื่อให้สามารถสื่อสารเข้าใจง่าย รวมไปถึงจัดมาตรการและกำกับดูแลให้แรงงานต่างด้าวที่พักอาศัยในที่พักที่นายจ้างจัดให้ตามที่กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาครัฐกำหนด เช่น เว้นระยะทางกายภาพ (Physical Distancing) งดเว้นการชุมนุมสังสรรค์ และไม่ออกจากพื้นที่ในเวลาที่กฎหมายกำหนด

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนายจ้างในกิจการประมงทะเลซึ่งมีสภาพการทำงานที่แตกต่าง และมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ ขอให้นำมาตรการของทางภาครัฐไปปรับใช้ให้เหมาะสม เช่น การให้ความรู้แก่ ผู้ควบคุมเรือ ลูกจ้างในการป้องกันดูแลตนเองและสถานที่ปฏิบัติงาน การตรวจคัดกรองลูกจ้างก่อนปฏิบัติงาน เป็นต้น ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/4/2563 

คสรท.-สรส. เรียกร้องรัฐบาลให้ช่วยเหลือผู้ประกันตน ค่าไฟ 1,000 บาท ค่าห้อง 2,000 บาท

ตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท.นำโดยรองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นายชาลี ลอยสูง และตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือสรส. เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา ขอให้เร่งช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างซึ่งอยู่ในระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลกรณีเร่งด่วน

เพราะจากสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ผลจากวิกฤตการระบาดเป็นเหตุให้มีประชากรทั้งโลกติดเชื้อมากกว่าสองล้านคน และมีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่าแสนคน สถานการณ์การแพร่ระบาดขยายเพิ่มองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาประกาศให้วิกฤตการแพร่ระบาดครั้งนี้ถือเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ของโลก ที่ทุกประเทศ ทุกฝ่าย ต้องเร่งรีบหาทางขจัดเชื้อโรคร้ายนำพาประชากรโลกฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้โดยเร็วประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19)

ในครั้งนี้ รัฐบาลไทยโดยกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้ไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ต่อมารัฐบาลได้ออกประกาศใช้ พระราชบัญญัติบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และออกข้อกำหนดและมาตรการต่างๆเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดรวมทั้งมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนทุกสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดในครั้งนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่ายแรงงานเห็นด้วยกับมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการอยู่

โดยเฉพาะประเด็นให้การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่รัฐดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เพียงแต่ว่ายังมีมาตรการบางประการที่ยังไม่ครอบคลุมและเป็นธรรมกับลูกจ้าง ซึ่งอยู่ในระบบประกันสังคม คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้ามาร้องเรียน

ที่มา: Nation TV, 21/4/2563 

ก.แรงงาน แจงข้อเท็จจริงกรณีแรงงานไทยในเกาหลีโพสต์คลิปขอกลับประเทศ ล่าสุดลงทะเบียนขอกลับ 30 เม.ย.นี้

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีที่แรงงานไทยโพสต์คลิปผวาอดตายในเกาหลีใต้นั้น ล่าสุดได้รับรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากนางสาวพินยุดา แจ่มจันทร์ศรี อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานฯ สำนักงานแรงงานไทย (สนร.) เกาหลีใต้ แล้วว่า ผู้โพสต์คลิปที่เป็นข่าวดังกล่าว ทราบชื่อคือ นายณัฐพล พุทธชัย เป็นแรงงานที่จัดส่งตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ EPS มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่จังหวัดหนองคาย มาทำงาน Re – entry กับนายจ้าง DAWONDOJANGGONGEOP ที่ PARDAL DAEGU BUK GU สัญญาจ้างจะสิ้นสุดวันที่ 11 พ.ค. 2563 แต่ขอเลิกสัญญากับนายจ้างก่อนล่วงหน้าเนื่องจากมีแผนที่จะเดินทางกลับไปแต่งงานตามกำหนดที่ประเทศไทย

โดยได้ยื่นเรื่องขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้แก่ เงินประกันเดินทางกลับ เงินประกันสิ้นสุดการจ้าง (แทจิกึม) เงินส่วนต่างครบสัญญาจากนายจ้าง และเงินกุกมินยอนกึมเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่สามารถเดินทางกลับได้เนื่องจากการระงับเที่ยวบินเข้าประเทศไทย ทำให้ต้องยกเลิกสัญญาหลายครั้ง มีค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการยกเลิกตั๋วเครื่องบิน ขณะนี้ได้ลงทะเบียนขอกลับประเทศภายในวันที่ 30 เม.ย. 2563 กับทาง สอท.ไว้แล้ว

นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นกระทรวงแรงงาน โดยฝ่ายแรงงานฯ สนร.เกาหลี ได้ติดตามให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานไทยที่ไปทำงานตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ที่ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันระหว่างรอเดินทางกลับตามเงื่อนไขของระเบียบกองทุนช่วยเหลือคนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ ในระหว่างนี้ด้วย

ทั้งนี้ ฝ่ายแรงงานฯ ยังได้ประสานไปยังสถานทูตไทยในเกาหลีใต้ โดยเปิดให้มีการลงทะเบียนเพื่อสำรวจความจำเป็นที่จะเดินทางกลับเพื่อเสนอขอเที่ยวบินพิเศษเดินทางกลับประเทศไทยต่อไป

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 24/4/2563 

ราชกิจจาฯ ประกาศกระทรวงแรงงาน กำหนดงานที่ ห้ามคนต่างด้าว ทำ 27 อาชีพโดยเด็ดขาด เช่น งานนวดไทย, งานมวนบุหรี่ด้วยมือ, งานแกะสลักไม้ ฯลฯ

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่งแห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2563 จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 กำหนดให้งานตามที่ระบุไว้ในบัญชีหนึ่งท้ายประกาศนี้ หรืองานที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีสัญชาติไทย เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาดในทุกท้องที่ในราชอาณาจักร

ข้อ 3 กำหนดให้งานตามที่ระบุไว้ในบัญชีสองท้ายประกาศนี้เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ในทุกท้องที่ในราชอาณาจักรโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงาน ได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย

ข้อ 4 กำหนดให้งานตามที่ระบุไว้ในบัญชีสามท้ายประกาศนี้เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำในทุกท้องที่ในราชอาณาจักร โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง

ข้อ 5 กำหนดให้งานตามที่ระบุไว้ในบัญชีสี่ท้ายประกาศนี้เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำในทุกท้องที่ในราชอาณาจักรโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานกับนายจ้าง ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามเงื่อนไขตามที่อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนด

ข้อ 6 ในกรณีเป็นงานที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองคนต่างด้าวจะขอรับใบอนุญาตทำงานได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองตามกฎหมายนั้นแล้ว

ประกาศณวันที่  1 เม.ย.2563 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ที่มา: ข่าวสด, 22/4/2563 

พยาบาลจ้างเหมา 3 จังหวัดชายแดนใต้ วอนรัฐอย่ามองข้ามให้สิทธิบรรจุรับราชการ

นายมัฮดี มูเด็ง ประธานชมรมพยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการบรรจุพนักงาน ลูกจ้างสาธารณสุข เป็นข้าราชการเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 45,242 ตำแหน่งนั้น ปรากฎว่าพยาบาลจ้างเหมาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลา จำนวน 184 คน ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการบรรจุด้วย ทั้งๆที่เป็นพยาบาลวิชาชีพและปฏิบัติงานเป็นด่านหน้าในการควบคุมป้องกันรักษาโรคโควิด-19

นายมัฮดี กล่าวว่า พยาบาลจ้างเหมา คือพยาบาลที่ถูกจ้างโดยโรงพยาบาล ทำงานแบบเดียวกับพยาบาลที่จ้างในรูปแบบอื่นๆ มีศักดิ์ สิทธิ์ และอำนาจหน้าที่เหมือนกัน แต่ไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงานเพราะหากวันไหนโรงพยาบาลไม่มีงบ พยาบาลจ้างเหมาก็ต้องตกงาน นอกจากนี้ยังไม่มีสวัสดิการใดๆ หากเจ็บป่วยก็ต้องใช้สิทธิบัตรทองเหมือนประชาชนทั่วๆไป ไม่มีวันลา หากลาต้องถูกหักเงินเดือน ไม่มีวันลาคลอด ถ้าลาคลอดก็จะไม่ได้เงินเดือนเดือนนั้นแม้แต่บาทเดียว

"ทุกวันนี้เราก็ต้องระมัดระวังตัวสุดๆ เพราะถ้าติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมาก็จะไม่มีสวัสดิการอะไรมาสนับสนุนเลย" นายมัฮดี กล่าว

นายมัฮดี กล่าวต่อไปว่า เมื่อรัฐบาลประกาศว่าคนที่จะได้บรรจุรอบนี้คือคนที่ทำงานด่านหน้าในสถานการณ์โควิด-19 พยาบาลจ้างเหมาต่างก็ดีใจกันทุกคน แต่พออ่านประกาศแล้วปรากฎว่าไม่มีสิทธิใดๆ เลย เพราะจะบรรจุเฉพาะ 3 ระบบ คือ พนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พอมองว่าอย่างน้อยน่าจะได้บรรจุเป็นพนักงานราชการ แต่ปรากฎว่าประกาศกระทรวงบอกว่า 3 ตำแหน่งที่ได้บรรจุไปแล้วให้ยุบทิ้งเลย พยาบาลจ้างเหมาจึงไม่รู้จะไปเสียบตรงไหน

"กลายเป็นว่าเราก็ต้องล่องลอยในแอ่งน้ำ มองซ้ายมองขวาก็มืดไปแปดด้าน จึงคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว เราอยากเรียกร้องให้มีสิทธิเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกรอบที่รัฐบาลประกาศด้วยเพราะเรามีคุณสมบัติพร้อมหมด เป็นพยาบาลวิชาชีพ เป็นคนที่ทำงานด่านหน้า แต่กลับไม่มีสิทธิเข้าไปเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่ถูกคัดเลือกเป็นข้าราชการ เราอยากบอกรัฐบาลว่ามันมีตำแหน่งนี้อยู่ รัฐบาลอาจตกหล่น ก็อยากให้มีใครสักคนเปิดประตูบานนี้มาเจอพวกเรา" ประธานชมรมพยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าว

ทั้งนี้ ชมรมพยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังได้เข้ายื่นหนังสือต่อเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.)ไปเมื่อเร็วๆ นี้ด้วย

​โดยชมรมพยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ระบุว่า ตลอดระยะเวลาราว 10 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีการบรรจุพยาบาลวิชาชีพเป็นข้าราชการจำนวนน้อยมาก เนื่องจากถูกมองว่าพยาบาลวิชาชีพมีจำนวนที่เพียงพอด้วยเหตุที่มีพยาบาลในโครงการ 3,000 อัตรา ที่ได้รับการบรรจุตามมติคณะรัฐมนตรีในปี 2550 อนุมัติโครงการผลิตพยาบาลระดับปริญญาตรี 3,000 คนของกระทรวงสาธารณสุขที่เมื่อจบการศึกษาจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในพื้นที่ จึงมีการกันตำแหน่งข้าราชการไว้ในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลทำให้ผู้ที่จบพยาบาลในปีถัดจากนั้น หมดโอกาสที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในพื้น 3 จังหวัดชายแดนใต้

แต่ในความเป็นจริงจำนวนพยาบาลในพื้นที่ยังไม่เพียง ทำให้โรงพยาบาลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และบางส่วนของจังหวัดสงขลา มีการว่าจ้างพยาบาลในรูปแบบตำแหน่งจ้างเหมาบริการรายเดือน ที่แทบไม่มีสวัสดิการใดๆ และไม่มีความมั่นคงในการทำงานแต่ปฏิบัติงานที่ไม่ต่างจากพยาบาลวิชาชีพในตำแหน่งอื่นๆ และปฏิบัติงานท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบของพื้นที่และท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

​พยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และบางส่วนของจังหวัดสงขลา ล้วนมีความตั้งใจในการทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพ และมีความทุ่มเท เสียสละ และอุทิศตนสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่บ้านเกิดของตนเองอย่างเต็มความสามารถ

ด้วยเหตุนี้ทางชมรมฯ เล็งเห็นว่าการบรรจุข้าราชการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 เม.ย. 2563 ครั้งนี้จะเกิดขึ้นเหมือนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ที่ตำแหน่งจะลงมาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้น้อยมาก หรือมีเฉพาะ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้นที่มีสิทธิคัดเลือกเป็นข้าราชการและทำให้พยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนปฏิบัติงานในพื้นที่3จังหวัดชายแดนใต้และบางส่วนของจังหวัดสงขลาที่มีประมาณ 183คนไม่มีสิทธิบรรจุเป็นข้าราชการตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้

ด้วยเหตุนี้ชมรมพยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนจึงขอเสนอเพื่อพิจารณาดำเนินการให้พยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่3จังหวัดชายแดนใต้และส่วนหนึ่งของจังหวัดสงขลา มีสิทธิคัดเลือกแต่งตั้งเป็นข้าราชการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 เม.ย. 2563

ที่มา: Hfocus, 24/4/2563 

งดจัดงาน 'วันแรงงาน' 1 พ.ค. 2563 หวั่น COVID-19 ระบาด

20 เม.ย. 2563 ที่กระทรวงแรงงาน นายอนันต์ บวรเนาวรักษ์ หัวหน้าผู้ตรวจรายการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2563 ร่วมกับนายสุชาติ ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติ ในฐานะประธานการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2563

โดยภายหลังการประชุม นายสุชาติ กล่าวว่าจากการหารือร่วมกับทางสภาองค์การลูกจ้าง 15 สภา ทั้งสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และกลุ่มแรงงานนอกระบบ เป็นพ้องกันว่าจะงดจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ เนื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของติดเชื่อไวรัส COVID-19 โดยไม่อยากดื้อรั้นจัดงาน เพราะจะไม่เป็นดีต่อแรงงาน และจะส่งมอบงบสนับสนุนการจัดงานจำนวน 4.9 ล้านบาท คืนให้กับทางรัฐบาลเพื่อนำไปจัดสรรใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา COVID-19

แต่ภาคแรงงานยังจะยื่น 9 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ให้แก้ปัญหาแรงงานที่เรียกร้องไว้เมื่อปี 2562 และยังไม่ได้ดำเนินการ อาทิ การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัว และสิทธิการเจรจาต่อรองการเพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคม

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างมากจากผลกระทบ COVID-19 ซึ่งคากว่าจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานถึง 7 ล้านคน โดยในระหว่างนี้ได้มีการทยอยเลิกจ้างงานเรื่อยๆ นอกจากนี้ผู้นำแรงงานไม่เห็นด้วยกับมาตรการการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในขณะนี้ ซึ่งมองเป็นการผลักภาระให้กับกองทุนประกันสังคมรับผิดชอบ จ่ายเงินในกรณีที่สภถานประกอบการปิดกิจการชั่วคราว ที่ทางรัฐบาลสั่งหรือได้รับผลกระทบ

ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้มองว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย โดยกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างไม่ร้อยกว่าร้อยละ 75 ตามพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน แต่กลับผลักภาระให้กับประกันสังคมจ่ายร้อยละ 62 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าลูกจ้างจะได้รับจากนายจ้าง ทั้งนี้ยังมีความกังวลจากผู้นำแรงงานหลายคนว่าการผลักภาระให้กับประกันสังคมจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของทุนประกันสังคมในอนาคต ที่จะไม่สามารถดูแลผู้ประกันตนได้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 21/4/2563 

ธ.ไทยพาณิชย์ เปิดโครงการสมัครใจลาออก พนักงาน 55 ปี ขึ้นไปจ่ายสูงสุด 33.3 เดือน

ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) เปิดโครงการ “จากด้วยใจ” เป็นโครงการสมัครใจลาออก เป็นทางเลือกและเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเป็นสวัสดิการเสริม โดยผู้สมัครเข้าร่วมโครงการต้องเป็นพนักงานประจำของธนาคารที่มีอายุครบ 55 ปีขึ้นไปในปี 2563 โดยพนักงานที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ สามารถแสดงความจำนงได้ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.-31 พ.ค. 2563

โดยธนาคารจะตรวจสอบคุณสมบัติพนักงานที่ยื่นหนังสือสมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ และจะแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบทางอีเมลระหว่างวันที่ 16 – 19 มิ.ย. 2563 โดยธนาคารขอสงวนสิทธิ์ในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้พนักงานเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งนี้รายงานข่าวระบุว่าธนาคารไม่ได้กำหนดว่าโครงการสมัครใจลาออกครั้งนี้มีเป้าหมายจำนวนกี่คน

คุณสมบัติพนักงานที่มีสิทธิ แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการฯ

- เป็นพนักงานประจำของธนาคาร
- เป็นผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป และรวมถึงผู้ที่จะมีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ใน 2563 นับจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563
- เป็นผู้ที่ไม่อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาโทษทางวินัยเว้นแต่ธนาคารจะพิจารณาให้เป็นกรณีพิเศษ

ผลประโยชน์ตอบแทนแก่พนักงานที่ธนาคารอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ

1. เงินตอบแทนหลัก ในจำนวน 1 เท่าถึง 13.33 เท่าของเงินเดือนอัตราสุดท้าย โดยคำนวณตามระยะเวลาที่พนักงานทำงานกับธนาคาร

2. เงินตอบแทนพิเศษตามระยะเวลาที่พนักงานทำงานกับธนาคารสูงสุด 20 เท่าของเงินเดือนอัตราสุดท้าย โดยอายุงาน 1 ปี จะได้รับเงินตอบแทนพิเศษ 1 เท่าของเงินเดือนอัตราสุดท้าย ซึ่งการคำนวนเงินตอบแทนพิเศษจะคำนวณจากระยะเวลาที่พนักงานทำงานกับธนาคารเป็นจำนวนปี เดือน และวันตามตารางแนบท้าย

สำหรับพนักงานที่มีระยะเวลาทำงานกับธนาคารมากกว่าระยะเวลาทำงานกับธนาคารที่เหลือจนถึงวันที่พนักงานจะเกษียณอายุตามระเบียบของธนาคาร (อายุ 55 ปี หลังอายุ 60 ปี) โดยนับจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ธนาคารจะคำนวณเงินตอบแทนพิเศษให้กับพนักงานเท่ากับจำนวนเดือนที่เหลือดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีการคิดค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลือดังนี้

- ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี ในจำนวนเท่ากับเงินเดือนอัตราสุดท้ายหารด้วยสามสิบ และคูณด้วยจำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมและยกมาจากปี 2562 และสิทธิ์ที่จะได้หยุดปี 2563 โดยคำนวณระยะเวลาที่ทำงานกับธนาคารจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563

- ส่วนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานจะได้รับตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

หลักการของโครงการฯ

- การเข้าร่วมโครงการฯ ให้เป็นไปตามความประสงค์และความสมัครใจของพนักงาน
- ธนาคารขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้พนักงานผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ แต่เพียงฝ่ายเดียว ผลการพิจารณาของธนาคารให้ถือเป็นที่สุด
- พนักงานที่ยื่นความจำนงเข้าร่วมโครงการฯแล้วไม่สามารถยกเลิกเพิกถอนการแสดงความจำนงในการเข้าร่วมโครงการ

กำหนดวันที่มีผลเป็นการพ้นสภาพพนักงาน และการจ่ายเงินช่วยเหลือ

- วันที่มีผลเป็นการพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของผู้ที่ได้รับการอนุมัติคือวันที่ 1 ก.ค. 2563 (วันทำงานสุดท้ายวันที่ 30 มิ.ย. 2563)
- ธนาคารจะจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้กับพนักงานที่ธนาคารได้อนุม้ติให้เข้าร่วมโครงการฯ ในวันที่ 30 มิ.ย. 2563
- เงินผลประโยชน์ตอบแทน ธนาคารจะต้องหักเงินภาษีตามกฎหมาย ดังนั้นพนักงานจะได้รับเป็นยอดเงินที่ธนาคารได้หักภาษีไว้เรียบร้อยแล้ว
- สำหรับเงินเดือนประจำเดือน มิ.ย. 2563 และเงินโบนัสคงที่ พนักงานจะได้รับตามกำหนดเดิมคือวันที่ 25 มิ.ย. 2563

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/4/2563 

ประกันสังคมเผยจ่ายกรณีว่างงาน แก่ลูกจ้างบริษัทมิตซูฯ ชลบุรี ที่ถูกเลิกจ้าง 70% 200 วัน

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มอบหมาย เรืออากาศเอกหญิงศุภพร อยู่วัฒนา ประกันสังคมจังหวัดชลบุรี เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง จากนายจ้างพบว่าบริษัทดังกล่าว ตกลงเลิกจ้างลูกจ้างในกลุ่มรับเหมาค่าแรงจากบริษัทรับเหมาค่าแรง 7 บริษัท เป็นจำนวนรวม 1,119 คน

โดยให้มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา บริษัทยินยอมจ่ายเงินชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน เป็นเงินกว่า 41 ล้านบาท โดยโอนเข้าบัญชีลูกจ้างทุกรายที่ถูกเลิกจ้างแล้ว และจะมีการจ่ายค่าจ้างในวันที่ 20 เม.ย. นี้ โดยการโอนเข้าบัญชีธนาคารลูกจ้างเช่นกัน

ในการนี้เรืออากาศเอกหญิงศุภพรฯ ประกันสังคมจังหวัดชลบุรี ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า ตามข้อสั่งการของเลขาธิการฯ ตนได้รีบเข้าประสานงานกับทางนายจ้าง เมื่อทราบข้อสรุปว่าเป็นการเลิกจ้างและบริษัทได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานอย่างถูกต้อง

โดยจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นจำนวนเงินกว่า 11 ล้านบาท และค่าชดเชยเป็นจำนวนเงินกว่า 30 ล้านบาท ในส่วนของประกันสังคมซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือในเรื่องการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

เรืออากาศเอกหญิงศุภพรฯ กล่าวอีกว่า ตนจึงได้ให้คำแนะนำถึงขั้นตอนการขอรับเงินว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง พร้อมเอกสารประกอบที่จำเป็น รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้างกลุ่มดังกล่าว ขอให้ทางบริษัทเป็นผู้รวบรวมเอกสารดังกล่าว และเร่งนำส่งสำนักงานประกันสังคมโดยเร็ว เพื่อเร่งตัดจ่ายสิทธิประโยชน์ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างให้แก่ผู้ประกันตนโดยเร็ว

"ซึ่งการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอันเนื่องมาจากถูกเลิกจ้างในครั้งนี้ กลุ่มลูกจ้างดังกล่าวได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจของกระทรวงแรงงานที่ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ให้ได้รับเงินกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างไม่เกิน 200 วัน" เรืออากาศเอกหญิงศุภพรฯ กล่าว

เรืออากาศเอกหญิงศุภพรฯ กล่าวต่ออีกว่า สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ได้เร่งรัดให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการออก “กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานสืบเนื่องจากได้รับผลกระทบ จากสภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ. 2563” ฉบับลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2563 นับได้ว่าสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้าง ได้รับในครั้งนี้สมตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมในการมุ่งช่วยเหลือผู้ประกันตนอย่างแท้จริง

ที่มา: คมชัดลึก, 19/4/2563 

สถานทูตไทยส่งถุงยังชีพช่วย 150 แรงงานไทยในสิงคโปร์

19 เม.ย. 2563 สำนักงานแรงงานในสิงคโปร์จัดทำถุงยังชีพพร้อมประสานกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ เพื่อขออนุญาตจัดส่งข้าวสาร อาหารแห้ง และสิ่งของจำเป็น ให้แก่แรงงานไทยที่ถูกกักตัวในหอพักแรงงาน หลังจากรัฐบาลสิงคโปร์ออกมาตรการให้แรงงานต่างชาติอยู่ในหอพักแรงงาน และลดเวลาออกนอกหอพักแรงงาน

รวมถึงหอพักแรงงาน เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหอพักแรงงานต่างชาติหลายแห่งในสิงคโปร์ ทั้งนี้ ล่าสุด ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ สำนักงานแรงงานฯ และสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารฯ ภายใต้ทีมประเทศไทย ได้ส่งมอบถุงยังชีพ ประมาณ 150 ชุด ให้แก่หอพัก PPT Lodge 1A เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยหอพักดังกล่าวได้ส่งถุงยังชีพให้แรงงานไทยในหอพักเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “กงสุลไทย กัวลาลัมเปอร์” ของฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แจ้งความคืบหน้าการประสานงานให้คนไทยในมาเลเซียกลับเข้าประเทศไทย ผ่านด่านถาวรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ตามที่คนไทยหลายคนประสบปัญหาติดขัดในการลงทะเบียนขอหนังสือรับรองการเดินทางกลับเข้าประเทศ

ขอชี้แจงว่าขณะนี้โควตาสำหรับการผ่านด่านถาวรสะเดา ด่านสุไหงโก-ลก และด่านเบตง เต็มไปจนถึงวันที่ 3 พ.ค.2563 แล้ว ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางจึงจะต้องรอโควตาของวันถัดไป ซึ่งจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนหลังเที่ยงคืนของแต่ละวัน

ที่มา: เดลินิวส์, 19/4/2563 

'ไทยไลอ้อนแอร์' ยืนยันยังไม่ปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงานที่อายุงานไม่ถึง 1 ปี ประมาณ 120 คน พร้อมบินเดือน พ.ค. 2563 นี้

19 เม.ย. 2563 รายงานข่าวจากสายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ ชี้แจงว่าตามที่มีจดหมายเลิกจ้างพนักงานของสายการบินฯออกเป็นข่าวนั้น ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดของสายการบินซึ่งปัจจุบันมีกว่า 4,000 คน แต่อย่างใด แต่เป็นการเลิกจ้างพนักงานที่มีอายุงานไม่ถึง 1 ปี จำนวนประมาณ 120 คน โดยได้มีการพูดคุยกับพนักงานกลุ่มที่จำเป็นจะต้องเลิกจ้างว่าหากสายการบินสามารถกลับมาเปิดทำการบินตามปกติได้และมีความจำเป็นจะต้องรับพนักงานเพิ่ม สายการบินจะพิจารณาพนักงานกลุ่มนี้เป็นลำดับแรก

นอกจากนี้ สายการบินฯ คาดว่าจะมีการเปิดให้พนักงานลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay) และลาออกโดยสมัครใจในเดือน พ.ค.นี้ เนื่องจากสายการบินฯ ต้องบริหารจัดการต้นทุนในภาวะวิกฤตที่โรค COVID-19 ยังแพร่ระบาด

ทั้งนี้สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ขอยืนยันว่ายังไม่มีการปิดกิจการอย่างแน่นอน โดยสายการบินฯพร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2563 สำหรับเส้นทางบินในประเทศ ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศจะทยอยเปิดบินบางเส้นทางเป็นลำดับต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 19/4/2563 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net