‘เทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล’ แนะห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ ‘ตรวจหายีนเจ้าบ้าน’ เพิ่มความแม่นยำยืนยันผล COVID-19

คณบดีเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล เสนอ สปสช. เพิ่มขั้นตอน “ตรวจหายีนเจ้าบ้าน” แก่ห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ ระบุช่วยให้เก็บตัวอย่างตรวจยืนยันเชื้อ COVID-19 ได้อย่างแม่นยำ ลดปัญหาการตรวจหาเชื้อไม่เจอเพราะเก็บสิ่งส่งตรวจไม่ดี

25 เม.ย. 2563 ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนค่าตรวจยืนยันผลการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ให้แก่ห้องปฏิบัติการ (lab) กว่า 100 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้มีข้อแนะนำหรือเพิ่มขั้นตอนที่เรียกว่า “การตรวจหายีนเจ้าบ้าน” เข้าไป ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความผิดพลาดในการเก็บสิ่งส่งตรวจและการตรวจยืนยันผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า การตรวจโควิด-19 ทุกวันนี้ ห้องปฏิบัติการจะใช้วิธีที่เรียกว่า real-time PCR คือการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสในเซลล์ของบุคคลนั้นๆ โดยวิธีเก็บสิ่งส่งตรวจจะใช้การป้าย หรือ swab ในโพรงจมูกหรือลำคอ จากนั้นจึงนำสิ่งส่งตรวจที่ได้ส่งไปยังห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจดูว่ามีสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ช่องว่างที่เกิดขึ้นในกระบวนการการเก็บสิ่งส่งตรวจก็คือ ไม่มีหลักประกันที่จะยืนยันว่าการป้าย หรือ swab จะถูกวิธี ถูกตำแหน่ง เหมาะสม ในปริมาณที่เพียงพอทุกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อคุณภาพของสิ่งส่งตรวจด้วย

“การเก็บตัวอย่างด้วยวิธีการป้ายในลำคอ ต้องป้ายในตำแหน่งซ้ายและขวา โดยต้องมีการหมุนวนเพื่อให้ได้เนื้อเยื่อออกมาด้วย นั่นเพราะไวรัสอยู่ในเนื้อเยื่อ ฉะนั้นหากป้ายธรรมดาหรือป้ายผิดตำแหน่งก็จะได้แค่น้ำลายออกมาซึ่งจะไม่มีทางพบไวรัส เท่ากับการเก็บตัวอย่างผิดพลาด” ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าว

ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าวต่อไปว่า เพื่อลดความผิดพลาดในกรณีนี้ ทางคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเสนอให้มีการเพิ่มขั้นตอนที่เรียกว่า “การตรวจหายีนเจ้าบ้าน” เข้าไปในการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วย กล่าวคือเป็นการเก็บเนื้อเยื่อของบุคคลนั้นๆ เพื่อส่งให้ห้องปฏิบัติการตรวจเป็นลำดับแรก หากเนื้อเยื่อขึ้นหรือมีผลเป็นบวกก็หมายความว่าตัวอย่างที่เก็บมาใช้ได้จริง

ทั้งนี้ หากตรวจหายีนเจ้าบ้านแล้วพบว่าใช้ได้ก็สามารถตรวจดูยีนของไวรัสต่อได้เลย หากเป็นผลบวกแสดงว่าติดเชื้อ หากเป็นผลลบแสดงว่าไม่ติดเชื้อ โดยวิธีการนี้จะช่วยลดเรื่องผลลบปลอม เพราะทุกวันนี้มีกรณีที่แพทย์ประเมินแล้วว่าองค์ประกอบของบุคคลนั้นๆ เข้าเกณฑ์ เช่น PUI เข้าเกณฑ์ มีอาการไข้ มีอาการต่างๆ แสดงออกมา แต่พอส่งตรวจกลับไม่พบเชื้อ ซึ่งอาจเป็นเพราะเก็บสิ่งส่งตรวจไม่ดี

“ไวรัสโคโรนา 2019 จะมีการแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนในเซลล์ของมนุษย์เท่านั้น ฉะนั้นถ้าเราเก็บตัวอย่างไม่ถึงเซลล์ก็อาจจะเก็บไวรัสออกมาได้น้อยมากๆ เมื่อเก็บได้น้อยมากๆ หรือเก็บไม่ถูกที่แล้วส่งไปให้ห้องปฏิบัติการตรวจ สุดท้ายผลตรวจที่ออกมาก็คือไม่พบการติดเชื้อ ทั้งที่บุคคลนั้นๆ อาจติดเชื้อก็ได้ นี่คือปัญหาของกระบวนการการเก็บสิ่งส่งตรวจที่ไม่ดีพอ” ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าว

ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า หาก สปสช.มีข้อแนะนำหรือเพิ่มขั้นตอนนี้แก่ห้องปฏิบัติการที่สนับสนุนอยู่กว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ก็จะช่วยให้กระบวนการเก็บมีคุณภาพมากขึ้น แพทย์สามารถใช้ผลการตรวจไปสู่การวางแผนรักษาได้ดีขึ้น ขณะที่คนไข้ก็เข้าถึงการรักษาได้ดี โดยจะไม่เสียโอกาสจากกรณีผลลบปลอมเพราะเก็บตัวอย่างไม่ดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท