Skip to main content
sharethis


นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และประธานพรรคเพื่อแผ่นดิน | แฟ้มภาพไทยรัฐออนไลน์

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2563 สำนักข่าวอิศรา รายงานว่าจากกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย อ้างว่าได้รับหนังสือสำคัญจากอดีตประธานกรรมการบริหาร และอดีต 2 สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คลองด่าน จ.สมุทรปราการ โดยทั้ง 3 ราย ยืนยันตรงกันว่า พวกตนพ้นข้อกล่าวหาจาก ป.ป.ช. ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีมีผู้กล่าวหาว่าร่วมกันจัดทำหลักฐานการประชุมสภา อบต.คลองด่าน เพื่อให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารโครงการจัดการน้ำเสียอันเป็นเท็จ เพื่อนำหลักฐานการพิจารณาอนุญาตดังกล่าวไปใช้ประกอบการเบิกเงินค่าที่ดินให้กับนายวัฒนา อัศวเหม รมช.มหาดไทย โดยหนังสือดังกล่าวระบุไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่าบุคคลทั้ง 3 คน ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาจึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป ตามหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ลงวันที่ 30 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งนายศรีสุวรรณฯ กล่าวว่า การยกข้อกล่าวหาดังกล่าวจะเป็นผลให้คดีความต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับการกล่าวหา นายวัฒนา อัศวเหม ในศาลต่าง ๆ ทั้งศาลแพ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาจจะต้องมีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ เพราะถือว่าเป็นข้อเท็จจริงใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยที่รัฐบาล กระทรวงยุติธรรม อัยการและองค์กรอิสระทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความเป็นธรรมต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาทั้งหมดด้วย เพราะตกเป็นจำเลยของสังคมนั้น

เผย 'วัฒนา อัศวเหม' พร้อมกลับมาสู้คดีคลองด่าน หลัง ป.ป.ช.มีหนังสือยืนยันระงับข้อกล่าวหา 

โดยเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2563 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องกล่าวหานายวัฒนา อัศวเหม (เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ระหว่างวันที่ 15 พ.ย. 2540 ถึง 9 ก.พ. 2544), นายณรงค์ ยอดศิรจินดา (ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน), นายชะเอม ปู่มิ้ม (สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน) และนายบุญลือ โพธิ์อรุณ (สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน) ว่าใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ข่มขืนใจ หรือจูงใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน จัดประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน เพื่อให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารโครงการจัดการน้ำเสีย และได้มีการจัดทำหลักฐานการประชุมสภาอันเป็นเท็จ เพื่อนำหลักฐานการพิจารณาอนุญาตดังกล่าวไปใช้ประกอบการเบิกเงินค่าที่ดินที่ตนเอง มีส่วนได้เสียและได้รับประโยชน์จากเงินค่าที่ดินดังกล่าว

จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำรวมเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้ลงนามในสัญญาจ้างกับกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 นั้น ต้องมีการเบิกจ่ายค่าที่ดินสำหรับการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ในวงเงิน 1,956,600,000 บาท ให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี จึงมีการเสนออนุมัติเบิกเงินจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมเพื่อนำเสนอสำนักงบประมาณพิจารณา โดยการขอเบิกเงินดังกล่าวจะต้องมีหนังสือยินยอมให้ใช้พื้นที่จากองค์การบริหารส่วนตำบล หรือหน่วยราชการท้องถิ่นที่จะเข้าไปดำเนินการก่อสร้างระบบ ว่ายินดีให้ใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างและใช้งานในการกำจัดมูลฝอยหรือบำบัดน้ำเสียตลอดระยะเวลาของโครงการ เพื่อใช้ประกอบการขอเงินประจำงวดเพื่อจัดซื้อที่ดินตามคำแนะนำของสำนักงบประมาณด้วย

ในการดำเนินการดังกล่าว สภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน ได้มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญประจำปี 2541 สมัยที่ 1 ครั้งที่ 1/2541 ได้พิจารณาเรื่องขอใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย โดยมติที่ประชุม ได้ยินยอมให้ใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเป็นเอกฉันท์ หลังจากนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน จึงได้มีหนังสือถึงนายอำเภอบางบ่อ แจ้งว่าองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน ได้พิจารณาโครงการดังกล่าวแล้ว ยินดีให้ใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและใช้งานในการบำบัดน้ำเสียตลอดระยะเวลาโครงการ และส่งหนังสือยินยอมขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่านให้ใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียบริเวณตำบลคลองด่าน ให้แก่กรมกรมควบคุมมลพิษเพื่อประกอบการเบิกเงินค่าจัดซื้อที่ดินต่อไป

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้ว มีมติว่าจากการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายณรงค์ ยอดศิรจินดา นายชะเอม ปู่มิ้ม และนายบุญลือ โพธิ์อรุณ ได้ร่วมกันจัดทำหลักฐานการประชุมสภาฯ อันเป็นเท็จ ตามข้อกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป

สำหรับนายวัฒนา อัศวเหม ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีส่วนในการเร่งรัดหรือข่มขืนใจให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่านลงมติดังกล่าวหรือไม่ ประกอบกับนายวัฒนา อัศวเหม ได้หลบหนีหมายจับตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ อม.2/2551 จนกระทั่งปัจจุบัน เป็นเหตุให้คดีขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีมาอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) จึงมีมติให้ยุติการไต่สวน

อย่างไรก็ดีกรณีดังกล่าวข้างต้นการกระทำของนายวัฒนา อัศวเหม เป็นคนละกรณีกับการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ ที่ อม.2/2550 คดีหมายเลขแดงที่ อม.2/2551 เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2551 จำคุกนายวัฒนา อัศวเหม เป็นเวลา 10 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ซึ่งได้กระทำเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ระหว่าง พ.ศ. 2531 ถึง พ.ศ. 2535 ได้ใช้อำนาจข่มขืนใจหรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าพนักงานสำนักงานที่ดินจังหวัด สมุทรปราการ สาขาบางพลี ให้ร่วมกันดำเนินการออกโฉนดที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ในเขตพื้นที่สงวนหวงห้าม ทับที่สาธารณประโยชน์ ให้แก่นายวัฒนา อัศวเหม ในนามของบริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด โดยมิชอบ

และยังเป็นคนละกรณีกับกรณีที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา ที่ 8064/2560 เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2560 จำคุกนายวัฒนา อัศวเหม เป็นเวลา 3 ปี ในความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม) ซึ่งนายวัฒนา อัศวเหม กับพวกได้ร่วมกันรวบรวมที่ดิน แล้วนำมาเสนอขายกรมควบคุมมลพิษ (เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540) โดยหลอกลวงและปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินที่มีเนื้อที่ไม่ครบ เนื่องจากมีการออกโฉนดโดยมิชอบออกทับคลองและถนนสาธารณะ

'ศรีสุวรรณ' ติง ป.ป.ช.เมื่อยกข้อกล่าวหา 'วัฒนา อัศวเหม' แล้วใยยังให้ข่าวสร้างความสับสนให้กับสังคม

26 เม.ย. 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่าตามที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงชี้แจงผ่านเอกสารข่าวถึงกรณี ป.ป.ช.ยกข้อกล่าวหานายวัฒนา อัศวเหม กับพวกเมื่อวันก่อนนั้น

แต่เอกสารข่าวดังกล่าว กลับกล่าวก้าวล่วงไปว่าการกระทำของนายวัฒนา เป็นคนละกรณีกับการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ ที่ อม.2/2550 คดีหมายเลขแดงที่ อม.2/2551จำคุกนายวัฒนา เป็นเวลา 10 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ซึ่งได้กระทำเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมช.มหาดไทย ระหว่าง พ.ศ. 2531-2535 ได้ใช้อำนาจข่มขืนใจหรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าพนักงานสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ให้ร่วมกันดำเนินการออกโฉนดที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ในเขตพื้นที่สงวนหวงห้าม ทับที่สาธารณประโยชน์ ให้แก่นายวัฒนา ในนามของบริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด โดยมิชอบ และยังเป็นคนละกรณีกับกรณีที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา ที่ 8064/2560 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 จำคุกนายวัฒนา เป็นเวลา 3 ปี ในความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม) ซึ่งนายวัฒนา กับพวกได้ร่วมกันรวบรวมที่ดิน แล้วนำมาเสนอขายกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 โดยหลอกลวงและปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินที่มีเนื้อที่ไม่ครบ เนื่องจากมีการออกโฉนดโดยมิชอบออกทับคลองและถนนสาธารณะ 

ข้อเท็จจริงที่ ป.ป.ช ชี้แจงนั้นสวนทางกับข้อเท็จจริงในส่วนเกี่ยวข้องกับนายวัฒนา อัศวเหม ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ที่ว่านายวัฒนาบังคับข่มขืนใจเจ้า พนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ให้ร่วมกันดำเนินการออกโฉนดที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ในเขตพื้นที่สงวนหวงห้าม ทับที่สาธารณประโยชน์ ให้แก่นายวัฒนา ในนามของบริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงนั้น กรรมการผู้มีอำนาจของ บ.ปาล์มบีชฯ ตามกฎหมาย คือนายรอย อิศราพร ชุตาภา ซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจให้ นายกิติชัย พิมพาภรณ์เป็นผู้ยื่นขอรังวัดออกโฉนด ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2533  ซึ่งนายเฉลา ทิมทอง ผู้นำการคัดค้านการก่อสร้างโครงการบำบัดน้ำเสีย และเป็นต้นเรื่องในการเป็นผู้กล่าวหานายวัฒนา ก็ยืนยันเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นอีก 4-5 ปีถัดมาคือในปี 2535-2536 จึงออกโฉนดเสร็จสิ้น สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการก็มอบโฉนดให้บริษัท ปาล์มบีชฯ และนายวัฒนา อัศวเหม ก็มิได้เป็นกรรมการฯบริษัทปาล์มบีชฯ แต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่ ป.ป.ช.แจงว่านายวัฒนา กับพวกได้ร่วมกันรวบรวมที่ดิน แล้วนำมาเสนอขายให้กรมควบคุมมลพิษ (เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2540) โดยหลอกลวงและปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินที่มีเนื้อที่ไม่ครบ เนื่องจากมีการออกโฉนดโดยมิชอบออกทับคลองและถนนสาธารณะนั้น ข้อเท็จจริงปรากฎว่า บริษัทปาล์มบีช ดีเวลอบเมนท์ จำกัด เป็นผู้รวบรวมที่ดิน ต่อมาขายที่ดินให้กับ บริษัท คลองด่านมารีน จำกัด เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2537 (ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีโครงการโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน) และบริษัท คลองด่านมารีน จึงเสนอขายให้กับกรมควบคุมมลพิษอีกทอดหนึ่ง เมื่อ 20 ก.พ. 2541 ซึ่งนายวัฒนาก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆอีกเช่นกัน สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลว่า “เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานใดที่ยืนยันว่านายวัฒนาเข้ามาเกี่ยวข้องกระทำการใดใดให้คณะกรรมการคัดเลือกของกรมควบคุมมลพิษ ที่เลือกที่ดินของบริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอนรี่ จำกัด” (ปรากฎตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 2794 /2553 หมายเลขแดงที่ 14544 /2556 วันที่ 19 ก.ค. 2556)

กรณีข้อเท็จจริงที่คาดเคลื่อนดังกล่าว จึงเป็นเหตุที่นายวัฒนา อัศวเหม ได้แจ้งกับคนใกล้ชิดว่าพร้อมที่จะกลับมาขอศาลเพื่อรื้อฟื้นคดีใหม่ ซึ่งเป็นสิทธิที่สามารถทำได้หากพบว่ามีหลักฐานข้อมูลใหม่ที่มีน้ำหนักเพียงพอ ดังนั้น เอกสารแถลงข่าวของ ป.ป.ช.ที่ออกมาจึงเป็นการแจ้งข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและนอกเหนือไปจากส่วนที่ร้องเรียน ซึ่งเป็นการสร้างความสับสนให้กับสังคมไทย ที่ต้องการให้ความจริงแท้ปรากฏผ่านกระบวนการทางศาลนั่นเอง นายศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net