Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพจากเฟสบุ๊คของ “วินทร์ เลียววาริณ” ข้างบนคือตัวอย่างของการ “คิดบวก” ในยามวิกฤตที่เป็นเหตุให้เกิดปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” ในเฟสบุ๊คดังกล่าว

บางทีคิดบวก (positive thinking) กับคิดลบ (negative thinking) ก็มีเส้นบางๆ แบ่งแยกระหว่างสองสิ่ง ถ้าเราคิดว่าสิ่งดีๆ เกิดขึ้นเป็นเพราะฝีมือของไวรัสโควิด-19 แทนที่จะเป็นคิดบวก มันอาจจะเป็นคิดลบก็ได้ และนั่นจึงเป็นที่มาของคำถามว่า เฮ๊ย แล้วคนที่ต้องทำงานเสี่ยงกับการติดไวรัส คนที่ติดไวรัส คนตกงาน คนที่กำลังเผชิญความอดอยากจำนวนมหาศาล อย่างที่มีงานวิจัยบอกว่า หากไวรัสนี้ระบาดยาวถึง 1 ปี จะมีคนยากจนเพิ่มขึ้นทั่วโลกราว 500 ล้านคน แล้วคนเหล่านี้ จะยังคิดถึง “ฝีมือที่เจ๋ง” ของไวรัสที่มันทำให้โลกสะอาดสดใสขึ้นได้อย่างไร

จะว่าไปวิธีคิดแบบวินทร์อาจถือได้ว่าเป็น “วิธีคิดสูตรสำเร็จ” ในวัฒนธรรมพุทธศาสนาไทย พระเซเลบก็แสดงความเห็นทำนองเดียวกันว่า วิกฤติโควิดเป็นเรื่องธรรมชาติกำลังสร้างสมดุล แล้วเสนอให้คิดบวก ให้อยู่ห่างๆ คนคิดลบ หรือให้ “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” นั่นคือได้มีโอกาสอยู่บ้าน ฝึกเจริญสติ อยู่กับปัจจุบันขณะ ฯลฯ 

ปัญหาคือ การคิดบวกมันแค่ “พลิกมุมมอง” หรือแค่มองหาด้านดีท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายโดยไม่คำนึงถึง “ความสมเหตุสมผล” เช่นนั้นหรือ ความจริงแล้วการคิดบวกไม่ได้ตัดขาดจากความสมเหตุสมผล ถึงขนาดที่เราจะบอกได้ว่า ธรรมชาติที่สะอาดสดใสเป็นฝีมือสุดเจ๋งของโควิดและมองการวิพากษ์วิจารณ์ ติติงเป็นการคิดลบไปเสียหมด

พูดอีกอย่าง การคิดบวกไม่ใช่เพียงเพื่อให้กำลังใจตัวเอง ให้กำลังใจกันและกัน หรือมองโลกในแง่ดีเท่านั้น หากแต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การมีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงในทางบวกด้วย เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาการระบาดของโควิด ที่ชี้ให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการเมืองการปกครองไทยที่เป็นระบบอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์เป็นชั้นๆ มันสะท้อนถึงอำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียม การได้รับความช่วยเหลือจากรัฐที่ไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติ และอื่นๆ 

ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่น ขณะที่ประเทศเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจมาตลอดภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารและถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตโควิด แต่งบประมาณเพื่อสถาบันกษัตริย์ และงบฯ จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างผิดปกติ กลุ่มทุนใหญ่ไม่กี่ตระกูลแม้ว่าจะได้รับผลกระทบแต่ก็ยังอยู่ได้ไม่ลำบากนัก ขณะที่คนส่วนใหญ่ตกงาน แบกภาระหนี้สินทั้งในและนอกระบบ ทั้งหมดมันคือผลของความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายใต้โครงสร้างการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นไปในทางบวก ก็หนีไม่พ้นที่จะหยิบยก “ด้านลบ” ของโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจดังกล่าวขึ้นมาพูด และจำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจให้เป็นประชาธิปไตย

ดังนั้น การคิดบวกที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เป็นบวก จึงไม่ใช่หลีกเลี่ยงจะพูดถึงด้านลบหรือด้านที่เป็นปัญหาตามเป็นจริง เพราะการคิดบวกไม่ได้หลุดลอยจากความมีเหตุผลหรือความสมเหตุสมผล คิดบวกจึงไม่ใช่แค่เลือกมองแต่ด้านบวก โลกสวย ให้ลืมๆ ความเป็นจริงด้านลบไปเสียอะไรแบบนั้น เพราะการคิดเช่นนี้ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร

อย่างไรก็ตาม หากมองให้ลึก การคิดบวก คิดลบในบ้านเรามี “ความเป็นการเมือง” (the political) ในตัวมันเองอย่างโจ่งแจ้ง หรือไม่ก็ซ่อนอยู่แบบเนียนๆ ตัวอย่างเช่น ความคิดที่เรียกร้องเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์จะกลายเป็น “คิดลบ” หรือสร้างความแตกแยกเสมอ ขณะที่ความคิดในทางสรรเสริญสดุดีสถาบันกษัตริย์ถือเป็น “คิดบวก” หรือคิดดีงาม สร้างความรู้รักสามัคคีเสมอ จะว่าไปความคิดลบและบวกดังกล่าวเหมือน “ถูกโปรแกรม” ฝังหัวพลเมือง ผ่านระบบการศึกษา สื่อมวลชน ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมทางสังคม จึงเป็นความคิดที่แสดงออกเป็น “สูตรสำเร็จ” ที่แทบจะเรียกว่าเป็นไปโดยอัตโนมัติเลยก็ว่าได้

เช่น ปัญญาชนจำนวนไม่น้อย ไม่ไว้ใจคนรวยที่ลงเล่นการเมือง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผล แต่ขณะเดียวกันพวกเขากลับซาบซึ้งกับกษัตริย์ที่รวยที่สุดในโลกแต่ตรวจสอบไม่ได้ ความไม่ไว้ใจและความซาบซึ้งดังกล่าวเมื่อนำมารวมกันย่อมสะท้อนให้เห็น “ความไม่สมเหตุสมผล” ในวิธีคิด ซึ่งก็คือความไม่สมเหตุสมผลในวิธีคิดลบ-คิดบวกที่ถูกโปรแกรมในหัวนั่นเองที่กำหนดให้คุณคิดลบเสมอต่อคนรวยในระบบการเมืองที่วิจารณ์และตรวจสอบได้และคิดบวกเสมอต่ออำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้   

ความไม่สมเหตุสมผล หรือความขัดแย้งในตัวเองของวิธีคิดดังกล่าว ทำให้การตรวจสอบไม่มีความหมาย ความไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจต่ออำนาจทางการเมืองไม่มีความหมาย เพราะในที่สุดแล้วอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าในทางการเมืองจะถูกผูกขาดอยู่ที่กลุ่มอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเสมอไป แม้ประเทศนี้จะมีการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตย เพราะตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของอำนาจนอกระบบเลือกตั้งเสมอไป 

ดังนั้น วัฒนธรรมคิดบวก มองบวกในประเทศนี้ไม่มีทางที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางบวก คือการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจได้จริง เพราะวัฒนธรรมคิดบวกดังกล่าว คือวิธีคิดและมุมมองที่หล่อเลี้ยงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมให้คงอยู่คู่แผ่นดินอันงดงามของกลุ่มคนมีอำนาจบวกรวย ซึ่งเป็นกลุ่มอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยในสังคมตลอดไป 

 

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/winlyovarin/photos/a.1502062586736369/2608701922739091/?type=3&theater

 

   


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net