Skip to main content
sharethis

เผยเอกสารสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รัฐบาลไทยมีความกังวลผลกระทบโครงการสร้างเขื่อนหลวงพระบางกั้นโขงในลาว เสนอปรับปรุง 8 ประเด็น


(แฟ้มภาพ)

26 เม.ย. 2563 นางสาว ส.รัตนณี พลกล้า นักกฎหมายจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ในฐานะทนายความของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เปิดเผยว่าได้รับจดหมายจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงวันที่ 16 เม.ย. 2563 ชี้แจงกรณที่เครือข่ายฯ ได้ส่งจดหมายเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับผลการประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC) เมื่อวันที่ 25 มี.ย. 2563 และเอกสารตอบกลับของรัฐบาลไทยต่อกระบวนการแจ้งปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ถึงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) กรณีโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งครบระยะเวลา 6 เดือนเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563

นักกฎหมายกล่าวว่า เอกสารดังกล่าวของ สทนช. มีเนื้อหาสำคัญระบุว่า รัฐบาลไทยมีความกังวลและมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลลาว ในฐานะเจ้าของและผู้พัฒนาโครงการ ปรับปรุงพัฒนาและการบริหารโครงการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ในประเด็นสำคัญ 8 ข้อ คือ 1. การเปลี่ยนแปลงด้านอุทกวิทยาและชลศาสตร์ (ระดับน้ำขึ้น-ลงอย่างฉับพลันและช่วงเวลา) ที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนท้ายน้ำด้านการประมง การเกษตรริมฝั่ง การท่องเที่ยว ภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วมโดยฉับพลัน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและสัณฐานของตัวลำน้ำและตลิ่งแม่น้ำโขง 2.มีความห่วงกังวลต่อการลดลงของตะกอนและสารอาหารที่มีผลต่อระบบนิเวศและธรณีสัณฐานและส่งผลกระทบโดยตรงต่อแม่น้ำโขงสายประธาน ห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติและความมั่นคงด้านอาหาร

3. การเปลี่ยนแปลงด้านการให้บริการของระบบนิเวศ  ข้อกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฎการณ์แม่น้ำเปลี่ยนสี จึงต้องศึกษาหาปัจจัยและสาเหตุหลักมาจากอะไร รวมทั้งต้องการทราบข้อมูลการกำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ข้อเสนอเกี่ยวกับการศึกษาเพิ่มเติมและติดตามผลกระทบข้ามพรมแดน และผลกระทบสะสมต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำจากการบริหารจัดการโครงการเขื่อนขั้นบันไดอย่างเป็นระบบและครอบคลุมตลอดช่วงลำน้ำ 4. ด้านการประมงและทางปลาผ่าน มีข้อกังวลอย่างมากต่อโครงสร้างทางปลาผ่านและการบริหารจัดการเขื่อนแบบขั้นบันไดว่าจะสามารถเอื้อต่อการอพยพขึ้น-ลงของปลาตามฤดูกาลหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณการทดแทนของปลา ทำให้ปริมาณ ชนิดพันธุ์ ขนาดและความหลากหลายของพันธุ์ปลาลดลงและเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศไทยและอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงโดยรวม มีข้อเสนอให้มีการดำเนินงานถอดบทเรียนด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติทางปลาผ่านของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรีเพื่อปรับแบบทางปลาผ่านของโครงการเขื่อนหลวงพระบาง 

5.มีข้อเสนอให้ศึกษาวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและสังคมเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสมเพิ่มเติมในพื้นที่ท้ายน้ำที่มีผลกระทบจ่อประชาชนและชุมชนในประเทศท้ายน้ำและกำหนดมาตราการและแผนการปรับตัวของชุมชนที่ชัดเจนต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น 6. การแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยเสนอให้มีการจัดตั้งกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร การเปิดเผยข้อมูลและการติดตามผลกระทบในช่วงการก่อสร้างและระหว่างการปฏิบัติการของเขื่อนแบบขั้นบันได เพื่อให้ทราบถึงสภาพและการเปลี่ยนแปลงด้านทุกวิทยาและชลศาสตร์ รวมทั้งมาตรการการสื่อสารที่จำเป็นระหว่างการก่อสร้างและในช่วงการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสมที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ แผนการเตรียมความพร้อมฉุกเฉิน(Emergency Prparendness Plan) ที่มีการสื่อสารกับพื้นที่ทางด้านท้ายน้ำ

7.มาตราการเยียวยาผลและบรรเทาผลกระทบ โดยมีข้อเสนอให้สปป.ลาวและผู้พัฒนาโครงการฯ จัดตั้งกองทุนชดเชย (Endownment Fund) กำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนในด้านเศรษฐกิจ สังคม/ชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน และสอดคล้องกับข้อกำหนดตามมาตรา 7 การป้องกันและการหยุดยั้งผลกระทบที่เป็นอันตราย และความรับผิดชอบของรัฐต่อความเสียหาย ตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ.2538

8. คือการถอดบทเรียนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ผ่านมา เนื่องจากมีประเด็นข้อห่วงกังวลจากกระบวนการ PNPCA ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ผานมายังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้อย่างชัดเจน และยังไม่มีการถอดบทเรียนจากการดำเนินงานของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี ที่ได้ดำเนินการแล้วอย่างเป็นรูปธรรมก่อนที่จะเริ่มกระบวนการ PNPCA ของโครงการใหม่

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าการดำเนินการการเก็บกักน้ำในฤดูน้ำหลาก ปล่อยน้ำในฤดูแล้งของเขื่อนจีน แล้วบอกว่านี้คือประโยชน์ของเขื่อนเหมือนกับธนาคารที่ต้องเก็บออมน้ำไว้เพื่อช่วยคนท้ายน้ำ แต่ปรากฎการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ชีวิตของแม่น้ำโขงไม่มีฤดูกาลตามธรรมชาติที่ดำเนินมาอย่างยาวนานอีกแล้ว เมื่อเขื่อนได้เปลี่ยนแปลงฤดูกาลการไหลของแม่น้ำจนเกิดผลกระทบตลอดสายน้ำโขง การไหลของน้ำจากต้นน้ำถึงปลายน้ำนั้นโดยธรรมชาติไม่ได้ไหลทิ้งไหลขว้างไปโดยเปล่าประโยชน์ ในฤดูน้ำหลากหรือฤดูฝนระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะยกสูงขึ้นท่วมเกาะแก่งหาดดอน และเอ่อท่วมเข้าไปยังแม่น้ำสาขาใหญ่น้อย เป็นโอกาสให้สิ่งมีชีวิต ปู ปลา กุ้งหอยได้ขยายพันธุ์วางไข่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ ตะกอนถูกชะล้างไหลมากับสายน้ำจากต้นน้ำถึงปลายน้ำสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับแม่น้ำ ในฤดูแล้งแม่น้ำโขงจะลดลงระบบนิเวศน์จะทำหน้าที่ตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหาร สมุนไพรจะเกิดขึ้นตามเกาะดอน เกิดพื้นที่ในการทำการเกษตรของคนริมฝั่งโขง นกนานาชนิดวางไข่ตามหาดดอน

“ความจริงของการสร้างเขื่อน คือเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า และการปล่อยน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของประเทศจีน และบริษัทที่สร้างเขื่อนเท่านั้น” นายนิวัฒน์ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net