นักรัฐศาสตร์ นักกฎหมาย พรรคสามัญชน และคนค้าเนื้อ ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คืออำนาจที่ไม่จำเป็น

  • นักรัฐศาสตร์ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล ไม่ใช่ทั้งหมดของการจัดการปัญหาโรคระบาด แนะระยะยาวควรจัดการปัญหารัฐราชการ-รัฐบาลเบี้ยหัวแตก ซึ่งไม่สอดรับกับการเผชิญวิกฤติ
  • คนขายเนื้อ เชื่อโควิด-19 จะอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง รัฐต้องสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมโรค กับพยุงเศรษฐกิจ เริ่มต้นงายๆ ด้วยการใช้เงินให้ถูกทาง 
  • ผู้จัดการไอลอว์ เผยตั้งแต่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนถึงวันนี้ ยังไม่ได้คำตอบที่สมเหตุสมผลว่า เหตุใดจำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษ ทั้งที่กฎหมายปกติให้อำนาจไว้ครอบคลุมแล้ว เว้นเพียงเรื่องเดียวคือ การยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ 
  • หัวหน้าพรรคสามัญชน ชี้ถ้าจะมีเหตุผลที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ต่อคือ การเสพติดอำนาจ แนะเร่งเปิดประชุมสภา ให้ ส.ส. เข้าไปสะท้อนปัญหาประชาชน 

วันที่ 30 เม.ย. นี้จะเป็นวันสุดท้ายที่ พ.ร.ก.การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศมาตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 เพื่อแก้ไขปัญหาการแร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมีผลบังคับใช้ กระนั้นก็ตามช่วงสัปดหา์ที่ผ่านมา มีทั้งกระแสข่าวว่าจะมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ ประกาศสถานการณ์การฉุกเฉินต่อเพียงบางจังหวัดที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในแต่ละวันเท่านั้น ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลอาจจะประกาศยืดอายุสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดให้ได้อย่างมั่นใจก่อน จากนั้นจะค่อยๆ ผ่อนปรน ปลดล็อคมาตรการต่างๆ

คำตอบจากรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปยังเดินทางมาไม่ถึง อย่างเร็วอาจจะต้องรอดูทิศทางภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 28 เม.ย. ว่าจะมีการเคาะ สั่ง ชี้ ออกมาอย่างไร แต่สิ่งที่ไม่ต้องรอเวลาคือเสียงของผู้คนต่อกรณีดังกล่าว ประชาไทสัมภาษณ์ นักรัฐศาสตร์ นักกฎหมาย หัวหน้าพรรคการเมือง และคนค้าเนื้อสเต็กเดลิเวอรี่ ทุกคนตอบไปในทิศทางเดียวกันว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือ อำนาจที่ไม่จำเป็นในสถานการณ์นี้

000000

นักรัฐศาสตร์ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล ไม่ใช่ทั้งหมดของการจัดการปัญหาโรคระบาด แนะระยะยาวควรจัดการปัญหารัฐราชการ-รัฐบาลเบี้ยหัวแตก ซึ่งไม่สอดรับกับการเผชิญวิกฤติ

รองศาสตราจารย์ยุทธพร อิสระชัย สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุว่า การประกาศใช้ พ.ร.กฉุกเฉิน นั้นจะต้องดูว่า วัตถุประสงค์หลักของกฎหมายมีไว้เพื่ออะไร ซึ่งสำหรับประเทศไทยมีกฎหมายดังกล่าวไว้เพื่อจัดการกับสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษของฝ่ายบริหาร 

เขาชี้ว่า กรณีการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ถือเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่โดยหลักการแล้วการที่จะให้รัฐบาลมี Emergency Power จะต้องเกิดขึ้นภายใต้ภาวะที่ไม่มีกลไกอื่น หรือไม่มีมาตรการอื่นใดแล้วที่จะจัดการกับสถานการณ์ได้ หรือมีเรื่องที่เร่งด่วนจำเป็นจริงๆ แต่สำหรับประเทศไทยเวลานี้มีกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่ออยู่แล้ว ฉะนั้นการใช้กฎหมายพิเศษ อาจจะไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นมากนัก ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ทุกอย่างเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจต่อปัญหาของโรคระบาดให้กับประชาชน ได้เห็นตรงกันว่าจะช่วยการยับยั้งการแพร่ระบาดได้อย่างไร ก็ไม่จำเป็นที่จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อเพราะกลไกอื่นๆ ที่มีอยู่ก็สามารถทำงานได้ 

“วันนี้เราเห็นได้ว่า เมื่อมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มันไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของการจัดการปัญหาในทางระบาดวิทยาอย่างเดียว แต่หลายพื้นที่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้าไปจัดการปัญหาศีลธรรมวิทยาด้วย เช่น การจับกุมบ่อนการพนัน การจับกุมยาเสพติด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีกฎหมายในภาวะปกติแล้วทั้งนั้นในการดำเนินการกับผู้กับทำความผิด” ยุทธพร กล่าว 

ยุทธพร กล่าว่อว่า คำตอบสำหรับการแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องของการใช้กฎหมายพิเศษ เพราะประเด็นสำคัญคือ กลไกของรัฐ ที่มีความเป็นรัฐราชการ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้การแก้ไขปัญหาโรคระบาดมีอุปสรรค เช่นก่อนหน้านี้เห็นได้ชัดว่ามีลักษณะไร้ความเป็นเอกภาพ มีความล่าช้าไม่ทันสถานการณ์ และหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีการประกาศมาตรการต่างๆ ออกมา ก็ก่อให้เกิดการตีความอย่างมากมาย และกว้างขวางว่าสุดท้ายแล้วควรจะทำอะไร เช่นมีการตั้งด่านตรวจในหลายพื้นที่ และการเป็นการจับกุมผู้คนที่ต้องออกมาทำงาน ทั้งหมดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่กลไกรัฐ และระบบราชการ และความเป็นรัฐราชการแบบนี้ ในระยะยาวหากไม่มีการแก้ไขก็คงไม่สามารถตอบโจทย์การจัดการสถานการณ์ได้ 

“การจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก ก็อาจจะทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ในระยะยาวหากมีการระบาด second wave หรือการระบาดครั้งที่สอง การควบคุมกำกับสถานการณ์จะทำได้ดีหรือไม่ นี่เป็นข้อจำกัดของกลไกรัฐ ก่อนหน้านี้จะเห็นได้ว่าความไม่เป็นเอกภาพ มีการแก้ไขเพียงเฉพาะหน้าเท่านั้น เช่น การตั้ง ศบค. ขึ้นมา ก็ทำให้ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นลดน้อยถอยลง แต่หลังจากนี้ไป ถ้าวันหนึ่ง ศบค.ไม่มีอยู่แล้ว และยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพก็จะกลับมาเหมือนเดิม ทั้งหมดนี้ก็เห็นชัดว่า การใช้กฎหมายฉุกเฉินไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ และไม่มีความจำเป็นน้อยกว่าการปรับปรุงกลไกการแก้ปัญหาของรัฐ” ยุทธพร กล่าว

ขณะเดียวกัน ยุทธพร มองว่าสถานการณ์การระบาดที่ช่วงหลังพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อลงลดไปนั้น มีความเกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการประกาศเคอร์ฟิว เพียงแค่ส่วนหนึ่ง เพราะเรื่องของการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีองค์ประกอบ 3 ส่วนด้วยกัน คือ กลไกของรัฐ/บรรดากฎหมายต่างๆ ส่วนที่สองคือ บุคลากรทางการเเพทย์/ระบบสาธารณสุข ส่วนที่สามคือ การให้ความร่วมมือของประชาชน ซึ่งทั้งสามส่วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจัดการกับโรคระบาดเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น 

“เราคงไม่สามารถพูดได้ว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการมีมาตรการที่ดีของรัฐ มีความเข้มงวด หรือมีกฎหมายที่เข้มข้น มีการปฏิบัติที่เอาจริงเอาจังของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว ตรงนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น” ยุทธพร กล่าว 

เขาระบุต่อไปถึง การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าปัจจัยหนึ่งคือการรวบอำนาจให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งภาวะเช่นนี้ เกิดขึ้นจากโครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เอื้อให้เกิดรัฐบาลผสมที่พรรคร่วมอยู่หลายพรรค โดยการเป็นรัฐบาลผสม เป็นปัญหาพิ้นฐานอีกประการหนึ่ง ไม่น้อยไปกว่าการเป็นรัฐราชการ เพราะความเป็นรัฐบาลผสมมักจะทำให้เกิดการต่อรองทั้งภายในพรรค และระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งในช่วงต้นที่ไทยพบผู้เชื้อรายแรกๆ ก็พบว่ามีความขัดแย้งภายในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล เช่น มีการดิสเครดิตเรื่องการจัดการหน้ากากอนามัย รวมทั้งมีการทำงานที่ไม่สอดรับกันระหว่างกระทรวง มีลักษณะต่างคนต่างทำ ซึ่งสุดท้ายแล้วกลายเป็นปัญหาซ้อนเข้าไปในปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่อีกที

คนขายเนื้อ เชื่อโควิด-19 จะอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง รัฐต้องสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมโรค กับพยุงเศรษฐกิจ เริ่มต้นงายๆ ด้วยการใช้เงินให้ถูกทาง 

พิชญ์ ชีวะสาคร เจ้าของร้าน Beef B4 U Die ร้านค้าเนื้อสเต็กเดลิเวอรี่ ซึ่งเป็นธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ต่อมาตรการที่เข้มงวดของรัฐ ระบุว่า ด้วยข้อมูลต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลง และจำนวนผู้ที่รักษาหายแล้วที่เพิ่มขึ้น เห็นว่า รัฐบาลควรผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เพราะคนในสังคมไทยหลายคนได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐโดยตรง หากมีการเปิดให้คนออกไปทำมาหากินได้ตามปกติก็จะทำให้ความเดือดร้อนต่างๆ ได้บรรเทาลด อย่างไรก็ตามการผ่อนปรนก็ต้องการสร้างความเข้าใจร่วมกัน หรือมีข้อตกลงร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขอนามัย รวมทั้งยังจำเป็นที่รักษาระยะห่างทางสังคมอยู่ 

เขากล่าวต่อว่า แม้ธุรกิจของตนเองจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ทั้งยังมียอดการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น แต่ก็พบว่ามีผู้ประกอบการกิจการโรงแรม ร้านเบเกอร์รี่ ร้านอาหาร บาร์เบียร์ ฯลฯ ได้รับผลกระทบตามลำดับ ทั้งจำนวนลูกค้าลดลง ไปจนถึงไม่สามารถเปิดสถานประกอบการได้ ซึ่งหลายคนก็ต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของตัวเองเพื่อที่จะอยู่รอดในช่วงเวลานี้ หรือบางรายก็หยุดธุรกิจที่ทำอยู่และต้องรอจนกว่ารัฐจะผ่อนปรนมาตรการ

“อย่างที่ผมเห็นธุรกิจชาบู จากเดิมที่ต้องไปนั่งกินที่ร้าน ตอนนี้ก็ต้องเปลี่ยนมาทำเป็นเดลิเวอรี่ และเพียงแค่ส่งขออย่างเดียวไม่พอ ถ้าสั่งชุดชาบูทางร้านก็จะแถมหม้อชาบูไปให้ด้วย หลายธุรกิจก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของตัวเองไป ด้านหนึ่งคิดว่า บางทีสถานการณ์นี้มันเป็นแนวทางที่จะพลิกรูปแบบธุรกิจให้ขยายไปอีกช่องทางหนึ่งได้” พิชญ์ กล่าว 

พิชญ์ ชี้ว่า การผ่อนปรนควรจะเปิดให้สถานประกอบการต่างๆ สามารถดำเนินกิจการได้ เช่น ร้านเหล้า ร้านเบียร์ ผับ บาร์ หรือสถานบันเทิง ควรเปิดได้ แต่ให้กำจัดเวลาปิด หรืออย่างน้อยที่สุดร้านอาหารสามารถเปิดให้คนเข้าไปนั่งกินภายในร้านได้ เพื่อให้เขาสามารถอยู่ได้ และการเปิดร้านแบบนี้ไม่ได้ช่วยเพียงเจ้าของธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นการช่วยลูกจ้าง เช่น พ่อครัว แม่ครัว เด็กเสิร์ฟ รวมไปถึงกลุ่มคนที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเช่น ผู้ส่งวัตถุดิบ หรือกระทั่ง นักร้อง นักดนตรี ที่เคยทำงานตามร้านอาหาร หากผ่อนปรนมาตรการนี้ได้ ก็จะช่วยให้คนหลายๆ คนกลับมามีรายได้อีกครั้ง แต่ทั้งหมดนี้ทำอยู่ในใต้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม

เจ้าของร้าน Beef B4 UDie ระบุด้วยว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีการรายงานในแต่ละวันนั้น เป็นเรื่องที่ยังน่าสงสัย เพราะยังไม่มั่นในว่าการทำงานของรัฐเป็นการตรวจเชิงรุกมากน้อยเพียงใด หากมีการตรวจที่น้อยนั้นหมายความว่า สามารถกำหนดขอบเขตจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละวันได้  แต่อย่างไรก็ตามโลกนี้อาจจะต้องอยู่กับโรคระบาดโควิด-19 นี้ไปอีกอย่าง 1-2 ปี จนกว่าจะมีการคิดค้นวัคซีนต้านเชื้อขึ้นมาได้ ภายใต้สถานการณ์แบบนี้รัฐจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมโรค และการพยุงเศรษฐกิจ โดยเริ่มต้นด้วยเรื่องง่ายๆ คือ การใช้เงินให้ถูกทาง

“ผมมองว่า เขาใช้เงินผิดทีผิดทางหลายต่อหลายครั้ง ทำอะไรที่มันไม่เข้าท่า ขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ ไข่แพงเหรอ ไม่เป็นไรเดี๋ยวรัฐไปซื้อมาขายเอง มีการกักตุนหน้ากากเหรอ ไม่เป็นไรเดี๋ยวรัฐไปซื้อมากระจายเอง มันไม่ใช่เปล่าวะ ใช่เหรอ สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำคือ การแก้ไขปัญหาในระดับมหภาค ไม่ใช่มาทำอะไรแบบจุลภาคแบบนี้ โอเคปากท้องประชาชนมันต้องแก้ไขจริง แต่ถ้าคุณไม่ไปแก้ที่ระดับมหาภาค เดี๋ยวมันก็กลับมาเป็นปัญหาอีก แล้วล่าสุดที่มีการร่างจดหมายถึงมหาเศรษฐี ผมถามว่า ถูกแล้วเหรอ เอางี้แล้วกันผมคงไม่ฉลาดอาจหาญเพียงพอที่จะไปบอกว่ารัฐต้องทำอะไร แต่ขออย่างเดียวคือ รัฐบาลช่วยทำอะไรที่มันเข้าท่าหน่อยได้ไหม ผมคิดว่าผมใช่คำพูดที่เบาที่สุดแล้วนะ” พิชญ์ กล่าว

ผู้จัดการไอลอว์ เผยตั้งแต่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนถึงวันนี้ ยังไม่ได้คำตอบว่า เหตุใดจำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษนี้ทั้งที่กฎหมายปกติให้อำนาจไว้ครอบคลุมแล้ว เว้นเพียงเรื่องเดียวคือ การยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ เผยว่า ตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมา จนถึงเวลานี้ ซึ่งกำลังจะมีการพิจารณาว่าจะยืดอายุสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปหรือไม่ ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาลว่า เพราะเหตุใดจึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ ทั้งที่ประเทศไทยมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งเพียงพอต่อการควบคุมโรคติดต่ออยู่แล้ว เพราะมีอำนาจในการสั่งปิดร้านอาหารสถานบันเทิง ถ้ารัฐบาลต้องการอำนาจในการห้ามการรวมตัวของคนก็สามารถใช้กฎหมายนี้ได้ และก่อนหน้าที่จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็มีการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่ออยู่แล้ว 

เขากล่าวต่อว่า สิ่งที่แตกกันระหว่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีอำนาจที่เพิ่มขึ้นมาอย่าง 3 อย่าง 1.อำนาจในการตั้งวอร์รูมเพื่อจัดการปัญหาโดยเฉพาะอย่าง ศบค. ซึ่งเป็นอำนาจที่กระทรวงต่างๆ จะต้องมาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นไปได้ว่าความเป็นรัฐบาลผสม ที่ อำนาจด้านการสาธารณสุข และอำนาจด้านการพาณิชย์ ต่างอยู่ในมือของพรรคร่วมรัฐบาล อาจจะทำให้การบริหารจัดการปัญหาไม่คล่องตัว นายกรัฐมนตรีก็อาจจะต้องการรวบอำนาจในการตัดสินใจกลับมาที่ตัวเอง 2.การประกาศเคอร์ฟิว ซึ่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่สามารถทำได้ และ 3.พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่มีการยกเว้นความผิดของเจ้าหน้าที่ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีข้อยกเว้นเรื่องความรับผิดของเจ้าหน้าที่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ 

“เราไม่แน่ใจว่าส่วนไหนกันแน่ที่รัฐบาลนี้ต้องการ หากเป็นสองข้อแรกคือ การรวบอำนาจ และเคอร์ฟิว สามารถใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง แทนได้ โดยสามารถจัดตั้งศูนย์บริหารราชการส่วนการขึ้นมารวบอำนาจเข้ามา และสามารถประกาศเคอร์ฟิวได้ ดังนั้นถ้าดูตามตัวบทอย่างเดียวคือ อำนาจพิเศษที่เพิ่มขึ้นมาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือ การยกเว้นการรับผิดของเจ้าหน้าที่ และตัดอำนาจศาลปกครอง” ยิ่งชีพ กล่าว 

ยิ่งชีพ กล่าวด้วยว่า วันที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็มีการประกาศย้ำไปด้วยว่า ให้ประกาศหรือคำสั่งที่ออกโดย พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่ประกาศไปก่อนแล้วให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย ทุกวันนี้ประกาศต่างๆ จึงมีลักษณะที่ทับซ้อนกัน 

เขากล่าวต่อว่า ถึงเวลานี้ควรจะตั้งคำถามได้แล้วว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการประกาศเคอร์ฟิว จำเป็นต้องมีหรือไม่ แม้ช่วงที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้นในลักษณะที่น้อยลง แต่ก็ไม่ถูกพิสูจน์ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพราะการประกาศเคอร์ฟิวหรือไม่ ตรงนี้รัฐบาลยังไม่มีคำอธิบาย หรืออาจน้อยที่สุดรัฐบาลควรพิจารณาว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิวทั่วราชอาณาจักร จำเป็นจริงๆ หรือไม่ เพราะในหลายจังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว 

“ปัญหาสำคัญที่สุดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือความยากในการตรวจสอบ อย่างกรณีเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เราเห็นการจับกุมคนไร้บ้านที่เชียงใหม่ ฐานฝ่าฝืนมาตรการเคอร์ฟิว รวมทั้งการห้าม และดำเนินคดีกับคนที่นำอาหารมาแจกคนไร้บ้าน หรือคนที่กำลังเดือดร้อน อำนาจเหล่านี้มีการใช้ไปโดยถูกต้องหรือไม มันอาจจะถูกต้องก็ได้ เจ้าหน้าที่อาจจะรักษากฎหมายเป็นไม้บรรทัด หรืออาจจะไม่ถูกต้องชอบธรรรม และคนที่ใช้อำนาจก็ควรจะถูกตรวจสอบ ถ้าไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การกระทำลักษณะนี้จะถูกตรวจสอบ… แต่เมื่อขึ้นชื่อว่ามี พ.ร.ก.ฉุกเฉินหนุนหลังอยู่ ก็ทำให้เจ้าหน้าที่กล้าใช้อำนาจมากขึ้น และเมื่อศาลเห็นว่ามี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็อาจจะหลีกเลี่ยงที่จะตรวจสอบว่าการกระทำต่างๆ สมควรแก่เหตุหรือไม่”  ยิ่งชีพ กล่าว 

ผู้จัดการไอลอว์ กล่าวต่อว่า การดำเนินการจับกุมประชาชนในช่วงเคอร์ฟิวนั้น อาจจะเป็นการดำเนินการที่ผิดวัตถุประสงค์ เพราะการเคอร์ฟิวโดยหลักการแล้วต้องการให้คนอยู่บ้าน ลดกิจกรรมต่างๆ ให้มากที่สุด ถ้ามีการดำเนินการกับคนที่ฝ่าฝืนแล้วสั่งให้เขากลับเข้าบ้านไปก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่หากมีการจับกุม ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน ซึ่งเป็นเวลาที่ศาลปิด เจ้าหน้าที่ก็ต้องนำต้องผู้ถูกจับกุมไปขังรวมกัน ตอนเช้าก็ต้องนำตัวไปศาล ตำรวจ พนักงานอัยการ ศาล ก็ต้องทำงานเพิ่มึ้น กลายเป็นว่าแทนที่จะลดกิจกรรมต่างๆ ให้น้อยลง กลับเป็นการเพิ่มกิจกรรมมากกว่า ทั้งยังได้ผลตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์ของการประกาศเคอร์ฟิว และหากมีการนำคนเข้าไปขังในเรือนจำจะมีมาตรการกักตัวก่อนเข้าเรือนจำได้ดีแค่ไหน ซึ่งนั้นหมายความว่าเป็นการเอาคนเข้าไปรวมอยู่ในที่เดียวกันจำนวนมากแทน ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้นไปอีก 

“ตัวอย่างในฝรั่งเศส กฎหมายเข้าชัด ถ้าเกิดมีคนฝ่าฝืนออกนอกบ้านช่วงเคอร์ฟิว ครั้งแรกก็จะปรับก่อน ครั้งที่สองปรับสูงขึ้น และครั้งที่สามถ้ายังทำซ้ำอยู่ก็จะมีโทษจำคุกเข้ามาเกี่ยวข้อง และค่าปรับก็สูงขึ้นไปอีก แต่กฎหมายไทยไม่ว่าคุณจะฝ่าฝืนกี่ครั้ง ไม่ว่าจะมีเหตุผลอะไรที่ทำให้ฝ่าฝืน ก็ได้รับโทษแบบเดียวกัน”

ยิ่งชีพ สรุปว่า เวลานี้ยังไม่เห็นว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการเคอร์ฟิวเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดแพร่ระบาดของโรคลดลง และไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน หากรัฐบาลจะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก ก็ต้องบอกเหตุผลที่จำเป็น และมีความเป็นวิทยาศาสตร์แต่ถ้ารัฐบาลไม่ประกาศยืดอายุสถานการณ์ฉุกเฉินต่อ และหันกลับมาใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ความจำเป็นในการใช้อำนาจ เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันในแง่ของการระบาด ซึ่งต้องให้คนที่อยู๋ในพื้นที่เป็นผู้วิเคราะห์ และตัดสินใจ ว่าควรมีการดำเนินมาตรการเข้มข้นแค่ไหน 

“หลายประเทศที่สถานการณ์หนักกว่าเรา โดยเฉพาะยุโรปที่มีคนตายจำนวนมาก เขาก็กำลังอยู่ในช่วงที่ค่อยๆ ปลดล็อคทีละนิด เช่น เดนมาร์กเริ่มจากเปิดโรงเรียนอนุบาลก่อน เพราะเวลาผู้ใหญ่ทำงานที่บ้าน แล้วเด็กอยู่ที่บ้านด้วย มันไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ถ้าจะให้ผู้ใหญ่ทำงานที่บ้านได้ ก็ต้องเปิดสถานที่รับเลี้ยงเด็ก โดยเอาทรัพยากรของรัฐทุ่มลงไปมากขึ้น เพื่อที่ทำให้โรงเรียนอนุบาลให้ปลอดภัย แต่ก็มีทั้งคนเห็นด้วยและคนไม่เห็น ซึ่งเป็นดีเบตที่เกิดเป็นปกติของแต่ละสังคม คือในภาวะที่ต้องมีความเด็ดขาดเรื่องการควบคุมโรค มันต้องคิดถึงชีวิตผู้คนที่ต้องเดินไปข้างหน้าด้วย และรัฐบาลไม่ควรคิดเรื่องเหล่านี้เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องรับฟังประชาชน” ยิ่งชีพ กล่าว 

หัวหน้าพรรคสามัญชน ชี้ถ้าจะมีเหตุผลที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ต่อคือ การเสพติดอำนาจ แนะเร่งเปิดประชุมสภา ให้ ส.ส. เข้าไปสะท้อนปัญหาประชาชน 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน ระบุว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำตั้งแต่แรก เพราะสามารถใช้กฎหมายปกติได้อยู่แล้ว และหากอ้างเรื่องความไม่เป็นเอกภาพ ครม. ก็สามารถตั้งวอร์รูมขึ้นมาบริหารจัดการสถานการณ์โดยเฉพาะได้ และก่อนหน้านี้ก็สามารถใช้ พ.ร.บ.โรคต่อ ในการจัดการสถานการณ์ได้ อีกทั้งเครือข่าย อสม. ก็สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพพอสมควร โดยไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษอะไร 

“ที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะมันมีส่วนที่ไปกดทับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากเกินไป มีการใช้อำนาจโง่ๆ เช่น ไปสกัด ไปห้ามการแจกข้าวของของประชาชน แล้วก็อ้างฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผมว่ามันเป็นอำนาจที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นเรื่องที่อยู่ที่ทำกิน ก็ถูกสกัดกั้นการแสดงออก โดยอ้างว่าเป็นการควบคุมยับยั้งการแร่ระบาดของโควิด ชาวบ้านไม่สามารถรวมตัวกันไปยื่นหนังสือร้องเรียน หรือคัดค้านต่อหน่วยงานราชการ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง” เลิศศักดิ์ กล่าว 

หัวหน้าพรรคสามัญชน กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ซ้ำเติมประชาชนเพิ่มขึ้นไปอีก คือการถูกจับกุมข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ที่ผ่านมามีโทษทั้งจำคุก โทษปรับตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น และนอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนเสียประวัติ เพราะเวลาจะไปสมัครงานอะไร หากถูกพบว่าเคยถูกดำเนินคดี ส่วนมากก็จะไม่ได้งาน สิ่งที่เกิดขึ้นมาในช่วงนี้มันเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เป็นการใช้อำนาจที่มากเกินไป 

เขากล่าวต่อด้วยว่า ต่อให้ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไม่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ความกระตือรือร้นของประชาชน ความสามารของบุคลากรทางการเเพทย์ก็สามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ และในเวลานี้รัฐบาลควรเปิดให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตตามปกติที่สุดได้แล้ว เพราะเดือน มี.ค. - เม.ย. เป็นช่วงแรกๆ ที่ประชาชนถูกชะลองาน ถูกหยุดงาน ขาดรายได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนมหาศาล และคาดว่าเงินเก็บในกระเป๋าของแต่ละคนไม่น่าจะอยู่รอดเกินไปกว่า 2 เดือนนี้ และหากเดือน พ.ค. หากยังคงมาตรการแบบเดิมไว้ ทุกอย่างจะแย่ลง เพราะเงินในกระเป๋าของคนเริ่มหมดแล้ว 

“ตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาคิดว่า ควรจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อหรือไม่ มันเลยจุดนั้นแล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรคิดคือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่อาจจะมีบางอาชีพที่ต้องพักไว้ก่อนเพราะไม่สามารถจัดการเว้นระยะห่างทางสังคมได้ แต่ในทุกอาชีพที่สามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้ ก็ควรจะเปิดให้ประชาชนกลับมาทำมาหากินได้ ส่วนเรื่องระบบขนส่งมวลชน รัฐก็ต้องคิดวิธีที่จะไม่ทำให้ผู้คนไปอยู่รวมกันในสถานที่และเวลาเดียวกัน เช่น ออกมาตรการสับเปลี่ยนเวลาเลิกงาน เวลาเข้างาน” เลิศศักดิ์ กล่าว 

แม้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะไม่มีสมาชิกพรรคการเมืองจากพรรคสามัญชนเข้าไปเป็น ส.ส. หรือผู้แทนของประชาชน แต่เลิศศักดิ์ เห็นว่า การรีบเปิดให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเวลาวิกฤตินี้ จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะสะท้อนปัญหาของประชาชน และร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยข้ออ้างที่เกรงว่าจะทำให้ ส.ส. ติดโรคโควิดเป็นเหตุที่ฟังไม่ขึ้น เพราะรัฐสภาย่อมมีมาตรการป้องกัน และรักษาระยะห่างทางสังคมได้เป็นอย่างดี 

“ไอ้การที่บอกว่าถ้ารีบประชุม ส.ส. กลัวว่าจะทำเสี่ยงต่อการติดเชื้อมันไร้สาระ สิ่งที่คุณกลัวกันจริงๆ คือ กลัว ส.ส. เขาจะพูดมากกว่า การเปิดให้ตัวแทนของประชาชนไปพูดในสภาย่อมทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเขายังมีเสียง และยังมีอีกหลายเรื่องที่ถูกปิดลับ มีหลายเรื่องที่ประชาชนยังสงสัย เพียงลำพังแค่การตั้งถามในโซเชียลมีเดีย ไม่เพียงพอที่จะทำให้ได้คำตอบ แต่การถามในสภาฯ คือภาคบังคับที่รัฐบาลจะต้องตอบคำถาม” เลิศศักดิ์ กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท