Skip to main content
sharethis

บทเรียนสำคัญทั่วโลก 9 ประการ เพื่อรับมือการระบาดของไวรัส Covid-19 เพื่อช่วยชีวิตประชาชนได้จำนวนมากและเพื่อกอบกู้สถานการณ์ ได้แก่ (1) ตรวจหาโรคแต่เนิ่นๆ เปรียบเทียบกรณีเกาหลีใต้กับจีน (2) ติดตามค้นหาบุคคลแวดล้อมผู้ติดเชื้อแบบสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง (3) ศึกษาจากจีนเมื่อการปิดชุมชนช่วยได้ไม่มาก เพราะการระบาดเกิดขึ้นในครอบครัวใกล้ชิด จึงต้องแยกกักผู้ป่วย (4) สวัสดิการสุขภาพจะช่วยรักษาชีวิตมนุษย์ แต่สหรัฐอเมริกาเมื่อสวัสดิการไม่ดี จึงเกิดการระบาดจนควบคุมได้ยาก (5) กรณีจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ระดมสรรพกำลังเหมือนอยู่ในสงคราม ช่วยให้ระบบสาธารณสุขทำงานต่อไปได้ (6) ฉุกเฉินล่วงหน้า ดีกว่าบานปลาย ศึกษาบทเรียนไต้หวันรู้เร็วและป้องกันก่อนที่ไวรัสจะแพร่ระบาดมาจากจีน (7) แต่ถ้าแก้ไขช้า ตรวจโรคเชิงรุกยังพอช่วยได้ เทียบอิตาลีกับจีน (8) การปกปิดข้อมูล การแข่งขันทางการเมือง จะบั่นทอนสถานการณ์ กรณีจีน อิหร่าน อียิปต์ และ (9) ความยากจนและความเหลื่อมล้ำจะพาคนเสี่ยงภัยอย่างที่เกิดในสหรัฐอเมริกา อิตาลี และอินเดีย

บทเรียนสู้โควิด-19 ทั่วโลก (ตอนที่ 1) ตรวจโรคแต่เนิ่นๆ ตรวจเชิงรุก หัวใจคือสวัสดิการสุขภาพ, 2020-04-07

บทเรียนสู้โควิด-19 ทั่วโลก (ตอนจบ) ตั้งรับแต่เนิ่นๆ เปิดเผยข้อมูล ดีกว่าปล่อยบานปลาย,  2020-04-17

บทเรียนที่ 1 ตรวจโรคแต่เนิ่นๆ สร้างความแตกต่างได้

ประเทศที่จัดการปัญหาระบาดได้ดีคือประเทศที่คาดการณ์และออกมาตรการล่วงหน้าไปก่อนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ดีกว่าออกมาตรการตามหลังสถานการณ์

กรณีเกาหลีใต้ ใช้วิธีตรวจประชากรจำนวนมากๆ และตั้งศูนย์ไดรฟ์ทรู และทำให้อัตราการตายอยู่ที่ 0.8% กรณีของจีน แม้จะเกิดการระบาดหนัก แต่เมื่อตั้งตัวได้ ก็ตั้งศูนย์ขึ้นมาคัดกรองและตรวจโรคโดยเฉพาะ

บทเรียนที่ 2 ติดตามคนที่พบผู้ติดเชื้อ เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ

ศึกษากรณีสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง ที่ติดตามการแพร่ระบาดอย่างละเอียด และกรณีเกาหลีใต้มีการแจ้งเตือนพื้นที่ระบาดผ่านโทรศัพท์มือถือ

บทเรียนที่ 3 ไม่ใช่แค่ปิดชุมชน ต้องแยกผู้ป่วยรายบุคคลด้วย

กรณีของจีน เมื่อพบว่าการติดโรคเกิดขึ้นในสมาชิกครอบครัว 75-80% ของจุดการแพร่ระบาด รัฐบาลจีนเปลี่ยนจากเน้นปิดชุมชน ไปสู่การแยกกักผู้ป่วยรายบุคคล

ส่วนการปิดชุมชนบางจุดยังเป็นวิธีควบคู่กัน แต่ไม่ได้สั่งปิดเมืองทั้งหมด มีเพียงอู่ฮั่นและรอบๆ เท่านั้น ที่ใช้วิธีปิดเมือง

บทเรียนที่ 4 ค่ารักษาฟรี คุณจะปลอดภัย ค่ารักษาแพง โรคจะฆ่าคุณ

เกาหลีใต้ และจีน รัฐบาลประกาศเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจและรักษาไวรัสโควิด-19 ทั้งหมด

กรณีสหรัฐอเมริกา ค่ารักษาแพงทำให้คนไปหาหมอน้อยลง ทำให้การแพร่ระบาดกระจายออกไปจนคุมได้ยาก

บทเรียนที่ 5 ระดมกำลังเหมือนอยู่ในสงคราม

เกาหลีใต้ เอกชนช่วยคิดค้นเครื่องตรวจโรค
จีน ระดมเจ้าหน้าที่ทุกกรม ทุกกระทรวง
ไต้หวัน เกณฑ์หมอและห้องทดลองเอกชน ลงโทษผู้ปิดบังข้อมูลการติดเชื้อ

บทเรียนที่ 6 ออกมาตรการฉุกเฉินล่วงหน้า ดีกว่าปล่อยให้บานปลาย

ไต้หวัน ออกมาตรการฉุกเฉินเร็ว ทำให้มีผู้ติดเชื้อต่ำ ทั้งที่อยู่ใกล้จีน และมีคนเดินทางมาจากจีนจำนวนมาก

บทเรียนที่ 7 ออกมาตรการช้า แต่ตรวจโรคเชิงรุกช่วยได้

ในกรณีที่เราพลาดโอกาสในการออกมาตรการตั้งแต่เนิ่น ๆ จนเชื้อโรคแพร่กระจายไปไกลแล้ว ถึงอย่างนั้นเราก็ยังไม่ควรสิ้นหวัง เพราะยังมีสิ่งที่ช่วยกอบกู้สถานการณ์ได้อยู่คือการตรวจโรคเชิงรุก ที่จีนและอิตาลีใช้มาตรการนี้

โดยกรณีของอิตาลี มีการใช้มาตรการตรวจโรคเชิงรุกหลายเมืองเช่นที่เมืองโว ซึ่งอยู่ใกล้เวนิส และพบว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มผู้ติดเชื้อที่เมืองนี้ เป็นกลุ่มที่ไม่แสดงอาการเจ็บป่วย

บทเรียนที่ 8 ปกปิด ปั่นข่าว สถานการณ์ยิ่งแย่

สาเหตุที่ทำให้จีนไม่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในช่วงแรก ส่วนหนึ่งมาจากระบอบการเมืองแบบเผด็จการ เพราะเกรงผู้บังคับบัญชาทำให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยมีแนวโน้มที่จะเมินเฉยต่อปัญหา และไม่แจ้งเรื่องให้ผู้มีอำนาจในปักกิ่งทราบ แนวโน้มเช่นนี้ส่งผลให้รัฐบาลจีนออกมาตรการรับมือช้ากว่าที่ควรจะเป็นในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ซึ่งนับว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์

แน่นอนว่าประเทศจีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่ระบบการเมืองมีปัญหา ในสหรัฐอเมริกาประธานาธิบดีทรัมป์ก็ถูกวิจารณ์ว่าดูเบาความน่ากลัวของโรคระบาดเช่นกัน คาดกันว่าการตอบสนองต่อปัญหาล่าช้าส่งผลให้ไวรัสแพร่ระบาดในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา

ที่อิหร่าน การแก่งแย่งทางการเมืองและการใช้อำนาจทับซ้อนกันของกลุ่มต่าง ๆ ส่งผลให้รัฐบาลตอบสนองต่อปัญหาได้ช้าลง นอกจากนี้ มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ในอิหร่านเลวร้ายลงทุกที

ส่วนที่อียิปต์ มีการประเมินว่า รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อของอียิปต์ต่ำกว่าความเป็นจริง

บทเรียนที่ 9 ความยากจน/ความเหลื่อมล้ำ ทำให้ทุกคนตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น

กรณีของสหรัฐอเมริกา อิตาลี และอินเดีย เมื่อเกิดโรคระบาดในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง ทุกคนจะมีความเสี่ยงติดเชื้อและอัตราเสียชีวิตสูงขึ้นตามไปด้วย

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Max Fisher and Amanda Taub, “The Interpreter: 9 Essential Lessons on Fighting Coronavirus From Around the World”, the New York Times, 19 March 2020.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net