ความตกลงการค้า CPTPP กับวิกฤตของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19)กำลังเป็นวิกฤตใหญ่ที่คนไทยกำลังเผชิญหน้า  ทุกเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 กินพื้นที่สื่อสารมวลชนและพื้นที่ทางสื่อสังคมออนไลน์ ผู้เขียนมีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่จำเป็นต้องนำมาเปิดเผยให้คนไทย โดยเฉพาะผู้อยู่ร่วมกับเชื้อHIVและผู้ป่วยโรคเอดส์จำเป็นต้องรับทราบในฐานะผู้ที่จะได้รับผลกระทบสืบเนื่องหากการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันอังคารที่ 28เมษายน ครม. มีมติเห็นชอบที่จะนำพาประเทศไทยเข้าไปอยู่ภายใต้ข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศฉบับนี้

ก่อนอื่น ผู้เขียนต้องขอกราบขอบพระคุณนายแพทย์มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ และทำให้ผู้เขียนจำเป็นต้องตัดสินใจเขียนบทความนี้ทันที

ข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่เราจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดในการประชุม ครม. วันอังคารนี้คือ เรื่องที่ คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จะเสนอขอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ประเทศไทยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็น “ภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP )”

CPTPP เคยเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายใต้ชื่อความตกลง TPP ซึ่งภาคีสมาชิกประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม แต่สหรัฐอเมริกาตัดสินใจถอนตัวออกไปแล้ว เมื่อต้นปี 2560 เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เห็นว่าความตกลงนี้จะส่งผลให้เกิดการแย่งงานคนงานในสหรัฐฯ ทำให้ปัจจุบันเหลือสมาชิกเพียง 11 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

ต่อมา ปี 2561 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำ “รายงานผลการประเมินผลกระทบ และสิ่งที่ต้องดำเนินการ หากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ” เพื่อท้วงติงการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนฯ ของประเทศไทย ด้วยเล็งเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลายประการ

ผลกระทบที่เด่นชัดคือเรื่องการเกษตรกรรม และการสาธารณะสุข  สอดคล้องกับที่นายแพทย์มงคล ได้กล่าวเอาไว้  ซึ่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม  ผู้เขียนจะมาขยายประเด็นในคราวต่อไปหากมีโอกาส

ในครั้งนี้ ผู้เขียนขอให้ความสำคัญไปที่ประเด็นการสาธารณสุข โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV

ย้อนกลับไปช่วงปี2549-2550 นายแพทย์มงคล ณ สงขลา  ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ได้ดำเนินการเรื่องสำคัญที่เป็นคุโณปการอย่างยิ่งต่อผู้ยากไร้ในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข นอกเหนือจากเรื่องการปรับนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จาก “บัตรทอง30บาท รักษาทุกโรค” มาเป็นการรักษาฟรี ตามเจตนารมณ์ที่ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) วางไว้แต่แรก ก่อนที่จะได้มาประเดิมเป็นนโยบายทางการเมืองของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง

ทั้งนี้ยังมีอีกเรื่องที่เป็นคุโณปการอย่างสูงที่นายแพทย์มงคลได้เริ่มไว้ในขณะที่เป็น รมว.สาธารณสุข คือ ประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licensing หรือ CL) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถนำเข้ายาต้านไวรัส HIV / เอดส์ (และยารักษามะเร็ง  ยาสลายลิ่มเลือด เป็นต้น) มาใช้ดูแลรักษาประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยที่สามารถเลือกยาที่ถูกกว่ายาติดสิทธิบัตรได้

ข้อกังวลที่ผู้เขียนและนายแพทย์มงคลมองเห็นร่วมกันคือ อาจเกิดภาวะที่ประเทศไทยต้องเสียงบประมาณการจัดซื้อยาจากต่างประเทศแพงขึ้น ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงยา ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำรายงานประเมินผลเอาไว้

ซึ่งก็คงไม่ผิดที่พวกเราจะกังวล เพราะที่ผ่านมา  การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีในบ้านเรามีลักษณะ “ปิดลับ” มาโดยตลอด ช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในระหว่างการเจรจามีเพียงเวทีรับฟังความคิดเห็นที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดเพียงไม่กี่ครั้ง โดยส่วนใหญ่ตัวแทนจากภาคธุรกิจ ภาคราชการ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามประเด็นการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดมากเท่านั้น ที่จะได้รับเชิญเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น

ทั้งนี้นายแพทย์มงคลได้ชี้ว่า หากไทยเลือกเข้าร่วมภาคี CPTPP จะทำให้ไทยไม่สามารถทำCLได้  หรือสรุปให้เข้าใจง่ายๆคือ เมื่อทำCLไม่ได้ ไทยจะต้องยอมซื้อยาต้านเชื้อHIVที่ติดสิทธิบัตรเท่านั้น!

แพงแค่ไหนก็ต้องจำยอมซื้อ!

เจตนารมณ์ของสิทธิบัตร คือการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ผลิต คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ  แต่ทั้งนี้ ด้วยความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงมนุษยธรรมด้วย จึงเป็นที่มาของมติการประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2544 ว่า ให้มี “ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาด้านการค้า (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights หรือ TRIPs)” ซึ่งมีสาระสำคัญว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามิได้กีดขวางประเทศสมาชิกในการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องสาธารณสุขของประเทศ ความตกลง TRIPs อนุญาตให้ประเทศสมาชิกใช้ “มาตรการบังคับใช้สิทธิ / สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory licensing :CL)” ได้ ภายใต้เหตุผลที่ประเทศสมาชิกเป็นผู้กำหนดปฏิญญาโดฮา (Doha Declaration) ได้เล็งเห็นความจำเป็นในการช่วยเหลือประเทศที่ขาดศักยภาพการผลิตยา และกำหนดให้คณะมนตรีทริปส์ (TRIPS Council) กำหนดแนวทางแก้ปัญหานี้ ซึ่งคณะมนตรีทริปส์ได้เสนอให้มีการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ยาไปยังประเทศที่ไม่มีศักยภาพการผลิตยาเอง

รายงานประเมินผลกระทบและสิ่งที่ต้องดำเนินการฯ ที่จัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุข ยังได้ระบุต่อไปอีกว่าแม้ในความตกลงหุ้นส่วนฯ มาตรา 18.6 ระบุว่า สมาชิกมีสิทธิ์ที่จะกำหนดข้อยกเว้นที่สำคัญที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามบทนี้ (ได้แก่ สถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ กรณีจำเป็นเร่งด่วนยิ่งยวด วิกฤตด้านสาธารณสุข) แต่กระนั้นการใช้สิทธิ CL ก็ยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องได้ เมื่อเชื่อมโยงกับข้อบทที่9 ว่าด้วยการลงทุน

นอกจากนี้ จากการเปิดเผยของเครือข่ายองค์กรด้านเอดส์กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ได้ชี้ว่า ยังมีมาตรา 28 การพิพาท (dispute settlement) ซึ่งระบุว่าหากคู่กรณีไม่เห็นด้วยกับการใช้สิทธิตามที่ประเทศภาคีมีอยู่ในข้อตกลงการค้าอื่นๆ ก็มีสิทธินำเรื่องเข้ากระบวนการระงับข้อพิพาทได้

แปลความได้ว่า บริษัทต่างชาติสามารถฟ้องรัฐไทย เพื่อไม่ให้ใช้สิทธิCLได้!!! โดยไม่ต้องสนใจว่าเป็นการดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิและเป็นไปเพื่อมนุษยธรรมทางด้านสาธารณะสุขที่ประชาชนไทยพึงได้รับการดูแลจากรัฐ

ซึ่งหากไทยเราเข้าร่วม CPTPP แล้ว ทำให้เราไม่สามารถประกาศใช้สิทธิ CL ได้  นี่จะเป็นความตกลงทางการค้าที่อำมหิต ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง ต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อHIV และผู้ป่วยโรคอื่นๆในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ!

และยังอาจกระทบต่อสิทธิที่ประชาชนพึงได้จากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ สปสช. ต้องแบกรับภาระการซื้อยาติดสิทธิบัตร ทั้งๆที่มียาทางเลือก แต่ไม่มีสิทธิเลือก

ความสำคัญของยาต้านเชื้อต่อตัวผู้อยู่ร่วมกับเชื้อHIV ยาต้านเชื้อเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ตลอดชีวิต  มากกว่าเพื่อให้ยังมีชีวิตอยู่รอด และไม่เป็นโรคเอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome: AIDS)

ผู้เขียนขออธิบายย้ำว่า การติดเชื้อHIV ไม่ได้หมายความว่าผู้ติดเชื้อจะต้องป่วยเป็นโรคเอดส์เสมอไป เพราะหากได้รับยาต้านเชื้ออย่างสม่ำเสมอ ภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่บกพร่อง ก็เท่ากับว่าไม่ได้เป็นโรคเอดส์ โรคเอดส์นั้นคือภาวะการป่วยขั้นสุดท้ายของผู้ติดเชื้อHIV  นี่คือสิ่งที่สังคมไทยยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด แยกไม่ออกมาโดยตลอด

มากกว่านั้น ยาต้านเชื้อHIVคือปัจจัยที่จะทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อHIV สามารถมีชีวิตอย่างปกติสุขเช่นคนปกติได้ทุกประการ เพราะการทานยาอย่างสม่ำเสมอจะช่วยสร้างภาวะ  Undetectable = Untransmittable (U=U) นั่นคือ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อHIVจะไม่สามารถส่งต่อเชื้อHIVไปให้ผู้อื่นผ่านการมีเพศสัมพันธ์

นั่นหมายถึงการที่ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อHIVจะมีสิทธิในการดำรงชีวิต สร้างความครอบครัว มีความสัมพันธ์ได้เสมอหน้ากับคนปกติ

ผู้เขียนจึงขอให้มิตรสหายเครือข่ายผู้ปกป้องสิทธิความหลากหลายทางเพศ และผู้อยู่ร่วมกับเชื้อHIVจับตาดูการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่จะถึงนี้ให้ดี หรือหากใครสามารถส่งบทความนี้ไปถึงเหล่าคณะรัฐมนตรีได้ จักขอบพระคุณอย่างยิ่ง

เพราะนี่จะเป็นการพิสูจน์ว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญต่อมนุษยธรรม หรือว่าจะเห็นแก่ประโยชน์ทางการค้ามากกว่า ในขนาดที่สามารถยอมรับได้แม้ข้อตกลงอัปยศที่ขายชาติ ทั้งๆที่รัฐบาลพร่ำเรื่องความรักชาติมาตลอด!

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท