Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วิกฤตโรคระบาดไวรัสโคโรนาได้ชี้ชัดว่างานด้านการดูแล (care work) และงานสร้างสรรค์ชีวิต (life-making work) คืองานที่ขาดไม่ได้ในสังคม – Tithi Bhattacharya สนทนากับ Sarah Jaffe

(บทความนี้ขออนุญาตแปลอย่างเป็นทางการแล้ว และสามารถเข้าถึงต้นฉบับได้ที่ https://www.dissentmagazine.org/online_articles/social-reproduction-and-the-pandemic-with-tithi-bhattacharya)

วิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนแบบไม่ถนอมน้ำใจ ว่าสังคมเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเพียงใด และทำให้เห็นว่าอะไรที่เราขาดไม่ได้ และอะไรที่เราสละได้ กลับกลายเป็นว่าหลายภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมถูกแช่แข็งในห้วงเวลาวิกฤตในขณะที่ทรัพยากรถูกดึงไปใช้ในการสาธารณสุข หลายสิ่งอย่างที่พวกเราเคยถูกโจมตีว่าเป็นไปไม่ได้ ตั้งแต่ปล่อยนักโทษออกจากเรือนจำจนถึงการพักชำระเงินค่าเช่าบ้านและหนี้สินเชื่อบ้าน ไปจนถึงอะไรง่าย ๆ อย่างการแจกเงินสดถ้วนหน้าให้ทุกคนในประเทศ ทั้งหมดนี้กำลังเกิดขึ้น

Tithi Bhattacharya ได้ครุ่นคิดมาระยะหนึ่งแล้วว่าสภาพของสังคมที่คำนึงถึงชีวิตมนุษย์มากกว่าความต้องการของตลาดเสรี อันสูงส่งจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เธอเป็นอาจารย์ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์และเป็นผู้อำนวยการสถาบันโลกคดีศึกษา (Global Studies) ที่มหาวิทยาลัยเปอร์ดู (Purdue University) ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอได้ร่วมเขียนหนังสือ Feminism for the 99 percent: A Manifesto (เข้าถึงในรูปแบบ e-book ได้ที่เว็บไซต์สำนักพิมพ์ Verso) รวมทั้งยังเป็นกองบรรณาธิการนิตยสารเปิดตัวใหม่ชื่อว่า Spectre นอกจากนั้นเธอยังเป็นบรรณาธิการในหนังสือเล่มล่าสุดชื่อ Social Reproduction Theory: Remapping Class, Recentering Oppression ฉันกับ Tithi ชวนกันคุยว่าทฤษฎีการผลิตซ้ำทางสังคม (social reproduction theory) ให้บทเรียนอะไรเราได้บ้างในช่วงเวลาเช่นนี้ ข้อเรียกร้องที่ฝ่ายซ้ายควรเสนอในตอนนี้ได้แก่อะไรบ้าง และเราจะปรับใช้บทเรียนเหล่านี้เพื่อป้องกันวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร

 

Sarah Jaffe: เพื่อเป็นการเริ่มต้น ช่วยอธิบายสั้น ๆ หน่อยค่ะว่าทฤษฎีการผลิตซ้ำทางสังคมคืออะไร

Tithi Bhattacharya: นิยามการผลิตซ้ำทางสังคมที่ดีที่สุดคือ กิจกรรมและสถาบันทางสังคมซึ่งจำเป็นต่อการสร้างสรรค์ชีวิต ค้ำชูชีวิต รวมทั้งทดแทนประชากรในแต่ละรุ่น ฉันเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า กิจกรรมที่ “สร้างสรรค์ชีวิต” (life-making)

การสร้างสรรค์ชีวิตในความหมายที่ตรงตัวที่สุดคือการให้กำเนิด แต่ในการค้ำชูชีวิตนั้นไว้เราต้องพึ่งพากิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายหลายกิจกรรม เช่น การทำความสะอาด การป้อนอาหาร การทำอาหาร การซักทำความสะอาดเสื้อผ้า รวมถึงสถาบันเชิงกายภาพที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น บ้านสักหลังสำหรับอาศัย ขนส่งสาธารณะสำหรับเดินทางไปที่ต่าง ๆ สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ สวนสาธารณะ กิจกรรมต่าง ๆ หลังเลิกเรียน โรงเรียนและโรงพยาบาลเป็นตัวอย่างของสถาบันทางสังคมพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำนุบำรงและสร้างสรรค์ชีวิต

กิจกรรมและสถาบันเหล่านั้นยึดโยงกับกระบวนการสร้างสรรค์ชีวิตที่เราเรียกว่า งานด้านการผลิตซ้ำทางสังคมและสถาบันด้านการผลิตซ้ำทางสังคม อย่างไรก็ตาม การผลิตซ้ำทางสังคมก็เป็นกรอบแนวคิดด้วย มันคือแว่นที่เราใช้มองและพยายามทำความเข้าใจโลกรอบตัว มันเปิดพื้นที่ให้เราเห็นที่มาของความมั่งคั่งในสังคมของเรา ซึ่งก็คือทั้งชีวิตมนุษย์และแรงงานมนุษย์

กรอบคิดของทุนนิยมหรือแว่นแบบทุนนิยมอยู่ในขั้วตรงข้ามกับการสร้างสรรค์ชีวิต กล่าวคือ เป็นการสร้างสิ่งของ (thing-making) หรือการสร้างผลกำไร (profit-making) ทุนนิยมถามว่า “เราจะผลิตสิ่งของได้มากขึ้นอีกเท่าไร” เพราะสิ่งของนำไปสู่ผลกำไร สิ่งที่ทุนนิยมคำนึงถึงไม่ใช่ผลกระทบที่สิ่งเหล่านั้นมีต่อผู้คน แต่เป็นการสร้างอาณาจักรของสิ่งของที่มีทุนนิยมเป็นผู้วิเศษอยู่เหนือทุกสรรพสิ่ง

แรงงานในกิจกรรมเหล่านี้และอาชีพด้านการผลิตซ้ำทางสังคม เช่น การพยาบาล การสอนหนังสือ การทำความสะอาดเป็นผู้หญิงเสียส่วนใหญ่ และด้วยเหตุที่ว่าทุนนิยมเป็นระบบของการสร้างสิ่งของ ไม่ใช่ระบบที่สร้างสรรค์ชีวิต กิจกรรมและแรงงานเหล่านี้จึงล้วนถูกลดทอนคุณค่าอย่างรุนแรง แรงงานด้านการผลิตซ้ำทางสังคมได้รับค่าจ้างต่ำที่สุด เป็นผู้ที่จะถูกเลิกจ้างเป็นคนแรก เป็นผู้ที่ต้องเผชิญกับการคุกคามทางเพศเป็นประจำและหลายครั้งเป็นความรุนแรงโดยตรง

 

Jeffe: เราอยู่ในช่วงเวลาที่มีผีดิบอย่างเกล็น เบ็ค (Glenn Beck [นักวิจารณ์การเมืองและนักจัดรายการสายอนุรักษนิยมชาวอเมริกัน – ผู้แปล]) ที่กล่าวว่า พวกเขายินดีตายเพื่อให้ทุนนิยมทำงานต่อไปได้ นี่ทำให้ภาพทั้งหมดกระจ่างชัด

Bhattacharya: วิกฤตไวรัสโคโรนาทำให้เราเห็นภาพที่ชัดขึ้นอย่างน่าสลดใจในสองด้าน ด้านแรก มันทำให้เห็นภาพที่นักสตรีนิยมสายการผลิตซ้ำทางสังคม (social reproduction feminists) ได้เน้นย้ำมาสักพักหนึ่งชัดเจนขึ้น นั่นคือ งานด้านการดูแลและงานสร้างสรรค์ชีวิตเป็นงานที่ขาดไม่ได้ในสังคม ตอนนี้ที่เราอยู่ระหว่างการปิดเมือง ไม่มีใครจะมาพูดหรอกว่า “เราต้องการนายหน้าซื้อขายหุ้นกับวาณิชธนากร เปิดบริการเหล่านั้นไว้เถอะ” มีแต่บอกว่า “พยาบาลต้องทำงานต่อไป พนักงานทำความสะอาดต้องทำงานต่อไป งานเก็บขยะบริการปกติ การผลิตอาหารเดินหน้าต่อ” อาหาร แหล่งพลังงาน ที่อยู่อาศัย การทำความสะอาด เหล่านี้คือ “บริการที่จำเป็น” (essential services)

วิกฤตเช่นนี้ยังเผยให้เราเห็นอย่างน่าเศร้าถึงสภาพของทุนนิยมที่ไร้สมรรถภาพอย่างสมบูรณ์ในการรับมือกับโรคระบาด ทุนนิยมแสวงหาผลประโยชน์มากกว่าค้ำชูชีวิต [นายทุนโต้แย้งว่า] ผู้ได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในเวลาเช่นนี้ไม่ใช่ชีวิตนับไม่ถ้วนที่กำลังสูญเสียไป แต่คือเศรษฐกิจต่างหาก ราวกับว่าเศรษฐกิจคือเด็กตัวน้อยสุดแสนจะบอบบางที่ทุกคนนับตั้งแต่ทรัมป์ (Donald Trump) ไปจนถึงบอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) พร้อมจับดาบประกายแสงเพื่อปกป้อง

ขณะเดียวกัน ภาคสาธารณสุขในสหรัฐอเมริกาถูกล้างผลาญด้วยนโยบายการแปรรูปเป็นเอกชน (privatization) และมาตรการรัดเข็มขัด (austerity measures) ผู้คนกำลังพร่ำบอกให้พยาบาลทำหน้ากากอนามัยกันเองที่บ้าน ฉันพูดอยู่เสมอว่าทุนนิยมทำให้ชีวิตและการสร้างสรรค์ชีวิตเป็นเรื่องของปัจเจก (privatize) แต่ฉันคิดว่าหลังจากโรคระบาดครั้งนี้ เราควรจะพูดเสียใหม่ว่า “ทุนนิยมทำให้ชีวิตเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ก็ผลักภาระให้ความตายเป็นเรื่องส่วนรวม

 

Jaffe: ฉันอยากชวนคุยต่อจากตอนแรกว่า งานดูแลและงานด้านการผลิตซ้ำทางสังคมประเภทอื่น ๆ ถูกทำให้ด้อยค่าลงอย่างไรบ้าง ผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนียเผยแพร่รายชื่อธุรกิจที่ค้ำจุนชีวิต (life-sustaining) ที่ยังได้รับอนุญาตให้เปิดบริการ พนักงานเก็บขยะหยุดงานประท้วงเพราะไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง แนวโน้มที่จะลดทอนคุณค่างานประเภทนี้เป็นทั้งผลและเหตุของทัศนคติที่เรามีต่อผู้คนที่ทำหน้าที่เหล่านั้น

Bhattacharya: ตอนนี้บ้านพักคนชราและธุรกิจด้านบริการให้ความช่วยเหลือให้บริการคนราว 4 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในระบบประกันสังคม (Medicare) ล่าสุดสำนักข่าว The New York Times รายงานว่า แต่ละปีผู้ป่วยจำนวน 380,000 คนเสียชีวิตจากการติดเชื้อในสถานดูแลระยะยาวที่มักจะไม่ยอมลงทุนในระบบสุขาภิบาลและกระบวนการดูแลสุขภาพ สถาบันเหล่านี้มีบทบาทอย่างมากในการทำให้โรคระบาดบานปลาย ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ ประชากร 27 ล้านคนในสหรัฐอเมริกายังไม่มีประกันสุขภาพ

เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานด้านบริการสุขภาพตามครัวเรือนและผู้ช่วยพยาบาลในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้หญิง มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในนั้นเป็นผู้หญิงผิวสี ฉันไม่แน่ใจ... อันที่จริงไม่มีใครแน่ใจหรอก... ว่ามีกี่คนเป็นแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน พวกเขาเปราะบางเป็นทวีคูณ ทั้งจากความเสี่ยงที่จะตกงานและเสี่ยงถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร (Immigration and Customs Enforcement หรือ ICE) ตรวจค้น โดยเฉลี่ยแล้ว พวกเขามีรายได้ประมาณ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง (ประมาณ 320 บาท – ผู้แปล) และพวกเขาแทบจะไม่มีวันลาป่วยหรือประกันสุขภาพเลย เหล่านี้คือผู้หญิงซึ่งงานของพวกเขากำลังค้ำจุนสถานดูแลมากมายในประเทศของเรา

ฉันลองเลือกเอาอาชีพบางกลุ่มในรายชื่อบริการที่จำเป็นของมลรัฐอินเดียนาและเพนซิลเวเนีย และเปรียบเทียบค่าแรงของงานบริการเหล่านั้นกับค่าจ้างของผู้บริหาร ผลคือแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว แรงงานในงานบริการเหล่านี้ซึ่งเราถูกพร่ำบอกว่ามีความสำคัญหนักหนา ผู้ซึ่งพวกเรา นักสตรีนิยมและนักสังคมนิยมตระหนักมาตลอดว่ามีความสำคัญ ได้รับค่าแรงต่ำกว่า 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ขณะที่นักการธนาคารทั้งหลายนั่งอยู่บ้าน

ในห้วงเวลาวิกฤต เราจำเป็นต้องเสนอข้อเรียกร้องต่าง ๆ เช่น เรียกร้องสิ่งที่ฉันเรียกว่า “เงินอุดหนุนช่วงโรคระบาด” (pandemic pay) ให้กับแรงงานบริการที่จำเป็นอย่างทันที คนเหล่านี้กำลังเสี่ยงชีวิต พวกเขาต้องได้ค่าแรงที่สูงกว่าที่เป็นอยู่มากๆ เรียกร้องให้ลงทุนในโรงพยาบาลและบริการทางการแพทย์ทันที ไม่ก็ลองดึงบริการสุขภาพเอกชนมาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ (nationalize) เหมือนที่ประเทศสเปนทำ เรียกร้องให้มีศูนย์ดูแลเด็กและความช่วยเหลือทางการเงินถ้วนหน้าทันที โดยเฉพาะแรงงานที่ยังต้องเดินทางไปทำงาน และเรียกร้องให้หยุดการบุกตรวจแรงงานต่างชาติหรือการส่งกลับประเทศซึ่งจะทำให้ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้ พวกเขากลัวว่าการหาหมอจะทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ICE) สาวถึงตัว ประเทศไอร์แลนด์และโปรตุเกสได้บังคับใช้กฎหมายขยายวีซ่าทุกประเภท และยกเลิกสถานะการเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย (undocumented immigration) เหล่านี้คือต้นแบบที่เราควรเดินรอยตาม

 

Jaffe: การระบาดเป็นวงกว้างในมลรัฐวอชิงตันส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะแรงงานในสถานดูแลผู้สูงอายุทำงานเสริมหลายที่ ไวรัสจึงกระจายสู่สถานดูแลหลายแห่ง การได้ค่าแรงไม่เพียงพอจากการประกอบอาชีพเดียวก็ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัสมากขึ้น

Bhattacharya: ในแง่หนึ่ง ไวรัสมีความเป็นประชาธิปไตย แม้แต่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ยังติดเชื้อ แต่อย่าเพิ่งหหลงเชื่อว่าการเข้าถึงการรักษาจะเป็นประชาธิปไตยเหมือนกับตัวไวรัส ก็เหมือนกับการเจ็บไข้ได้ป่วยอื่น ๆ ทั้งหลายภายใต้ทุนนิยม ความยากจนและโอกาสเข้าถึงการดูแลจะเป็นตัวตัดสินว่าใครจะอยู่ใครจะไป

ไวรัสนี้จะส่งผลรุนแรงต่ออินเดีย ประเทศของฉัน นายกรัฐมนตรีฟาสซิสต์ นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) เพิ่งจะสั่งปิดเมือง 21 วัน ธุรกิจปิดทำการทุกเมือง แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับแรงงานข้ามชาติ โมดีมีแผนรับรองสำหรับพวกเขาไว้หรือไม่ ไม่เลย แรงงานข้ามชาติต้องเดินเท้าทั่วประเทศเพื่อหาทางกลับบ้านเกิดของตัวเอง คนเดินเรียงแถวตามท้องถนนตั้งแต่ตะวันตกจรดตะวันออก โมดีสั่งปิดขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบทั้งของรัฐและเอกชนเพื่อหยุดยั้งไม่ให้คนกลับบ้านเนื่องจากกลัวว่าจะเป็นพาหะแพร่เชื้อ อย่างไรก็ตาม โมดีกลับเปิดประเทศต้อนรับชาวอินเดียที่มาจากประเทศอื่น ซึ่งเป็นชนชั้นกลางระดับบน มีทั้งเที่ยวบินพิเศษ มีข้อยกเว้นต่าง ๆ ที่อนุญาตให้เที่ยวบินลงจอดได้ทั้งที่มีประกาศปิด รวมถึงการออกวีซ่าพิเศษให้

นี่คือวิธีที่รัฐบาลทุนนิยมหลายแห่งของประเทศซีกโลกใต้ (Global South) รับมือกับคนจนในประเทศ เราคงจะได้เห็นเชื้อโรคแพร่เข้าไปในสลัมของเมืองกัลกัตตา มุมไบ เมืองโจฮันเนสเบิร์ก และที่อื่น ๆ คุณคงได้ยินคำแถลงจากรัฐบาลของเราว่าไวรัสนี้ทำให้โลกฟื้นฟู กำจัดสิ่งที่ไม่ต้องการ นี่คือข้อเรียกร้องแบบสุพันธุศาสตร์ (eugenicist/eugenics – สุพันธุศาสตร์ คือ แนวคิดความเชื่อว่าด้วยการพัฒนา “คุณภาพ” ของประชากรมนุษย์ หนึ่งในนั้นคือการกำจัดส่วนด้อยออกไป – ผู้แปล) เพื่อกวาดล้างผู้ที่เปราะบางและอ่อนแอที่สุดออกไปจากสังคม

 

Jaffe: สิ่งที่โรคนี้ทำให้เราเห็นคือ มลภาวะไม่ได้ลดลงเพราะจำนวนคนลดลง เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้เสียชีวิต แต่มันบ่งบอกว่าสุขภาพของโลกกำลังดีขึ้นมากเพราะจำนวนงานลดลง เพราะอย่างที่คุณบอก คนกำลังทำแค่งานที่สร้างสรรค์ชีวิต

Bhattacharya: ข้อถกเถียงที่ว่าไวรัสโคโรนาเป็นปุ่มรีเซ็ตโลกนั้นเป็นข้อถกเถียงแบบฟาสซิสต์สิ่งแวดล้อม (eco-fascist) สิ่งที่มันควรจะเป็นจริง ๆ คือปุ่มรีเซ็ตการจัดระเบียบทางสังคม ถ้าไวรัสหมดแล้วและเรากลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม แสดงว่าเราไม่ได้บทเรียนอะไรเลย

เพราะเราจำเป็นต้องอยู่บ้าน เราก็เลยสามารถมองหาความสวยงามและมีเวลาให้กับคนร่วมหลังคาเรือนได้ แต่อย่าลืมว่าขณะที่บ้านมอบความปลอดภัยและความมั่นคง บ้านภายใต้ทุนนิยมก็เป็นเวทีของความรุนแรงอย่างเหลื่อเชื่อ สองวันก่อนศูนย์พักพิงท้องถิ่นสำหรับผู้เผชิญความรุนแรงในครอบครัวที่ฉันเคยเป็นอาสาสมัครส่งอีเมล์มาสอบถามว่าฉันจะกลับเข้าไปช่วยอีกไหม เพราะคาดการณ์ว่าตัวเลขผู้ต้องการความช่วยเหลือจะพุ่งสูงขึ้น

เพื่อนร่วมอุดมการณ์สตรีนิยมของฉันในบราซิล ศรีลังกา และอินเดียต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกัน จำนวนเหตุทำร้ายร่างกายในครอบครัวจะพุ่งสูงขึ้นเพราะสถานการณ์ตึงเครียดจากการที่ทุกคนต้องอยู่บ้าน เราไม่ต้องการการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่เราต้องการการเว้นระยะห่างทางกายภาพกับความเป็นปึกแผ่นทางสังคมต่างหาก เราทำเป็นไม่สนใจเพื่อนบ้านสูงอายุที่อยู่บ้านฝั่งตรงข้ามไม่ได้ การไปร้านขายของชำอาจจะไม่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา เราทำเป็นไม่สนใจเพื่อนร่วมงานที่มาทำงานด้วยการแต่งหน้าหนาเตอะปิดรอยช้ำรอบตาแล้วอ้างว่าเดินชนประตูไม่ได้ เราต้องคอยหมั่นถามไถ่พวกเขา

ผู้คนกำลังทำสิ่งเหล่านี้อย่างเต็มใจแม้ว่ารัฐบาลของเราจะไม่สนับสนุนอะไรเลยก็ตาม มีครูที่ขับรถไปที่บ้านนักเรียน โบกมือให้พร้อมบอกว่า “เดี๋ยวอะไร ๆ ก็ดีขึ้นนะ” โรงเรียนในเขตที่ฉันอยู่ และอีกหลาย ๆ เขตพื้นที่ ก็จัดหาอาหารให้ทุกคนที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ในรัฐของฉัน อาหารถูกส่งไปตามบ้านเลยด้วยซ้ำ นี่ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลกลางหรือนักการเมืองเคยทำ นี่คือสิ่งที่ครูและเขตพื้นที่โรงเรียนตัดสินใจทำกันเอง นี่คือการกระทำอันยอดเยี่ยมที่แสดงถึงความเป็นปึกแผ่น ความรัก และความห่วงใยที่เบ่งบานขึ้นในวิกฤตครั้งใหญ่นี้ นี่คือบ่อเกิดแห่งความหวังของเรา

 

Jaffe: คราวนี้ฉันสงสัยเรื่องงานบ้าน เพราะเราอยู่ในสถานการณ์ที่ผู้หญิงเป็นคนทำงาน “ที่จำเป็น” จำนวนมากที่ยังต้องดำเนินต่อไป แต่งานดูแลในบ้านที่ปกติผู้หญิงเหล่านั้นเป็นคนรับผิดชอบได้กลายเป็นงานของบรรดาสามีที่จู่ ๆ กลับ “จำเป็น” น้อยกว่า ประเด็นนี้ทำให้ความเข้าใจของคนบางกลุ่มเกี่ยวกับงานผลิตซ้ำทางสังคมมีมุมมองเปลี่ยนไปอย่างไร

Bhattacharya: โจน ซี. วิลเลียมส์ (Joan C. Williams) ทำงานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งซึ่งมีข้อสรุปว่า ผู้ชายชนชั้นแรงงานเลี้ยงลูกมากกว่าผู้ชายชนชั้นกลาง ผู้ชายชนชั้นกลางดูจะชอบโอ้อวดเรื่องนี้กัน แต่ผู้ชายชนชั้นแรงงานไม่ค่อยยอมรับเพราะมองว่ามันเป็นงานของผู้หญิง

ฉันสงสัยว่าขนบแบบนี้จะลดความเข้มข้นลงบ้างไหม ในสหรัฐอเมริกาผู้หญิงทำงานบ้านมากกว่าผู้ชายโดยเฉลี่ยเก้าชั่วโมงต่อสัปดาห์ เวลาเก้าชั่วโมงนั้นอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ฉันสงสัยว่าทัศนคติจะเปลี่ยนไปด้วยได้ไหม ผู้ชายจะรู้สึกภาคภูมิใจขึ้นไหมกับการดูแลครอบครัวขณะที่คู่ครองของตนกำลังดูแลโลก

 

Jaffe: อย่างที่คุณบอก หนึ่งในเหตุผลว่าทำไมผู้ชายไม่ยอมรับก็คือมันเป็นงานของผู้หญิง นอกจากนี้ งานจำนวนมากยังแบ่งแยกเชื้อชาติด้วย คนจำนวนมากที่ทำงานดูแลเป็นผู้อพยพหญิง เป็นผู้หญิงผิวสี

Bhattacharya: ในสหรัฐอเมริกา งานประเภทนี้แบ่งแยกเชื้อชาติ ในที่อื่นของโลก เช่นอินเดีย คนที่ทำงานนี้ก็ยังคงเป็นกลุ่มผู้อพยพหญิง กลุ่มคนที่ยากจนที่สุด และมักจะมาจากวรรณะต่ำสุด คนที่ทำงานนี้คือคนที่เปราะบางที่สุดในทุกสังคม ค่าจ้างและสวัสดิการที่พวกเขาได้รับสะท้อนอย่างนั้น

ในแง่ของการผลิตซ้ำทางสังคม งานหลายอย่างที่เราต้องการให้เสร็จในแต่ละวันมีผู้หญิงผิวสีเป็นผู้รับภาระ เราจะกินอาหาร เดินบนถนน มีคนดูแลลูก ๆ และผู้สูงอายุ มีบ้านและโรงแรมที่สะอาดไม่ได้เลยถ้าหากไม่มีผู้อพยพผู้หญิงและผู้หญิงผิวสีที่ทำงานพวกนี้ งานสร้างสรรค์โลกเหล่านี้อยู่นอกสายตาของทุนนิยมอย่างสิ้นเชิง

 

Jaffe: เราเริ่มได้ยินบ่อยขึ้นว่าวิกฤตครั้งนี้เหมือนสงคราม แต่นักเศรษฐศาสตร์ เจมส์ มีดเวย์ (James Meadway) กล่าวว่านี่คือเศรษฐกิจแบบตรงข้ามสงคราม (anti-wartime economy) เพราะสิ่งที่เราต้องทำนั้นตรงข้ามกับสงคราม เราต้องลดการผลิตให้น้อยลง ฉันหวังว่านี่จะทำให้เกิดความเข้าใจว่างานที่จำเป็นและต้องมีอยู่ต่อไปแม้ในโลกที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิง คืองานที่ถูกลดคุณค่าอย่างเป็นระบบมาเป็นเวลาหลายร้อยปี มากกว่าจะเป็น “กำลังพล” ที่เราคลั่งไคล้เหลือเกิน

Bhattacharya: ฉันเห็นด้วยกับเจมส์ว่าการผลิตจะต้องลดลง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกประเภทของการผลิตที่ต้องลดลง เราต้องเพิ่มการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร และทรัพยากรสร้างสรรค์ชีวิตที่จำเป็นอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกา—ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก—ฉันมีเพื่อน ๆ พยาบาลที่ยังต้องไปทำงานโดยไม่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสม

แต่ลองนึกถึงอย่างการซื้อของออนไลน์ ก็ดีนะที่เราสามารถซื้อเสื้อผ้าหรือรองเท้าได้ แต่อย่าลืมว่า แม้ว่ารองเท้าคู่นั้นจะทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อคุณสั่งสินค้ามันก็ยังต้องเดินทางผ่านที่ทำงานหลาย ๆ ที่ก่อนจะถึงหน้าบ้านคุณอยู่ดี ลองคิดถึงคนขับรถบรรทุกที่ขนส่งสินค้า คิดถึงคนเฝ้าจุดพักรถบรรทุก คิดถึงคนทำความสะอาดจุดพักรถพวกนั้น ถ้าคุณจะซื้อยาที่จำเป็นต้องซื้อ ซื้อไปเลย แต่รองเท้าสวย ๆ น่าจะพอเอาไว้ทีหลังได้

เรามักลืมคิดถึงแรงงานที่มองไม่เห็นที่อยู่เบื้องหลังรองเท้าเหล่านั้น เราลืมคิดถึงมนุษย์ในภาคการผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่ส่งรองเท้ามาถึงหน้าบ้านเรา แต่ในช่วงเวลาโรคระบาดเช่นนี้ เราต้องเริ่มคิดถึงคนเหล่านั้นและคิดตัดสินใจว่าเราจะยอมให้พวกเขาเสี่ยงมาทำงานและทำอะไรแบบนี้ให้เราไหม เราอยากจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับพวกเขาไหม นี่คือการมองไปที่แรงงานมนุษย์ แทนที่จะมองผลผลิตของแรงงานมนุษย์

อย่างที่สองเกี่ยวกับวลี “สนับสนุนกำลังพลของเรา” คือ เราต้องนิยามคำว่ากำลังพลใหม่ทั้งหมด เจ้าหน้าที่สาธารณสุข คนงานผลิตอาหาร คนทำความสะอาด พนักงานเก็บขยะ นี่ต่างหากกำลังพลของเรา! นี่คือกลุ่มคนที่เราควรสนับสนุน เราไม่ควรคิดถึงกำลังพลในฐานะกลุ่มคนที่คร่าชีวิต เราต้องคิดถึงกำลังพลในฐานะกลุ่มคนที่มอบและค้ำจุนชีวิต

 

Jaffe: เราเจอกับการไม่ยอมเปลี่ยนแปลงทุนนิยมเพื่อที่จะสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาหลายสิบปีแล้ว ตอนนี้เราก็เห็นแล้วว่าอะไร ๆ เปลี่ยนแปลงได้เร็วขนาดไหน จะเห็นได้จากโรงกลั่นน้ำมันและแม้แต่ฟอร์ด (Ford) ที่วางแผนเปลี่ยนมาผลิตเจลล้างมือหรือเครื่องช่วยหายใจ ประสบการณ์นี้สอนอะไรเราบ้างเกี่ยวกับการต่อสู้กับหายนะทางภูมิอากาศในอนาคต

Bhattacharya: การต่อสู้เพื่อโครงสร้างพื้นฐานของเรานั้นจำเป็นแต่ไม่เพียงพอ เราต้องสู้เพื่อเปลี่ยนทัศนคติต่อการจัดระเบียบทางสังคมด้วย ซึ่งยากกว่าการสู้เพื่อผลประโยชน์ในแบบประชาธิปไตยสังคมนิยมมาก เรารู้แล้วว่าอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจะทำให้ความสามารถผลิตอาหารของเราในระดับโลกเข้าขั้นวิกฤต

ถ้าเราไม่ควบคุมอุณหภูมิโลก มันจะสูงขึ้นมากในระดับที่จะทำการเกษตรกลางแจ้งไม่ได้เกือบทั้งปีในพื้นที่อย่างเอเชียใต้และแอฟริกา และปศุสัตว์จะตาย ทุกวันนี้ในเดลีที่ครอบครัวฉันอาศัยอยู่ โรงเรียนต้องปิดเป็นเวลาหลายเดือนเพราะร้อนเกินไป และในฤดูหนาวก็ต้องปิดเพราะหมอกควันอีก

ภัยคุกคามต่อการผลิตอาหารจะลุกลามไปสู่การเหยียดเพศที่เพิ่มสูงขึ้น และอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงต่อผู้หญิงทั่วโลก เพราะผู้หญิงหรือผู้ที่นิยามตนเองว่าเป็นผู้หญิงนั้นต้อง "รับผิดชอบ" หุงหาอาหาร และส่วนใหญ่ก็ต้องผลิตอาหารนั้นเองด้วย ตอนนี้ทั่วโลกก็กำลังเจอวิกฤตน้ำดื่มสะอาดที่กำลังจะแย่กว่าเดิม

พูดง่าย ๆ คือ ถ้าเราไม่จัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วนเหมือนที่เราจัดการกับไวรัสโคโรนาตอนนี้ โรคระบาดครั้งนี้จะเป็นช่วงพักร้อนไปเลยเมื่อเทียบกับสิ่งที่กำลังใกล้เข้ามา หายนะทางภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องชั่วคราว และคนจำนวนมากก็ไม่มีทางเลือกพอที่จะอยู่บ้านเฉย ๆ ได้

เรากำลังเห็นว่ารัฐทุนนิยมสามารถออกมาตรการที่ไม่อาจเห็นได้ในภาวะปกติมาเพื่อจัดการกับวิกฤต รัฐบาลอังกฤษกำลังเยียวยาค่าแรง 80 เปอร์เซ็นต์ให้กับแรงงานจำนวนมาก รัฐบาลสหรัฐอเมริกากำลังวางแผนส่งเช็คเงินสดให้กับครัวเรือน แต่ถ้ามาตรการเหล่านี้และการให้ความสำคัญกับสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ หายไปพร้อมกับโรคระบาด หายนะทางภูมิอากาศจะมาแน่ และจะไม่มีทางออกใด ๆ ทั้งสิ้น

หลังวิกฤตโควิด-19 ทุนนิยมจะพยายามทำให้ทุกอย่างเป็นเหมือนเดิม เชื้อเพลิงฟอสซิลจะถูกนำมาใช้ต่อไป หน้าที่ที่เราต้องทำก็คือ อย่าให้ระบบลืม [ว่าอะไรสำคัญ]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net