“ข้าวแลกปลา” รูปแบบการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

“ความจริงของชีวิต คือทุกคนต้องการใช้ตังค์ มีตังค์ร้อยบาทเอาไปซื้อข้าวสารบาทเดียว เอาไปใช้ส่วนอื่นเก้าสิบเก้าบาท ชาวนาเอาตังค์ร้อยบาทมาซื้อปลากี่บาท เขาจำเป็นต้องใช้ตังค์มากกว่าเอาข้าวมาแลกปลา”

แจ๊ค(นามสมมติ) ประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ [1]

 

คำกล่าวข้างต้นคือทรรศนะของชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ต่อกิจกรรม “ข้าวแลกปลา” ซึ่งกำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนในสังคม ลักษณะของกิจกรรมดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนผลผลิตของเกษตรกรสองกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวและกลุ่มเกษตรกรที่ออกเรือขนาดเล็กทำการประมงในทะเล

วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2563 เครือข่ายชาวนาจังหวัดยโสธรได้จัดส่งข้าวสารจำนวน 9 ตัน มาแลกกับปลาที่จับโดยชาวประมงจังหวัดภูเก็ตและพังงา ซึ่งกองทัพอากาศรับหน้าที่ขนส่งโดยใช้เครื่องบิน ซี-130 การแลกเปลี่ยนผลผลิตดำเนินการภายใต้ “โครงการขนข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล ฝ่าวิกฤติโควิด-19” ที่จัดทำโดยมูลนิธิชุมชนไท ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณีที่ชาวประมงชุมชาวเลราไวย์ ขายสัตว์น้ำได้จำนวนน้อยลง เนื่องจากการแพร่บาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้รับซื้อสัตว์น้ำทั้งที่เป็นแพปลาหรือพ่อค้าคนกลาง และนักท่องเที่ยวมีจำนวนลงลด[2]

การเกิดขึ้นของกิจกรรมข้าวแลกปลา หรือกิจกรรมที่มีลักษณะใกล้เคียง อาจจะทำให้เกษตรกรทั้งสองกลุ่มมีอาหารในการบริโภค แต่แนวทางของโครงการดังกล่าวอาจไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา หากนำไปปฏิบัติในพื้นที่อื่นๆ ที่มีสภาพทางสังคมและความต้องการของผู้คนแตกต่างกัน บทความขนาดสั้นชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อสังเกตต่อ “กิจกรรมข้าวแลกปลา” กรณีนำกิจกรรมดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางหรือรูปแบบการแก้ไขปัญหาให้กับชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำไม่สามารถขายสัตว์น้ำได้ตามปกติหรือสัตว์น้ำมีมูลค่าการขายต่ำลง โดยข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์มาจากการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการกับชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จันทบุรี และสตูล

 

การแลกกับความต้องการพื้นฐานของมนุษย์

ชาวประมงพื้นบ้านหรือชาวประมงที่ออกเรือขนาดเล็กทำการประมงในชุมชายฝั่งหลายแห่งจะนำสัตว์น้ำที่จับได้ขายให้กับพ่อค้าคนกลางหรือแพปลา ทั้งที่อยู่ในชุมชนและนอกชุมชน หรืออาจมีบางชุมชนที่ชาวประมงได้ขายสัตว์น้ำให้กับคนในชุมชนเป็นหลัก ขณะเดียวกันชาวประมงบางคนยังเป็นพ่อค้าคนกลางทำหน้าที่รับซื่อสัตว์น้ำจากชาวประมงคนอื่นๆ เพื่อนำสัตว์น้ำไปขายในสถานที่ต่างๆ ในแง่นี้การประกอบอาชีพของชาวประมงพื้นบ้านได้เข้าไปสัมพันธ์กับระบบตลาด โดยจับสัตว์น้ำเพื่อขายและไม่ใช่เพื่อยังชีพเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามกลุ่มเกษตรกรที่เป็นชาวประมงมีวิถีชีวิตคล้ายกับคนกลุ่มอาชีพอื่นๆ ของสังคม ในแง่ของการนำรายได้จากการประกอบอาชีพไปใช้จ่ายกับสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว หรือการใช้จ่ายอื่นๆ ดังที่ ก๊อฟ (นามสมมติ) ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดจันทุบรี กล่าวว่า

 

“บางครั้งเราต้องการเงินปัจจัยมากกว่า เรามีภาระทางครอบครัว มีลูก ต้องการเงินที่ต้องไปใช้จ่ายในครอบครัว”

ก๊อฟ ประมงพื้นบ้านจังหวัดจันทุบรี[3]

เห็นได้ว่าชาวประมงต้องการเงินหรือรายได้จากการขายสัตว์น้ำเพื่อนำไปใช้จ่ายกับสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นหากพิจารณาบริบทของกิจกรรมข้าวแลกปลา “ข้าว” อาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวที่ชาวประมงพื้นบ้านต้องการ สิ่งนี้เห็นได้ชัดจากทรรศนะของ นก (นามสมมติ) ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูลที่มีต่อกิจกรรมข้าวแลกปลา ซึ่ง นก กล่าวไว้ว่า

“ยุคปัจจุบัน ครอบครัวผมเป็นครอบครัวใหญ่สิบคน ใช้ข้าวประมาณสองกิโลกรัมต่อวัน แต่การที่ต้องใช้จ่ายอื่นๆ เยอะกว่า เราคืออาชีพประมง ได้ปลา กุ้ง หอย ถ้าเอามาแลกข้าวสารอย่างเดียว อย่างอื่นยังเป็นปัจจัยที่ต้องใช้”

         นก ประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล [4]

จากทรรศนะข้างต้นชี้ให้เห็นว่าชาวประมงจะนำรายได้จากการขายสัตว์น้ำไปใช้จ่ายกับปัจจัยอื่นๆ และปัจจุบัน “ข้าว” เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของชาวประมงพื้นบ้านที่มีชีวิตสัมพันธ์กับตลาดในระบบทุนนิยม ถึงแม้ว่าข้าวเป็นสิ่งที่ชาวประมงใช้บริโภค แต่คงไม่ใส่สิ่งเดียวที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบัน ในแง่นี้หากนำ “กิจกรรมข้าวแลกปลา” ไปเป็นรูปแบบหรือแนวทางการแก้ไขปัญหา กรณีที่ชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือการแก้ไขปัญหาอื่นๆ จะต้องคำนึงถึงความต้องการของชาวประมงรวมถึงเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ และคำนึงบริบททางสังคมของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างกัน

การกลับมาของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน

กิจกรรมข้าวแลกปลา คือการแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างเกษตรกรปลูกข้าวและเกษตรกรที่ออกเรือขนาดเล็กทำการประมงในทะเล หากพิจารณาระยะทางตามภูมิศาสตร์ เกษตรกรทั้งสองกลุ่มคือกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลกัน แต่ในทางสังคมเกษตรกรสองกลุ่มต่างอยู่ในชุมชนเกษตรกรของสังคมไทย กิจรรมข้าวแลกปลา ดำเนินการภายใต้แนวคิด “วัฒนธรรมชุมชน” ที่เชื่อว่าการพึ่งพาอาศัย ความสามัคคี หรือการพึ่งพาตนเองของชุมชน จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ [5] แต่ภายใต้สถานการณ์การการแพร่ระบาดของโรค
โควิด-19 กิจกรรมข้าวแลกปลา อาจจะไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของเกษตรกรอย่างแท้จริง หากนำไปปฏิบัติในบางพื้นที่ เพราะเกษตรกรสองกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้พึ่งอาศัยกันหรือพึ่งพาตนเอง และแยกขาดจากระบบทุนนิยม กลับกันเกษตรกรสองกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กับตลาดในระบบทุนนิยมอย่างใกล้ชิด จึงทำให้เกษตรกรสองกลุ่มคงไม่เพียงแต่ต้องการ “ข้าว” และ “ปลา” แต่ยังต้องการสิ่งอื่นๆ ที่เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต

อย่างไรก็ตามบทความนี้ผู้เขียนไม่มีความตั้งใจที่จะกล่าวโทษหรือดูถูกดูแคลนกิจกรรมข้าวแลกปลาหรือกิจกรรมที่มีลักษณะใกล้เคียง แต่เพียงตั้งข้อสังเกตต่อกิจกรรมดังกล่าว เพื่อหวังให้มีการถกเถียงถึงแนวทางของกิจกรรม ซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์กลุ่มต่อนักพัฒนาเอกชนในการสร้างแนวทางการพัฒนาต่อไป

        

บรรณานุกรม

กรุงเทพธุรกิจ. “ข้าวแลกปลา ปลูกผ้าชุมชน ฝ่าวิกฤตโควิด-19.” กรุงเทพธุรกิจ. http://wow.in.th/VRt2 (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563).

ธร ปีติดล. แนวคิดเรื่องชุมชนนิยมกับการสร้างเสริมเสรีภาพ. ชุดหนังสือสำรวจองค์ความรู้เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย. ม.ป.ท.: มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, ม.ป.ป.

 

สัมภาษณ์

ก๊อฟ (นามสมมติ). ประมงพื้นบ้านจังหวัดจันทบุรี, สัมภาษณ์, 21 เมษายน 2563

แจ๊ค (นามสมมติ). ประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, สัมภาษณ์, 21 เมษายน พ.ศ.2563

นก (นามสมมติ). ประมงพื้นบ้านจังวัดสตูล, สัมภาษณ์, 21 เมษายน 2563

 

[1] แจ๊ค (นามสมมติ), ประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, สัมภาษณ์, 21 เมษายน พ.ศ.2563

[2] กรุงเทพธุรกิจ, “ข้าวแลกปลา ปลูกผ้าชุมชน ฝ่าวิกฤตโควิด-19,” กรุงเทพธุรกิจ, http://wow.in.th/VRt2 (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563).

[3] ก๊อฟ (นามสมมติ), ประมงพื้นบ้านจังหวัดจันทบุรี, สัมภาษณ์, 21 เมษายน 2563

[4] นก (นามสมมติ), ประมงพื้นบ้านจังวัดสตูล, สัมภาษณ์, 21 เมษายน 2563

[5] แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน เป็นแนวคิดที่นักพัฒนาทางเลือกมักใช้ในการทำงานกับชุมชนหรือพื้นที่ที่ถูกนิยามว่าชนบท โดยเชื่อว่า “รัฐ”หรือ “ทุนนิยม” เป็นสิ่งที่เลวร้าย และพยายามให้คนในชุมชนพึ่งพาตนเอง โดยใช้ภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ อย่างไรก็ตามแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนถูกวิจารณ์ว่าเป็นแนวคิดที่หยุดนิ่ง ไม่คำนึงถึงพลวัตของสังคมที่ปัจจุบันได้ประสานเป็นสิ่งเดียวกับระบบทุนนิยม ดูเพิ่มเติมได้ที่ ธร ปีติดล, แนวคิดเรื่องชุมชนนิยมกับการสร้างเสริมเสรีภาพ, ชุดหนังสือสำรวจองค์ความรู้เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (ม.ป.ท.: มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, ม.ป.ป.), 16-30.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นิติกร ดาราเย็น เป็นเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับกลุ่มชาวประมงออกเรือขนาดเล็กแห่งหนึ่งของจังหวัดพังงา

 

ที่มาภาพ: กรุงเทพธุรกิจ ข้าวแลกปลา : ทางรอดในวิกฤติ 'โควิด-19' ของกลุ่มชาติพันธุ์ www.bangkokbiznews.com/news/detail/877566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท