Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การยกเลิกกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของประชาชน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้กระทบกับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับประเทศอินเดียดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วและรุนแรงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ความเสียหายเริ่มต้นด้วยการปิดให้บริการชั่วคราวของโรงภาพยนตร์ไปจนถึงสตูดิโอการถ่ายทำ เมืองหลักของการสร้างภาพยนตร์อย่างมุมไบ ไฮเดอราบาด เจนไน โกลกาตา ได้เริ่มปิดให้บริการไปก่อนที่จะมีการออกมาตรการล็อคดาวน์จากรัฐบาลอินเดียเสียด้วยซ้ำ ซึ่งมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั่วประเทศครั้งนี้ คาดว่าจะสูงเกินกว่า 5,500 ล้านบาท

การงดให้บริการชั่วคราวของสตูดิโอถ่ายทำทั่วประเทศโดยเฉพาะ Ramoji Film City ที่ตั้งอยู่ในเมือง
ไฮเดอราบาด ส่งผลให้ภาพยนตร์หลายเรื่องต้องยุติการสร้างไปด้วย Ramoji Film City แห่งนี้ถูกจัดอันดับว่าเป็นโรงถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก[1] ประกอบด้วยพื้นที่กว่า 4,200 ไร่ มีสตูดิโอมากกว่า 40 โรง
ครบครันด้วยเทคโนโลยีสำหรับงานถ่ายทำ ตัดต่อ อัดเสียง ทั้งยังมีพื้นที่กลางแจ้งที่ใช้เป็นฉากหลังต่าง ๆ อีกนับร้อยแห่ง นอกจากนี้ยังมีบริการโรงแรมระดับห้าดาว สวนสนุก และแหล่งสร้างความบันเทิงทางภาพยนตร์มากมาย คุณ Ramoli Rao เจ้าของดินแดนแห่งนี้ถึงขนาดเคลมว่า “หากมีใครสักคนเดินถือบท เข้ามาที่นี่ตัวเปล่า (พร้อมกระเป๋าเงินตุง ๆ) ก็สามารถเดินออกไปด้วยหนังที่สำเร็จพร้อมฉายได้เลยหนึ่งเรื่อง[2]” โรงถ่ายทำครบวงจรแห่งนี้จึงมีความสำคัญเสมือนเสาหลักของการทำภาพยนตร์อินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังของรัฐทางตอนใต้ เช่น
รัฐเตลังกานา รัฐอานธรประเทศ รัฐทมิฬนาฑู รัฐเกรละ และรัฐกรณาฏกะ

หนังฟอร์มยักษ์เรื่องใหม่ “RRR” (Rise Roar Revolt) ของผู้กำกับ S.S. Rajamouli ซึ่งกำลังถ่ายทำอยู่ที่นี่ต้องถูกยกเลิกเพราะขาดทั้งบุคลากรและสถานที่ เมื่อไม่มีผลงานถ่ายทำ ฝ่าย post-production ที่ต้องตัดต่อและแต่งเติมคอมพิวเตอร์กราฟฟิกก็ทำงานต่อไม่ได้ แม้ว่าทีมของพวกเขาจะปรับตัวให้สามารถทำงานที่บ้านได้ก็ตาม ผลงานเรื่องภาพยนตร์ชิ้นนี้จึงคาดว่าจะแล้วเสร็จช้าจากกำหนดการเดิมไปอีก 3 - 6 เดือน นี่ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย ในปี 2020 นี้ จะมีผลงานลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง จากเดิมที่เคยผลิตได้มากถึง 1,800 - 2,000 เรื่องต่อปี เพราะปัจจัยของการถ่ายทำที่ไม่สามารถลุล่วงไปได้ในช่วงครึ่งปีแรก

หากลองเทียบว่าการปิดโรงภาพยนตร์นั้น เหมือนกับการตัดปอดข้างหนึ่งในการหายใจของคอหนังชาวอินเดียแล้ว  การปิดสตูดิโอถ่ายทำหนังก็เสมือนกับการตัดเส้นเลือดใหญ่ให้กลุ่มผู้ผลิตภาพยนตร์เกิดอาการโคม่าได้เช่นกัน

สิ่งที่น่าจับตามองเกี่ยวกับผลกระทบแก่คนในวงการจอเงิน จึงไม่เพียงแต่ทำให้นักแสดงคิวทองถูกยกเลิกงาน จนตารางงานว่างเป็นหน้าเปล่าแล้ว บรรดามดงานในวงการอีกนับล้านคนต้องหยุดอยู่บ้าน ขาดรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งดูจะเป็นบททดสอบอันสาหัสกับอนาคตที่ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ จากประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งเคยร่วมงานถ่ายทำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Baahubali (2017) พบว่าตามปกติในกองถ่ายทำนั้นมีทีมงานไม่ต่ำกว่า 500 คนต่อวัน เกินกว่าร้อยละ 70 เป็นแรงงานรับจ้างที่รับค่าจ้างรายวันหรือรายสัปดาห์ ทำงานตั้งแต่หกโมงเช้าถึงหกโมงเย็น ไม่มีสวัสดิการสุขภาพ ไม่มีประกันสังคม กลุ่มคนเหล่านี้ เช่น ทีมงานฝ่ายฉาก ทีมผลิตอุปกรณ์ประกอบฉาก ทีมงานดูแลเสื้อผ้า ช่างเทคนิค แรงงานขนของ พนักงานทำความสะอาด ฝ่ายจัดหาอาหารเครื่องดื่ม เป็นต้น นอกจากนี้ทีมงานเบื้องหน้าอย่าง นักแสดงประกอบ นักเต้น และสตั๊นท์แมน ก็ไม่ใช่ลูกจ้างประจำแทบทั้งสิ้น เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่ทันตั้งตัวอย่างในขณะนี้ จึงเป็นการยากที่บุคลากรเบื้องหลัง จะได้รับการช่วยเหลือจากสมาคมภาพยนตร์หรือจากผู้สร้างหนังโดยตรง แม้จะมีความพยายามในการให้ความช่วยเหลืออยู่บ้าง เช่น การจัดตั้งกองทุนเพื่อบรรเทาทุกข์สำหรับลูกจ้างรายวันของสมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์ แต่เงินบริจาคเหล่านี้ก็ยังจำกัดอยู่ในวงแคบที่ทุ่มไปให้กลุ่มแรงงานภาพยนตร์ในฝั่งตะวันตก หรือที่เรียกว่าแถบบอลลีวูด ฟันเฟืองเล็ก ๆ ในภูมิภาคอื่นต้องรอความช่วยเหลือจากสมาพันธ์ธุรกิจภาพยนตร์ (Film Trade Unions) ในรัฐของตนเอง ที่กระจายตัวอยู่ประมาณ 30 แห่งทั่วประเทศ

แม้การยุติการถ่ายทำชั่วคราวทำให้วงการหนังต้องตกอยู่ในภาวะกึ่งสุญญากาศ แต่ดูเหมือนว่าพลังสร้างสรรค์ของคนบันเทิงสายนี้ไม่ได้หยุดนิ่งไปด้วย ผู้กำกับและศิลปินชื่อดังต่างพยายามแสดงน้ำใจที่จะก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน S.S. Rajamouli ที่ต้องยกเลิกการถ่ายทำหนังฟอร์มยักษ์เรื่อง “RRR” ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 4,500 ล้านรูปี (ประมาณ2,000 ล้านบาท) ต้องเลื่อนกำหนดฉายออกไปจากเดิมที่ตั้งไว้ในช่วงเดือนมกราคมปีหน้า ได้ส่งกำลังใจให้ทีมงานรวมถึงหมู่แฟนคลับภาพยนตร์ด้วยการส่งโปสเตอร์เคลื่อนไหว (motion poster) มากถึง 5 ภาษา[3] ให้ได้ชุ่มชื่นหัวใจกันไปก่อน

การบริจาคสิ่งของและเงินสมทบเข้ากองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโคโรนา คือวิธีการแสดงความรับผิดชอบทางสังคม (social responsibility) ของเหล่าดาราดัง แน่นอนว่าการกระทำเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและรักษาฐานความนิยมในหมู่แฟนคลับเอาไว้ การถ่ายทอดชีวิตส่วนตัวของเซเลปบริตี้แบบเอ็กคลูซีฟผ่านคลิปวีดิโอสั้น ๆ บนโซเชียลมีเดียก็ถูกใช้เป็นช่องทางแย่งชิงพื้นที่สื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวตนของพวกเขาหายไป

ล่าสุดทาง Sony TV ได้รวมเอาเหล่าบรรดานักแสดงแถวหน้าของอินเดีย เช่น Amitabh Bachchan, Rajinikanth, Ranbir Kapoor, Priyanka Chopra, Alia Bhatt และดาราชื่อดังอีกหลายคน มาร่วมกันถ่ายทำภาพยนตร์สั้น ชื่อว่า Family[4] มีความยาว 4.35 นาที โดยเนื้อหาหยิบประเด็นเล็ก ๆ อย่างการหาแว่นตากันแดดของคุณปู่ ปิดท้ายด้วยประเด็นการร่วมมือกันรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อส่วนรวม นอกจากเนื้อหาจะสร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้ชมได้แล้ว จุดเด่นของการถ่ายทำครั้งนี้ คือ การที่นักแสดงแต่ละคนไม่ต้องออกจากบ้านของตัวเองเลยแม้เพียงก้าวเดียว เป็นการแสดงให้เห็นว่าการต้องกักตัวอยู่บ้าน หาได้ปิดกั้นการสร้างสรรค์ผลงานของ
พวกเขา นี่เองอาจเสมือนเป็นช่วงเวลาทองที่ผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งหลาย จะได้แสดงศักยภาพให้โลกเห็น ว่าสื่อมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนสังคมที่ดีกว่าได้อย่างไร

เมื่อพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนา (COVID-19) ครั้งนี้ไป เชื่อว่าเนื้อหาที่เกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดและเชื้อไวรัสจะถูกนำมาใช้เป็นแกนหลักของการดำเนินเรื่อง และผู้ชมก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นพอ ๆ กับการต่อสู้เพื่อความรัก ความยุติธรรมของคนต่างเพศ ต่างวัย ต่างชนชั้น ผ่านการร้องและการเต้นที่มีเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของหนังอินเดียเช่นเดิม หากมองย้อนกลับไปในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จะพบว่าหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเชื้อร้าย ระบบสาธารณสุขและการแพทย์ มักจะมีให้เห็นในหนังมลยาฬัม (Malayalam movie) ของรัฐเกรละมากกว่าหนังจากรัฐอื่น ๆ สิ่งนี้อาจสะท้อนแนวคิดทางสังคมได้ว่า คนในรัฐนี้มองประเด็นสุขภาพอนามัยว่า เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินด้านความพร้อมทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขจาก National Institution for Transforming India ที่จัดให้รัฐเกรละอยู่ในอันดับสูงสุดของประเทศเมื่อเทียบกับขนาดของรัฐ[5]

การเข้ามาของไวรัสจิ๋วชนิดนี้สร้างโอกาสทองให้กับผู้ผลิตภาพยนตร์อยู่บ้าง เพราะนอกจากจะต่อเวลาให้สามารถวางแผนสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ อย่างละเมียดละไมแล้ว พวกเขายังได้มีช่วงเวลาทบทวนประเมินผลงานที่ผ่านมา เพื่อเอามาพัฒนาในงานชิ้นถัดไป ด้านผู้ชมที่ต้องอดทนรอก็จะได้รับการตอบแทนด้วยผลงานที่ยอดเยี่ยม มีคุณภาพ ทรงคุณค่าสมกับการรอคอย เชื่อแน่ว่าหลังผ่านพ้นวิกฤติเข้าสู่สภาวะปกติ วงการภาพยนตร์ของอินเดียจะต้องกลับมาผงาดอีกครั้ง พร้อมทั้งการสนับสนุนการถ่ายทำหนังภายในประเทศที่จะจุดปะทุขึ้นอย่างรุนแรงกว่าที่เคย

สิ่งที่ต้องจับตาดูต่อไปก็คือ ทิศทางการปรับตัวของผู้ผลิตภาพยนตร์ที่จะทำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ประเภทนี้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งได้อย่างไร ภายใต้ปัจจัยเรื่องพื้นที่ดิจิตอล เทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้ชมรูปแบบใหม่ (new normal) เป็นโจทย์สำคัญ วัฒนธรรมการเข้าโรงภาพยนตร์ของชาวอินเดียที่เคยเป็นที่นิยมจะถูกแทรกแซงด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งแบบถูกลิขสิทธิ์และละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งต่างสามารถเข้าถึงได้ง่ายเพียงกระดิกปลายนิ้ว บวกกับความกังวลเกี่ยวกับเชื้อโรคที่มองไม่เห็น ความคุ้นชินกับการรักษาระยะห่าง และอำนาจควบคุมการรับชมหรือหยุดพักได้ตามใจ เป็นไปได้หรือไม่ที่ความอดทนในการรับชมหนังที่มีความยาวเฉลี่ย 180 นาที อันเป็นเอกลักษณ์ของหนังแดนภารตะนี้จะเปลี่ยนไป พฤติกรรมการเสพสื่อบันเทิงที่เปลี่ยนแปลงไปจะกลายเป็นไวรัสตัวใหม่ที่เตรียมเข้ามาจู่โจมอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียในอนาคตอย่างแน่นอน

 

 

อ้างอิง

[1] Guinness world record 2005

[2] Shanti Kumar, Mapping Tollywood: in Reorienting Global communication, 2010  

[3] สามารถรับชมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=lDVQojLPI4Y&list=PLgCNTKEOcOc4aYVkI6_U-ad_TJbmugsWA

[4] สามารถรับชมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=-Pg_1WEcxwg

[5] Healthy States, Progressive India: Report on Rank of States and UTs 2019 http://social.niti.gov.in/uploads/sample/health_index_report.pdf  (p.25)

 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts” ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net