Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ออกแถลงการณ์ตั้งคำถามต่อ รัฐ และกลุ่มทุนเหมือง เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวคัดค้านการทำเหมืองแร่ถูกสกัดกั้น แต่ทำไมกระบวนการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตโครงการสำรวจ และการทำเหมืองแร่ต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างราบรื่นเป็นปกติ 

28 เมษายน 2563 เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จ.หนองบัวลำภู กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และกลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง ร่วมกันออกแถลงการณ์ “ล็อคดาวน์เหมืองแร่ หยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมือง”

โดยเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ในแต่ละพื้นที่ทำการอ่านแถลงการณ์แบบเว้นระยะห่างระหว่างกัน (Social distancing) เพื่อป้องกันการแพร่โรคไวรัสโควิด-19 พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้

1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องหยุดกระบวนการพิจารณาด้านต่างๆ ที่จะนำไปสู่การออกใบอนุญาตให้กับโครงการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทุกประเภทเอาไว้ก่อน จนกว่าจะยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้อย่างเป็นปกติ

2.กรณีที่ผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ที่ได้รับการอนุมัติ/อนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ไปแล้วนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีคำสั่งให้หยุดการดำเนินการสำรวจและการทำเหมืองแร่ไว้ก่อน เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชนในพื้นที่ต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ชุมชนของผู้ประกอบการ

3.กรณีที่ผู้ประกอบการมีความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่จากการสำรวจและทำเหมืองแร่รวมทั้งมีการร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสั่งให้ผู้ประกอบการหยุดดำเนินการสำรวจและการทำเหมืองแร่ไว้ก่อนเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมประชาชนที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และต้องต่อสู้ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนไม่เพียงเท่านั้นยังถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกด้วย

นงค์ชัย พันธ์ดา ตัวแทนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เป็นที่พูดถึงกันทั่วโลกรัฐบาลไทยก็ได้แก้ไขปัญหาด้วยการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น กระทบกับชาวบ้านทำให้ไม่สามารถพบปะหรือประชุมเพื่อพูดคุยปรึกษาหารือกันได้ สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้คือการพูดคุยกันผ่านทางโทรศัพท์เท่านั้น ตอนนี้พวกเรากังวลใจเรื่องที่บริษัท ไชน่า หมิงต๋าโปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษใหม่อีกครั้ง เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2563 เพื่อที่จะทำการเจาะสำรวจแร่โปแตช เพราะอาชญาบัตรพิเศษเดิมหมดอายุเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสก็ได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านการขออาชญาพิเศษของบริษัทดังกล่าวกับอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนครแล้ว ประเด็นสำคัญก็ คือ เนื่องจากปัจจุบันมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ทำหน้าที่ควบคุมประชาชนไว้ทำให้ไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งเปรียบเสมือนการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในเมื่อประชาชนไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวหรือใช้สิทธิตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ พวกเราจึงออกมาการแถลงการณ์ขอหน่วยการที่เกี่ยวข้องหรือภาครัฐที่มีอำนาจในการอนุมัติ/อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษต้องหยุดกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การอนุมัติ/อนุญาตไว้ก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำเหมือง

งามทอง มงคล ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับน้ำคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร กล่าวว่า ผลกระทบจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดปัญหาผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการกระทบต่อการทำมาหากินของชาวบ้านที่ต้องหาเช้ากินค่ำหรือชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ที่ปัจจุบันราคาพืชผลทางเกษตรอย่างมันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา ยังคงตกต่ำราคาสิ่งของที่ต้องใช้ในการดำรงชีพในแต่ละวันก็แพงขึ้น และหนี้สินก็เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย และที่สำคัญการเดินทางไปไหนมาไหนในตอนนี้ก็ลำบากมาก อย่างพวกเราชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับน้ำคำป่าหลายที่ติดตามและคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทรายในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมู แปลง 2 เพราะหากในอนาคตเกิดเหมืองแร่ในพื้นที่ เรากังวลว่าแหล่งต้นน้ำที่เราใช้อาจขาดแคลนและอาจหายไป เนื่องจากพื้นที่ทำเหมืองอยู่บริเวณใกล้กับแหล่งต้นน้ำ ปัจจุบันพวกเราไม่สามารถเดินทางไปเรียกร้องหรือไปยื่นหนังสือกับหน่วยงานต่างๆ ได้ เพราะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งขณะที่เราหยุดอยู่บ้าน ถือปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาล เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องและบริษัทฯ ที่ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ยังคงดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ตามปกติ

“ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมชาวบ้านที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องหยุดกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะอนุมัติ/อนุญาตให้ประทานบัตรก่อนจนกว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ควรฉวยโอกาสอนุมัติ/อนุญาตให้ประทานบัตรในช่วงที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนั้นเราหยุดเหมืองก็ต้องหยุด” งามทอง กล่าว

บัวลอง นาทา ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าวว่า ชาวบ้านพยายามปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตลอด แต่เหมืองแร่และโรงโม่หินมาทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนลงทุกวัน มันไม่ถูกต้อง ยิ่งช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยิ่งมีการระเบิดภูเขาหนักขึ้น ขนส่งแร่หินข้ามจังหวัดไปมาทุกวัน ชาวบ้านเดือดร้อนมากๆ อีกทั้งถ้ำศรีธน ถ้ำผาน้ำลอด ที่เป็นแหล่งโบราณคดีของชุมชนก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแรงระเบิดเหมืองหินปูน แต่ชาวบ้านกลับไปสามารถออกไปต่อต้านได้ เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเสี่ยงติดไวรัสด้วย เราคัดค้านเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หินมาตลอด 26 ปีแล้ว อยากให้หยุดได้แล้ว ยกเลิกเหมืองแร่หินปูนออกไปจากชุมชน ออกไปจากพื้นที่ป่าไม้ของชุมชนได้แล้ว

วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย กล่าวว่า ชุมชนของเรามีสารพิษจากเหมืองที่ปนเปื้อนตามไร่นาของชาวบ้านที่อยู่บริเวณรอบเหมืองทองคำ ชาวบ้านมีรายได้น้อยลง ยางพาราก็ราคาตกต่ำลงมาก เพราะการล็อคดาวน์ทำให้ไม่มีตลาดนัดขาย ไปขายล็อตเตอรี่ก็ไปไม่ได้ บางคนล็อตเตอรี่ยังเหลือ ก็ไม่รู้จะได้ไปขายตอนไหน ตอนนี้ก็ไม่มีรายได้รายจ่ายก็เยอะขึ้นชาวบ้านอาจจะหันมาเก็บพืชผัก กุ้ง หอย ปู ปลา ตามนาที่ปนเปื้อนกินก็ได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อพวกเรา โครงการเหมืองแร่ต่างๆ ก็ต้องล็อคดาวน์เหมือนกัน

วนิดา กันทา ตัวแทนกลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง ได้กล่าวเพิ่มอีกว่า การที่พวกเราออกมาเรียกร้องให้ล็อคดาวน์เมืองแร่ เพราะไม่อยากให้เหมืองแร่เกิดขึ้นในบ้านเรา และในทุกๆ ที่ เพราะถ้ามันเกิดเราก็ย้ายหนีไม่ได้ เพราะที่นี่คือบ้านเกิด และที่สำคัญเรากลัวว่าจะเกิดผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นสารพิษสารเคมีจะเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้บ้านแหงชนะคดีปกครองก็จริงแต่เราก็ยังไม่ชนะขาด เขาอาจจะฉวยโอกาสช่วงนี้ออกประทานบัตรก็ได้ ดังนั้นอยากเผยแพร่ประเด็นปัญหาที่เกิดให้คนอื่นได้รับรู้ ในเมื่อไม่สามารถออกมาชุมนุม หรือรวมตัวกันได้ ก็คิดว่าการแอคชั่นทำกิจกรรมในครั้งนี้จะสามารถสื่อสารให้คนรู้และให้กำลังใจคนที่ได้รับผลกระทบเหมือนกันกับเรา

แถลงการณ์ ล็อคดาวน์เหมืองแร่ หยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมือง

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับสภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มียอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังผู้ที่ต้องกักตัวเฝ้าสังเกตอาการอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งวิกฤตการณ์ ในครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ยังส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ย่ำแย่ลงทุกวัน ถึงแม้นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยที่ไม่มีแผนรองรับที่ดียิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชนให้เดือดร้อนทุกข์ยากแสนสาหัสมากขึ้น ซึ่งเป็นการขยายปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจให้กว้างขึ้น โดยจะเห็นได้ว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยิ่งนานก็ยิ่งส่งผลให้ประชาชนสูญเสียรายได้ ไร้อาชีพ สร้างความเหลื่อมล้ำ มีคนตกงานหลายล้านคน ประชาชนคนเล็กคนน้อยต้องเข้าแถวรอรับบริจาคอาหารและสิ่งของต่าง ๆ เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวันนอกจากนี้เงินเยียวยาจากรัฐบาลกลับมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการเยียวยาอย่าง ถ้วนหน้า และหลายคนไม่มีทางออกจึงเลือกฆ่าตัวตาย ซึ่งมากถึง 38 ราย หรือครึ่งหนึ่งของการตายจากเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีข้อกำหนดข้อหนึ่งในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจนโดยการห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน 2563 เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย และมีแนวโน้มว่า นายกรัฐมนตรี จะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน นั้น

 พวกเราประชาชนในนาม “เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่” ซึ่งเป็นประชาชนของประเทศเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนและผู้ได้รับผลกระทบจากการสำรวจและการทำเหมืองแร่โดยตรงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินการในการเฝ้าจับตา ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินนโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดตลอดมา เห็นว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการออกมาใช้สิทธิปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน และเป็นการจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิต ชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่สามารถออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกต่อโครงการพัฒนาต่างๆ ในการสำรวจและการทำเหมืองแร่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังเช่นสถานการณ์ปกติได้  แต่ในขณะเดียวกันนั้นกระบวนการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตโครงการสำรวจและการทำเหมืองแร่ต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างราบรื่นเป็นปกติ ซึ่งกระบวนการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตโครงการสำรวจและการทำเหมืองแร่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้เป็นการจำกัดการเข้าถึงของประชาชนในพื้นที่ ยิ่งทำให้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม และเป็นการละเลยต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชน ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติโดยชอบธรรมนั้น

 ดังนั้น เพื่อให้เกิดการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม พวกเราในนาม “เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่” จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้

1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องหยุดกระบวนการพิจารณาด้านต่างๆ ที่จะนำไปสู่การออกใบอนุญาตให้กับโครงการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทุกประเภทเอาไว้ก่อนจนกว่าจะยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้อย่างเป็นปกติ

2.กรณีที่ผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ที่ได้รับการอนุมัติ/อนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ไปแล้วนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีคำสั่งให้หยุดการดำเนินการสำรวจและการทำเหมืองแร่ไว้ก่อน เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชนในพื้นที่ต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ชุมชนของผู้ประกอบการ

3.กรณีที่ผู้ประกอบการมีความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่จากการสำรวจและทำเหมืองแร่รวมทั้งมีการร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสั่งให้ผู้ประกอบการหยุดดำเนินการสำรวจและการทำเหมืองแร่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมประชาชนที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และต้องต่อสู้ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ไม่เพียงเท่านั้นยังถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกด้วย

 ด้วยความเคารพ

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่

28เมษายน 2563

 

รายชื่อเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่แนบท้าย

1. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน กรณีเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย

2. กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กรณีการทำเหมืองหินปูน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู

3. กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กรณีการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทราย ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร

4. กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กรณีขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชตามอาชญาบัตรพิเศษเพื่อขอสำรวจแร่โปแตช 6 ตำบล อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

5. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ กรณีการทำเหมืองแร่โปแตช และขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่ออุตสาหกรรมแร่โปแตช หลายตำบลใน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ

6. กลุ่มรักษ์บ้านแหง กรณีการขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหิน ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net