Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง จี้รัฐหยุดเลื่อนแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส หลังกลินท์ สารสิน ส่งหนังสือขอเลื่อนเหตุกังวลเรื่องการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 2 ชนิดในผลผลิตที่นำเข้าแล้วจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ ชี้เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น

28 เม.ย. 2563 ข่าวมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่า หลังจากมีกระแสข่าวว่าสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมการจะหารือเพื่อเลื่อนการแบนสารพิษกำจัดศัตรูพืช 2 ชนิด ได้แก่พาราควอต และคลอร์ไพริฟอสออกไป จากวันที่ 1 มิ.ย.2563 ออกไปเป็นสิ้นปี 2563 นั้น วันนี้ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง โดยปรกชล อู๋ทรัพย์ เป็นตัวแทนได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงอุตสาหกรรม ถึงสุริยะจึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อคัดค้านการเลื่อนการแบนสารพิษดังกล่าว โดยมีรัตนา รักษ์ตระกูล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้มารับมอบหนังสือแทน

โดยรายละเอียดหนังสือถึงสุริยะ มีข้อความดังนี้

ตามที่เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ตระหนักและห่วงกังวลเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมและติดตามการพิจารณาควบคุมการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร พาราควอต คลอร์ไพริฟอสและไกลโฟเซตมาโดยตลอด เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2563 ได้ปรากฎข่าวที่อ้างถึงหนังสือเลขที่ สค.065/2563 จากกลินท์ สารสิน เพื่อขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศในการกำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิด ที่ 4 จาก 1 มิ.ย.2563 เป็น 31 ธ.ค. 2563 หรือจนกว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าจะสิ้นสุดลง และมีผู้ประกอบการธุรกิจเคมีเกษตรติดตามการออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียน ใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตราย และการต่ออายุวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตนั้น เครือข่ายเห็นว่า

1) ข้ออ้างของ กลินท์ สารสินให้ขยายเวลาการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไปเป็นปลายปี 2563 โดยกังวลเรื่องการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 2 ชนิดในผลผลิตที่นำเข้าแล้วจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศนั้นฟังไม่ขึ้น เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกแบนพาราควอตมากว่าทศวรรษ สหภาพยุโรปประกาศแบนคลอร์ไพริฟอสตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2563 หรือเวียดนามซึ่งแบนพาราควอตเมื่อปี 2560 และแบนคลอร์ไพริฟอสเมื่อต้นปี 2562 เป็นต้น ไม่มีประเทศใดอ้างปัญหาการตกค้างจนส่งผลกระทบต่อการผลิตและอุตสาหกรรมใดๆ เลย แม้กระทั่งจดหมายของสหรัฐเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ส่งมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อคัดค้านการแบนไกลโฟเซต แต่ก็ไม่ได้คัดค้านการแบน และอ้างการตกค้างของพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสแต่ประการใด

2) ไม่เห็นด้วยกับออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียน ใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตราย และการต่ออายุวัตถุอันตรายเพิ่มเติมทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลหนึ่งที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 1-1/2562 วันที่ 27 พ.ย. 2562 พิจารณาเลื่อนระยะเวลาการแบนออกไปอีก 6 เดือน เป็น 1 มิ.ย. 2563 เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนสามารถจำหน่ายสต็อกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชคงค้าง โดยรัฐบาลไม่ต้องเสียค่าทำลาย การนำเข้ามาเพิ่มเติมเป็นการกระทำที่ขัดกับมติ และเจตนาของการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงของคณะกรรมการเอง และจะถูกครหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน โดยปราศจากเหตุผลที่ชอบธรรมรองรับ

3) เครือข่ายฯ ยืนยันข้อเรียกร้อง ให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการออกประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายและออกมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในการประชุมครั้งที่ 41-9/2562 เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 ซึ่งเป็นมติโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งลงมติให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามหนังสือเลขที่ มชว.-คตส. 013/2563 ลงวันที่ 15 เม.ย. 2563

ทั้งนี้ในหนังสือถึงนายสุริยะ ได้สรุปว่า ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤต COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจ เครือข่ายหวังว่าจะไม่เกิดการซ้ำเติมปัญหาสุขภาพทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยยื้อการแบนสารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดออกไป และภายใต้วิกฤตนี้ ประเทศต้องทบทวนการผลิตพืชอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยวที่ใช้สารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรกรรมผสมผสานที่ลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับรายงาน และข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ให้แบนสารเคมีร้ายแรงทั้ง 3 ชนิด และส่งเสริมเกษตรกรรมอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืนให้มีพื้นที่ 100% ของพื้นที่เกษตรกรรมในปี 2573 

ทั้งนี้ ต้องจับตากันต่อไปว่า การประชุมในวันที่ 30 เม.ย. นี้ จะเป็นการฉวยโอกาสสถานการณ์ไวรัสระบาดเลื่อนเวลาการแบนออกไปหรือไม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net