Skip to main content
sharethis

กรณีพบผู้ป่วยต่างชาติติดโควิด-19 รวดเดียว 42 คนในห้องกัก ตม.สะเดา โดยเกิดหลังเจ้าหน้าที่ ตม. ซึ่งเข้าเวรตรวจพบโควิด-19 ทำให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จ.สงขลา สะสม 105 รายนั้น ล่าสุดเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) แนะรัฐบาลทบทวนมาตรการกักผู้ต้องกักในพื้นที่แออัด เสนอเปิดโรงพยาบาลสนามหรือจัดหาพื้นที่ดูแลชั่วคราวหรือใช้มาตรการอื่นตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พร้อมย้ำวิธีป้องกันโควิด-19 ที่ดีที่สุดต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุข

ศูนย์กักตัวผู้ต้องกัก ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา อ.สะเดา จ.สงขลา ภาพถ่ายเมื่อ 27 เมษายน 2563 (ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

กรณีโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. โดยมีรายงานพบผู้ติดเชื้อใหม่ 53 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องกักในศูนย์กักตัว ผู้ต้องกัก ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา อ.สะเดา จ.สงขลา 42 คนจากจำนวนผู้ต้องกัก 115 คนนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อ 27 เม.ย. ระบุว่าก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่ ตม. ที่เข้าเวรที่ศูนย์แห่งนี้เมื่อ 4 เม.ย. ติดเชื้อโควิด-19 และ ตม. ที่เข้าเวรร่วมกันทั้งหมด 5 คนก็ติดเชื้อหมด (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 เม.ย. เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ได้ออกจดหมายเปิดผนึก "มาตรการป้องกันและดูแลกลุ่มประชากรข้ามชาติ จากกรณีพบผู้ป่วยต่างชาติในห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา" โดยมีรายละเอียดดังนี้

จดหมายเปิดผนึก "มาตรการป้องกันและดูแลกลุ่มประชากรข้ามชาติ จากกรณีพบผู้ป่วยต่างชาติในห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา" 

เรื่อง มาตรการป้องกันและดูแลกลุ่มประชากรข้ามชาติ จากกรณีพบผู้ป่วยต่างชาติในห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา

เรียน 1. นายกรัฐมนตรี
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

จากสถานการณ์การพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ชาวต่างชาติในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา จำนวน 42 คน แบ่งเป็น ชาวเมียนมา 34 คน เวียดนาม 3 คน มาเลเซีย 2 คน เยเมน 1 คน กัมพูชา 1 คน และอินเดีย 1 คน และยังมีผู้ต้องกักในห้องกักอีก 73 คนที่ไม่ติดเชื้อ นับว่าเป็นพบการระบาดของโรคโควิดในพื้นที่ห้องกักเป็นครั้งแรกของประเทศไทย จึงถือเป็นกรณีเฉพาะในการเข้าไปสอบสวนโรคและให้การรักษาพยาบาล

อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดในครั้งนี้ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดในการป้องกันการระบาดในสถานกักกันของรัฐอยู่พอสมควร ทั้งนี้เนื่องจากห้องกัก เป็นสถานที่กักในระยะสั้นเพื่อรอการผลักดันส่งกลับ ซึ่งในปัจจุบันอาจจะทำได้ล่าช้าเนื่องจากมีการปิดด่านชายแดน อีกทั้งยังมีผู้ต้องกักอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้เนื่องจากภัยอันตรายต่อชีวิตและยังขาดมาตรการทางเลือก ทำให้ผู้ต้องกักต้องถูกกักในห้องกักเป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้ห้องกักไม่ได้มีพื้นที่ที่กว้างขวางมากพอสำหรับผู้ต้องกักจำนวนมากในการเว้นระยะห่างทางกายภาพตามมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 รวมทั้งมาตรการทางด้านสุขภาพในห้องกักอาจจะมีความแตกต่างและขาดมาตรการในการดูแลและป้องกันโรคเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ

ซึ่งในกรณีนี้ย่อมแตกต่างกับการดูแลและเฝ้าระวังป้องกันโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติทั่วไปซึ่งประเทศไทยมีมาตรการในการให้การดูแลด้านสุขภาพทั้งในเรื่องประกันสุขภาพ/ประกันสังคม การดำเนินการในด้านการส่งเสริมป้องกันและการควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลไกการทำงานร่วมกันของกระทรวงสาธารณสุขและภาคประชาสังคม รวมถึงแรงงานข้ามชาติในการสร้างระบบอาสาสมัครด้านสาธารณสุขในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ การมีล่ามหรือพนักงานสาธารณสุขต่างด้าวในหลายๆ สถานพยาบาล ซึ่งกลไกเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญในการเข้าระวัง และส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพให้แก่แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมาตลอด การแถลงข่าวที่มีการสร้างความสับสนระหว่างผู้ต้องกักและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยจากการนำเสนอข่าวในครั้งนี้ มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อแรงงานข้ามชาติ และเกิดผลกระทบต่อแนวทางการจัดระบบบริการด้านสุขภาพของประเทศไทยต่อแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งอาจจะส่งผลให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงการบริการด้านสุขภาพ

จากสถานการณ์การพบผู้ป่วยในห้องกักครั้งนี้ ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มีความเห็นว่า การเฝ้าระวังและป้องกันโรคโควิด-19 ในกลุ่มประชากรข้ามชาติที่ดี ต้องไม่ใช่การพยายามสร้างความน่าหวาดกลัวของแรงงานข้ามชาติ แต่คือการทำให้เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมป้องกันและดูแลสุขภาพของตนเองในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมไทย รวมทั้งมีข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อมาตรการในการป้องกันและดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีสัญชาติไทยดังนี้

1. รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจะต้องกำหนดมาตรการในการดูแลและรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่พบในห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในฐานะผู้ป่วยตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งจะต้องกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในกรณีการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยที่ไม่มีสัญชาติไทยที่สอดคล้องกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง โดยอาจจะพิจารณาเปิดโรงพยาบาลสนามเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยในห้องกัก ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยโควิด-19 ทุกคนจะได้รับการดูแลรักษาเช่นเดียวกัน

2. รัฐบาลและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจำเป็นที่จะต้องพิจารณาทบทวนมาตรการการกักผู้ต้องกักที่อยู่ระหว่างรอการส่งกลับในห้องกักที่มีความแออัดโดยการพิจารณาทางเลือกแทนการกักในห้องกักอื่นๆ เช่น การจัดหาพื้นที่ในการดูแลชั่วคราวสำหรับผู้ถูกกัก โดยตระหนักว่าผู้ต้องกักคือผู้ที่รอการส่งกลับหลังจากการดำเนินคดีเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้อาจจะพิจารณาใช้บทบัญญัติตามาตรา 54 วรรคสามของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ในการจัดพื้นที่ในการดูแล หรือให้ใช้มาตรการอื่นตามอำนาจของเจ้าพนักงานตามมาตรา 54 ดำเนินการตามความเหมาะสมกับการระบาดของโรค

3. รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขต้องตระหนักว่ามาตรการในการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับแรงงานข้ามชาติ คือการที่ทำให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการรับบริการทางสุขภาพทั้งทางด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงในการทำงาน การเข้าถึงการช่วยเหลือตามกฎหมายและตามนโยบายของภาครัฐ เพราะการขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การขาดความมั่นคงทางดำเนินชีวิต จะนำไปสู่การขาดความมั่นคงทางสุขภาพด้วยเช่นกัน

4. รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขควรจะต้องมีมาตรการที่จะดำเนินการให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการตรวจโรคโควิดอย่างทั่วถึง และสนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติในการเข้าไปทำงานให้ความรู้ เฝ้าระวังและส่งเสริมสุขภาพควบคู่ไปกับการทำงานของระบบบริการสุขภาพของไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่าแรงงานข้ามชาติจะสามารถเข้าใจ ปฏิบัติตัวตามมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐโดยปราศจากข้อจำกัดด้านภาษา

5. กลุ่มประชากรข้ามชาติในประเทศไทยในปัจจุบันมีหลากหลายกลุ่มหลายสถานะ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนไร้รัฐ หรือผู้ต้องกักที่รอการส่งกลับ ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างมีโอกาสในการเข้าบริการด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน ดังนั้นการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จึงควรแถลงข้อมูลให้ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มไหน มีข้อจำกัดในการดูแลป้องกันโรคติดต่ออย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดอคติต่อประชากร และสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดต่อไป

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

ติดต่อและติดตาม MWG ได้ที่

https://www.facebook.com/mwgthailand/

https://www.mwgthailand.org/th

เจ้าหน้าที่-ผู้ต้องกัก ตม.สะเดา ติดเชื้อเกือบครึ่งร้อย ต้นตอเจ้าหน้าที่ ตม. เข้าเวร

ศูนย์กักตัว ผู้ต้องกัก ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา อ.สะเดา จ.สงขลา ภาพถ่ายเมื่อ 27 เมษายน 2563 (ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อ 27 เม.ย. 63 ว่าต้นตอของการแพร่เชื้อในกลุ่มของชาวต่างชาติทั้ง 42 คน เดิมมีการสันนิษฐานว่ามาจาก หญิงสาวชาวมาเลเซียคนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีขับรถชนคนงานหมวดทางหลวงกำแพงเพชร เสียชีวิต 5 ศพในอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และส่งมากักตัวที่ศูนย์กัก ตม.สะเดา เมื่อ 15 เม.ย. 63 ก่อนถูกผลักดันกลับเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 63 และมีอาการป่วยโควิด-19

แต่ปรากฏว่าหลังจากที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ได้ตรวจสอบระยะเวลาพบว่าหญิงชาวมาเลเซียคนนี้ไม่น่าจะเป็นต้นตอของการแพร่เชื้อ เพราะผู้ใกล้ชิดทุกคนทั้งที่ไปพักอาศัยอยู่ที่ อ.หาดใหญ่ ระหว่างถูกดำเนินคดี และเจ้าหน้าที่ ตม. 2 นาย ที่ไปรับตัวมาที่ศูนย์กัก ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดที่สุดเพราะนั่งไปในรถกระบะด้วยกัน ผลเลือดทุกคนเป็นลบ ไม่มีใครติดเชื้อโควิด-19 แม้แต่คนเดียว ที่สำคัญก่อนที่จะถูกนำตัวเข้าไปในศูนย์กัก เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 63 ก็ได้พาไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลสะเดา และมีใบรับรองแพทย์ชัดเจนว่าไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19

แต่ชาวต่างชาติ 42 รายที่ห้องกัก ตม.สะเดา น่าจะรับการแพร่เชื้อมาจากเจ้าหน้าที่ ตม. คนแรกที่ติดเชื้อ ซึ่งไปเข้าเวรอยู่ที่ศูนย์กักแห่งนี้ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีอาการป่วยโควิด-19 และถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 63 และ ตม. ที่เข้าเวรร่วมกันทั้งหมด 5 คน ทุกคนก็ติดเชื้อหมด

ส่งผู้ติดเชื้อตั้งครรภ์ ผู้ติดเชื้ออาการหนักรักษา รพ.สงขลานครินทร์-รพ.หาดใหญ่ 6 ราย

ส่วนความคืบหน้าผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากศูนย์กักตัว ผู้ต้องกัก ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา อ.สะเดา จ.สงขลา ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อ 26 เม.ย. ระบุว่าศูนย์กักตัวดังกล่าวถูกปิดตายและดัดแปลงเป็นโรงพยาบาลสนาม เพื่อเปิดวอร์ดรักษาผู้ป่วยขึ้นภายในห้องกักตัวเหมือนกับในโรงพยาบาล ยกเว้นในกรณีที่มีอาการหนักหรือมีโรคแทรกซ้อนก็จะถูกนำออกไปรักษาที่โรงพยาบาล

และเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ไทยรัฐออนไลน์ ระบุว่า มีการส่งตัวหญิงสาวชาวพม่าที่ตั้งท้องแก่ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ติดเชื้อ ไปรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หรือ ม.อ. เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูก และในเวลา 15.00 น. วันเดียวกัน ได้ส่งผู้ติดเชื้อไปที่โรงพยาบาลหาดใหญ่เพิ่ม 5 คน เนื่องจากมีอาการทรุดจากภาวะแทรกซ้อนจากปอดบวม ไทยรัฐออนไลน์ ระบุว่า การส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน ทั้งขณะเคลื่อนย้าย การรักษาของแพทย์รวมทั้งการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง เพื่อป้องกันการหลบหนีออกจากโรงพยาบาล

ขณะที่เมื่อวันที่ 28 เม.ย. สำนักข่าวไทย ระบุว่าผู้ต้องกัก 6 คนยังรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และโรงพยาบาลหาดใหญ่ ผู้ต้องกัก 36 คน ยังรักษาตัวอยู่ในห้องกักศูนย์กักตัวผู้ต้องกักตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา และผู้ต้องกักอีก 73 คนยังไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 

และจนถึงวันที่ 28 เม.ย. สำนักสาธารณสุขจังหวัดสงขลาระบุว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 จ.สงขลา ยอดสะสมรวม 105 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 50 ราย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net