Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การระบาดของโรคโควิด 19 ยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจและแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่ต้องตกที่นั่งลำบากที่สุดในวิกฤติทางสุขภาพระดับโลกที่รุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ประเทศไทยคือบ้านของแรงงานข้ามชาติราวสี่ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV คือกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม

แรงงานข้ามชาติคือฟันเฟืองที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ผลักดันการเติบโตและการผลิตในหลายภาคส่วนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง การผลิตในโรงงานและการบริการ การโอบอุ้มธุรกิจในอุตสาหกรรมเหล่านี้คือการปกป้องแรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกจ้าง และยิ่งไปกว่านั้นคือการหนุนเสริมศักยภาพของประเทศไทยให้สามารถฟื้นตัวและกลับมายืนหยัดอย่างแข็งแกร่งได้อีกครั้ง

คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่า ภายในเดือนมิถุนายนจะมีคนงานก่อสร้างประมาณหนึ่งล้านคนตกงาน หลายคนเป็นแรงงานข้ามชาติ อันเป็นผลจากการปิดเมืองเพื่อป้องกันโรคระบาด นอกจากนี้การท่องเที่ยวในประเทศที่ชะลอตัว การปิดร้านอาหารและบาร์ ก็ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากในภาคอื่น ๆ ของเศรษฐกิจได้รับผลกระทบด้วย

จากการประเมินขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) วิกฤตโควิด 19 ทำให้แรงงานข้ามชาติราว 150,000-200,000 คนจากประเทศกลุ่ม CLMV ตกงานทันที หลายคนตัดสินใจกลับภูมิลำเนา แต่คนที่กลับไม่ได้ก็จำต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนที่น่าหวาดหวั่นและปัจจัยในการเลี้ยงชีพที่มีอยู่อย่างจำกัดในประเทศไทย 

รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ในภาวะที่ความเสี่ยงด้านสุขภาพและเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น 

ในขณะนี้ ให้ถือว่าผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อ หรือผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน มีสิทธิ์ได้รับการตรวจและรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะถือสัญชาติใด

คณะรัฐมนตรียังได้นำเสนอแผนการจ่ายเงินชดเชยต่าง ๆ สำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ รวมไปถึงมาตรการภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเป็นเวลาตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป

มาตรการที่อาจถือได้ว่าโดดเด่นที่สุดคือการอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติจดทะเบียนจากประเทศกลุ่ม CLMV สามารถพำนักต่อในประเทศได้ถึงวันที่ 30 พ.ย. ซึ่งถือเป็นวิธีปฏิบัติที่ดีและเป็นตัวอย่างสำหรับนานาประเทศในการคุ้มครองและพิทักษ์ศักดิ์ศรีของแรงงานข้ามชาติในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

แต่ถึงจะมีความก้าวหน้าเหล่านี้ให้ได้ชื่นใจ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ตกหล่นและถูกละเลย
กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในตอนนี้คงหนีไม่พ้นแรงงานที่ตกงานเนื่องจากวิกฤต และติดอยู่ในประเทศไทยโดยไม่มีรายได้ และแทบจะไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัย อาหาร และความต้องการขั้นพื้นฐานอื่น ๆ และกลับบ้านก็ไม่ได้

มาตรการชดเชยส่วนใหญ่จะให้ประโยชน์แก่แรงงานในระบบ แต่ไม่ใช่สำหรับแรงงานข้ามชาตินอกระบบอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถลงทะเบียนในกองทุนประกันสังคม เช่น แรงงานรับใช้ในบ้าน 

อีกสาเหตุหนึ่งที่แรงงานข้ามชาติไม่ปกติ แรงงานข้ามชาตินอกระบบ และแรงงานข้ามชาติที่ตกงานไม่สามารถกลับภูมิลำเนาได้ ก็คือข้อจำกัดในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

นายจ้างจำนวนมากก็ไม่มีความพร้อมที่จะใช้มาตรการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดหาให้แรงงานข้ามชาติมีสภาพความเป็นอยู่ที่สะอาดถูกสุขลักษณะ การมีสบู่ น้ำสะอาดและหน้ากากให้ใช้ รวมถึงมีพื้นที่สำหรับกักตนเอง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยฟื้นจากวิกฤตได้

ณ ตอนนี้ ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าชุมชนผู้อพยพได้รับข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับโรคโควิด 19 หรือสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จะช่วยให้พวกเขารักษาความสะอาดและสุขอนามัยเพื่อป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

เพื่ออุดช่องว่างทางข้อมูลและเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ได้ทำการสำรวจและประเมินสถานการณ์โดยประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ของสหประชาชาติและผู้มีส่วนได้เสียในท้องถิ่นเพื่อให้ทราบถึงความต้องการ เงื่อนไข และความท้าทายที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญ และเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับรัฐบาลไทยในการช่วยเหลือประชากรกลุ่มนี้ 

โดยผลการศึกษาดังกล่าวพบว่า ความท้าทายที่กลุ่มประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยต้องเผชิญมากที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด 19 คือรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยร้อยละ 76 ของผู้ให้ข้อมูลสำคัญรายงานว่าเคยได้รับรู้ข้อกังวลจากกลุ่มประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยเรื่องการขาดแคลนอาหาร ส่วนอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงสุขอนามัยและสุขาภิบาลพื้นฐานเพื่อป้องกันเชื้อโควิด 19 คือ ราคาของอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) นอกจากนี้ยังพบว่ามีการรับรู้และเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด19 และการล้างมืออย่างถูกวิธีอยู่ในระดับต่ำ โดยสาเหตุหลักเกิดจากการอ่านเอกสารไม่ออก

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เมื่อประเทศต่าง ๆ กลับมาเปิดพรมแดนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นกลับมาอย่างเต็มรูปแบบในที่สุด ความเสี่ยงมุมกลับที่จะตามมาก็คือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการกลับมาทำงานในประเทศไทยอีกครั้ง
ภาคธุรกิจอาจเผชิญกับการขาดแรงงานอย่างหนัก และจะเร่งหาแรงงานเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงทีเมื่อกลับมาทำการตามปกติ สิ่งที่จำเป็นในภาวะดังกล่าวคือกลไกตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการจ้างงานที่มีจริยธรรม องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เล็งเห็นถึงประเด็นนี้จึงได้เผยแพร่คู่มือสำหรับนายจ้างในภาวะวิกฤตโควิด 19 เนื้อหาประกอบด้วยคำแนะนำในการจ้างงานอย่างมีจริยธรรมในภาวะวิกฤต และวิธีบริหารจัดการเมื่อแรงงานข้ามชาติกลับมา

การระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 นี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการแก้ไขความทุกข์ร้อนของของแรงงานข้ามชาติในช่วงวิกฤต ขอให้เราใช้ความเข้าใจเป็นเข็มทิศเพื่อดูแลให้แรงงานข้ามชาติไม่ต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทั้งในวันที่ร้ายและวันที่ดี
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net