นักวิชาการอ้อยเตือนแบนพาราควอต ระวังอุตสาหกรรมอ้อยทรุดหนัก

สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลชี้แบนพาราควอตกระทบอุตสาหกรรม คาดเบื้องต้นสูญหาย 1.5 แสนล้านบาท ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่รวม 3 แสนล้านบาท ด้านเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษฯ ระบุยาง อ้อย ข้าวโพด ราคาร่วงเพราะผลของราคาน้ำมันตกต่ำ และผลกระทบโรคระบาดต่อห่วงโซ่การผลิตระดับโลก แนะควรจะลดการปลูกลงหรือลดต้นทุนการใช้สารพิษร้ายแรงลง

29 เม.ย. 2563 วันนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจากสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทยระบุว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น มีแนวโน้มก่อความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อยมากที่สุด คาดว่าในกรณีร้ายแรงที่สุด ปริมาณอ้อยเข้าหีบสำหรับผลิตน้ำตาล อาจลดลงมากถึง 25 ล้านตัน หรือคิดเป็น 27% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบโดยรวม ส่งผลให้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบสำหรับผลิตน้ำตาล เหลือประมาณ 75 ล้านตัน หดตัวตัว 43% จากในฤดูการผลิตที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากภัยแล้ง ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลจะทยอยปิดหีบตั้งแต่เดือนมีนาคม เร็วกว่าปกติ ซึ่งจะปิดหีบในช่วงเดือนเมษายน โดยหากภัยแล้งลากยาวไปถึงเดือนมิถุนายน โรงงานน้ำตาลอาจเผชิญความเสี่ยงในการขาดแคลนอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตต่อไปอีกด้วย

กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย หรือ สนอท. เปิดผลการศึกษาล่าสุดในรายงานประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจหากยกเลิกการใช้สารพาราควอตต่อภาคการเกษตรอุตสาหกรรมและการส่งออกของประเทศไทย พ.ศ.2563 พบว่า ปัจจัยการผลิตสำคัญที่กว่า 80 ประเทศทั่วโลกใช้เพื่อกำจัดวัชพืช นั่นคือ พาราควอต โดยเฉพาะออสเตรเลีย บราซิล และอินเดีย ใช้เพื่อลดจำนวนวัชพืช ซึ่งจะแย่งน้ำและธาตุอาหารของพืชหลัก เป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูพืชและโรคพืช จำกัดจำนวนของอ้อยตอที่งอกใหม่จากอ้อยต้นเดิม และรบกวนการหีบอ้อย ทั้งนี้ การผลิตอ้อย จำเป็นต้องใช้พาราควอตในการควบคุมวัชพืชในระยะแตกกอหรือในช่วง 30-170 วันหลังปลูก และระยะอ้อยย่างปล้องเป็นจุดวิกฤตที่สุด หากควบคุมวัชพืชไม่ได้ จะทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 20-50 ส่งผลปริมาณอ้อยเหลือ 67-108 ล้านตัน จากเดิม 134.8 ล้านตัน กระทบเกษตรกรสูญรายได้รวม 5.8 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญ หากมีฝนตกชุก วัชพืชจะเติบโตเร็วและมาก ไม่สามารถใช้เครื่องจักรกลเข้าไปจัดการในแปลงได้ และไม่มีสารเคมีเกษตรชนิดอื่นทดแทนได้นอกจากพาราควอต


กิตติ ชุณหวงศ์

อีกทั้ง ในปีนี้ ต้นทุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย สูงถึง 1,200-1,300 บาทต่อไร่ ต่างจากฤดูปกติ อยู่ที่ 1,110 บาทต่อไร่ ขณะที่ค่าอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 750 บาทต่อไร่ ทำให้ภาครัฐต้องหันมาพิจารณาช่วยเหลือในเรื่องต้นทุนในส่วนของปัจจัยการผลิต อันเป็นแนวทางเดียวที่รัฐจะช่วยได้โดยไม่ขัดกับข้อตกลงองค์กรการค้าโลก (WTO) ที่กำหนดห้ามสนับสนุนเงินช่วยเหลือ

ดังนั้น จะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรชาวไร่อ้อยจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้วจากผลกระทบภัยแล้ง และรายได้จากการส่งออกที่ลดลงจากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หากมีการยกเลิกใช้พาราควอต ในเบื้องต้น สนอท. คาดการณ์ผลผลิตอ้อยลดลงทันทีครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 50 คิดมูลค่าเสียหายสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท และกระทบไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีก 1.5 แสนล้านบาท รวมสูญเสีย 3 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ การพิจารณาเลือกวิธีการและสารทดแทนพาราควอตนั้น ควรดำเนินการอย่างรอบด้านและรัดกุม ได้แก่ ประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืช ประหยัดเวลา ราคา ค้นทุน ปลอดภัยต่อพืชเศรษฐกิจ (อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล) รวมทั้งปลอดภัยต่อผู้ใช้ สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค โดยศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วิเคราะห์แล้วพบว่าสารเคมีเกษตรที่อยู่ในข้อเสนอทดแทนนั้น ไม่มีสารทดแทนใดมีประสิทธิภาพ ราคา และสามารถใช้ได้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจทั้ง 6 ชนิด สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดยืนยันโดยกรมวิชาการเกษตร ยังไม่มีสารและวิธีการอื่นใดมาทดแทนพาราควอตได้

“ท่ามกลางปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังรุมเร้ารัฐบาลในหลายด้าน ทั้งปัญหาใหม่ เช่น ไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อการส่งออกสินค้า ผลผลิตส่งออกไม่ได้ ปัญหาเก่า ได้แก่ ภัยแล้ง น้ำท่วม หนี้สินเกษตรกร ต้นทุนการผลิตภาคเกษตร ปัญหาแรงงานเกษตรที่หายากและราคาแพง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังไม่ทันจะแก้ไข กลับจะซ้ำเติมให้เลวร้ายยิ่งขึ้นให้กับภาคอุตสาหกรรมอ้อยด้วยการแบนพาราควอต จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง อย่าเพิ่งยกเลิกใช้พาราควอตในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ เพราะอาจส่งผลกระทบเสียหายเกินคาด อย่าลืมว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกเป็นหลักกว่า 11 ล้านตันต่อปี สาเหตุสำคัญที่ไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก ด้วยต้นทุนอ้อยของไทยต่ำกว่า ดังนั้น มาตรการจำกัดการใช้ จึงเป็นทางสายกลาง เป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้” กิตติกล่าวสรุป

 

ขณะที่วานนี้ (28 เม.ย. 2563) เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง โดยนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ และนางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นตัวแทนได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงอุตสาหกรรม ถึงนายสุริยะจึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อคัดค้านการเลื่อนการแบนสารพิษดังกล่าว โดยมีนางรัตนา รักษ์ตระกูล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้มารับมอบหนังสือแทน

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง จี้รัฐอย่าฉวยโอกาสเลื่อนแบน 2 สารอันตราย

จดหมายบางส่วนระบุว่า ข้ออ้างของนายกลินท์ สารสินให้ขยายเวลาการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไปเป็นปลายปี 2563 โดยกังวลเรื่องการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 2 ขนิดในผลผลิตที่นำเข้าแล้วจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศนั้นฟังไม่ขึ้น เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกแบนพาราควอตมากว่าทศวรรษ สหภาพยุโรปประกาศแบนคลอร์ไพริฟอสตั้งแต่วันที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ 2563 หรือเวียดนามซึ่งแบนพาราควอตเมื่อปี 2560 และแบนคลอร์ไพริฟอสเมื่อต้นปี 2562 เป็นต้น ไม่มีประเทศใดอ้างปัญหาการตกค้างจนส่งผลกระทบต่อการผลิตและอุตสาหกรรมใดๆเลย แม้กระทั่งจดหมายของสหรัฐเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ส่งมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อคัดค้านการแบนไกลโฟเซต แต่ก็ไม่ได้คัดค้านการแบนและอ้างการตกค้างของพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสแต่ประการใด

วันนี้ เฟสบุ๊คแฟนเพจ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เพจข้อความระบุว่า "พิลึก ! อ้างเหตุไวรัสระบาด เพื่อให้ยืดการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสออกไป

พาราควอตมี 59 ประเทศแบนไปแล้ว คลอร์ไพริฟอส ยุโรปแบนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีมากกว่า 30 ประเทศรวมทั้งจีน เวียดนามที่แบนแล้ว

อ้างเหตุโรคระบาด ฟังแล้วงงๆ นี่คือ 8 ประเด็นพิลึก เกี่ยวกับเรื่องนี้

1.คุณกลินท์ สารสิน คนที่ร้องเรียนขอให้ใช้ต่อเมื่อไม่กี่เดือนก่อนเพิ่งทำจดหมายยืนยันถึงนายกรัฐมนตรีในนามสภาหอการค้าว่า สนับสนุนการแบนสารพิษทั้ง 3 ชนิด ทำไมกลืนคำพูดตัวเอง

ข้อน่าสังเกตคือ จดหมายที่ส่งถึงรมว.อุตสาหกรรม แม้มีหัวสภาหอการค้าฯ แต่ใช้คำพูดเหมือนจดหมายส่วนตัว

2. ในสถานการณ์โรคระบาด ประเทศต่างๆลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มาเน้นพืชอาหาร ส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสานให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร อันนี้กลับทำตรงกันข้าม

3. ยาง อ้อย ข้าวโพด ราคาร่วง และน่าจะร่วงยาว เพราะผลของราคาน้ำมันตกต่ำ และผลกระทบโรคระบาดต่อห่วงโซ่การผลิตระดับโลก รวมทั้งเศรษฐกิจโลกถดถอยระยะยาว เราก็ควรจะลดการปลูกลง หรือลดต้นทุนโดยลดการใช้สารพิษร้ายแรงลง

4. ขาดแคลนแรงงาน อันนี้ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะคาดว่าจะมีคนกลับไปภาคเกษตรนับล้านคน ยิ่งควรจะเป็นโอกาสที่จะได้ใช้กำลังแรงงาน+การใช้เครื่องจักรกลในการจัดการวัชพืช

5. กลัวจะไม่สามารถนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เช่น ถั่วเหลือง หรือ ข้าวโพด ที่มีพาราควอตตกค้าง ประเด็นนี้ไม่เคยเป็นประเด็นมาก่อน และไม่เคยมีประเทศไหนทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งอก รวมทั้งสหรัฐหรือสภาหอกการค้า เองอ้างเรื่องนี้มาก่อน กลุ่มสนับสนุนสารพิษยืนยันหัวชนฝาว่าไม่มีปัญหาเรื่องการตกค้าง

6. ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ว่ากันว่าเป็นภัยแล้งครั้งร้ายแรงมากที่สุดในรอบ 20 ปี หรือบางคนบอกว่ารอบ 50 ปีเลยทีเดียว ปัญหาวัชพืชน้อยลงมาก

7. ไหนก่อนหน้านี้บอกว่ามีสต็อคเหลือเยอะ รัฐไม่อยากรับภาระยึดคืนมาทำลาย เพราะเสียค่าใช้จ่ายสูง ทำไมปล่อยให้นำเข้ามาอีก

8. เหตุที่แบน กรรมการก็รู้อยู่แล้วว่ามันเป็นอันตราย แต่ทำไมกลับปล่อยให้นำเข้า ปล่อยให้ใช้ต่อไปอีก 6 เดือน ซ้ำเติมปัญหาสุขภาพประชาชน

เรื่องของเรื่อง คือต้องการเอื้อประโยชน์ผู้ค้าสารพิษ ยื้อการแบนออกไปเรื่อยๆไม่รู้จบ ใช่หรือไม่ ?"

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท