ดูปมฆ่าตัวตายจากโควิด-19 บนหน้าข่าว นักวิจัยแนะรัฐเยียวยาให้มากขึ้น

หลังรัฐประกาศมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวด คนฆ่าตัวตายแล้วอย่างน้อย 24 คนใน 22 กรณี เหตุเศรษฐกิจชะงักและความเครียดเกี่ยวกับโรคระบาด  ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตพบ ช่วง มี.ค. - เม.ย. 63 มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 62 นักวิชาการแนะ รัฐเปิดฮอตไลน์ ช่วยเหลือถ้วนหน้า เร่งเปิดพื้นที่ เลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

เป็นเวลาหนึ่งเดือนกว่าแล้วที่รัฐใช้นโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และใช้นโยบายอย่างเข้มงวดเช่นการปิดเมือง ปิดห้างสรรพสินค้าและสถานบริการต่างๆ พร้อมทั้งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (โควิด-19)

การควบคุมโรคที่เข้มงวดกลับส่งผลกระทบกับประชาชนทางอ้อม ประชาชนบางส่วนไม่สามารถหารายได้ได้ตามปกติ มีภาวะเครียดจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจของประเทศที่หยุดชะงัก มีหลายกรณีที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ที่กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง

ผู้สื่อข่าวค้นหาจากข่าวในช่วงวันที่ 20 มี.ค. 63 – 25 เม.ย. 63  พบว่า มีข่าวการฆ่าตัวตายอย่างน้อย 22 กรณี มียอดผู้เสียชีวิตอย่างน้อยจำนวน 24 คน โดยสาเหตุของการฆ่าตัวตายนั้น แบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ ฆ่าตัวตายเนื่องจากเครียดและกังวลเกี่ยวกับโรคระบาด 4 กรณี  และฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของรัฐ 18 กรณี และพบว่าเป็นเพศชาย 7 คน เพศหญิง 17 คน ผู้ฆ่าตัวตายมีอายุเฉลี่ย 40 ปี

กรณีการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ประกอบอาชีพพนักงานหรือผู้ประกอบการอิสระ มีบางส่วนเป็นผู้ว่างงาน  ซึ่งในบางกรณีเป็นผู้ที่ตกหล่นจากมาตรการการเยียวยาช่วยเหลือจากรัฐหรืออยู่ในกลุ่ม ‘คนที่ไม่ผ่านเกณฑ์’ เช่น คนงานก่อสร้างหรือคนว่างงานซึ่งรัฐไม่ได้มอบเงินเยียวยา 5,000 บาทในโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ (สามารถดูรายละเอียดข่าวได้ตามตารางท้ายข่าว)

อนึ่ง วิธีการค้นหากรณีการฆ่าตัวตาย เชื่อมโยงกับปัญหาโควิด-19 พบว่ามีความคลาดเคลื่อนในทางจำนวนและรายละเอียด วิธีการเช่นนี้จึงทำให้มีปฏิกิริยาทั้งในทางเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บ้างก็มีข้อสังเกตทางวิชาการเรื่องความเกี่ยวโยง และความน่าเชื่อถือในการสะท้อนภาพความเป็นจริง เช่น ข้อมูลอีกชุดจากการรวบรวมข่าวโดยคณะนักวิจัยโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ที่พบว่าตั้งแต่ 1 ถึง 21 เม.ย. 2563 มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 ราย

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ออกมาแถลงสืบเนื่องจากชุดข้อมูลของคณะนักวิจัยข้างต้น โดยมีข้อสังเกตว่า การเก็บข้อมูลเป็นบทวิเคราะห์จากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนและไม่ได้เทียบกับสถิติฆ่าตัวตายเมื่อเดือนก่อน ไม่สามารถใช้เป็นภาพแทนปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมไทยได้ และการอภิปรายผลการวิจัยโดยไม่ทบทวนวรรณกรรมหรืองานวิจัยสุขภาพจิตอาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้

เกียรติภูมิกล่าวอีกว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายมีความสลับซับซ้อน ปัญหาที่เป็นปัจจัยร่วมมากที่สุดคือปัญหาความสัมพันธ์ รองลงมาคือการใช้สุรา โรคทางกาย โรคจิตเวชและปัญหาเศรษฐกิจ ในช่วงปี 63 กรมสุขภาพจิตคาดการณ์ว่า ตัวเลขการฆ่าตัวตายในไทยอาจสูงกว่าค่าเฉลี่ยทุกปีตามกลไกทางจิตวิทยาสังคมที่อยู่ในภาวะวิกฤต ปัจจัยเศรษฐกิจจะมีบทบาทมากขึ้นและมีอัตราส่วนสูงขึ้น ทั้งนี้ก็ยังจะมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย การเผยแพร่ข้อมูลที่มีเนื้อหาระบุว่าปัจจัยใดเพียงปัจจัยหนึ่งเป็นเหตุแห่งการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายนั้น อาจก่อให้เกิดการมองข้ามความสำคัญในการจัดการกับปัจจัยอื่นๆ ที่มีร่วม หรือมองข้ามการใช้ปัจจัยความเข้มแข็งอื่นเป็นเครื่องป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมไทย (ที่มา:กรมสุขภาพจิต)

หลังจากมีแถลงของกรมสุขภาพจิต คณะวิจัยได้มีข้อชี้แจงเพิ่มเติมถึงเอกสารการแถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ “ฆ่าตัวตาย” จากไวรัสโควิด-19 และข้อเสนอแนะ ว่าเป็นเพียง ‘การแถลงผลการรวบรวมข้อมูล’ มิใช่ ‘ผลการวิจัย’ ซึ่งการแถลงผลฉบับนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลจากสื่อที่ระบุว่าแรงจูงใจสุดท้ายที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายนั้นสัมพันธ์กับผลกระทบอันเกิดจากมาตรการการควบคุมไวรัสโควิด-19 และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ คณะวิจัยตระหนักดีว่าการฆ่าตัวตายมีสาเหตุหลากหลายปัจจัยซ้อนทับ แต่ในกรณีที่เก็บข้อมูลนี้มานำเสนอก็เพี่อที่จะบ่งบอกถึงฟางเส้นสุดท้ายของผู้คนกำลังกดทับจนไม่สามารถที่จะมองหาทางออกในชีวิตได้ การที่กรมสุขภาพจิตได้ท้วงติง คณะวิจัยถือว่าเป็นเรื่องดี และขอให้กรมสุขภาพจิตได้ร่วมกันลดทอนน้ำหนักของฟางเส้นสุดท้ายนี้ด้วย

คณะวิจัยคนจนเมือง ยันหลักเสรีภาพทางวิชาการ เพื่อให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหาในมิติความเหลื่อมล้ำ

รัฐบาลตระหนักควรนึกถึงการเยียวยาประชาชนให้มากขึ้น

คณะวิจัยจากโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงเผยแพร่แถลงการณ์กรณีการฆ่าตัวตายอันเกิดจากผลกระทบจากโควิด-19 เมื่อ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า ดังนี้

ประการแรก รัฐบาลควรมีความตระหนักให้มากกว่านี้ว่า การฆ่าตัวตายของประชาชนเป็นผลจากมาตรการของรัฐบาลในการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด แต่กลับไม่มีมาตรการในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงทีและครอบคลุมประชาชนที่เดือดร้อนทุกกลุ่ม อย่างน้อยควรจัดเตรียมสายด่วนให้กับประชาชนที่กำลังเดือดร้อนได้แจ้งปัญหา และมีเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

ประการที่สอง รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนการให้เงินเยียวยาในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ให้กว้างขวางและรวดเร็ว บนฐานคิด “ช่วยเหลือให้ถ้วนหน้า” ไม่ใช่ “สงเคราะห์เพียงบางคน”  และการเรียกร้องให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพียงด้านเดียวจะทําให้มีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังและข้างทางเป็นจํานวนมาก

ประการที่สาม ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงในระดับสูง จําเป็นต้องมีการ “เปิดพื้นที่แบบมีการจัดการ” เช่น ตลาด ร้านค้ารายย่อย เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนพอมีพื้นที่ทํามาหากินเลี้ยงชีวิตของตนเองและครอบครัวได้  แต่ต้องมีการจัดการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ประการที่สี่ รัฐบาลต้องยกเลิกการใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนโดยไม่จําเป็น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความยุ่งยากในการแจกจ่ายอาหารของประชาชน การข่มขู่ว่าจะมีการใช้อํานาจตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อผู้ประสงค์จะแจกอาหาร การจับกุมคนไร้บ้านด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การจับกุมและลงโทษบุคคลด้วยมาตรฐานที่แตกต่างกันในการกระทําเดียวกัน เป็นต้น

สถิติระบุ ฆ่าตัวตาย 3 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ในภาพใหญ่ ถ้าเปรียบเทียบสถิติคนฆ่าตัวตายปีที่แล้วกับปีนี้ในช่วงเวลาเดียวกันคือ 20 มี.ค. – 25 เม.ย. โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลกรมสุขภาพจิต พบว่า ในปี 2562 นั้นมีผู้เสียชีวิต 191 ราย ในขณะที่ปี 2563 นี้มีผู้เสียชีวิต 605 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 3 เท่า

ที่มาข้อมูลจาก แบบเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายของคนไทย เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2563

ส่วนจำนวนผู้รอดชีวิตจากการฆ่าตัวตายในช่วงเวลาเดียวกัน มีจำนวน 633 รายในปี 2562 เทียบกับจำนวนผู้รอดชีวิต 981 รายในปี 2563 ถือว่าเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า 

ชุดข้อมูลข่าวที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายที่ค้นหา (ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2563 – 25 เมษายน 2563)

วันที่

พาดหัวข่าว

สำนักข่าว

เพศ

อายุ (ปี)

จังหวัด

20 มี.ค

ครูนครนายก เครียดจัด ผูกคอตายหนีโควิด-19 ทิ้งจดหมายร่ำลา ขอโทษด้วยผมอาจติดเชื้อ

กระปุกดอทคอม

ชาย

ไม่ทราบ

นครนายก

20 มี.ค

หญิงวัย 52 ปีเครียดโรคโควิด-19 กระโดดตึกฆ่าตัวตาย

ข่าวเจาะลึก

หญิง

52

นครปฐม

26 มี.ค

พิษ “โควิด-19” ฆ่าคนทางอ้อม!! ไกด์เครียดไร้งาน ผูกคอลาโลก

เดลินิวส์

ชาย

59

เชียงใหม่

1 เม.ย.

สลด พ่อค้ากาแฟ วิตกคิดว่าติดโควิด-19 ผูกคอตายลาโลก กลัวเชื้อติดลูกเมีย

ช่อง 7

ชาย

51

ชลบุรี

3 เม.ย.

หนุ่มเครียดผลเลือดเป็นบวก กลัวติด "โควิด" โดดตึกฆ่าตัวตาย

ข่าวสดออนไลน์

ชาย

27

สงขลา

5 เม.ย.

หนุ่มช่างเชื่อมเครียดโควิด-19 ทำไม่มีงาน-รายได้หดหาย ตัดสินใจปาดคอตัวเองดับสยอง

แนวหน้า

ชาย

33

สุพรรณบุรี

9 เม.ย.

หดหู่ พิษเศรษฐกิจ-โควิด สาวใหญ่รมควัน หลังทะเลาะกับแฟนหนักปมหนี้สิน

ไทยรัฐ

หญิง

40

กทม.

10 เม.ย.

หนุ่มเครียดตกงาน-เลิกแฟน โดดจุดชมวิวเขารังตายสลด

เดลินิวส์

ชาย

28

ภูเก็ต

12 เม.ย.

แม่เล่าสลด ลูกตกงานเพราะโควิด 19 จนผูกคอตาย ทำก่อสร้างไม่ได้เงินเยียวยา 5,000

กระปุกดอทคอม

ชาย

30

สุโขทัย

13 เม.ย.

สลด! ผู้กักกันโควิดเครียดโดดตึกชั้น 8 รพ. พระประแดงดับ

ไทยโพสต์

ชาย

51

สมุทรปราการ

17 เม.ย.

สาวทำงานสนามบิน ดิ่งคอนโดดับ เครียดเรื่องเงินช่วงหยุดงานโควิด-19

ไทยรัฐ

หญิง

24

กทม.

18 เม.ย.

สลด พ่อเฒ่า 74 อยู่คนเดียว โดนกักโควิด-เครียด ปลิดชีพคาห้องนอน

ไทยรัฐ

ชาย

74

สุรินทร์

18 เม.ย.

เครียดพิษโควิด-19! หนุ่มอุทัยฯ ตกงานคว้าปืนยิงขมับตัวเองดับ-สาวกระโดดตึกดับ ต่อหน้าต่อตาพ่อ คาดจากปัญหาการเงิน

ช่อง 3

ชาย

27

อุทัยธานี

18 เม.ย.

สาวใหญ่กำแพงเพชรเครียดโควิด-19 ระบาด ชวดเงิน  “เราไม่ทิ้งกัน” แขวนคอตายไม่มีแม้แต่เงินซื้อโลง

ผู้จัดการออนไลน์

หญิง

57

กำแพงเพชร

19 เม.ย.

หนุ่มหมดหวังช่วงโควิดฆ่าตัวตาย หลังจากนั้น 2 วัน เงินเยียวยาเข้าบัญชี

มติชน

ชาย

ไม่ทราบ

สงขลา

20 เม.ย.

แท็กซี่ผูกคอตาย เครียดไม่ได้เงิน 5 พัน เมียเผยก่อนตายมีเงินติดตัวแค่ 60 ที่บ้านตกงาน 8 คน

ช่อง 3

ชาย

ไม่ทราบ

กทม.

21 เม.ย.

พิษโควิด! แม่ลูกสอง เครียดชีวิต ไร้เงินซื้อนมให้ลูก ผูกคอดับในห้องน้ำ

ข่าวสด

หญิง

26

มหาสารคาม

21 เม.ย.

สลด พ่อตกงาน พาลูกสาว 5 ขวบอาศัยนอนวัด ก่อนพบเป็นศพลอยแม่น้ำทั้งคู่

ไทยรัฐ

ชาย- หญิง

40-50-5

อยุธยา

21 เม.ย.

พิษโควิด-19! หนุ่มช่างแอร์เครียดตกงาน 2 เดือน-รถถูกยึด ผูกคอตายในห้องเช่า แม่บอกไม่มีแม้แต่เงินทำศพ

ช่อง 3

ชาย

34

สระบุรี

22 เม.ย.

พ่อค้าเครียด ขายของไม่ดี ช่วงโควิด กลัวไม่มีเงินส่งลูกเรียน ผูกคอลาโลกสลด

ข่าวสด

ชาย

42

อุดรธานี

23 เม.ย.

เครียดพิษเศรษฐกิจจน'ซึมเศร้า' ผัวบริษัทไฟรัดคอเมีย-ยิงตัวตายตาม

เดลินิวส์

หญิง- ชาย

31-34

ระยอง

25 เม.ย.

เซ่น"โควิด"ไร้เงินส่งค่างวดรถบัส สลดเจ้าของผูกคอดับคาราวบันได

เดลินิวส์

ชาย

46

สมุทรปราการ

 

 

 

 

 

รดารัตน์ ศุภศรี ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท