Skip to main content
sharethis

สปสช.เผย 349 สถานพยาบาลส่งยาผู้ป่วยทางไปรษณีย์ลดความเสี่ยงโควิด-19 ด้าน ธ.ก.ส. จับมือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หนุนจัดทำบัตร Smart Card สพฉ. จ่ายเงินอุดหนุนรวมทั้งสวัสดิการ และประกันภัยการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ให้กับผู้ปฏิบัติการ วงเงินคุ้มครอง 100,000 บาท

349 สถานพยาบาล ส่งยาผู้ป่วยทางไปรษณีย์ ลดความเสี่ยงโควิด 19 

29 เม.ย. 2563 วันนี้ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงให้กับผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน โดยการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สนับสนุนโรงพยาบาลดำเนินการ “จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยรายเก่าที่บ้านทางไปรษณีย์” ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 มาตรการเพื่อควบคุมและลดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ตามมติบอร์ด สปสช.


นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

ปัจจุบันมีหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลในระบบบัตรทองทั่วประเทศ เข้าร่วมจัดบริการส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยรายเก่าทางไปรษณีย์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 แล้วจำนวน 349 แห่ง มีหน่วยบริการทุกระดับทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลเอกชน ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกเอกชน โดยพื้นที่เขต 13 กทม. มีหน่วยบริการที่เข้าร่วมจัดบริการมากที่สุด 32 แห่ง รองลงมาคือ ชลบุรี 15 แห่ง นครศรีธรรมราช 14 แห่ง และขอนแก่น 13 แห่ง เป็นต้น ทั้งนี้หน่วยบริการ กทม.ที่เข้าร่วมจะต่างจากพื้นที่อื่น ส่วนใหญ่เป็นคลินิกเวชกรรมที่เข้าร่วมโครงการบัตรทองมีจำนวน 20 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 แห่ง ขณะที่จังหวัดอื่นๆ หน่วยบริการที่เข้าร่วมจะเป็นโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชน

“การจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยรายเก่าที่บ้านทางไปรษณีย์ เป็นโครงการเฉพาะกิจในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ สปสช.ดำเนินการตามข้อเสนอโรงพยาบาลและกรมการแพทย์เพื่อดูแลผู้ป่วย โดยใช้งบประมาณจากกองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ 2563 สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดส่งในอัตรา 50 บาท/ครั้ง นอกเหนือจากงบกองทุนกรณีโควิด 19 จำนวน 4,280 ล้านบาท โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.)” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

ธ.ก.ส. จับมือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หนุนจัดทำบัตร Smart Card สพฉ.

ธ.ก.ส. ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดทำ “บัตร Smart Card สพฉ” ซึ่งเป็นทั้งบัตรประจำตัว บัตร ATM และบัตรเดบิต แก่ผู้ปฏิบัติการ จำนวน 100,000 ใบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจ่ายเงินอุดหนุนรวมทั้งสวัสดิการต่าง ๆ พร้อมมอบประกันภัยการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ให้กับผู้ปฏิบัติการ วงเงินคุ้มครอง 100,000 บาท

วันนี้ (29 เมษายน 2563) ณ ห้องประชุม 602 ชั้น 6 อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการจัดทำบัตร Smart Card สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ” ระหว่าง  นางณิชา อวยพรรุ่งรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และนายแพทย์พงศ์ธร เกียรติดำรงวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านมาตรฐานและคุณภาพ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อจัดทำบัตร Smart Card สพฉ. ที่สามารถใช้ทดแทนบัตรประจำตัวผู้ปฏิบัติการและยังใช้เป็นบัตรถอนเงินสด ผ่านเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ ATM และใช้ชำระค่าบริการตามร้านค้าที่รองรับบัตร Debit Prompt Card ให้กับผู้ปฏิบัติการของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

นางณิชา อวยพรรุ่งรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า การจัดทำบัตร Smart Card สพฉ. ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งบริการทางการเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของ ธ.ก.ส. ที่ช่วยให้สามารถจ่ายเงินอุดหนุนหรือเงินชดเชยรวมทั้งสวัสดิการต่าง ๆ ไปยังผู้ปฏิบัติการของ สพฉ. ได้โดยตรง จานวนกว่า 100,000 ใบ ขณะเดียวกันยังเป็นการอำนวยความสะดวกและลดการซ้ำซ้อนในการใช้บัตร เนื่องจากบัตร Smart Card สพฉ. จะเป็นทั้งบัตรประจาตัว บัตร ATM และเป็นบัตรที่สามารถใช้ชำระค่าบริการในร้านที่รองรับบัตร Debit Prompt Card ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะอำนวยความสะดวกในการจัดทำบัตร การเปิดบัญชีเงินฝาก การแนะนาการใช้งานบัตร พร้อมมอบสิทธิประโยชน์ให้ผู้ถือบัตร อาทิ การกดถอนเงินสดผ่าน ATM ทุกธนาคาร โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการถอนเงินข้ามเขตทุกธนาคาร จำนวน 4 ครั้งต่อเดือน และการมอบประกันภัยการติดเชื้อไวรัส COVID-19 วงเงินคุ้มครองการเจ็บป่วยระยะสุดท้าย 100,000 บาท ระยะเวลา 1 ปี สาหรับผู้จัดทำบัตรฯ ในครั้งแรก

นายแพทย์พงศ์ธร เกียรติดำรงวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านมาตรฐานและคุณภาพ สพฉ. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดทำบัตรประจำตัวแก่ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินที่ขึ้นทะเบียนกับ สพฉ. ซึ่งที่ผ่านมาอาจเกิดความล่าช้าในการจัดพิมพ์และส่งบัตรประจำตัวจากส่วนกลางไปยังผู้ปฏิบัติการฉุกเฉิน แต่หลังจากนี้ สพฉ. จะมอบให้ ธกส. ซึ่งเป็นธนาคารรัฐวิสาหกิจที่กำกับโดยกระทรวงการคลัง เป็นผู้จัดพิมพ์บัตรประจำตัวผู้ปฏิบัติการ และใช้ฐานข้อมูลจาก สพฉ. โดยผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินสามารถไปดำเนินการเพื่อเปิดบัญชีกับ ธกส. หรือหากมีบัญชีอยู่แล้วก็สามารถขอทำบัตรได้ที่ ธกส. ทุกสาขา ซึ่งบัตรแบบใหม่นี้จะเป็นแบบ SMART CARD หน้าบัตรจะแสดงรูปภาพ ชื่อ นามสกุล ระดับของผู้ปฏิบัติการ วันหมดอายุการรับรอง โดยหลังจากนี้การจ่ายเงินอุดหนุนหรือเงินชดเชยรวมทั้งสวัสดิการต่าง ๆ ไปยังผู้ปฏิบัติการ จะสามารถทำได้โดยตรง มีความสะดวก ถูกต้องและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ตามความร่วมมือนี้จะมีผลให้เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2563 เป็นต้นไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net