Skip to main content
sharethis

เครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรอนุรักษ์ ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อยกเลิกการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรอง 7 ฉบับ ของ พ.รบ. อุทยานแห่งชาติและ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า โดยไม่ประสัมพันธ์ร่างกฎหมายอย่างเต็มที อีกทั้งยังเป็นการรับฟังความเห็นภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน 

นิตยา ม่วงกลาง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กรณีปัญหาอุทยานแห่งชาติไทรทอง: แฟ้มภาพ

29 เม.ย. 2563 ภายหลังจากที่มีประกาศกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จำนวน 7 ฉบับ โดยให้แสดงความเห็นผ่านเว็บไซด์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชระหว่างวันที่ 8 - 25 เม.ย. 2563 โดยมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ระหว่างวันที่ 1-7 เม.ย.2563 การเปิดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมเนื่องจากมีการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง เป็นการรับฟังความเห็นที่ขึ้นเพียงในเว็บไซต์เท่านั้น โดยก่อนหน้านี้มีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานผู้ที่เกี่ยวข้องให้ยกเลิกการรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากระยะเวลาที่จำกัด และไม่มีการพิจารณาอย่างรอบด้าน

นิตยา ม่วงกลาง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานพื้นที่กรณีปัญหาอุทยานแห่งชาติไทรทองทับที่ทำกิน ต.ห้วยแย้ ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการเร่งเปิดรับฟังความคิดเห็นในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโควิค และติด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 

“รัฐฉวยโอกาสในสถานการณ์ที่ประชาชนบ่สามารถเคลื่อนไหว หรือเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็ปไซต์ รัฐไม่ให้สิทธิประชาชนในการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และรัฐยังจำกัดสิทธิชุมชนแม้แต่การใช้ประโยชน์ทรัพยากรเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อการเลี้ยงชีพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” นิตยา กล่าว 

เธอกล่าวต่อว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่อาศัยทำมาหากินในเขตอุทยานบไม่เคยเห็นด้วยกับการออกกฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานและกฎหมายลูก 7 ฉบับนี้ และต้องการให้ยกเลิกการรับฟังความคิดเห็นในช่วงนี้เพราะต้องให้เวลาในการศึกษาผลดีผลเสีย และเมื่อดูจากร่างกฎหมายพบว่า มีการจำกัดสิทธิของชาวบ้านในที่ทำกินเพียง 20 ไร่ต่อครอบครัว และจำกัดระยะเวลาในการทำประโยชน์ 20 ปี ซึ่งมองในความเป็นจริงแล้วพบว่า ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน และเป็นการจำกัดสิทธิของชาวบ้านอย่างมาก

ขณะที่ กันยา ปันกิตติ แกนนำเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดจ.ตรัง กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่เห็นด้วยกับการที่กรมอุทยานฯ เร่งรัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิค เพราะในขณะที่รัฐบาลบอกให้ชาวบ้านอยู่บ้านเพื่อชาติ รัฐบาลเองต้องหยุดการกระทำที่จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านด้วย

ไม่ใช่มาบีบบังคับกัน และตอนนี้ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมก็ได้ยื่นหนังสือถึง วราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ยกเลิกการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรอง 7 ฉบับดังกล่าว แล้ว

นอกจากนี้ยังมีองค์กรภาคประชาชนหลายองค์กรได้จัดทำหนังสือแสดงความห่วงใย อาทิ เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองร่วมกับสภาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรที่มีสมาชิกจำนวนมากที่อยู่อาศัยและพึ่งพิงพื้นที่ป่า ได้ทำหนังสือไปกรมอุทยานฯ เพื่อเสนอให้ขยายเวลา รวมทั้งเปิดโอกาส ช่องทางที่หลากหลายในการรับฟังความคิดเห็นในช่วงสถานการณ์มีจำกัด โดยเฉพาะชุมชนมที่อยู่ห่างไกล ในพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ทำให้ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ประกอบกับการไม่สามารถจัดเวทีปรึกษาหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและจัดทำข้อเสนอแนะจากสถานการณ์โควิด ทีรัฐ มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่อย่างไรก็ตามทางเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองและสภาองค์กรชุมชนก็ได้แนบความคิดเห็นและข้อเสนอต่อร่างอนุบัญญัติตามมาตรา 64 ว่าไม่ในประเด็นที่เป็นข้อห่วงใยหลักคือ การกำหนดการถือครองทำกินครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งอาจไม่สะท้อนความเป็นจริงในพื้นที่จริง และก่อนหน้านี้ทั้งสององค์กรได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้พิจารณาขยายเวลาการดำเนินการสำรวจและจัดทำข้อมูลการถือครองที่ทำกินตามมาตรา 64, 65 ใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ มาตรา 121 ของ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ออกไปเพราะคาดว่าอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 240 วัน หลังจากการบังคับใช้กฎหมาย วันสุดท้ายของการจัดทำข้อมูล คือ 22 ก.ค. 2563 เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่มีผลต่อกระบวนการทำงานทั้งของภาครัฐและของชุมชน

ระวี ถาวร ผู้ประสานงานพัฒนาศักยภาพและวิจัย แผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า เปิดเผยว่าในการสำรวจและจัดทำข้อมูลที่ต้องการความถูกต้องแม่นยำในการถือครองที่ดินทำกินเนื่องจากมีการสำรวจรายแปลงซึ่งใช้เวลา ทรัพยากร และบุคลากร รวมทั้งการมีส่วนร่วมของชุมชน แต่อย่างไรก็ตามอุทยานแห่งชาติหลายแห่งมีการสำรวจข้อมูล มีระบบฐานข้อมูลร่วมกับชุมชนอยู่แล้ว ก็ไม่น่าเป็นห่วง

เพียงแต่ต้องการตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลเพิ่มเติมให้ทันสมัยร่วมกัน ซึ่งมีช่วงเวลาการสำรวจและจัดทำข้อมูลในช่วงเวลา 240 วัน ทั้งนี้ในเขตการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ทดแทนได้ต้องมีการสำรวจข้อมูลละเอียดพอที่จะสามารถนำไปใช้เพื่อที่จะนำไปพัฒนาแผนการจัดการ และข้อตกลงในการเก็บหาเพื่อไม่ให้เกินกำลังผลิตของทรัพยากรแต่ละชนิด ซึ่งต้องมีการสำรวจชนิดขอบเขต และการกระจาย ปริมาณต้นทุน หรือสต๊อกของทรัพยากรแต่ละชนิด จำนวนผู้เก็บหา ฯลฯ 

ระวี กล่าวด้วยว่า นอกจากการทำการสอบถามชาวบ้านตามแบบฟอร์ม หากต้องการให้ได้ข้อมูลที่จะสามารถนำไปตัดสินใจในการวางแผนเก็บหาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน อาจต้องจัดทำแผนที่การกระจายของทรัพยากรอย่างละเอียดและถูกต้อง ซึ่งต้องมีการสำรวจและตรวจสอบในภาคสนามร่วมกันกับผู้เก็บหาและคณะกรรมการชุมชน ซึ่งเป็นที่น่าห่วงใยว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อาจจะส่งผลให้การสำรวจและจัดทำข้อมูลไม่ทัน หรือขาดความถูกต้องตามสภาพความเป็นจริง นอกจากนี้ยังให้ความเห็นว่าในระยะยาวเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายทั้ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ต้องเก็บรวมรวมข้อมูลช่องว่าง ข้อจำกัด ปัญหา และอุปสรรคในการนำกฎหมายดังกล่าวไปปฏิบัติ เพื่อทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย ตามมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญ 2560 และนำไปสู่ปรับปรุงกฎหมายให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปรวมทั้งการยกระดับการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมเกิดธรรมาภิบาลในการจัดการพื้นที่คุ้มครองโดยเน้นการมีส่วนร่วม ความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และร่วมรับผิดชอบซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ในการจัดการพื้นที่คุ้มครองร่วมกันต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net