Skip to main content
sharethis

นายกฯ นิวซีแลนด์เพิ่งประกาศความสำเร็จเรื่องการแก้ไขปัญหาโควิด-19 เมื่อไม่นานนี้ มีการสำรวจปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้นิวซีแลนด์ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดำเนินการที่รวดเร็ว การวินิจฉัยโรคที่เข้าถึงประชาชนจำนวนมาก ใช้วิทยาศาสตร์ได้ดี และการที่ผู้นำเปิดให้คนที่มีความรู้เป็นผู้ตอบคำถามจนสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้

ภาพกรุงเวลลิงตัน เมืองหลวงนิวซีแลนด์ (ที่มา:pixabay)

29 เม.ย. 2563 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น ประกาศว่าประเทศนิวซีแลนด์สามารถ "ขจัด" ปัญหาโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ส่งผลให้เกิดโควิด-19 ได้สำเร็จแล้วอย่างน้อยก็ในตอนนี้ โดยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไม่ถึงหลักสิบ มีผู้หายป่วยจำนวนมาก รวมทั้งสิ้นแล้วมีอัตราผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 19 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดมากกว่า 1,400 ราย จากกรณีทั้งหมดรวมถึงกรณีที่สงสัยว่าเป็นโรคแต่ยังไม่ยืนยัน

สื่อคอมมอนดรีมส์เปิดเผยว่านิวซีแลนด์ประสบความสำเร็จหลังจากใช้เวลาจัดการปัญหาเพียง 5 สัปดาห์เท่านั้น นอกจากเรื่องการล็อกดาวน์เพื่อสกัดกั้นโรคแล้ว นิวซีแลนด์ยังมีมาตรการใช้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่เข้มช้นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

แอชลีย์ บลูมฟิลด์ อธิบดีด้านสาธารณสุขของนิวซีแลนด์แถลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (27 เม.ย.) พวกเขามีความเชื่อมั่นว่าจะบรรลุเป้าประสงค์ของการขจัดโควิด-19 ให้หมดไป ถึงแม้ว่าจะไม่ได้หมายความว่ามันลดลงจนเหลือศูนย์ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็จะทราบได้ว่ามีกรณีใหม่ๆ มาจากไหนบ้าง

นิวซีแลนด์เริ่มประกาศลดระดับการควบคุมโรคติดต่อลงอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าระบบเศรษฐกิจร้อยละ 75 ของประเทศจะกลับมาทำงาน มีกิจการบางอย่างกลับมาเปิดทำการแต่ยังคงต้องอาศัยวิธีการวางระบะห่างทางสังคมอยู่ โรงเรียนจะกลับมาเปิดทำการได้พร้อมข้อจำกัดบางอย่าง และคนทำงานจะได้รับการเรียกร้องให้ทำงานจากที่บ้านถ้าเป็นไปได้ นอกจากนี้งานพิธีต่างๆ อนุญาตให้จัดได้เฉพาะให้มีคนเข้าร่วมไม่เกิน 10 คน

อาร์เดิร์นเตือนว่าพวกเขายังต้องเฝ้าระวังในเรื่องนี้อยู่และถือว่ายังไม่พ้นจากปัญหาร้อยเปอร์เซนต์ แต่การลดระดับการควบคุมโรคก็จะทำให้นิวซีแลนด์สามารถประเมินได้ว่าพวกเขาประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

CNN นำเสนอว่าเหตุใดนิวซีแลนด์ถึงเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ประการแรกคือนิวซีแลนด์มีข้อได้เปรียบจากการที่มีเวลาให้เตรียมตัวมากกว่า พวกเขามีการยืนยันผู้ติดเชื้อรายแรกในวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมาซึ่งมากกว่า 1 เดือน เมื่อเทียบกับการยืนยันผู้ติดเชื้อรายแรกในสหรัฐฯ อนึ่ง ด้วยความที่นิวซีแลนด์เป็นประเทศเกาะที่ห่างไกลและมีจำนวนเที่ยวบินเข้าออกน้อยกว่าก็น่าจะเป็นปัจจัยในเรื่องนี้

แต่ CNN ก็มองว่าปัจจัยที่ทำให้นิวซีแลนด์ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงน่าจะมาจากปัจจัยที่ควบคุมได้มากกว่า เช่น การปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว การตรวจวินิจฉัยโรคอย่างครอบคลุมจำนวนประชากร และที่สำคัญคืออาศัยหลักการวิทยาศาสตร์ที่ดีจริง

รัฐบาลภายใต้การนำของอาร์เดิร์นมีปฏิบัติการอย่างรวดเร็วในการประกาศให้ผู้ที่เข้าประเทศของพวกเขาต้องทำการโดดเดี่ยวตัวเองเพื่อควบคุมโรคเป็นเวลา 2 สัปดาห์ มีการประกาศในเรื่องนี้ตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา และในตอนนั้นนิวซีแลนด์ยังพบคนเป็นโรคเพียง 6 รายเท่านั้น ก่อนที่ต่อมาจะสั่งยับยั้งไม่ให้มีการเดินทางเข้าประเทศชั่วคราว และในวันที่ 23 มี.ค. ก็มีการประกาศล็อกดาวน์หลังจากที่มีกรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อรวม 102 ราย

อาร์เดิร์นเคยแถลงว่าสาเหตุหนึ่งที่เธอต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเป็นเพราะเธอมีส่วนรับผิดชอบต้องปกป้องประเทศอื่นๆ จากการที่นิวซีแลนด์เป็นเส้นทางการเดินทางผ่านไปสู่ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกอื่นๆ อย่างไรก็ตาม นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยโอ็คแลนด์ ซูซี ไวลส์ กล่าวว่าสาเหตุอีกส่วนหนึ่งที่นิวซีแลนด์มีปฏิบัติการอย่างรวดเร็วเพราะพวกเขาไม่มีเตียงรองรับคนไข้ฉุกเฉินมากพอเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ถึงแม้นิวซีแลนด์จะคุมเข้มมากในช่วงแรก แต่ในเวลาต่อมาก็มีการผ่อนผันมาตรการต่างๆ ลงเรื่อยๆ ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยใหม่ก็ลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน และจากการสำรวจโพลก็แสดงให้เห็นว่าชาวนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่ร้อยละ 87 สนับสนุนมาตรการเหล่านี้

อีกประการหนึ่งที่ทำให้นิวซีแลนด์แก้ไขปัญหาได้ดีคือการเพิ่มปริมาณการตรวจวินิจฉัยโรคให้ครอบคลุมกับประชาชนจำนวนมาก โดยมีการตรวจวินิจฉัยมากกว่า 126,000 กรณี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างอังกฤษที่มีประชากรมากกว่านิวซีแลนด์ 13 เท่า แต่ก็มีการตรวจวินิจฉัยมากกว่า 719,000 กรณี ซึ่งตามอันตราส่วนเทียบกับประชากรแล้วถือว่าอยู่ในอัตราส่วนที่น้อยกว่า

ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารโครงการฉุกเฉินด้านสุขภาวะขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่าการที่มีจำนวนการตรวจพบเชื้อเป็นลบ 10 กรณีต่อจำนวนการตรวจพบเชื้อ 1 กรณี ซึ่งถือว่าต่ำกว่าร้อยละ 9 ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี แสดงให้เห็นว่าการตรวจวินิจฉัยเป็นไปด้วยดี โดยที่ในนิวซีแลนด์นั้นจำนวนผู้ตรวจพบเชื้อเป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ 1 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีการระบาดในชุมชนระดับวงกว้างที่ตกสำรวจ นอกจากนี้ยังเทียบอัตราส่วนได้ว่า โดยเฉลี่ยทั่วโลกแล้ว คนที่มีเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้มีโอกาสจะทำให้คนติดต่อ 2.5 คน แต่ในนิวซีแลนด์มีการติดต่อไปสู่คนอื่นอยู่ที่อัตรา 0.4 เท่านั้น

ปัจจัยด้านการให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ได้ดีก็มีส่วนในการทำให้นิวซีแลนด์ประสบความสำเร็จ ผู้ที่พูดถึงเรื่องนี้ถือ ไมเคิล เบเกอร์ จากภาควิชาสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยโอทาโก มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 มาตลอดในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ โดยที่อาร์เดิร์นไม่ได้ตอบคำถามนักข่าวเองทั้งหมดแต่จะส่งคำถามจากนักข่าวต่อไปให้กับคนที่มีความรู้เรื่องนี้คือ บลูมฟิลด์ อธิบดีด้านสาธารณสุขแทน และบลูมฟิลด์เองก็มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านการแพทย์เชิงสาธารณสุขโดยเฉพาะเรื่องการป้องกันโรคติดต่อ

เรื่องนี้ทำให้เบเกอร์วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะนิวซีแลนด์ "มีความเชื่อมโยงที่เยี่ยมยอดระหว่างวิทยาศาสตร์ที่ดีกับการเป็นผู้นำที่หลักแหลม เมื่อมีทั้งสองอย่างนี้ด้วยกันก็จะยิ่งได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง" เบเกอร์ยังกล่าวอีกว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับประเทศอื่นบางประเทศที่มีทรัพยากรทางวิทยาศาสตร์มากกว่าแต่ทำได้ไม่ดีเท่านิวซีแลนด์ซึ่งมีทรัพยากรในแง่นี้จำกัด

แม้ว่าจะยับยั้งการระบาดได้ในตอนนี้แต่นิวซีแลนด์ก็ยังคงมีการเฝ้าระวังและมีมาตรการป้องกันโรคติดต่อในระดับ 3 ทำให้พวกเขายังเปิดด้านการท่องเที่ยวไม่ได้เต็มที่ การจำกัดการเดินทางเข้าประเทศทำให้การท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้ใหญ่ของนิวซีแลนด์ได้รับผลกระทบ กระทรวงการคลังของนิวซีแลนด์เคยประเมินผลกระทบไว้ว่าในความเป็นไปได้ที่ดีที่สุดนั้นนิวซีแลนด์ก็ยังอาจจะต้องเผชิญกับภาวะการว่างงานร้อยละ 13

ในเรื่องนี้อาร์เดิร์นแถลงในวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า "พวกเราจะทำทุกอย่างที่พวกเราจะทำได้ในการต่อสู้กับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสในแบบเดียวกันที่พวกเราเคยทำในการแก้ปัญหาภัยด้านสุขภาพ ... ด้วยความสามัคคี การสนับสนุนอย่างรวดเร็ว ด้วยการดูแลกันและกัน"

เรียบเรียงจาก

How New Zealand 'eliminated' Covid-19 after weeks of lockdown, CNN, Apr. 28, 2020

Coronavirus 'Effectively Eliminated' in New Zealand Following Comprehensive Approach of Jacinda Ardern's Government, Common Dreams, Apr. 27,2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net