Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ

วันที่ 1 พฤษภาคม (Mayday) ของทุกปี คือ วันแรงงานสากลที่ขบวนการแรงงานทั่วโลก ร่วมกันรำลึกถึงประวัติการต่อสู้และเฉลิมฉลองความสำเร็จจากความสามัคคี ในการต่อสู้กับนายทุนผู้ประกอบการและรัฐ เพื่อคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นๆของแรงงานในนานาประเทศ นับจากความสำเร็จในการได้มาซึ่งระบบ “สามแปด” คือ ทำงานแปดชั่วโมง พักผ่อนแปดชั่วโมง และทำอะไรก็ได้อีกแปดชั่วโมง ของกรรมกรทอผ้า ในช่วงปี  1830s ที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา และแผ่ขยายไปทั่วโลก เป็นต้นมา

ในประเทศไทย ก็ยึดวันนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติด้วย นับเป็นคุณอนันต์ที่วันแรงงานแห่งชาติของคนไทยมีสปิริตของวันแรงานสากลเป็นพื้นฐาน แต่อย่างไรก็ตาม ในโอกาสที่วันนี้วนมาถึงอีกครั้งหนึ่ง และเพื่อแสดงความมุ่งหวังต่อศักยภาพหรือความเข้าท่าเข้าทางของขบวนการแรงงานไทย นอกจากจะให้คุณค่าแก่วัน Mayday แล้ว เราจึงยังควรพิจารณาถึงปัญหาและอนาคตของขบวนการแรงงานที่พึงประสงค์ร่วมกันไปด้วย


สภาพปัญหา

ในทุกวันนี้ ขบวนการแรงงานทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาหนักหนาหลายประการ นอกจากสภาวะที่เป็นเรื้อรังมาหลายปีแล้ว อาทิ 1) การสูญเสียอำนาจการต่อรอง เนื่องจากทรัพยากรลดลงไป เช่น จำนวนสมาชิก และเงินทุน จากการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตที่ไม่เป็นมิตรกับการจ้างงานที่มั่นคงและการรวมตัวของแรงงานเป็นสหภาพแรงงาน และการเข้าเป็นสมาชิกของคนทำงานที่มีหลายประเภท 2) ความไม่เป็นประชาธิปไตยหรืออ่อนแอลงไปของประชาธิปไตยในระบบการเมืองของหลายประเทศ อันไม่สนับสนุนการเกิดขึ้นและขยายตัว อำนาจการต่อรอง และบทบาทของสหภาพแรงงาน 3) ความไม่เอื้ออย่างชัดแจ้งของระบบแรงงานสัมพันธ์ต่อการสร้างชาติและพัฒนาประเทศ และ สำหรับประเทศไทยเองนั้น 4) ความอ่อนแอขององค์การสภาแรงงานระดับชาติ อันสะท้อนจากความแตกแยก การขาดความเป็นเอกภาพ และการไม่มีกำลังเงินจากสมาชิก (มีผลกระทบให้องค์การสหภาพแรงงานเองและพันธมิตรของสหภาพแรงงาน ต้องจัดงานทอดผ้าป่าเพื่อระดมทุนอยู่เนืองๆ แทนการรับเงินสนับสนุนจากองค์การสภาแรงงานโดยตรง) ยังดำรงอยู่อย่างมิเสื่อมคลาย

นอกจากปัญหาเรื้อรังข้างต้นนั้น ความเป็นโลกาภิวัตน์ที่เข้มข้นขึ้นๆโดยทั่วไปรอบโลก ก็มีผลให้ขบวนการแรงงานทั้งหลายทั่วโลก ในปีนี้ ยังเผชิญกับวิกฤติการณ์ของระบบเศรษฐกิจและการผลิตในอุตสาหกรรมที่สำคัญๆ อันแตกต่างจากหลายปีก่อน อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง คือ การแพร่ระบาดของ COVID-19 (Coronavirus Disease 2019) ที่คร่าวชีวิตมนุษย์เรือนแสนไปทั่วโลก ไม่ว่าจะในประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนาก็ตาม โดยวิกฤตครั้งนี้เริ่มเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2562 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน และอาจดำเนินต่อไปแบบน่าห่วงใย ตลอดช่วงกลางถึงปลายปี 2563 หากการจัดการทางสาธารณสุขของไทยกลับมาล้มเหลว แม้ว่าอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นและความชื้นสัมพัทธ์ที่สูงขึ้น ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนจะเป็นปัจจัยจากธรรมชาติที่ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคนี้ลงด้วยแล้วก็ตาม

เจ้า COVID-19 ที่กำลังแสดงความหวังร้ายถึงชีวิตของมวลมนุษย์ แต่มันก็ประสงค์ดีต่อโลกใบนี้ เพราะแม้ว่ามันจะเป็นภัยต่อชีวิตของผู้คน แต่ขณะเดียวกัน มันก็เป็นปัจจัยจากธรรมชาติที่มีอิทธิพลอย่างเป็นที่ประจักษ์ ถึงการก่อให้เกิดการฟื้นตัวของสภาพแวดล้อมที่ถูกทุนนิยมอุตสาหกรรมบุกรุกมาร่วมสามร้อยปี  หากนับจากการส่งเสริมทุนนิยมเสรีของ Adam Smith และการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปตั้งแต่ 1700s เป็นต้นมา

การหักดิบของ COVID-19 ต่อการมีชีวิตอยู่ของชาวโลกและโลกธรรมชาติ แสดงออกมาในรูปการชะงักงันของระบบการผลิตทั่วโลก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) แทบทุกประเทศถดถอย และการว่างงานที่สูงขึ้นอย่างพรวดพลาด ในภาพรวม และในหลายอุตสาหกรรมสำคัญๆที่มีกิจกรรมการผลิตและให้บริการได้ลดลงมาก เช่น พลังงาน ยานยนต์ การก่อสร้าง การจัดประชุมขนาดใหญ่ที่อาศัยเทคโนโลยีทันสมัย การประกันภัย การกีฬาและบันเทิง การเดินทางและท่องเที่ยว การค้าปลีกและพาณิชยกรรม และการเงินที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และรวมถึง การหยุดยั้งความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดทางสังคมระหว่างมนุษย์ อันทำให้กิจกรรมการแก้ปัญหาและพัฒนารัฐแบบเดิมๆหยุดชะงัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทะเลาะกัน ทั้งในทางการเมืองและนอกการเมือง แต่ขณะเดียวกันมันก็กลับทำให้ภาวะโลกร้อนผ่อนคลายลงไป จากการลดลงของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในการผลิตจากหลายอุตสาหกรรม และสภาพแวดล้อมของโลกและในสังคมเมืองสะอาดขึ้น ธรรมชาติได้พักตัว เพราะการชะงักงันของระบบการผลิตเพื่อการบริโภคนิยมที่เคยเป็นมาอย่างบ้าคลั่ง สภาพเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดขึ้นในระดับสากลกันมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นโดยง่าย กระทั่งเจ้า COVID-19 ช่วยทำให้เป็นจริง - หรือนี่คือกลไกการปรับตัวเองของโลก เมื่อมนุษย์ช่วยโลกธรรมชาติให้รอดไม่ได้แล้ว!?

ทั้งนี้และทั้งนั้น ในส่วนของแรงงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ คาดหมายว่าวิกฤตการว่างงานอาจจะเกิดขึ้น ในสามระดับ คือ

วิกฤตการณ์เกิดขึ้นใน “ระดับต่ำ” ที่การเติบโตของ GDP ลดลงประมาณร้อยละ 2: อัตราการว่างงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 5.3 ล้านคน โดยความเสี่ยงที่เป็นไปได้ อยู่ในช่วง 3.5 ถึง 7 ล้านคน

วิกฤตการณ์เกิดขึ้นใน “ระดับกลาง” ที่การเติบโตของ GDP ลดลงประมาณร้อยละ 4: อัตราการว่างงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 13 ล้านคน (7.4 ล้านคนในประเทศที่มีรายได้สูง) โดยความเสี่ยงที่เป็นไปได้ อยู่ในช่วง 7.7 - 18.3 ล้านคน

วิกฤตการณ์เกิดขึ้นในระดับ “สูง” ที่ทำให้การเติบโตของ GDP ลดลงประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์: อัตราการว่างงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 24.7 ล้านคน โดยความเสี่ยงที่เป็นไปได้ อยู่ในช่วงตั้งแต่ 13 ล้านถึง 36 ล้านคน

สถานประกอบการในประเทศไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจการขนาดจิ๋ว ขนาดเล็ก และขนาดย่อม (Micro-small-medium enterprises, MSMEs) ต้องปิดชั่วคราว ทั้งที่ปิดเองและตามคำสั่งรัฐบาล หรือชะงักการขยายตัว ในขณะที่สถานประกอบการขนาดใหญ่ มีทั้งประคองตัวไปได้ ด้วยการหยุดหรือชะลอการผลิตเพราะยอดสั่งซื้อตก และลดค่าจ้าง เป็นการชั่วคราว แม้ธุรกิจบริการและค้าขายออนไลน์จะกลับมาขยายตัว เพราะคนลดการเดินทางเพื่อซื้อของโดยตนเองจากศูนย์การค้า แต่หลายแห่งในหลายอุตสาหกรรมได้ปิดกิจการไปเลย ก็มีให้เห็น ทำให้แรงงานจำนวนมากตกงาน โดยจำนวนผู้ว่างงานจาก ข้อมูลของสนง. สถิติแห่งชาติ เพิ่มจากประมาณ 300,000 คน (เดือนกุมภาพันธ์ 2562) เป็น 400,000 กว่าคน (เดือนกุมภาพันธ์ 2563) และจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย (หากการระบาดของโรคในประเทศไทยที่มีอัตราการติดเชื้อลดลงในขณะนี้ กลับสูงขึ้นมาอีกครั้ง)

แรงงานที่ว่างงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานของบริษัทหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ กำลังมีปัญหาด้านรายได้ในการเลี้ยงชีพ แม้รัฐบาลจะแจกเงินช่วยบรรเทาบ้าง (สำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบอาชีพอิสระ 5,000 บาท/เดือน) ก็ไม่เพียงพอต่อความจำเป็น ทั้งไม่แน่ชัดว่าจะช่วยเหลือได้กี่เดือน (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ารัฐบาลไม่มีเงินพอที่จะแจก แต่ต้องไปกู้เงินมาจ่าย และคนไทยต้องเป็นหนี้แหล่งทุนในระยะยาว)

ขณะเดียวกัน แรงงานจำนวนไม่น้อยที่ยังทำงานต่อไปได้ ด้วยการอาศัยการปรับตัวของสถานประกอบการในรูปแบบการทำงานที่พึ่งเทคโนโลยีดิจิตัล และการยืดหยุ่นของเวลาทำงาน เช่น การทำงานที่บ้าน (Remote working) และการไปทำงานบางวันในแต่ละสัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดขึ้นกับแรงงานคอปกขาว (White collar worker) ที่ทำงานด้านบริการและที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ผ่านระบบงานอินเตอร์เน็ต (เช่น ฝ่ายขายของอุตสาหกรรมยานยนต์ งานวิชาการ และอื่นๆ) ส่วนแรงงานคอปกน้ำเงินหรือแรงงานที่ออกแรงกายในการทำงาน (Blue collar worker) นั้น เสี่ยงที่จะตกงานมากกว่า หากการผลิตไม่ฟื้นตัว ในระยะยาว  และแน่นอนว่าการเรียนรู้ถึงความเป็นไปได้จริง ในการประคองธุรกิจในช่วงวิกฤตครั้งนี้ ระหว่างผู้ประกอบการกับพนักงานของตนที่ทำงานที่บ้านแทนบริษัท คงจะทำให้แนวโน้มการทำงานที่บ้านและลดการไปที่ทำงาน จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต (อันช่วยลดการติดขัดของการจราจร ลดความจำเป็นในการใช้ยานยนต์ ซึ่งกระทบต่อการมีงานทำของแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ก็ลดปัญหามลพิษจากยานยนต์ระบบเดิมที่ใช้ระบบน้ำมันเพื่อการเผาไหม้ ลงไปด้วย!?)

นอกจากนี้ กระแสการใช้ปัญญาประดิษฐ์   (Artificial Intelligence, AI) คือ พวกหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ที่กำลังมาแรงนับจากโลกเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ 2000 นั้น ถูกเจ้า COVID-19 ผลักไสอย่างแรงให้ระบบเช่นนี้เกิดขึ้นในอัตราเร่ง นับจากนี้เป็นต้นไป ดังที่เราจะพบว่าบริษัทข้ามชาติในไทยจำนวนหนึ่ง ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และสุขภาพ ด้วยการหนุนเสริมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กำลังอ้างสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ เร่งแผนการที่ตั้งไว้ก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 แล้ว เพื่อเอาจริงกับการใช้เทคโนโลยีดิจิตัลใหม่ๆ ระบบหุ่นยนต์ และ การผลิตอัตโนมัติ ที่มีคนทำงานเพียงไม่กี่คนก็สามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมหาศาล  แทนที่บริษัทหนึ่งๆจะจ้างคนทำงานหลักร้อยหลักพัน หรือหลายโรงงานรวมกันเป็นหมื่น ดังที่เคยเป็นมาในอดีต

ผลกระทบของ COVID-19 (COVID-19 Effect) ย่อมจะทำให้เกิดการจัดระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการมาเยือนของ COVID-19 ที่เป็นผู้เสมือนหวังร้ายต่อชีวิต แต่ก็ประสงค์ดีต่อระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของโลกดังที่กล่าวแล้วนั้น ก่อให้เกิดคำถามสำคัญแก่ระบบเศรษฐกิจของโลกว่า ในอนาคตเราจะผลิต คือใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆมากน้อยเพียงใด จัดการความสัมพันธ์ทางการผลิตระหว่างทุนและแรงงาน และจ่ายค่าตอบแทนกันอย่างไร รวมถึงกระจายจ่ายแจกสินค้าและบริการถึงผู้บริโภคกันอย่างไรด้วย อันจะทำให้การพัฒนาหรือสร้างความเจริญก้าวหน้าให้ประเทศทั้งหลาย ไม่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมในโลกอย่างยั่งยืน ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น และนั่นก็คือว่าโลกเศรษฐกิจยังต้องการการทบทวนอย่างแจ่มชัด และอย่างจริงจังที่สุด (อีกครั้ง!) ว่า ระหว่างความก้าวหน้าของพลังการผลิตและวิถีชีวิตแบบคลั่งไคล้วัตถุนิยม กับระบบนิเวศของโลกที่สมดุล และการเป็นมิตรของระบบเศรษฐกิจการผลิตกับแรงงานและพลโลกอย่างยั่งยืนนั้น มันควรมีลักษณะเช่นไร

คำถามข้างต้นเหล่านี้ คงต้องค่อยๆหาคำตอบกันไป พร้อมๆกับการเรียนรู้จากการกระทำของผู้กระทำบางส่วนทั้งรัฐบาล ผู้ประกอบการเอกชน และสหภาพแรงงาน ที่แสดงตัวไปก่อนบ้างแล้ว รวมทั้ง การเตรียมตัวสู่อนาคตอันพึงประสงค์ของขบวนการแรงงานที่จะต้องดำรงอยู่ร่วมกับระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจของโลก และการเข้ามาสัมพันธ์ด้วยกันกับบริบททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทยนั้น หากจำกัดมุมมองไว้ตรงประเด็นแรงงานและความมั่นคงในการจ้างงานและรายได้แล้ว ภายใต้ความผันผวนจากการระบาดของโรค และควบขับเข้ามาในอัตราเร่งของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารก่อนหน้านั้น แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชนที่ได้รับภัยก่อน มิใช่ภาครัฐมากนักที่คงมาทีหลัง ได้กำลังเผชิญอย่างร้ายแรงกับความไม่มั่นคงในการจ้างงาน และรายได้

กองทุนประกันสังคมเป็นที่พึ่งสำคัญยิ่งต่อวิกฤตขนาดใหญ่ของการถดถอยทางเศรษฐกิจของมวลผู้ใช้แรงงานหรือผู้ประกันตน แต่ก็พบว่ามีความไม่เหมาะสมและไม่พอเพียงในสิทธิประโยชน์จากระบบประกันสังคม อันเกิดจากการสมทบเงินอย่างจำกัดของผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล และการขาดการสนับสนุนเงินทุนของรัฐบาลที่เพียงพอ มาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานร่วม 30 ปี นับจากการจัดตั้งกองทุนประกันสังคม ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานประกันสังคมแบบระบบราชการปัจจุบัน ไปสู่การเป็นองค์การอิสระที่ขบวนการแรงงานส่วนหนึ่งเรียกร้องมาหลายปี อาจแก้ปัญหาคุณภาพและประสิทธิภาพบริการประกันสังคมได้บ้าง แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยเลยเช่นกัน ก็คือ กรอบความคิดและรูปแบบใหม่ของระบบความมั่นคงทางสังคม ที่จะต้องนำไปสู่การปรับเปลี่ยนหลายเรื่อง ตั้งแต่เจตนารมณ์โดยรวมและเฉพาะด้านของกองทุนประกันสังคม โครงสร้างของกองทุนย่อย ประเภทของผู้ประกันตน (เช่น ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องเข้ามาอยู่ด้วย) อัตราการสมทบเงิน ระบบการบริหารงาน มาตรฐานสิทธิประโยชน์ และการจัดการสิทธิประโยชน์เฉพาะด้าน

นอกเหนือการจัดการอย่างใหม่กับกองทุนกลางประกันสังคม อันเป็นกองทุนที่เป็นแหล่งทุนสวัสดิการที่เป็นฟันเฟืองสำคัญที่สุดของงานสวัสดิการสังคมในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และต้องพิจารณาเป็นพิเศษในภาวะวิกฤต COVID-19 แล้ว การแก้ปัญหาของแรงงานในเรื่องอื่นๆ ก็เป็นธรรมดาที่ต้องกระทำให้สำเร็จผลมากขึ้นเช่นกัน และจะเป็นไปได้มากขึ้น ก็ต่อเมื่อขบวนการแรงงานไทยมีศักยภาพหรือสมรรถนะอันพึงประสงค์ในระดับสูง ดังที่จะกล่าวในหัวข้อต่อไป

 

ประเด็นสำคัญๆที่ขบวนการแรงงานไทยควรพิจารณาดำเนินการในอนาคต (10 ปีนับจากนี้ไป ระหว่าง ค.ศ. 2020 – 2029)

ปัญหาเรื้อรัง วิกฤต COVID-19 และคำถามต่างๆ ดังที่นำเสนอมาข้างต้น ขบวนการแรงงานที่มีศักยภาพสูง ย่อมเป็นความหวังของคนทำงานทั่วโลกในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์โลกเศรษฐกิจ และรัฐใหม่ สำหรับในประเทศไทยแล้ว ข้าพเจ้าใคร่ขอเสนอว่า ขบวนการแรงงานนั้น (โดยความสามารถของตัวมันเองและในความพยายาม) ควรจะ:

  1. เป็นขบวนการแรงงานเพื่อการพัฒนาและสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ อันหมายถึงขบวนการแรงงานที่ร่วมเสริมสร้างระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยภายในรัฐ [ตามหลักการสากล] ระบบเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ [ที่แรงงานร่วมเป็นเจ้าของและบริหารกิจการ และมีการค้าขายอย่างยุติธรรมและรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ชุมชน และสิ่งแวดล้อม] ระบบความสัมพันธ์ในสังคม [ที่เอื้อให้สหภาพแรงงานทำเพื่อประโยชน์ของแรงงาน (รวมครอบครัว) สถานประกอบการ ชุมชน และสังคมพร้อมกันไป] และระบบวัฒนธรรมแห่งสิทธิมนุษยชน [ที่เน้นเสรีภาพ ภราดรภาพ ความเสมอภาค การรวมตัวของคนทำงาน ประชาธิปไตยในการทำงาน ความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานและองค์การของผู้ประกอบการหรือผู้ว่าจ้าง และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม] ทั้งในทางสติปัญญา กำลังทุน และกำลังคนของตน ภายใต้บริบทการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทั้งภายในและระหว่างประเทศ
     
  2. ร่วมมืออย่างวิพากษ์กับนายทุนผู้ประกอบการ ในการพัฒนากำลังการผลิต การพัฒนาและฝึกอบรมทุนมนุษย์หรือกำลังแรงงาน การจัดการคุณภาพชีวิต และการกระจายจ่ายแจกสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภค และการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและความอยู่ดีกินดีของประชาชนทั่วไป
     
  3. เป็นผู้มองและเห็นการเป็นอยู่ของแรงงาน มากกว่าเพียงแค่ในกำแพงโรงงานและประตูของบริษัท แต่เป็นผู้ตื่นรู้ที่กว้างไกลและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่มีพลัง ในการประสานและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคมที่อาศัยรูปแบบการจ้างงานและการทำงานที่เสริมสร้างคุณค่าใหม่ๆ จากความสัมพันธ์ภายในและระหว่างโรงงาน (บริษัท) – บ้าน – ชุมชน – สังคม – สถาบันและองค์กรทางการศึกษา – สื่อมวลชน - สถาบันอื่นๆในสังคม
     
  4. เสริมสร้างสถานประกอบการให้เป็นสถานประกอบการที่เป็นประชาธิปไตย (Democratic Workplace) คือ คนทำงานทุกคนเข้าร่วมเป็นเจ้าของกิจการ (ทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรม) และมีผู้แทนร่วมบริหารกิจการกับผู้ถือหุ้นอื่นๆ ที่มิใช่พนักงานของบริษัท
     
  5. เข้าร่วมปรับเปลี่ยนสถานประกอบการที่มีแนวโน้มทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่จะพึ่งพาระบบการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ หุ่นยนต์ ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติและที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ต่างๆ และการใช้อินเตอร์เน็ตที่เชื่อมโยงกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมากขึ้นๆ ในระบบเศรษฐกิจดิจิตัล ให้เสริมสร้างและเป็นมิตรกับความมั่นคงในการจ้างงานและการมีงานทำอย่างเคร่งครัด
     
  6. รวมพลังแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ (ผู้ประกอบอาชีพอิสระ) ให้ทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อเสริมสร้างอาชีพ การขยายตัวของการประกอบการแบบสหกรณ์หรือสหกรณ์ที่คนงานร่วมกันเป็นเจ้าของกิจการ ความมั่นคงในการจ้างงานและรายได้ ความมั่นคงทางสังคม การพัฒนาประเทศ และการกระจายความมั่งคั่ง
     
  7. รังสรรค์ความร่วมมือของพลังทั้งแปด คือ ขบวนการแรงงาน (พลังที่หนึ่ง) ร่วมมือกับขบวนการผู้บริโภค (พลังที่สอง) ขบวนการชุมชน (พลังที่สาม) ขบวนการสหกรณ์ (ชาวไร่ชาวนาอยู่ในนี้) (พลังที่สี่) ขบวนการนักศึกษาและคณาจารย์ (พลังที่ห้า) และขบวนการ (ความร่วมมือกันของสภาและสมาคม) วิชาชีพ (พลังที่หก) อย่างเป็นเครือข่ายที่แข็งขัน ในการต่อรองและร่วมมือกับองค์การร่วมของผู้ประกอบการ (พลังที่เจ็ด) และหน่วยงานรัฐ (พลังที่แปด) ตามประเด็นและระดับที่เป็นไปได้ เพื่อการสร้างความรุ่งโรจน์ให้กับขบวนการหรือองค์การของตน และการพัฒนาประเทศ
     
  8. สามารถนำเงินทุนที่สะสมในกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของผู้ประกันตนทั้งมวล จำนวนที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงของกองทุนโดยรวม (เช่น ร้อยละ10 ของกองทุนทั้งหมดในส่วนของผู้ประกันตน) ไปสร้างสรรค์และทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ (นอกเหนือการให้บริการและจ่ายสิทธิประโยชน์ต่างๆทั้ง 7 ประการ ที่ทำอยู่เป็นปกติ) ในทางการมีงานทำ การลงทุน และการประกอบอาชีพแก่ประชาชน การจัดสวัสดิการเสริม และการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตอื่นๆ ทั้งทางด้านจิตใจ สังคม กายภาพ และปัญญาของผู้ประกันตน และสมาชิกในครอบครัว ทั้งพ่อ-แม่ คู่สมรส และบุตร
     
  9. พัฒนาระบบแรงงานสัมพันธ์แบบที่มิเพียงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามีส่วนร่วม (ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บัญญัติ) เท่านั้น แต่ต้องเป็นระบบแรงงานสัมพันธ์ที่กฎเกณฑ์และกติกาต่างๆ สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และครอบคลุมทั้งในภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นทุกประเภทของรัฐที่ยังไม่มีระบบแรงงานสัมพันธ์ [เช่น หน่วยงานราชการในทุกกระทรวงและกรม ทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น และองค์การอิสระต่างๆ]
     
  10. เสริมสร้างการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) และงานอันมีคุณค่า (Decent Work) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยร่วมมือกับองค์การต่างๆของแรงงานเอง และที่สนับสนุนแรงงานภายในประเทศ และกับขบวนการแรงงานระหว่างประเทศ และขบวนการเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่เป็นมิตรกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งภายในและนอกประชาคมอาเซียน

 

กล่าวโดยสรุป

ปัญหาของขบวนการแรงงานไทย มีทั้งปัญหาร่วมขบวนการแรงงานอื่นๆของโลก และปัญหาเฉพาะตน ขบวนการแรงงานไทยจึงจำเป็นต้องทบทวนตนเอง โดยสิ่งที่กระทำอย่างถูกต้องไว้แล้ว ก็ดำเนินการต่อไป และแสวงหาการกระทำอันถูกต้องและชอบธรรมที่ก้าวหน้าใหม่ๆ ในเชิงนวัตกรรม ต่อปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว ทั้งอย่างกว้างและลึกตามประเด็นต่างๆอยู่เสมอ และอย่างที่สามารถวัดคุณค่าและความก้าวหน้าได้ทุกๆปี นั่นย่อมหมายถึงว่า สิบปีนับจากนี้ไป หากขบวนการแรงงานไทยเป็นไปได้ตามที่เสนอ (ซึ่งหลายข้อมีนัยของกรอบคิดที่เดินสายกลางระหว่างสังคมนิยมและทุนนิยม) มวลผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยอันเป็นฐานสำคัญของขบวนการแรงงานเอง ก็น่าจะมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับผู้ใช้แรงงานในประเทศพัฒนาแล้ว

 

หมายเหตุ

บทความชิ้นนี้ เขียนขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันแรงงานสากลและวันแรงงานแห่งชาติ คือวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 และทดแทนการงดจัดสัมมนาเชิงวิชาการและนโยบายเนื่องในวันแรงงานสากลและวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ อันเป็นการจัดงานสัมมนาที่ร่วมทำกันมาทุกปีของมูลนิธินิคม จันทรวิทุร สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชานโยบายสังคม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากวิกฤต COVID-19

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net