Skip to main content
sharethis

ถอดใจความ ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จากงานเสวนา ตั้งคำถามถึงบรรทัดฐานต่างๆ ที่โควิด-19 เข้ามาทำให้เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงระเบียบโลก ความหมายที่เปลี่ยนของบ้าน ความมั่นคง เสรีภาพ ภายใต้ ‘ระบอบสุขภาพ’ ที่มีความอำนาจนิยม ถอดบทบาทผู้นำที่เหมาะกับสถานการณ์ บททดสอบของรัฐศาสตร์และศาสนิกในวันที่กำแพงสารพัดกำลังกีดกันสังคมที่เชื่อมโยงกันแล้วออกจากกัน

ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (แฟ้มภาพ)

เมื่อ 30 เม.ย. 2563 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “เจาะมุมมอง สามรัฐศาสตร์ ผ่ามหาวิกฤตโควิด-19” โดยมี ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สาขาการเมืองการปกครอง ผศ.จิตตภัทร พูนขำ สาขาการระหว่างประเทศ และ ผศ.ทวิดา กมลเวชช สาขาบริหารรัฐกิจ ร่วมเสวนา

ชัยวัฒน์มีข้อสังเกตถึงระเบียบโลก สังคมและการเมืองที่เปลี่ยนแปลง การจัดลำดับความสำคัญของความมั่นคง การให้ความหมายเสรีภาพ หน้าที่ของรัฐศาสตร์และศาสนิกภายใต้บริบทโรคระบาดโควิด-19

ธรรมชาติของไวรัส กับการให้ความหมายต่อสังคมการเมืองและ ‘บ้าน’

อะไรคือบทเรียนทางรัฐศาสตร์ที่โควิดเผยให้เห็น นึกถึงคำพูดที่โรนัลด์ เรแกน (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ) เคยถามมิกาอิล กอร์บาชอฟ (อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต) ว่าเราจะทำยังไงถ้ามนุษย์ต่างดาวบุกโลก โซเวียตจะช่วยอเมริกาไหม กอร์บาชอฟตอบว่า ช่วยแน่ ไม่ต้องสงสัย ประเด็นคือ ถ้ามีการรุกรานของต่างดาว มีการเปลี่ยนแปลงแบบนั้น โลกจะรวมกันเป็นหนึ่ง

แต่สิ่งที่เห็นตอนนี้ไม่แน่ใจว่าเห็นสภาพโลกที่ร่วมมือกัน ตอนนี้มีการร่วมกันในบางลักษณะ โลกที่เคยเชื่อมโยงอย่างที่เคยเป็นวันนี้ไม่เชื่อมแล้ว หรือเชื่อมกันแบบแปลกๆ อีกลักษณะหนึ่ง ประตูที่เคยเปิดก็ปิด สะพานที่เคยเดินผ่านก็ถูกหยุด ความสัมพันธ์ที่เคยมีถูกสกัด อย่างเรื่องหน้ากากและเครื่องช่วยหายใจที่ถูกตุน ไม่ส่งไปตามที่ต่างๆ พัฒนาการของวัคซีนที่กำลังทำกันอยู่หลายๆ ที่นั้น ปัญหาคือจะเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศได้มากน้อยแค่ไหน จะไหลไปอยู่ในผลประโยชน์ของบริษัทยาขนาดใหญ่อย่างไร

ที่ยกตัวอย่างเรแกนขึ้นมาเพราะวันจันทร์ที่ผ่านมา ได้ไปอยู่ในการประชุมระหว่างประเทศแล้วมีคนยกตัวอย่างเรื่องเรแกนขึ้นมา ก็เลยคิดว่า โจทย์นี้ (โควิด-19) ไม่ใช่เอเลี่ยนบุก แต่เป็นเหมือนหนังอีกเรื่อง คือเรื่อง Invasion of the Bodie’s Natures ว่าด้วยสิ่งมีชีวิตต่างดาวที่มาเทคโอเวอร์ร่างกายมนุษย์และมุ่งทำลายโลก พฤติกรรมของไวรัสน่าสนใจ โควิด-19 เข้าไปอยู่ในตัวเราได้ แล้วที่น่าสนใจคือไม่แสดงอาการ แต่แพร่เชื้อได้ พอเป็นอย่างนี้มันทำให้ศักยภาพของการเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์คนอื่นสูงขึ้นแบบประมาณไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าใครติด ดังนั้นคำตอบของกอร์บาชอฟที่ว่าเราจะร่วมมือกันนั้นเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะติดเชื้อจากคนอื่น

สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ทำให้นึกถึงทฤษฎีประเภทสัญญาประชาคมที่เชื่อว่าฐานของสังคมการเมืองอยู่ที่การมีสัญญาประชาคมที่เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เดินออกจากสภาพธรรมชาติเข้ามาอยู่ในสังคมการเมือง สภาพธรรมชาตินั้น นักวิชาการตะวันตกหลายคนทำให้เห็นว่ามนุษย์ไม่มีปฏิสัมพันธ์ในความหมายต่างๆ เช่น อาจมองมนุษย์คนอื่นเป็นภัยอันตรายกับเรา

ผลที่ตามมาคือนโยบายของรัฐทั่วไปที่เสนอวิธีจัดการโควิด-19 ด้วย social distancing (การวางระยะห่างทางสังคม) ซึ่งพูดใหม่ก็คือผลักเราจากสังคมการเมืองกลับไปอยู่สภาพธรรมชาติ ถ้าเราอยู่ในสังคมการเมืองก็ต้องเข้าถึงกัน พูดคุยกันในทางกายภาพ แต่สิ่งที่เป็นอยู่ขณะนี้เหมือนต้องแยกขาดจากกัน เราอาจจะบอกว่าตอนนี้เรามีการติดต่อผ่านเทคโนโลยี แต่สิ่งที่น่าสนใจคือพฤติกรรมของมันทำให้เราไม่ไว้ใจกัน การล้างมือหรือการใส่หน้ากากคือการบอกว่าคนที่อยู่ตรงหน้าคือภัยคุกคามของเรา ไว้ใจไม่ได้ ตอนนี้ผมไปไหนมาไหนจะแลกบัตรก็ต้องยื่นถ้วยให้บัตร คนที่คุ้นเคยก็กลายสภาพเป็นคนแปลกหน้า 

การที่รัฐบาลเสนอให้อยู่บ้านก็ถือว่าถูกต้องและมีผลดีหลายอย่าง แต่ก็คิดว่ามีสิ่งที่เป็นปัญหา เพราะคำว่าบ้านของแต่ละคนมีความหมาย ความเหมาะสมกับการอยู่อาศัยไม่เหมือนกัน สำหรับบางคน เหตุผลที่อยู่บ้านได้ไม่ใช่เพราะว่าอยู่บ้านตลอดเวลา แต่อยู่เป็นบางเวลา สำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำหรือแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในไทย บางคนก็เช่าบ้านอยู่รวมกัน สิ่งที่เรียกว่าบ้านเป็นเพียงห้องที่อยู่ด้วยกัน 5 คน ซึ่งไม่ได้เป็นที่ๆ จะอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมาเขาอยู่ได้เพราะเขาต้องออกไปทำงาน ยกตัวอย่างเช่น คณะรัฐศาสตร์เคยทำงานกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ดูแลชุมชนแถววัดดวงแข ก็พบว่ามีเด็กที่อยู่ในบ้านไม่ได้เพราะว่าพ่อที่ตกงานดื่มสุราที่บ้านแล้วทะเลาะกับแม่ ทำให้เด็กออกมาอยู่ข้างนอกริมถนนแล้วประสบอุบัติเหตุ

การวางระยะห่างทางสังคมทำให้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง เดือนนี้เป็นเดือนรอมฎอน ศาสนาอิสลามเป็นเดือนถือศีลอด ปกติเวลาตอนเย็นที่ละศีลอด ก็จะมากินอาหารร่วมกับพี่น้อง แต่ตอนนี้หายไปหมด กลางคืนอยากไปละหมาดก็ไม่ได้แล้ว ความรู้สึกในใจก็มีอยู่ และคนที่อยู่ในที่ๆ แออัดจะมีความรู้สึกแบบไหน

อำนาจนิยมในการดูแลสุขภาพ โรคระบาดกำลังจัดลำดับความสำคัญความมั่นคง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้เกิดข้อกำหนดทางการแพทย์มากมายที่จำเป็นกับการแก้ปัญหา แต่ผลประการหนึ่งก็ทำให้มีสิ่งที่เรียกว่าระบอบสุขภาพ คุณภาพที่สำคัญของระบอบทางสุขภาพประการหนึ่งคือลักษณะอำนาจนิยม ระบอบสุขภาพไม่ได้ถูกสร้างให้มีลักษณะเป็นเสรีนิยมหรือเป็นประชาธิปไตย ระบอบสุขภาพเป็นระบอบในการจัดการกับชีวิตของมนุษย์ในฐานะที่เป็นชีวิต ไม่ใช่ในฐานะสิ่งมีชีวิตทางการเมือง เพราะเรื่องสำคัญที่สุดคือการช่วยชีวิตคน

เวลาเราเดินไปในแผนกฉุกเฉินของพยาบาล เวลาเขาจะผ่าไส้ติ่งแล้วเราจะขอโต้เถียงว่าอยากจะผ่าตัดกับแพทย์อีกคน คงไม่มีพื้นที่นั้นในระบอบสุขภาพ โลกตอนนี้ถูกผลักเข้าไปในระบอบแบบนี้ในขณะนี้ บทสนทนาบางบทระหว่างเสรีภาพกับสุขภาพที่ต้องเถียงว่าจะเอาอะไรไม่เอาอะไร จุดที่เห็นว่าน่าสนใจคือ ภายใต้ระบอบสุขภาพ มันทำให้ระบอบการเมืองในโลกมีความชอบธรรมมากขึ้นที่จะใช้อำนาจของตัวเองสูงขึ้นไม่ว่าอำนาจจะมาจากไหน คำถามคือ อะไรคือเสรีภาพภายใต้ระบอบสุขภาพภายใต้ภาวะโรคระบาด 

ทั้งหมดจึงนำมาสู่แนวคิดอีกอย่างว่า ความมั่นคงแบบนี้ทำให้เราเห็นเหมือนกันว่า ตกลงสิ่งที่สำคัญในชีวิตทางการเมืองและในสังคมคืออะไร พอเจอกับปัญหาแบบนี้ สิ่งที่เห็นว่าสำคัญนำหน้าคืออะไร เช่น ถ้าถามว่าระหว่างปืนอาก้ากับเครื่องช่วยหายใจ อะไรสำคัญกว่ากัน เด็กประถมก็ตอบได้ว่าเครื่องช่วยหายใจ ดังนั้นเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นก็ต้องตอบได้เหมือนกัน แต่ก็ยังมีผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งที่คิดว่าค่าใช้จ่ายบางอย่างยังสำคัญ เช่น งบประมาณทหาร งบทหารที่จ่ายไปนั้นมีหน้าที่ป้องกันบ้านจากภัยคุกคามภายนอก แต่นั่นหมายความว่างบทหารจะต้องเสียไปกับการสร้างประตูที่แข็งแรง ล็อก กล้องที่มีประสิทธิภาพ งบกลาโหมที่ได้รับ 2 แสนกว่าล้านบาท ในขณะที่งบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ห่างกันสิบเท่า (2 หมื่นล้าน) และงบกระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่หนึ่งแสนล้าน ดังนั้น ภายใต้โลกที่มีภัยคุกคามแบบใหม่ ควรจะใช้ทรัพยากรของชีวิตและสังคมไปกับอะไร ความมั่นคงในศตวรรษ 21 ที่มีปัจจัยแบบนี้ มีปัญหาแบบนี้ จะยังคิดแบบเดิมๆ ได้หรือเปล่า ผมคิดว่ามันเปลี่ยนทุกอย่างไปอย่างสิ้นเชิง

วิทยาศาสตร์ในฐานะทางแก้และปัญหา บทบาทภาวะผู้นำที่โลกกำลังต้องการ

เวลาเราเผชิญกับปัญหาทางโรคระบาด มันไม่ใช่เพิ่งเกิด ในสมัยยุคกลาง หรือศตวรรษที่ 14 บันทึกแรกๆ ที่พูดถึงการรักษาโรคระบาดนั้นทำในคาตาโลเนีย ปัจจุบันเป็นประเทศสเปน เมื่อปี 1348 จั๊กเม่ เดอากราม็อง (jacme d'agramont) เขียนวิธีการจัดการโรคระบาดเป็นภาษาคาตาลัน เขียนข้อเสนอให้กับรัฐบาลในการจัดการโรคระบาด ใจความว่า อากาศเสียเพราะมนุษย์ทำบาปเยอะ ทางออกคือต้องไปสารภาพบาป ปิดหน้าต่างให้แน่น ไฟในเตาจะต้องใส่เม็ดสน พื้นห้องในบ้านต้องเอาน้ำส้มสายชูมาราดไว้ ต้องกินและดื่มให้น้อยลง ทุกอย่างที่กินต้องมีรสเปรี้ยวนำ ไม่กินอาหารอย่างปลาไหล และเอาเลือดออกนิดหน่อยได้ สมัยก่อนเชื่อว่าเลือดเป็นปัญหา เซ็กซ์กับการอาบน้ำนั้นอย่าทำ เพราะเป็นการเปิดช่องในร่างกายทำให้เชื้อโรคเข้า ทั้งหมดนี้ เดอากราม็องบอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ขนาดเล็ก (little science) ที่มีที่มาจากคัมภีร์ไบเบิลและข้อเขียนของฮิปโปเครทิสที่เป็นบรรพชนของการแพทย์

ที่น่าสนใจคือข้อเสนอนี้คือข้อเสนอให้รัฐไปทำ แต่อาจไม่ใช่รักษาโดยตรงแต่เพื่อเป็นการรักษาใจ ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือต้องทำให้เห็นว่าภัยคุกคามที่แวดล้อมเราเปลี่ยนลักษณะไป วิทยาศาสตร์ที่กำลังทำกันอยู่เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพราะไวรัสมันติดต่อผ่านคนแต่คนก็มีแบบแผนปฏิบัติอีกแบบ ดังนั้นศาสตร์ที่คิดว่าคนเป็นสิ่งมีชีวิตทางชีวภาพอย่างเดียวแต่ไม่เห็นว่าคนในฐานะสิ่งมีชีวิตทางสังคมเป็นอย่างไร พอคิดแบบนี้ พฤติกรรมของไวรัสที่ติดต่อผ่านคนกับการเสนอให้ป้องกันด้วยการวางระยะห่างทางสังคมทำให้มีผลกับความสัมพันธ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย การใช้แรงงาน โลกเหมือนแทบหยุดนิ่ง ระเบียบต่างๆ ที่เราพูดกันกำลังจะหยุด สิ่งที่กำลังจะเกิดคือข้อเรียกร้องที่บอกว่าให้เปิดสักทีจึงเกิดขึ้นในที่ต่างๆ เพราะทุนนิยมที่เคลื่อนไหวด้วยจักรกลด้วยการหมุนวน มันมีความจำเป็นของมันที่จะต้องทำสิ่งเหล่านี้

เราเห็นภาวะผู้นำในต่างประเทศที่ทำงานหลายลักษณะ ที่น่าคิดคือผู้นำหลายคนที่ประสบความสำเร็จเป็นผู้นำหญิง จะหมายความว่าสิ่งที่เขาต้องเจอและการจัดการวิกฤตนั้นน่าสนใจ ความสำคัญคือ เขาเหล่านั้นฟังใคร เช่น ไต้หวัน (นำโดยประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน) ประสบความสำเร็จมาก ทั้งนี้ ไต้หวันมีรองนายกฯ นักระบาดวิทยา ของเรามีรองนายกฯ ฝ่ายสาธารณสุขแต่ไม่ใช่นักระบาดวิทยา วิธีการของผู้นำเหล่านั้นที่กล้าตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ และรู้จักวิธีรับฟังผู้คนที่ควรรับฟัง และก็ยังเด็ดขาดในวิธีของเขา ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้เขาเห็นได้อย่างน่าสนใจ ไม่ใช่ในฐานะผู้หญิง แต่ในฐานะคุณลักษณะของผู้นำที่เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วแปลงเปลี่ยนโลกให้ก้าวไปสู่อีกจุดหนึ่ง ปัญหาของโลกที่กำลังเผชิญกันอยู่นี้ จะมีผู้นำที่มีสติดีที่ไหนบอกว่าจะตัดงบประมาณที่ให้กับ WHO (องค์การอนามัยโลก) และมองวิกฤตเหมือนกำลังจะซื้อขายของ แล้วพอมีใครไม่ทำตามก็มองหาว่าจะใช้กำลังตรงไหนได้ คนที่ทำดีลในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤต ผมคิดว่าเป็นอันตรายกับระเบียบโลกน่าดู ตอนเป็นวันเวลาของการเรียกร้องผู้นำที่แปลงเปลี่ยนสังคม

บททดสอบรัฐศาสตร์และศรัทธาของศาสนิกในวันที่มีกำแพงเต็มไปหมด

อยากย้อนไปในประเด็นของความมั่นคง จริงๆ ศาสตร์ของระบาดวิทยานั้นน่าสนใจ ที่ระบุว่าคนที่ต้องได้รับการปกป้องดูแลคือใคร ในแง่ความสัมพันธ์ของสังคมและมนุษย์ ผมชอบใช้อุปลักษณ์ว่าเราสัมพันธ์กันเป็นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน ในขณะนี้สายสัมพันธ์เหล่านี้มีคนสร้างกำแพงนานาชนิดมาขวางกั้น คำถามเรื่องความขัดแย้งต่อจากนี้คือ กำแพงที่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้ระบอบการเผชิญกับโรคระบาดเหล่านี้จะยังอยู่หรือไม่หรือจะเป็นอย่างไรเมื่อโรคระบาดจากไป

ทั้งนี้ ในแง่ความมั่นคงก็ดี ระบาดวิทยาก็ดี และ alteration design (เรื่องการออกแบบด้านการเปลี่ยนแปลง) ก็ดี ผมเข้าใจว่าเราเชื่อมกันเหมือนสายโซ่ที่เชื่อมร้อยกัน ความแข็งแรงของสายโซ่ทั้งสายมันขึ้นต่อห่วงโซ่ที่เปราะที่สุด ถ้าเราไม่ป้องกันห่วงโซ่ที่เปราะที่สุด โซ่ก็หัก ดังนั้นหัวใจ alteration design (การออกแบบด้านการเปลี่ยนแปลง) ถ้าเข้าใจไม่ผิดคือควรออกแบบคุ้มครองป้องกันห่วงโซ่ที่เปราะเหล่านั้นก่อน เพราะถ้าตรงนั้นขาด เราก็พังกันไปหมด ใช่อยู่ว่าเราต้องคิดถึงห่วงโซ่ทั้งหมด แต่ก็ต้องตั้งคำถามด้วยว่าในห่วงโซ่ที่จะขาดแล้ว เราจำเป็นต้องดูแลตรงไหนที่เปื่อยแล้ว เพราะถ้ามันขาด ทุกอันก็พังไปหมด

คำถามที่ตามมาคือความเป็นโรคระบาดตอนนี้ทำให้คิดถึงชาติอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องคิดถึงโลกด้วยหรือเปล่า อาการของโรคระบาดที่เป็นอยู่ตอนนี้มันโจมตีเราในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ในฐานะของพลเมืองประเทศใด ในทางวิชาการก็ต้องย้อนกลับไปคิดใหม่ว่า ถ้าโจทย์เป็นอย่างนี้ เราจะมองมนุษย์ให้เป็นเพื่อนมนุษย์ได้อย่างไรในยุคสมัยที่เราสร้างกำแพงกันเต็มไปหมด

เราจะอธิบายให้คนร่วมชาติเห็นได้อย่างไรว่าเราควรเมตตาต่อคนที่อยู่นอกขอบเขตความเป็นรัฐชาติได้อย่างไร เพราะนี่คือชะตากรรมของมนุษยชาติ ไม่ใช่ชะตากรรมของคนไทยอย่างเดียว ในตอนนี้เรื่องการแก้ปัญหาแรงงานนั้น ที่ต้องทำตอนนี้คือต้องทำอย่างไรคือต้องหาทางช่วยพม่าให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่ช่วยไทยอย่างเดียว มันต้องคิดอีกอย่างแล้วในสถานการณ์อย่างนี้ พอพูดไปก็จะมีคนบอกว่าทรัพยากรเรามีจำกัด เราต้องเห็นแก่ชาติ ทั้งนี้ เราเห็นแก่ชาติได้หลายแบบ เช่น ห็นแก่ชาติแบบเห็นแก่ตัวไปพร้อมกัน หรือเห็นแก่ชาติโดยตระหนักว่า เรารอดไม่ได้ถ้าคนอื่นไม่รอดในโลกที่เชื่อมต่อกันแล้ว

สิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่อย่างหนึ่งคือเป็นศาสนิก และก็สนใจเรื่องศรัทธา คิดว่าโควิด-19 ทำให้เห็นความหลากหลายของโลกแบบนี้ด้วย โลกที่คนจำนวนหนึ่งเชื่อมั่นในอะไรนอกตัวเขา นอกรัฐ นอกชาติ นอกคำสั่งทางการแพทย์ และเชื่อว่าชีวิตเขาขึ้นกับอย่างอื่นหรือที่จะเรียกว่าพระเจ้าหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ขณะนี้เรากำลังบอกพวกเขาว่า ทางหนึ่งเรากำลังบอกว่าเปิดร้านเปิดรวงได้เพราะเศรษฐกิจสำคัญ แต่อีกพวกหนึ่งก็บอกว่า ศรัทธาของเขาสำคัญ แล้วคุณมาห้ามไม่ให้เขามีปฏิสัมพันธ์แบบนั้น คุณจะอธิบายเรื่องอย่างนี้อย่างไร

ในขณะที่เราพูดถึงกันนี้ หลายๆ ที่ก็กำลังทำงานอย่างหนัก รัฐ แพทย์ ผู้นำศาสนาคงกำลังคุยกับประชาชนว่าโจทย์ที่เจอคืออะไร จะแก้ปัญหาอย่างไร ศรัทธาของเราอาจไม่ได้หมายถึงเพียงหน้าที่ต่อพระเป็นเจ้า แต่หมายถึงหน้าที่ที่มีต่อมนุษยชาติและมนุษย์คนอื่นอีกด้วย เราอาจไม่ได้ทดสอบศรัทธาของเรากับพระเจ้า เราอาจจะทดสอบศรัทธากับตัวเราเองว่าในกระบวนการที่เราอยากจะทำอะไรสักอย่างในทางศาสนา แล้วเราก็บอกในตอนนี้ว่าอะไรก็อึดอัดอัดขัดข้องไปหมด นี่ก็เป็นบททดสอบที่เราต้องอดทนว่าเราจะก้าวข้ามกำแพงสารพัดชนิดที่มองไม่เห็น เพื่อที่จะเห็นว่า เราจะมีชีวิตอยู่โดยก้าวข้ามกำแพงที่มองไม่เห็นสารพัดชนิด แล้วเห็นมนุษย์คนอื่นอย่างที่เขาเป็น เห็นความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรมในประเทศนี้ แล้วทำอะไรสักอย่างเพื่อหาวิธีให้คนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้นบ้าง ผมเห็นว่านี่คือโจทย์ของวิชารัฐศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net