Skip to main content
sharethis

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ และเครือข่าย ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐยกเลิกประกาศอุ้มนายทุน ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมลงสัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และเปิดทางให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาขน

แฟ้มภาพ

1 พ.ค. 2563 สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย และเครือข่าย ออกแถลงการณ์เนื่องในวันแรงงานสากลประจำปี 2563 ระบุรัฐไม่มีความจริงใจ และไม่จริงจังต่อการแก้ไขปัญหาอันเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาด และมาตรการควบคุมโรคของรัฐ ได้แต่ปล่อยให้ประชาชนช่วยเหลือกันเอง ทั้งยังบริหารเงินภาษีของประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม

ในแถลงการณ์ได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประกาศยกเลิกกฎกระทรวงแรงงานเรื่อง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายจ้างหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 และเป็นการช่วยเหลือนายจ้างให้ได้รับประโยชน์ แต่ลูกจ้างได้รับความเดือนร้อนมากกว่าเดิมมีรายได้น้อยลง ซึ่งแม้ทำงานมีรายได้ตามปกติก็แทบจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอยู่แล้ว พร้อมขอให้ยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  เนื่องจากเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายมีแนวโน้มตีความอย่างกว้างขวาง ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์การควบคุมโรค ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับคือ

1.ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการเคลื่อนไหว พ.ศ. 2491 ให้ลูกจ้างและนายจ้างทุกคนมีสิทธิก่อตั้งและร่วมองค์กรตามใจชอบโดยไม่ต้องขออนุญาตล่วงหน้าและให้หลักประกันว่าองค์กรต่างๆ นี้มีสิทธิที่จะดำเนินงานอย่างอิสระโดยไม่ถูกรัฐบาลแทรกแซง

2.ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและการร่วมเจรจาต่อรอง พ.ศ. 2492 ให้ความคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติเพื่อต่อต้านสหภาพแรงงาน ป้องกันไม่ให้องค์กรลูกจ้างและองค์กรนายจ้างก้าวก่ายซึ่งกันและกัน และวางมาตรการส่งเสริมการร่วมเจรจาต่อรอง

และสุดท้ายเรียกร้องให้ มีการแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ใหม่ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจากกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญและเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากลนิยม

แถลงการณ์ เนื่องในวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2563

ประวัติศาสตร์ของสังคมหรือประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้นทั้งสิ้น เช่น เสรีชนต่อสู้กับทาส ผู้ดีต่อสู้กับสามัญชน เจ้าผู้ครองแคว้นต่อสู้กับทาสกสิกร นายช่างในสมาคมต่อสู้กับลูกมือ  และผู้ถูกกดขี่ทั้งหลายก็ต่อสู้กับผู้กดขี่ขูดรีด ไม่ว่าจะเรียกนายจ้าง นายทุน ผู้ประกอบการหรือนายอะไร มันต่างก็อยู่ในฐานะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันอยู่ตลอดเวลา  การต่อสู้บางครั้งก็ดำเนินการต่อสู้อย่างเปิดเผยบางครั้งก็ซ่อนเร้น และการต่อสู้แต่ละครั้งก็จบลงด้วยสังคมทั้งสังคมถูกเปลี่ยนแปลงด้วยการปฏิวัติทางชนชั้นหรือไม่ก็ชนชั้นที่ต่อสู้กันสูญสลายไปด้วยกัน เมื่อมนุษย์ทุกคนต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มนุษย์ควรจะอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยเฉพาะมนุษย์พวกกดขี่ขูดรีดและพวกเผด็จการ เรายังเห็นมาตรการเยียวยาที่ไม่ถ้วนหน้าเข้าถึงยาก  ทำให้ประชาชนเดือดร้อนนับวันจะอดตายก่อนติดเชื้อไวรัสเข้าทุกวัน  ข้อเท็จจริงประชาชนเริ่มเครียดและหาทางออกด้วยวิธีการฆ่าตัวตายพุ่งสูงพอๆกับคนติดเชื้อโควิด-19 เข้าไปแล้ว

วันสำคัญอันยิ่งใหญ่ของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่งนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1886 รวมระยะเวลา 134 ปี สิ่งที่พบเห็นภายใต้ระบอบเผด็จการยุคนี้ คือปัญหาข้าวยากหมากแพง ชนชั้นที่ไร้ปัจจัยการผลิต ต้องเผชิญกับวิถีชีวิตที่แสนจะลำบากยากแค้นอย่างหนัก

สิ่งที่ผู้ใช้แรงงานทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในภาคการผลิตและภาคบริการใดๆ ได้สร้างได้ทำกันมาจนเกิดมูลค่าส่วนเกิน(กำไร)ในระบบทุนนิยมมาช้านาน ก่อนเกิดโรคระบาดไวรัสโควิด-19 เงินทองเหล่านั้นไปอยู่ไหนกันหมด สิ่งต่อไปนี้คือปัจจัยการครองชีพพื้นฐานเช่น อาหารการกิน, ที่อยู่อาศัย ค่านำ ค่าไฟ  ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ผงซักฟอก ยาสีฟัน สบู่ ยารักษาโรค น้ำมันราคาลดลงอย่างมากทำไมข้าวของราคาแพง หนี้สินเงินกู้ในระบบ และนอกระบบ จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนภาคส่วนต่างๆ อย่างไรแบบถ้วนหน้าทั่วถึง

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯและเครือข่ายต่างๆ เห็นว่ารัฐไม่ได้มีความจริงจังจริงใจต่อการแก้ไขปัญหา ยังผลักภาระไปให้ประชาชนแก้ไขปัญหากันเอง และยังบริหารเงินภาษีของประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมกับประชาชนส่วนใหญ่และท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง พวกเราผู้ใช้แรงงานขอเสนอข้อเรียกร้องดังนี้

ข้อ 1 ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประกาศยกเลิกกฎกระทรวงแรงงานเรื่อง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายจ้างหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 และเป็นการช่วยเหลือนายจ้างให้ได้รับประโยชน์  แต่ลูกจ้างได้รับความเดือนร้อนมากกว่าเดิมมีรายได้น้อยลง  ซึ่งแม้ทำงานมีรายได้ตามปกติก็แทบจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอยู่แล้ว

ข้อ 2 ขอให้ยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  เนื่องจากเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายมีแนวโน้มตีความอย่างกว้างขวาง ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์การควบคุมโรค ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน การใช้มาตรการเคอร์ฟิวส่งกระทบซ้ำเติมประชาชนมากยิ่งขึ้น  และมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ทำได้ดีตามสมควร จึงไม่จำเป็นต้องต่ออายุ พ.ร.ก. อีก แต่ให้นำกฎหมายสาธารณสุขมาใช้ดำเนินการก็เพียงพอ

ข้อ 3 ขอให้รัฐบาลให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับดังต่อไปนี้

ข้อ 3.1 ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการเคลื่อนไหว พ.ศ. 2491 ให้ลูกจ้างและนายจ้างทุกคนมีสิทธิก่อตั้งและร่วมองค์กรตามใจชอบโดยไม่ต้องขออนุญาตล่วงหน้าและให้หลักประกันว่าองค์กรต่างๆ นี้มีสิทธิที่จะดำเนินงานอย่างอิสระโดยไม่ถูกรัฐบาลแทรกแซง

ข้อ 3.1 ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและการร่วมเจรจาต่อรอง พ.ศ. 2492 ให้ความคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติเพื่อต่อต้านสหภาพแรงงาน ป้องกันไม่ให้องค์กรลูกจ้างและองค์กรนายจ้างก้าวก่ายซึ่งกันและกัน และวางมาตรการส่งเสริมการร่วมเจรจาต่อรอง

ข้อ 4 ขอเสนอให้มีการแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ใหม่ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจากกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญและเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากลนิยม

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย และเครือข่าย จึงยกข้อเสนอดังกล่าวขึ้นมาเพื่อเรียกร้องกับรัฐบาล เพื่อประโยชน์โดยรวม ขอให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชนติดตามข้อเสนอนี้ต่อไป

ชนชั้นผู้ใช้แรงงานไทยต้องร่วมมือกันปลดปล่อยชนชั้นตนเองให้เป็นอิสระ

1 พฤษภาคม 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net