Skip to main content
sharethis

 

แฟ้มภาพจากเว็บไซต์ Think Left

1 พ.ค.2563 เนื่องในวันกรรมกรสากล 14 องค์กรฝ่ายซ้ายและองค์กรแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อเรียกร้อง 11 ข้อต่อรัฐบาลอาเซียน ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 รวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และปัญหาอื่นๆ 

โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

เราจำเป็นต้องสร้างอนาคตที่ดีกว่าเพื่อแรงงานในวิกฤตการณ์ทับซ้อนขณะนี้

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและเมืองเป็นอัมพาตจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 รวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิกฤตปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เกิดจากการระบาดครั้งใหญ่นี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์ทุนนิยมโลก ที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความอยุติธรรม โรคระบาดกำลังเกิดขึ้นพร้อมกับวิกฤตความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแนวโน้มของวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในยุคนี้

แรงงานและคนจนคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกจากจะคุกคามสุขภาพและชีวิตของคนทำงานและคนจนทั่วทั้งภูมิภาคแล้ว ยังสร้างปัญหารายได้ที่ลดลง เพราะพวกเขามีความเสี่ยงที่จะถูกปลดออกจากงานหรือถูกลดค่าจ้าง ในขณะที่คนงานอื่น ๆ (คนงานในเศรษฐกิจดิจิทัล รับจ้างอิสระ คนทำความสะอาด) ก็จำเป็นต้องทำงานโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม แรงงานย้ายถิ่น ผู้อพยพลี้ภัย แรงงานนอกระบบ แรงงานรับจ้างรายวันอีกมากมายอยู่ในกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากความไม่สามารถของชนชั้นปกครองในการรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ โครงการความช่วยเหลือทางสังคมหลายรูปแบบของรัฐบาลในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดครั้งใหญ่นี้ยังไม่เพียงพอในการบรรเทาความเดือดร้อนของคนทำงานและคนจน

นโยบายเสรีนิยมใหม่ที่แปรรูปกิจการสาธารณะ รวมถึงการลดกฎระเบียบควบคุมเงินทุน ทำให้ภูมิต้านทานทางสังคมต่อวิกฤตการณ์ลดลงอย่างมาก การทำลายระบบบริการสาธารณะ รวมถึงระบบการดูแลสุขภาพได้ลดความสามารถของเราในการจัดการกับวิกฤตในปัจจุบัน

ในวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ เราเห็นรัฐบาลหลายประเทศใช้ประโยชน์จากวิกฤต ปราบปรามแรงงานและกลุ่มคนเปราะบาง โดยเพิ่มอำนาจให้ทหารและตำรวจ นอกจากนี้ ยังมีการคุกคามจากการเฝ้าระวังของรัฐเพิ่มขึ้น ซึ่งเสริมอำนาจให้รัฐเผด็จการอำนาจนิยม เราจะไม่ยอมให้มีการฉวยโอกาสจากวิกฤตโรคระบาดเป็นข้ออ้างของรัฐในการทำลายพื้นที่ประชาธิปไตยของเราและปราบปรามการเคลื่อนไหวของประชาชน

สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในระดับสากล ไม่ควรมี “ธุรกิจที่ดำเนินไปตามปกติ” ภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่โหดเหี้ยม ถึงเวลาที่เราจะต้องคิดใหม่และท้าทายรูปแบบเศรษฐกิจในปัจจุบันซึ่งได้สร้างช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ในขณะเดียวกันก็สร้างผลกระทบที่เลวร้ายลงต่อคนทำงานในช่วงวิกฤต ถึงเวลาที่เราจะต้องสร้างความสมานฉันท์ในหมู่คนทำงานข้ามพรมแดน เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของทุกคน

ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ท่ามกลางวิกฤตโลกทำให้นึกถึงกรรมกรทั่วโลกว่า การต่อสู้เพื่อโลกที่ยุติธรรม ปลอดภัยและดีขึ้นสำหรับทุกคนนั้น จะเป็นไปไม่ได้หากปราศจากความสมานฉันท์และการระดมมวลชนแรงงานเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง

เรา องค์กรที่ลงนามมีข้อเรียกร้อง ดังต่อไปนี้

  1. รัฐบาลอาเซียนจะต้องใช้ทรัพยากรของรัฐและเอกชนทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพในการควบคุมและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โดยเน้นไปที่คนทำงานและคนจน รัฐบาลจะต้องปกป้องผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานที่อยู่แนวหน้าในการต่อสู้กับโรคระบาด
  2. เสริมสร้างการบริการสาธารณะ รวมถึงระบบสาธารณสุข การศึกษา การเคหะ การขนส่งมวลชน และหลักประกันสังคมอื่น ๆ ผ่านการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากบริษัทขนาดใหญ่และคนรวย อีกทั้งประกันการศึกษาฟรีให้แก่ประชาชนทุกคน รัฐบาลอาเซียนจะต้องทำให้เกิดระบบการจัดเก็บภาษีที่ก้าวหน้าสำหรับภูมิภาคนี้ บริการสาธารณะควรเป็นของรัฐและเป็นประชาธิปไตยภายใต้การควบคุมของประชาชน
  3. ประกันการมีงานทำและรายได้ของคนทำงานผ่านการลงทุนภาครัฐในภาคส่วนที่สำคัญและมีประสิทธิผล เช่น การสร้างและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม การเกษตรและการผลิตอาหารที่ยั่งยืน การผลิตพลังงานทดแทน การจัดหาที่อยู่อาศัยแก่ประชาชน เป็นต้น เราต้องการหลักประกันในการทำงานและรายได้ให้แก่คนทำงานหลายล้านคนในภูมิภาคนี้  เพราะระบบทุนนิยมที่แสวงหากำไรไม่สามารถทำได้ เราต้องการให้รัฐบาลแทรกแซง รัฐบาลอาเซียนจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้าง "ข้อตกลงใหม่" สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการสร้างเศรษฐกิจที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ใช่เพื่อกำไรของบริษัท
  4. รัฐบาลอาเซียนจะต้องสร้างกลไกค่าจ้างที่เหมาะสมในระดับภูมิภาคเพื่อหยุดยั้งนโยบายค่าจ้างราคาถูกและการกดค่าจ้าง ให้คนทำงานทั้งภูมิภาคได้รับส่วนแบ่งจากการทำงานของพวกเขาอย่างเป็นธรรม
  5. พัฒนาโครงการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อจัดการกับปัญหาการขาดแคลนอาหารในช่วงวิกฤตและคุ้มครองความเป็นอยู่เของเกษตรกรรายย่อย
  6. แก้ไขปัญหาหนี้สินที่ไม่เป็นที่ยอมรับทั้งหมดที่เกิดจากรัฐบาล เพื่อให้สามารถจัดสรรเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ประชาชนในช่วงวิกฤต
  7. หยุดการไล่รื้อทั้งหมด รัฐบาลจะต้องรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานในการสร้างที่อยู่อาศัยที่เพียงพอสำหรับทุกคน ตรึงค่าเช่าและค่าผ่อนบ้านของคนจนเพื่อความมั่นคงปลอดภัยและลดภาระของประชาชน และจัดหาที่อยู่อาศัยมากขึ้น
  8. ปลดปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด ผู้ต้องขังที่ไม่ได้กระทำความผิดรุนแรงหรือผู้ที่ไม่เป็นภัยคุกคามต่อสังคม เพราะเรือนจำที่แออัดยัดเยียดทำให้โรคระบาดแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
  9. ต้องตระหนักว่ามาตรการกักตัวเอง การเว้นระยะห่างทางสังคม และการปิดเมืองจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ด้วยความร่วมมือของประชาชน รัฐบาลไม่ควรใช้การปิดเมือง การติดตามผู้ติดเชื้อ ฯลฯ ในการปราบปราม กดขี่ บีบบังคับ การดำเนินการตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดควรอยู่ในการกำกับดูแลของหน่วยงานด้านสุขภาพ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ด้วยอำนาจของทหารและตำรวจ  ทหารไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและการปกครองภายใต้ข้ออ้างสถานการณ์นี้ ซึ่งจะต้องระมัดระวังการนำไปสู่ระบอบอำนาจนิยม
  10. รัฐบาลอาเซียนต้องใส่ใจเป็นพิเศษกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวต่อผู้หญิงและเด็ก อันเป็นผลมาจากการปิดเมืองและจัดหาเงินช่วยเหลือที่เพียงพอและการบริการที่จำเป็นเพื่อติดตามและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากความรุนแรงในครอบครัว
  11. ยุติการแทรกแซง คว่ำบาตรฝ่ายเดียวของประเทศจักรวรรดินิยม (โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา) ที่ทำกับประเทศที่มีผลประโยชน์ไม่สอดคล้องกับประเทศจักรวรรดินิยม เช่น คิวบา เวเนซุเอลาและอิหร่าน

การต่อต้านและการต่อสู้เพื่อให้ได้ข้อเรียกร้องเฉพาะหน้านี้ จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับการแสวงหาทางเลือกให้แก่ระบบทุนนิยม ซึ่งก็คือสังคมนิยม – สังคมเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์พร้อมกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมแทนการมุ่งแสวงหากำไรของนายทุน  หัวใจของวิสัยทัศน์สังคมนิยมของเราคือความสมานฉันท์ เพื่อให้มนุษย์รอดพ้นจากภัยพิบัติ ซึ่งเป็นการท้าทายระบบที่เป็นอยู่

ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นสากลของชนชั้นแรงงาน เราขอให้มีการสนับสนุนซึ่งกันและกันของคนทำงานในภูมิภาคและทั่วโลก เพื่อร่วมมือกันซสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่า

 

องค์กรที่ลงนามสนับสนุน

พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (Parti Sosialis Malaysia (PSM), Malaysia )
พรรคคนทำงานอินโดนีเซีย ( Partai Rakyat Pekerja (PRP), Indonesia)
พรรคมวลชนแรงงาน ฟิลิปปินส์ (Partido Lakas ng Masa (PLM), Philippines) 
Jaringan Rakyat Tertindas (JERIT), Malaysia
ศูนย์ทรัพยากรแรงงาน อินโดนีเซีย (Sedane Labour Resource Centre (LIPS), Indonesia)
Bukluran ng Manggagawang Pilipino (BMP), Philippines
Partido Manggagawa (PM), Philippines
กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน ประเทศไทย Socialist Workers Thailand Group, Thailand
Socialist Party of Papua (PSP)
Socialist Alliance, Australia
Borderless Movement, Hong Kong 
Japanese Revolutionary Communist League (JRCL), Japan
Nava Sama Samaja Party (NSSP), Sri Lanka
Europe solidaire sans frontières (ESSF), France

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net