Skip to main content
sharethis

  • แรงงานนอกระบบสองพันล้านคนทั่วโลกแถลงการณ์สมานฉันท์เครือข่าย WIEGO ทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐบาลทุกระดับร่วมมือในการบรรเทาทุกข์ ฟื้นฟูและความพยายามในการปรับตัวที่เกิดขึ้นจากระดับรากหญ้า
  • แรงงานนอกระบบไทยร่อน จม.เปิดผนึกเสนอมาตรการแก้ปัญหา 3 ระยะ
  • รปภ.ศูนย์ราชการ กว่า 200 ชีวิต ลงทะเบียนรับเงินสะสมหลังหมดสัญญา
  • ปธ.สภาคณาจารย์และข้าราชการ ราชภัฏลำปาง ออกแถลงการณ์เดินหน้าเกี่ยวกับความเป็นอยู่และสวัสดิการ
  • เลขา ครป. จี้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินประกันสังคมและเยียวยาภาคแรงงาน 

1 พ.ค.2563 ประมวลสถานการณ์และแถลงการณ์ข้อเรียกร้องต่างๆ เนื่องในวันกรรมกรสากลท่ามกลางภาวะการระบาดของโควิด 19 ประกอบด้วย แรงงานนอกระบบระดับโลก

องค์กรของแรงงานในระบบเศรษฐกิจนอกระบบทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐบาลทุกระดับร่วมมือกับเรา ในการบรรเทาทุกข์ ฟื้นฟูและความพยายามในการปรับตัวที่เกิดขึ้นจากระดับรากหญ้าในช่วงเวลาวิกฤติที่สำคัญ

โควิด-19 และแรงงานนอกระบบสองพันล้านคนทั่วโลก แถลงการณ์สมานฉันท์เครือข่าย WIEGO ทั่วโลก

1 พฤษภาคม 2020

องค์กรของแรงงานในระบบเศรษฐกิจนอกระบบทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐบาลทุกระดับร่วมมือกับเรา ในการบรรเทาทุกข์ ฟื้นฟูและความพยายามในการปรับตัวที่เกิดขึ้นจากระดับรากหญ้าในช่วงเวลาวิกฤติที่สำคัญครั้งนี้

แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานสำคัญ – และยังคงสำคัญ - เสมอมา

ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและผู้ค้าในตลาดเป็นห่วงโซ่สำคัญในการเชื่อมโยงความมั่นคงด้านอาหารและเครื่องอุปโภคขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่กลุ่มที่ยากจนที่สุดของสังคม แรงงานเก็บขยะและรีไซเคิลได้ให้บริการที่ส่งผลต่อสุขภาพที่ดีของประชาชนและระบบสาธารณสุข ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะและส่งผลให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ลูกจ้างทำงานบ้านเป็นแนวหน้าในการจัดการมาตรฐานสุขอนามัยในบ้านและให้การดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ผู้ทำการผลิดที่บ้านทำให้ห่วงโซ่อุปทานดำเนินต่อได้ เย็บหน้ากากและอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในแนวหน้า เศรษฐกิจทุกแห่งหนขึ้นอยู่กับงานของเรา

เศรษฐกิจโลกไม่สามารถฟื้นตัวได้หากปราศจากเรา

จากรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)พบว่า ร้อยละ 81 ของแรงงานทั่วโลก ซึ่งมีประมาณ 3,300 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองและมาตรการต่างๆเพื่อควบคุมโควิด19 ซึ่งแรงงานร้อยละ 61 ของกำลังแรงงานทั่วโลก หรือประมาณ 2,000 ล้านคนอยู่ในการจ้างงานในเศรษฐกิจนอกระบบ ในประเทศกำลังพัฒนานั้นพวกเราเราถือเป็นร้อยละ 90 ของการจ้างงานทั้งหมด

มาตรการด้านสาธารณสุขที่จำกัดการเคลื่อนย้าย ทำให้สมาชิกจำนวนมากของเราไม่สามารถทำงานได้โดยสิ้นเชิง ในทุก ๆ วันที่พวกเขาไม่สามารถทำงานได้ พวกเขาม่สามารถหารายได้ พวกเขาไม่สามารถอยู่แต่ในบ้านได้ถ้าต้องหิวโหยและไม่สามารถทำงานได้ถ้าต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนในหลายประเทศยังไปไม่ถึงแรงงานของเรา การขับไล่ที่โหดร้ายและความรุนแรงในครอบครัวต่อผู้หญิงนั้นเพิ่มมากขึ้น จากการศึกษาผลกระทบระยะแรกของวิกฤตแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อรายได้ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบของเราซึ่งเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมและเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพมายาวนานเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่สุด สังคมต้องการองค์กรของแรงงานนอกระบบเพื่อช่วยออกแบบนโยบายสาธารณะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการตอบสนองต่อวิกฤติ และมุมมองเพื่อการฟื้นฟูในระยะยาวและการปฏิรูปโครงสร้าง

เราต้องปรับระบบเศรษฐกิจใหม่ (reset) เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการทั่วถึงอย่างเท่าเทียม

วิกฤตโควิด-19 ได้ดึงความสนใจของโลกมาที่วิธีที่รัฐบาลและอุตสาหกรรมจัดการกับแรงงานนอกระบบจำนวนมหาศาลของโลกอย่างไม่เท่าเทียมมายาวนาน สมาพันธ์ลูกจ้างทำงานบ้านสากล (IDWF) สมาพันธ์ผู้ค้าแผงลอยสากล (StreetNet International) เครือข่ายผู้ทำการผลิตที่บ้านเอเชียใต้ (HomeNet South Asia) เครือข่ายผู้ทำการผลิตที่บ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (HomeNet Southeast Asia) เครือข่ายผู้ทำการผลิตที่บ้านยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง (HomeNet Eastern Europe and Central Asia) และสหพันธ์แรงงานเก็บขยะสากล (Global Alliance of Waste Pickers) - ในฐานะสมาชิกเครือข่าย WIEGO - ขอเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายดำเนินมาตรการฉุกเฉินเพื่อบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟู รวมถึงยุทธศาสตร์ในการจัดการด้านสาธารณสุขและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตามหลักการดังต่อไปนี้:

1. ไม่มีอะไรสำหรับเราโดยปราศจากเรา เรา ซึ่งเป็นขบวนการของแรงงานในระบบเศรษฐกิจนอกระบบระดับโลกมีประสบการณ์หลายสิบปีในการจัดจัดตั้งและอำนวยการในการเชื่อมต่อระหว่างแรงงาน ชุมชน รัฐบาล และบริษัทต่าง ๆ ผู้นำของเราคือผู้เจรจาที่มีประสบการณ์ และเป็นนักการศึกษามีความรู้เกี่ยวกับทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ ภายในประเภทอุตสาหกรรมของพวกเขาเป็นอย่างดี และทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อจัดการกับวิกฤตเฉียบพลันที่สมาชิกระดับรากหญ้าของเราเผชิญอยู่ และเพื่อรักษาความปรองดองในสังคมในบภาวะวิกฤต การให้เราเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการตัดสินใจกำหนดนโยบาย ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นร้อยละ 61 ของกำลังแรงงานทั่วโลก แต่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น เศรษฐกิจของประเทศ และระบบของโลกที่เชื่อมโยงเราทุกคน

2. ไม่ทำร้าย นโยบายและแนวปฏิบัติในระหว่างและหลังวิกฤตโควิด-19 จะต้องคำนึงถึงแรงงานนอกระบบและองค์กรของพวกเขา และรัฐต้องออกคำสั่งที่ชัดเจนให้กับหน่วยงานระดับปฏิบัติการเพื่อหลีกเลี่ยงการคุกคาม การใช้ความรุนแรง การเรียกรับสินบน การไล่รื้อและการรื้อถอนทรัพย์สินของแรงงาน รวมถึงบ้านและสถานที่ทำงานของพวกเขา รัฐต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษในการลดความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายที่เกิดแก่แรงงานหญิงทั้งในบริบทวิกฤตปัจจุบันและในระยะยาว

3. เข้าใจการเปลี่ยนแปลง จำเป็นที่จะต้องมีรูปแบบการทำงานและการผลิตแบบใหม่ที่เท่าเทียมและมุ่งเน้นการกระจายความเป็นธรรม โดยให้การยอมรับและให้คุณค่ากับงานทุกรูปแบบ การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้บรรลุรูปแบบการทำงานดังกล่าวต้องเริ่มต้นเดี๋ยวนี้ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูโดยเน้นไปที่การสร้างระบบให้แก่เศรษฐกิจนอกระบบ ให้สอดคล้องกับข้อแนะขององค์การแรงงานระหว่างประเทศข้อ 204 (R204) จำเป็นต้องมีการลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่บนพื้นฐานความเข้าใจว่า แรงงานนอกระบบโดยเฉพาะผู้หญิงเป็นผู้สร้างความมมั่นคงให้ครอบครัว ชุมชน และเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางของการสร้างห่วงโซ่คุณค่าในท้องถิ่นขึ้น และต้องการการรับรองมาตรฐานงานที่มีคุณค่าในทุกประเภทอุตสาหกรรม

องค์กรที่ร่วมลงนามเป็นสมาชิกขบวนการแรงงานนอกระบบระดับโลก ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นตัวแทนของสมาชิกกว่า 2.1 ล้านคนทั่วโลก

- สมาพันธ์ลูกจ้างทำงานบ้านสากล International Domestic Workers’ Federation (IDWF)
Elizabeth Tang เลขาธิการใหญ่ elizabeth.tang@idwfed.org
- สมาพันธ์ผู้ค้าแผงลอยสากล StreetNet International
ออกซาน่า แอ๊บบอน ผู้ประสานงานระหว่างประเทศ coordinator@streetnet.org.za
- เครือข่ายผู้ทำการผลิตที่บ้านเอเชียใต้ HomeNet South Asia
จันหาวี เดฟ ผู้ประสานงานระหว่างประเทศ , janhavi.hnsa@gmail.com
- เครือข่ายผู้ทำการผลิตที่บ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ HomeNet Southeast Asia
สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง ผู้ประสานงาน ss.sunny@hotmail.com
- เครือข่ายผู้ทำการผลิตที่บ้านยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง HomeNet Eastern Europe and Central Asia
ไวโอเลต้า สลาเตว่า ประธาน violetazlateva@gmail.com
- คณะทำงานเครือข่ายผู้ทำการผลิตที่บ้านสากล HomeNet International Working Group
จันหาวี เดฟ รักษาการผู้ประสานงานระหว่างประเทศ janhavi.hnsa@gmail.com
- สหพันธ์แรงงานเก็บขยะสากล Global Alliance of Waste Pickers
โนร่าห์ พาดิลลาห์, ผู้นำแรงงานเก็บบขยะ, arbesp@gmail.com
- ผู้สนับสนุนทางเทคนิค
Women in Informal Employment: Globalizing and Organizing (WIEGO)
แซลลี โรเวอร์ ผู้ประสานงานระหว่างประเทศ sally.roever@wiego.org

 

แรงงานนอกระบบไทยร่อน จม.เปิดผนึกเสนอมาตรการแก้ปัญหา 3 ระยะ

นอกจากนี้องค์กรแรงงานนอกระบบในไทย ประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ สมาคมแรงงานนอกระบบ ประเทศไทย และสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ เผยแพร่จดหมายจดหมายเปิดผนึกจากแรงงานนอกระบบถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องการเยียวยาอย่างให้ทั่วถึง พร้อมทั้งเตรียมฟื้นฟูการงานอาชีพของแรงงานนอกระบบ สร้างหลักประกันทางสังคมอย่างยั่งยืนสำหรับผู้ใช้แรงงาน

โดยมีรายละเอียดดังนี้

จดหมายเปิดผนึกจากแรงงานนอกระบบถึงนายกรัฐมนตรี ในวันแรงงาน 1 พฤษภาคม 2563

1 พฤษภาคม 2563

เรียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สำเนาถึง
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

เรื่อง เยียวยาอย่างทั่วถึง เตรียมฟื้นฟูการงานอาชีพของแรงงานนอกระบบ สร้างหลักประกันทางสังคมอย่างยั่งยืนสำหรับผู้ใช้แรงงาน

เราต่างก็ตระหนักดีว่าสถานการณ์สำหรับผู้ใช้แรงงานในวันแรงงานแห่งชาติปีนี้เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างยิ่ง และความยากลำบากนี้อาจจะต่อเนื่องไปในระยะยาวแม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะยุติลง

ณ วันนี้ ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้างทั้งอย่างถาวรและชั่วคราวเพราะกิจการของนายจ้างได้รับผลกระทบจากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 แม้สำนักงานประกันสังคมจะมีมาตรการเยียวยา รายได้ที่ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 62 ย่อมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัว

แรงงานนอกระบบก็ได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางและรุนแรง หาบเร่แผงลอย รถยนต์รับจ้างสาธารณะ(แท็กซี่) รถจักรยานยนต์รับจ้าง ช่างเสริมสวย ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติเพราะมารตการปิดเมือง (lock Down) ลูกจ้างทำงานบ้านจำนวนมากถูกเลิกจ้างชั่วคราว หรือมีความกดดันในการทำงานเพิ่มขึ้นเพราะนายจ้างกังวลเรื่องสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว ในขณะที่ผู้ผลิตเพื่อขายไม่สามารถนำสินค้าที่ผลิตได้ไปขายที่ตลาด ผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่มีคำสั่งผลิต(order)เพราะกิจการของผู้จ้างงานปิดตัวลงทั้งอย่างถาวรและชั่วคราว

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (HomeNet ประเทศไทย) สมาคมแรงงานนอกระบบ ประเทศไทย และ สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ ในฐานะที่เป็นองค์กรของแรงงานนอกระบบจำนวน 23,588 คน มีความเห็นและข้อเสนอดังนี้

สำหรับมาตรการเฉพาะหน้า เราทั้ง 3 องค์กรเห็นด้วยและขอบคุณรัฐบาลที่มีมาตรการเยียวยาสำหรับแรงงานนอกระบบ และแรงงานอิสระ เป็นจำนวนเงินเดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน แต่ขณะเดียวกันก็เห็นปัญหาของระบบการขึ้นทะเบียน การเปลี่ยนแปลงข้อมูล การตรวจสอบสถานะ และการอุทธรณ์ ผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน เริ่มจากปัญหาที่แรงงานนอกระบบจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงเพราะข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยี และความซับซ้อน ความล่าช้าของระบบการพิจารณา ทำให้เงินเยียวยาถึงมือแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบไม่ทันการณ์กับความเดือดร้อน ผลักให้แรงงานนอกระบบจำนวนมากรู้สึกสิ้นหวัง รู้สึกว่าถูกทิ้งให้เผชิญปัญหาโดยลำพัง จนทำร้ายตัวเองและครอบครัว กระทั่งฆ่าตัวตาย จำนวนหลายสิบคน เกิดเป็นโศกนาฏกรรรมและความเจ็บปวด สูญเสียของสังคมไทย

เราทั้ง 3 องค์กรเสนอให้รัฐบาลเห็นความสำคัญและเชื่อมั่นในพลังขององค์กรของผู้ใช้แรงงาน ชุมชน และองค์กรภาคประชาสังคม ให้ได้ร่วมมีบทบาทเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการรับเรื่องอุทธรณ์ ตรวจสอบความจริง เพื่อให้มาตรการเยียวยานี้ไปถึงแรงงานนอกระบบผู้ได้รับผลกระทบ อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม ไม่มีผู้ที่ตกหล่นหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

สำหรับมาตรการระยะกลาง เมื่อรัฐบาลกำลังจะผ่อนปรนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคที่คลี่คลายลง เราทั้ง 3 องค์กรเสนอให้รัฐบาลรับฟังข้อมูลปัญหา ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอาชีพและการทำมาหากินของแรงงานนอกระบบ และปรึกษาหารือ สร้างกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางในการแก้ไขร่วมกับกับองค์กรของแรงงานนอกระบบ ตลอดจนเตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่อการฟื้นฟูการงานอาชีพของแรงงานนอกระบบทั้งในระดับปัจเจกและระดับกลุ่ม เช่น เงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ พัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้านหรือกลุ่มอาชีพในชุมชนทั้งในด้านการผลิต การบริหาร และการตลาด จัดสรรสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐให้แก่กลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้านหรือกลุ่มอาชีพในชุมชน รณรงค์ให้สังคมใช้และบริโภคสินค้าที่ผลิตโดยชุมชน เพื่อให้วิถีการผลิต การทำมาหากิน และการใช้ชีวิตของประชาชนคืนสู่ภาวะปกติ และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้ดำเนินต่อไป

สำหรับมาตรการระยะยาว ในอีกด้านหนึ่ง วิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนสัญญาณเตือนให้สังคมไทยได้ทบทวนหลักประกันทางสังคมของตนว่าแข็งแรงเพียงพอหรือไม่ที่จะปกป้องคุ้มครองประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน คนจน คนชายขอบ และผู้เปราะบาง เราทั้ง 3 องค์กรจึงเสนอให้รัฐบาลใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการทบทวนระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ระบบหลักประกันสุขภาพ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพคนพิการ เงินอุดหนุนเด็กเล็ก และพัฒนาไปสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน

เราทั้ง 3 องค์กรพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลและพลังทางสังคมทุกกลุ่มเพื่อให้เกิดการปฏิบัติการตามข้อเสนอนี้ ด้วยความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าเราจะสามารผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเพื่อให้วันแรงงาน 1 พฤษภาคม ของปีต่อ ๆ ไปเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
สมาคมแรงงานนอกระบบ ประเทศไทย
สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ

รปภ.ศูนย์ราชการ กว่า 200 ชีวิต ลงทะเบียนรับเงินสะสมหลังหมดสัญญา

สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ที่ที่อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติแจ้งวัฒนะ กลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัย ภายในศูนย์ราชการฯ อาคารเอ และอาคารบี กว่า 234 คน นัดรวมตัวกันที่บริเวณลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารบี เรียกร้องขอความและขอความชัดเจนเรื่องเงินสะสม เงินชดเชย และค่าแรงที่ยังไม่จ่ายแก่พนักงาน ประมาณ 20,000 บาทต่อคน รวมทั้งหมดกว่า 5,000,000 บาท หลังหมดสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

อรปภา อาภาวัชรนนท์ ผู้บริหารบริษัทรักษาความปลอดภัย RGH ชี้แจงว่า การที่พนักงาน 234 กว่าคนมารวมตัววันนี้ไม่ได้เป็นการมาประท้วง แต่ทางบริษัทเรียกให้มาลงทะเบียนเพื่อชี้แจงเรื่องเงินสะสม เงินชดเชย และค่าแรงที่ยังไม่จ่ายพนักงาน โดยยืนยันว่าจะทยอยจ่ายให้ครบทั้งหมดตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 1 มิถุนายนงวดสุดท้าย ไม่มีเบี้ยวจ่ายเเน่นอน ตลอดการทำธุรกิจที่ผ่านบริษัทไม่เคยมีประวัติค้างจ่ายค่าเแรง อย่างไรก็ตาม หลังหมดสัญญาจ้างพนักงานกว่า 234 คน ก็มีพนักงาน 30% เลือกที่จะกลับภูมิลำเนาไป ส่วนอีก 70% ก็ไปสมัครงานกับบริษัทใหม่ที่มาประมูลได้ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเลิกจ้าง แต่เป็นการหมดสัญญาจ้าง

วีระ คำมี อายุ 52 ปี พนักงานรักษาความปลอดภัย เปิดเผยว่า ได้ทำสัญญากับบริษัทใหม่เรียบร้อย โดยจะเริ่มงานวันนี้ได้เลย ส่วนเหตุผลที่เลือกทำงานกับบริษัทใหม่ที่ประมูลได้ เพราะไม่อยากหางานใหม่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ยิ่งมีโรคโควิด-19 หางานยากจึงไม่ตัดสินใจกลับบ้าน โดยวันนี้มาลงทะเบียนเพื่อรับเงินในส่วนที่เหลือ โดยนายจ้างรับปากว่าจะจ่ายเงินงวดสุดท้ายให้ทั้งหมดในวันที่ 1 มิถุนายนแน่นนอน จึงรู้สึกสบายใจ
 
 

ปธ.สภาคณาจารย์และข้าราชการ ราชภัฏลำปาง ออกแถลงการณ์เดินหน้าเกี่ยวกับความเป็นอยู่และสวัสดิการ

สภาคณาจารย์และข้าราชการ ม.ราชภัฏลำปาง ออกแถลงการณ์เนื่องในวันแรงงานสากล ด้วย โดยระบุว่า กำลังดำเนินการกิจกรรมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับด้านความเป็นอยู่และสวัสดิการของพวกเรา ประกอบด้วย 1) การเรียกร้องสิทธิการตรวจสุขภาพประจำปี ให้กลับมาเหมือนเดิม คือ ทุกคนได้ตรวจตามสิทธิพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ใช่สิทธิตามประกันสังคมที่ไม่ครอบคลุมทุกรายการและมีข้อยกเว้นมากมาย 2) การเปิดช่องทางเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อความก้าวหน้าและเติบโตของมหาวิทยาลัยอย่างมีส่วนร่วมโดยประชาคมราชภัฏลำปาง และ 3) การเปิดช่องทางเพื่อร้องเรียนหากได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม 

 

เลขา ครป. จี้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินประกันสังคมและเยียวยาภาคแรงงาน 

เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์ประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า รัฐบาลจ่ายเงินประกันสังคมล่าช้ามาก ทั้งที่เป็นเงินของแรงงานผู้ประกันตนและไม่่ทราบว่ากองทันประกันการว่างงานเหลือเงินจริงๆ เท่าไหร่ เงินกองทุนทั้งหมดนำไปลงทุนแล้วเจ๊งหรือไม่ ใครจะรับผิดชอบเงินกองทุนที่หายไปจากทั้งหมด 2.2 ล้านล้านบาท ถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่ตอบว่ายืมเงินไปหมุนเวียนเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่ หรือเพราะไม่สามารถบอกความจริงได้เนื่องจากผิดวัตถุประสงค์ของเงินกองทุนประกันสังคมใช่หรือไม่ เรื่องนี้ตนอยากให้กรรมาธิการแรงงาน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน รวมถึงกรมบัญชีกลางเข้าไปตรวจสอบโดยเร็ว โดยเฉพาะการเอาเงินกองทุนไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สูญหุ้นไปเท่าไรในช่วงโควิด
 
พล.อ.ประยุทธ์ไม่ไหวอย่าบอกไหว ถึงเวลาปรับคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจออกได้แล้ว หรือไม่ก็ลาออกไปเปลี่ยนหัวหน้ารัฐบาล ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤติ อย่าปล่อยให้ประชาชนอดอยากยากแค้นจนต้องฆ่าตัวตายเป็นตราบาปร้ายอีก และเรื่องนี้รัฐบาลอย่าไปนับเป็นสถิติเปรียบเทียบเลย เพราะคุณค่าคนหนึ่งคน หนึ่งชีวิต ก็ไม่สมควรต้องตายและกลายเป็นเหยื่อ รัฐบาลต้องหาทุกวิถีทางแก้ปัญหาและเยียวยาจัดการ ไม่ใช่ให้ พม.ไปจ่ายเงินชดเชยศพ 3-5 พันบาทแล้วบอกว่าตายน้อยกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง อย่าเห็นชีวิตคนเป็นใบไม้
 
ถึงวันนี้จะต้องปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รัฐบาลก็ต้องทำ แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ อย่าให้ใครมาผูกขาดระบบเศรษฐกิจ และหาผลประโยชน์ในทรัพยากรสาธารณะ พลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า สาธารณูโภคพื้นฐานต้องเป็นสมบัติส่วนรวม อย่าขอความร่วมมือกับมหาเศรษฐีโดยไม่แก้ไขระบบ และต้องตอบคำถามว่า รัฐบาลออก พรก.เงินกู้ไปใช้จ่ายส่วนไหนบ้าง ต้องกางบัญชีออกมาอย่างโปร่งใสให้ประชาชนเห็นและตรวจสอบได้ เพราะคือหนี้ในอนาคตของประชาชนทุกคน รวมถึงที่รัฐบาลใช้เงินจนเกลี้ยงคลัง และงบกลาง 5 แสนล้านบาทใช้อะไรหมดบ้าง 
 
"เนื่องในวันแรงงานสากล ผมอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคแรงงานให้มากขึ้น การเยียวยา "แรงงานนอกระบบ" โดยให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพจ่ายเงิน 5,000 บาทเยียวยาเป็นเรื่องดีแต่ต้องมีการจัดการบิ๊กดาต้าให้มีประสิทธิภาพ จะได้ไม่มีคนที่ถูกลืมและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะบางคนที่ผมรู้จักยังไม่มีบัญชีธนาคารเลย แล้วจะได้รับการเยียวยาได้อย่างไร ส่วน "แรงงานในระบบ" ผมอยากเรียกร้องให้มีการจ่ายเงินประกันสังคมโดยเร็ว อย่าชักช้าเพราะป็นสิทธิของเขา และต้องมีมาตรการเพิ่มเติมจากรัฐบาลด้วย ได้ข่าวว่ากระทรวงแรงงานจะให้แรงงานกู้เงินได้จากประกันสังคมต้องทำโดยเร็วและทำเป็นระบบธนาคารแรงงานไปเลย ภาคแรงงานจะได้ไม่ถูกเอาเปรียบดอกเบี้ยโดยนายเงินในภาคธนาคารอีก นอกจากนี้แรงงานภาคเกษตรกรรมควรมีการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ถนนหนทาง ตึกราม บ้านเมือง ล้วนถูกสร้างจากมือชนชั้นแรงงาน อย่าให้เขาเป็นเพียงชนชั้นล่างในสังคมไทยอีกต่อไป" เมธา กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net