Skip to main content
sharethis

สรุปใจความเสวนาของ ผศ.จิตติภัทร พูนขำ ว่าด้วยโควิด-19 กับการฉายให้เห็นขั้วความคิดที่ปะทะสังสรรค์ทั้งในระดับระหว่างมนุษย์ รัฐ และการเมืองระดับโลก แนวคิดอำนาจอธิปไตยคัดง้างกับระบอบสุขภาพที่พยายามเป็นสากล จีนจะมีบทบาทนำในระดับโลกแซงสหรัฐฯ หรือไม่ และ New Normal อาจไม่ Normal และไม่ New สำหรับหลายคน

จิตติภัทร พูนขำ (ที่มา: econ.tu.ac.th)

เมื่อ 30 เม.ย. 2563 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “เจาะมุมมอง สามรัฐศาสตร์ ผ่ามหาวิกฤตโควิด-19” โดยมี ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สาขาการเมืองการปกครอง ผศ.จิตติภัทร พูนขำ สาขาการระหว่างประเทศ และ ผศ.ทวิดา กมลเวชช สาขาบริหารรัฐกิจ ร่วมเสวนา

จิตติภัทรพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับปทัสถานการเมืองโลก การปะทะสังสรรค์ระหว่างแนวคิดข้ามรัฐชาติ การเป็นสังคมโลก กับอำนาจอธิปไตย รวมถึงตั้งคำถามกับคำที่กำลังได้รับความนิยมอย่าง 'New Normal' ว่าแท้ที่จริง อาจเป็นเรื่องที่คนบางกลุ่มเจอทุกวัน และบางเรื่องอาจเป็น New Abnormal เสียด้วยซ้ำ

การเมืองในโรคระบาด รัฐแข็งแรงที่ควบคุมโรคไม่ได้

จิตติภัทรกล่าวว่า จริงๆ แล้วโรคระบาดก็เป็นการเมือง ในขณะที่ไวรัสไม่เลือกติดเชื้อ ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อได้หมด แต่การเข้าถึงทรัพยากรและการรักษากลับไม่เท่าเทียมเสมอหน้า ซึ่งมันเป็นตัวกำหนดสถานะของบุคคลด้วยซ้ำว่าใครเป็นใคร ใครจะอยู่หรือตาย หรือใครต้องรอไปก่อน นี่คือประเด็นทางการเมืองแน่นอน หลายคนเถียงกันว่าสุขภาพมาก่อนเสรีภาพ แต่อีกประเด็นหนึ่งคือสุขภาพก็เป็นประเด็นทางการเมืองที่ต้องกำหนดการจัดสรรทรัพยากร

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์: คำถามถึงบทบาทวิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศรัทธาในยุคโรคระบาด

อีกด้านหนึ่ง สุขภาพหรือโรคระบาดกลายเป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองโลกทั้งในเชิงความเสี่ยง ความจำเป็น ผลกระทบและมาตรการการตอบโต้ การที่โลกพึ่งพากันและกันสูง การที่จีนบูรณาการกับโลกมหาศาลก็ยิ่งทำให้การระบาดไปในระดับโลกมากขึ้น ความตึงเครียดตอนนี้คือความร่วมมือระหว่างประเทศไม่ดีเท่าที่ควร เป็นคำถามในทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่าความร่วมมือระหว่างประเทศในสภาพอนาธิปไตยเกิดขึ้นได้หรือไม่ เกิดขึ้นได้อย่างไร เราจะวางมันอยู่บนภาวะผู้นำหรือบทบาทของประเทศมหาอำนาจได้ไหม ตอนนี้สหรัฐฯ ก็ถอยออกมาเยอะ 

จิตติภัทรกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเดิมทีเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ แต่ตอนนี้โควิด-19 ลงมาถึงตัวคน พื้นที่และการจัดการเวลา ในเชิงความสัมพันธ์พบว่ารัฐมีบทบาทนำมาก ประเด็นสุขภาพที่มีลักษณะอำนาจนิยมแบบนี้ทำให้รัฐมีอำนาจขึ้นมามาก นี่คือการหวนคืนที่โรคระบาดทำให้รัฐเข้มแข็งมากขึ้น เช่น วาทกรรมสุขภาพมาก่อนเสรีภาพ ในเวลาเดียวกันรัฐอ้างที่จะละเมิดสิทธิ เสรีภาพคนได้มากขึ้นด้วย

หลายคนวิจารณ์ความล้มเหลวของการควบคุมโรคว่าเป็นเพราะรัฐล้มเหลว แต่จะโต้แย้งว่ามันมีมูลเหตุจากความแข็งแรงของความเป็นรัฐสองแบบ แบบแรกคือรัฐรวมศูนย์ที่สามารถคุมข้อมูลจนเกิดการระบาดใหญ่ เช่น จีน แบบที่สอง รัฐเสรีนิยมใหม่ที่เข้มแข็งที่เอื้อให้ทุนทำงานได้ดี รัฐแบบนี้ทำให้ระบบสาธารณสุขไม่มีประสิทธิภาพในการรับมือการระบาดขนาดใหญ่ เช่นรัฐที่ตัดงบประมาณสาธารณสุข ลดกฎเกณฑ์ให้ทุนทำงานได้ดี เช่นสหรัฐฯ หรือระบบ NHS ในอังกฤษก็เป็นภาพแทนของความล้มเหลวนี้

New Normal ที่อาจ ไม่ New และไม่ Normal

New normal เหมือนเป็นแบบแผนใหม่ที่กำหนดพฤติกรรมของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาษา ท่าทาง เรือนร่าง เช่น การไอจามนั้นเดิมทีได้รับการอวยพร (bless you) แต่ถ้าเดี๋ยวนี้มีใครมาไอจามใส่หน้าอาจจะได้รับคำอื่น สำหรับคนชายขอบแล้ว new normal อาจเป็น old normal เพราะมาตรการข้อจำกัด การกดปราบ การพรากสิทธิเป็นลักษณะพื้นฐานของชีวิตคนเหล่านี้มานานแล้ว พวกเขาอยู่ในสภาวะฉุกเฉินที่ดำรงอยู่มาถาวร

หรือจริงๆ แล้ว new normal หลายอย่างเป็น new abnormal เช่น ความเหลื่อมล้ำ มีชุมชนที่รังเกียจคนติดโรค หรือการฆ่าตัวตายที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ภาวะซึมเศร้า ความรุนแรงในครอบครัวที่สูงขึ้นหรือวิกฤตอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่น่ากังวลที่สุดที่กระทบต่อการผลิต ถ้าโยงกับเรื่องเพศสภาพก็คิดว่าการผลิตอาหารอาจลุกลามไปสู่การคุกคามผู้หญิง เพราะในหลายประเทศผู้หญิงถูกวางบทบาทเป็นผู้หุงหาอาหาร อนึ่ง ก็ตั้งคำถามว่าการก่อตัวของ new normal ได้ละเลยประเด็นสำคัญอื่นไปไหม เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ฝุ่น pm 2.5 การประท้วงไปจนถึงชนกลุ่มน้อย  ซึ่งตอนนี้โควิด-19 ซ่อนประเด็นเหล่านั้นไว้ 

'เขา-เรา' แบบใหม่ในวิกฤตสุขภาพ

จิตติภัทรกล่าวว่า ในช่วงเวลานี้มีปทัสถานว่าด้วยความเป็นรัฐ และความเป็นสังคมโลกปะทะสังสรรค์กันอยู่ ระดับรัฐต่อรัฐที่เห็นแน่นอนคือมีชาตินิยมทางการค้า เศรษฐกิจ การปิดประเทศ ดึงทรัพยากรเข้ามาไว้ไม่ว่าจะเป็นหน้ากาก เครื่องช่วยหายใจ หรือควบคุมการมีวัคซีน มีพรมแดนแบบใหม่เกิดขึ้นคือพรมแดนการป้องกันเชื้อโรคที่กีดกันคนด้วยกระบวนการทางการแพทย์หรือสาธารณสุข มันไม่ได้อยู่บนพื้นฐานการเหยียดเชื้อชาติแบบเดิมแต่เป็นการมองคนอื่นเป็นเชื้อโรคที่ต้องทำลายล้างด้วยความรุนแรงหรือกีดกันเอาไว้ที่ชายแดน เป็นสิ่งที่เราเห็นทั้งในส่วนในของรัฐและที่พรมแดน

ในระดับรัฐกับคน เราเห็นรัฐใช้นโยบายจำกัดสิทธิมากขึ้นในนามการควบคุมโรค แทบทุกประเทศไม่ค่อยมีความแตกต่าง ประเทศที่มีตัวแบบประชาธิปไตยอาจเปิดพื้นที่ให้แสดงความเห็นและตรวจสอบได้มากหน่อย แต่ตัวแบบอำนาจนิยมนั้นมีเพิ่มขึ้น มีการโยนบาปให้คนบางกลุ่ม ทั้งนี้ก็ยังมีความต่างกันพอสมควรเพราะบางรัฐดำเนินนโยบายแบบผ่อนปรนกับผู้คน เช่นในบราซิล ที่ประธานาธิบดีจาอีร์ โบลโซนาโรเรียกร้องให้คนออกมาจากล็อกดาวน์ หรือการออกมาประท้วงให้ยกเลิกล็อกดาวน์แบบในสหรัฐฯ 

ในระดับคนกับคน ความสัมพันธ์ระหว่างคนตอนนี้เหวี่ยงไปเป็นสองด้าน หนึ่งคือการเหยียดเชื้อชาติ การข่มเหงรังแกคนที่มีเชื้อชาติต่างออกไป ประเด็นนี้เป็นการเมืองอัตลักษณ์ที่แบ่งเรา-เขาที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก อย่างที่เกาหลีและญี่ปุ่นก็มีการเหยียดคนจีนมากขึ้น แต่อีกมิติหนึ่งก็ยังเห็นคนออกมาเล่นดนตรี ร้องเพลงร่วมกัน อวยพรวันเกิดให้คนอื่น เราเห็นความเป็นสังคมพลเมืองโลกนิยม เห็นการเอาใจเขามาใส่ใจเราทั้งที่มีการวางระยะห่างทางสังคม

หัวเลี้ยวหัวต่อการเมืองโลก จีน-สหรัฐฯ และอธิปไตย-สุขภาพสากล

จิตติภัทรชวนคิดเรื่องระเบียบโลกว่า ปัจจุบันไวรัสส่งผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์และการจัดระเบียบโลกใหม่ โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เข้มข้นขึ้น ตอนนี้ไวรัสเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่าน หลายคนคิดว่ามันเร่งให้เกิดภาวะ 2 ขั้วอำนาจในะดับการเมืองโลกหรือเปล่า ทั้งนี้ วิกฤตโควิด-19 ทำให้ความร่วมมือระหว่างสรัฐฯ กับจีนเป็นไปได้ยาก ซึ่งเกมนี้ต้องดูยาวๆ อาจต้องดูเงื่อนไขว่า ถ้าสหรัฐฯ ยังคงไม่เล่นบทบาทผู้นำโลก แล้วถ้าจีนฉวยโอกาสสร้างภาวะผู้นำขึ้นมาผ่านการจัดสรรทรัพยากร ออกไปช่วยเหลือประเทศต่างๆ จนได้รับการยอมรับ ก็น่าสนใจว่าการเปลี่ยนผ่านเป็นการเมือง 2 ขั้วจะเกิดไวขึ้น ทั้งนี้ จะเห็นว่าจีนพยายามเล่นบทบาทการให้ความช่วยเหลือโลกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทูตผ่านการส่งออกเวชภัณฑ์ต่างๆ แต่จีนก็กระชับอิทธิพลตัวเองในทะเลจีนใต้มากขึ้น เช่นประกาศเขตปกครองใหม่ 2 หน่วยเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์และพาราเซลเมื่อ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา และเพิ่มการลาดตระเวนในทะเลจีนใต้มากขึ้น

จิตติภัทรตั้งข้อสังเกตว่า โควิด-19 ทำให้เราเห็นการปะทะกันที่เข้มข้นมากขึ้นของระเบียบโลกอย่างน้อย 2 ชุด ระหว่างเสรีนิยมที่วางอยู่บนเสรีประชาธิปไตยและสิทธินุษยชนที่พยายามก้าวข้ามรัฐชาติ กับระเบียบโลกที่วางบนปทัสถานอำนาจอธิปไตย ระบอบสุขภาพโลกที่ต้องการสร้างปทัสถานอย่างสากลตอนนี้ก็ถูกต้านด้วยอำนาจอธิปไตย 

กติการะหว่างประเทศและโลกาภิวัฒน์ทางการเมืองถูกท้าทายมากขึ้นแน่นอน การพึ่งพากันและการเดินทางถูก ทั้งนี้ โลกาภิวัฒน์แบบดิจิทอลกลับไม่พังทลายไปด้วย แถมยังเป็นปึกแผ่นมากขึ้น กิจกรรมต่างๆ เกิดมากขึ้นบนโลกออนไลน์ ทั้งนี้ คิดว่าโลภาภิวัฒน์ของทุนนิยมคงไม่หายไปไหน ทุนใหญ่ได้รับการอุ้มจากภาครัฐและครองตลาดมากขึ้น เพราะรายย่อยตายไปเยอะ เราอาจจินตนาการจุดจบของโลภาภิวัฒน์ได้ แต่คงไม่ใช่จุดจบของทุนนิยม

ในส่วนของระเบียบโลกด้านสาธารณสุข สุขอนามัย องค์การอนามัยโลก  (WHO ก็คงเหมือนเสือกระดาษ ไม่มีเขี้ยวเล็บในการบังคับใช้ ส่วนหนึ่งที่เป็นอย่างนี้ก็เพาะคิดว่า WHO ดำเนินการช้า และรัฐเองก็ไม่ฟัง อย่างที่รัฐไม่ฟังเรื่องข้อเสนอที่ไม่ให้ปิดประเทศ ยังสะสมกักตุนเวชภัณฑ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่ 2548 WHOมีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวบรวมข้อมูลโรคระบาด ส่งเสริมและให้คำแนะนำชาติสมาชิก และเฝ้าตามดูผลกระทบของสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ มันถูกออกแบบให้มีความข้ามพรมแดนรัฐมากขึ้น แต่รัฐสมาชิกก็พยายามถ่วงด้วยการดึงอำนาจกลับมา นอกจากนั้น การให้รัฐบริจาคเงินสมทบทุนยังอยู่บนฐานของการบริจาคตามสมัครใจ พื้นฐานความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างประเทศทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งๆ ที่มีความชำนาญด้านการแพทย์และสุขอนามัย

จิตติภัทรทิ้งท้ายว่า โควิด-19 อาจตั้งคำถามกับหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นระเบียบโลก ความสัมพันธ์ หรือ new normal แต่ก็ทำให้นักรัฐศาสตร์และคนทั่วไปตั้งคำถามและคิดกับคำถามเบื้องต้นที่มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ที่ว่าชีวิตที่ดีคืออะไร ซึ่งอาจหมายถึงชีวิตที่ไม่มีโรคในสังคมการเมือง ยังมีการเชื่อมโยงของผู้คนบนฐานความเท่าเทียม ความไว้เนื้อเชื่อใจและความรับผิดชอบทางสังคมร่วมกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การออกแบบอะไรบางอย่างในระดับชาติและระดับโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net