Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงาน สั่งเจ้าหน้าที่เร่งติดตามนายจ้างทั่วประเทศ รับรองการหยุดงานของลูกจ้าง

นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงานประกันสังคม ได้เร่งดำเนินงานจ่ายสิทธิประโยชน์ กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งมีผู้ประกันตนได้ยื่นขอรับสิทธิเป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดนายจ้างรับรองการหยุดงานดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิล่าช้า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ กว่า 190 แห่ง เป็นสถานประกอบการขนาดเล็กกว่า 50,000 แห่ง ซึ่งขณะนี้ มรว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานของกระทรวงแรงงานในทุกพื้นที่ ทั่วประเทศเร่งติดตามนายจ้างดังกล่าวให้เร่งยื่นรับรองการหยุดงานของลูกจ้าง

ทั้งนี้ ในการรับรองการหยุดงานนั้น สำนักงานประกันสังคมได้อำนวยความสะดวกเพิ่มช่องทางการให้บริการแก่นายจ้างเพื่อรับรองการหยุดงาน ของลูกจ้างอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยเฉพาะ โดยยื่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตหรือ e-Service ซึ่งขอแนะนำให้นายจ้างทำการสมัครหรือลงทะเบียนเพียงกรอกข้อมูลนายจ้างบนหน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th เพื่อขอทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต หลังจากนั้นสำนักงานประกันสังคมจะส่งแบบ สปส.1-05 ไปทาง e-mail ของนายจ้างเพื่อให้กรอกข้อมูล จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการอนุมัติ USER PASSWORD แล้วแจ้งให้นายจ้างทราบทาง e-mail ของนายจ้างโดยอัตโนมัติ (เฉพาะในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 นายจ้างสามารถเข้าใช้บริการได้ทันที โดยที่นายจ้างสามารถยื่นแบบ สปส.1-05 ต่อสำนักงานประกันสังคมในภายหลัง

เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็วแก่นายจ้างในการบันทึกหนังสือรับรองการหยุดงานของลูกจ้างอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย) เพื่อสำนักงานประกันสังคมได้เร่งรัดการดำเนินการเพื่อให้สิทธิประโยชน์ถึงมือผู้ประกันตนโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ เมื่อผ่านสถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 ไปแล้ว นายจ้างสามารถใช้ USER PASSWORD ดังกล่าว แจ้งข้อมูลต่าง ๆ กับสำนักงานประกันสังคม

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 2/5/2563 

'สภานายจ้าง' เผยแรงงานอายุ 40 ปีขึ้นไป เสี่ยงตกงานสูง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า วิกฤติโควิต-19 ก่อให้เกิดปัญหาด้านแรงงานที่รุนแรงกว่าปี 2540 และรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยภาคเอกชนประเมินว่าอาจมีคนตกงานถึง 9.21 ล้านคน จากแรงงานไทยที่มีทั้งหมด 38 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบประกันสังคม 11 ล้านคน และแรงงานนอกระบบรวมทั้งการเกษตร 27 ล้านคน ซึ่งตัวเลขล่าสุดจากผลกระทบโควิด-19 แรงงานในระบบประกันสังคมยื่นขอรับเงินชดเชยว่างงานกรณีเหตุสุดวิสัยสูงถึง 1.5 ล้านคน

“ที่ผ่านมาแรงงานในระบบประกันสังคมหากมียอดคนตกงานปีละ 7-8 หมื่นคนถือว่าเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ปีนี้คาดว่าจะมีถึง 1.5 ล้านคน จึงเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้วิกฤติต้มยำกุ้งก็มีตกงานน้อยกว่านี้มาก”

ทั้งนี้ หากการระบาดของโรคโควิด-19 ยาวถึงเดือน มิ.ย.นี้ ยอดคนตกงานจะรุกลามถึงแรงงานภาคอุตสาหกรรมที่มี 6 ล้านคน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์จะได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะเกือบทุกค่ายรถยนต์หยุดการผลิต ทำให้กระทบเป็นลูกโซ่ไปยังโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์นับพันโรงงานมีแรงงานรวมกว่า 7.5 แสนคน อาจจะให้อุตสาหกรรมนี้มีคนตกงาน 2-3 แสนคน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม จะตกงานอีกหลายแสนคน

รวมทั้งการที่ภาครัฐเริ่มคลี่คลายมาตรการล็อกดาวน์ และสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศลดลง และถ้าไม่เกิดการระบาดรอบ 2 ในสิ้นปีนี้ อาจดูดซับแรงงานที่ตกงานกลับเข้าทำงานได้อยากมากไม่เกิน 50% และในช่วงไตรมาส 1 อาจจะดูดซับแรงงานได้เกือบหมด

ทั้งนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ช้าเพราะต่างประเทศยังระบาดรุนแรง จึงหวังพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติได้ยาก และการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาปีหน้า เพราะไทยยังเป็นประเทศปลอดภัยจากโรคระบาด แต่ปีนี้จะมีเพียงคนไทยที่ออกท่องเที่ยวภายหลังล็อกดาวน์อยู่บ้าง ทำให้ธุรกิจนี้ดูดซับแรงงานที่ตกงานกลับได้ช้า

“หากผ่อนคลายเปิดศูนย์การค้าได้จะช่วยผู้ค้าปลีกและร้านอาหารในห้างได้มาก ทำให้ดูดซับแรงงานที่ตกงานได้ และหากทยอยเปิดร้าน เช่น ร้านตัดผมที่มีแรงงาน 3.6 แสนคน ร้านอาหาร 2-3 แสนคน บวกกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลให้เงินรายละ 5 พันบาทจะมีเงินกว่า 4 แสนล้านบาทมากระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มมูลค่าหลายเท่า และกลับมาจ้างงานมากขึ้น”

นายธนิต กล่าวว่า ภายหลังโควิด-19 คลี่คลาย โรงงานที่ลดแรงงานจะนำเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนแรงงานคน จะทำให้การดิสรับชั่นนำระบบดิจิทัล หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาใช้ในธุรกิจรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ อุตสาหกรรมรถยนต์จะเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าเร็วขึ้น โดยโลกหลังโควิด-19 ทุกอย่างเปลี่ยนหมด แรงงานต้องพัฒนาทักษะใหม่ เพราะรูปแบบของงานเปลี่ยนไป เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนคนมากขึ้น ทำให้แรงงานต้องแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อให้มีงานทำและมีรายได้ที่ดี

สำหรับแรงงานที่เสี่ยงสูงสุด คือ แรงงานที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จะต้องเร่งปรับตัว เพิ่มทักษะ ความสามารถเพิ่มขึ้นเพื่อทำงานได้อย่างหลากหลายและก้าวทันเทคโนโลยี รวมทั้งทำงานร่วมกันเทคโนโลยีใหม่ได้ เพราะแรงงานกลุ่มนี้อยู่มานานจนมีเงินเดือนสูง แต่ประสิทธิภาพการทำงานให้บริษัทลดลง เนื่องจากก้าวไม่ทันเทคโนโลยีใหม่

ในขณะที่ผู้จบใหม่ใช้เทคโนโลยีได้และมีไฟทำงาน และมีเงินเดือนต่ำกว่าจึงมีโอกาสมาทดแทนแรงงานรุ่นเก่าได้มาก แต่ปัญหาของไทยขณะนี้ คือ แรงงานไม่ปรับตัว และมักจะใช้กฎหมายแรงงานมาคุ้มครอง

“แรงงานที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ต้องเร่งศึกษาความรู้ หาความถนัดด้านวิชาชีพใหม่ๆ ต่อยอดความสามารถทำงานได้หลายแบบ เสริมทักษะการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยี จะช่วยให้อยู่รอดในยุคหลังโควิด-19 ได้ ซึ่งจะทำให้แข่งขันกันจ้างงานมากขึ้นและจะหมดยุคค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าแรงงานจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับทักษะวิชาชีพและความสามารถในการปรับตัว”

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 1/5/2563

ร้องแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคมนำเงินชราภาพออกมาใช้ดำรงชีพก่อน

1 พ.ค. 2563 นสพ.บูรณ์ อารยพล และกลุ่มผู้ใช้แรงงานและผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม 15 คน รวมตัวที่กระทรวงแรงงาน ขอยื่นจดหมายเปิดผนึกให้ รมว.แรงงาน พิจารณาแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม หมวดเงินทดแทนในกรณีชราภาพ เพื่อให้นำเงินสมทบ สำหรับผู้ที่ส่งตามกฎหมาย ออกมาใช้ในการดำรงชีพในภาวะวิกฤตร้อยละ 30-50

ตัวแทนกลุ่มดังกล่าวระบุว่า ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีพ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ซึ่งผู้ใช้แรงงานกลุ่มนี้ ได้ส่งเงินสมทบประกันสังคมตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ระยะเวลาที่ส่งของแต่ละคนต่างกัน และกลุ่มนี้มีทั้งผู้ที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทแล้ว แต่บางคนบอกว่ายังลงทะเบียนไม่ได้

ข้อเรียกร้องตามจดหมายเปิดผนึกระบุว่า 1.ให้ท่านพิจารณาให้ผู้ประกันสามารถนำเงินจากเงินออมกองทุนชราภาพมาใช้ได้ก่อนในกาวะวิกฤตินี้ระหว่าง 30-50% ตามแต่ท่านจะพิจารณา ในข้อนี้ขอให้ท่านพิจารณาโดยทันที 2.ให้ท่านพิจารณาแก้ไขเนื้อหาในมาตรา 7 ทวิ ว่าด้วยกองทุนชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกได้ระหว่างจะรับเป็นบำเหน็จหรือบำนาญ ไม่ว่าผู้ประกันตนจะส่งสมทบมากี่งวดด้วยผู้ประกันตนเอง และสามารถนำเงินจากกองทุนนี้มาใช้ได้ก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

3.ให้ท่านกำกับดูแลให้หน่วยงานที่ท่านกำกับดูแลทำงานตัวยความรวดเร็วฉับไวกว่าที่เป็นอยู่ เพราะความเดือดร้อนความหิวรอไม่ได้ 4.ให้หามาตราการช่วยเหลือเหลือผู้ประกันตนหลังจากครบกำหนด 90 วัน ในมาตราการช่วยเหลือในกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย เพราะกลุ่มผู้ใช้แรงงานและผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเชื่อว่าภายในระยะเวลาหลังจาก 90 วัน ผู้ประกันตนยังไม่สามารถพลิกพื้นจากวิกฤติได้

ที่มา: Thai PBS, 1/5/2563

วันแรงงาน คสรท. และสรส.แถลงข้อเรียกร้องใหม่ และทวงถามข้อเรียกร้องเก่า

1 พ.ค. 2563 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้แถลงข้อเรียกร้อง วันกรรมกรสากล 2020 ที่ ศูนย์ฝึกอบรมเพื่อคนทำงาน บางเกลือ ฉะเชิงเทรา

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้แถลงว่า วันกรรมกรสากลในปี 2020 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ร่วมกับ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ได้จัดกิจกรรมเพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์ “วันกรรมกรสากล” ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้นเช่นทุกปี โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ภาวะการกดขี่ขูดรีดที่รุนแรงหนักหน่วง สลับซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม ภายใต้กลไกและการทำงานของระบบเศรษฐกิจทุนเสรีนิยมใหม่ในยุคสมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4(4.0) ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งจะมีการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินชีวิตของคนทั้งภาคการผลิต การบริการ การสื่อสาร การเกษตร และอื่นๆ ซึ่งก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ แม้จะมีส่วนที่ดีในแง่ของความรวดเร็ว สะดวก สบาย แต่ก็จะเกิดผลกระทบในวงกว้างอย่างรุนแรงเช่นกัน ทั้งการตกงาน ว่างงาน ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การผูกขาด การเข้าถึงเทคโนโลยีของธุรกิจและภาคการผลิตรายย่อย ความมั่งคั่งจะตกอยู่ในอาณาจักรของคนไม่กี่คน และนั่นหมายถึงการแย่งชิงและความรุนแรงจะตามมา ประเทศไทยเองแม้จะเขย่งขาก้าวสู่เวทีแข่งขันกับนานาชาติภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” แต่ก็หามีกรอบการทำงานและนโยบายเชิงรุกและรับในผลกระทบที่ชัดเจน และประเทศไทยก็ไม่ใช่ผู้ผลิต ผู้คิดค้นเทคโนโลยี ทุกสิ่งล้วนแต่ต้องพึ่งพา จึงยังไม่รู้ว่าจะนำพาประเทศชาติ ประชาชน ไป ณ หนใด

สถานการณ์ร้อนแรงที่ส่งผลกระทบอย่างมหันต์ต่อคนทำงานและมวลมนุษยชาติที่เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2019 คือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือที่เรียกว่า โควิด 19 ซึ่งจนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อกว่า 3 ล้านคนและเสียชีวิตกว่า 2 ราย และยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงโดยง่าย ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศต่างวางมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น และได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมแต่ละประเทศทั่วทั้งโลก การล้มละลาย การปิดกิจการ เกิดภาวการณ์เลิกจ้าง ตกงาน ว่างงานมหาศาลเป็นสถิติที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนของระบบเศรษฐกิจโลก จำนวนไม่น้อยที่ตกงาน ว่างงาน ไม่มีเงินที่ซื้ออาหารประทังชีวิตยอมจบชีวิตตนเองด้วยการฆ่าตัวตายและปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มมากขึ้น

ประเทศไทยแม้ว่ารัฐบาลจะงัดมาตรการต่างๆในการเยียวยาช่วยเหลือด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องที่รัฐจะต้องทำหน้าที่ต่อพลเมือง ต่อประชาชนให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี ทั้งการป้องกัน การรักษาและการเยียวยาช่วยเหลือ แต่ก็ยังพบว่ามีปัญหาการเข้าถึงและความล่าช้า และมีคนงานบางกลุ่มที่ตกสำรวจและไม่ได้รับการช่วยเหลือ เช่นแรงงานนอกระบบ แม้กระทั่งแรงงานที่มีนายจ้างชัดเจนแต่การหยุดกิจการเป็นการชั่วคราว ยังพบว่าบางแห่งนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน บางแห่งบังคับให้คนงานลงชื่อเพื่อลาออกจากงาน และยิ่งเมื่อรัฐบาลประกาศให้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 เป็นภัยพิบัติของประเทศเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้แม้เป็นเจตนาที่ดีเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างและผู้ประกอบการแต่ก็มีสถานประกอบการจำนวนไม่น้อยที่อ้างสถานการณ์ทั้งที่ไม่เดือดร้อน ไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรง ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้แก่คนงานโดยให้ไปรับมาตรการช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคมแทน ลูกจ้างของรัฐในกระทรวงสาธารณสุข เกือบ 1.5 แสนคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพราะเป็นกลุ่มแรกที่เข้าถึงและสัมผัสผู้ป่วย แต่การจ้างงานยังเป็นแบบชั่วคราว จ้างรายวัน เหมางาน ค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ สวัสดิการแทบไม่มี แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลจะประกาศบรรจุพยาบาลกว่า 4.5 หมื่นคนซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีและละชื่นชมที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้มีหลักประกันในชีวิต แต่สำหรับลูกจ้างเหล่านี้ยังรอคอยความหวัง และที่เลวร้ายกว่านั้นคือพี่น้องแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่นายจ้างประสบปัญหา ปิดกิจการ เป็นเหตุให้ตกงาน หางานใหม่ไม่ได้ กลับประเทศตนเองก็ไม่ได้จากมาตรการปิดประเทศ ไม่มีเงินไม่มีรายได้ แม้บางคนอยู่ในระบบประกันสงคมแต่ส่งเงินสมทบไม่ครบตามเกณฑ์ก็ไม่สามารถรับสิทธิใดๆได้ และไม่สามารถรับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐไทยเพราะเป็นประชากรข้ามชาติ ส่งผลให้ไม่มีเงินซื้ออาหารประทังชีวิตอยู่ในภาวะที่อดอยากอย่างมาก

อย่างไรก็ตามภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลายวิเคราะห์ว่ามีคนงานจำนวนมากที่ไม่สามารถกลับเข้าสู่ตำแหน่งงานเดิมได้ และตำแหน่งงานใหม่ก็จะมีน้อยลงจากการพัฒนาการของเทคโนโลยี่ ระบบ Automation ระบบ AI รวมทั้งสงครามการค้า ซึ่งก่อตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งนั่นเท่ากับว่าภาวะความทุกข์ยากของคนงานและคนที่กำลังเข้าสู่การทำงานจะยิ่งลำบากมากยิ่งขึ้น

กิจกรรมวันกรรมกรสากลในปีนี้ 2020 คสรท.และ สรส.ตระหนักถึงอันตรายของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 จึงได้แถลงต่อสาธารณะเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดยงดกิจกรรมชุมนุมคนงานเหมือเช่นทุกปีที่ผ่านมาแตะจะปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อย่างไรก็ตามจากปัญหาความเดือดร้อน ความทุกข์ยากที่สะสมมาก่อนหน้านี้และปัญหาภัยพิบัติเฉพาะหน้าจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด 19 คสรท.และ สรส.มีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังเช่นทุกปี และยังคงชูคำขวัญเช่นทุกปีที่ยังคงเหมาะสมกับยุคสมัย เข้ากับสถานการณ์ประเทศไทย คือ

“สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน”

ข้อเสนอวันกรรมกรสากล 2020

ข้อเสนอเร่งด่วนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โควิด 19

1.กรณีการเข้าโครงการสมัครใจลาออกในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ได้รับสิทธิ์กรณีว่างงานเท่ากับกรณีการเลิกจ้าง
2. กรณีนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างออกจากงานทุกกรณี ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีรายได้ในช่วงระบาดของไวรัสโควิด -19
3. ให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน ม.33 คนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน กรณีได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19
4.กรณีที่นายจ้างใช้มาตรา 75 ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะต้องไม่นำเอาสวัสดิการตัวเงินอื่นๆมาคำนวณในการหักเงินลูกจ้าง ในช่วงที่นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงาน
5.ขอให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษในลักษณะไตรภาคีเพื่อตรวจสอบสถานประกอบการต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด และมาตรการต่างๆที่ส่งผลกระทบและการช่วยเหลือคนงาน
6.ขอให้รัฐบาลชะลอโครงการต่างๆของรัฐบาลที่ยังไม่สำคัญเร่งด่วนและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันออกไปก่อนเพื่อนำเงินงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชนและคนทำงาน
7.ให้บรรจุลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขสายงานต่างๆเป็นข้าราชการเหมือนพยาบาลที่รัฐบาลประกาศก่อนหน้านี้
8.ให้แรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบได้รับการผ่อนปรนช่วยเหลือจากประกันสังคมแม้ว่ายังส่งเงินสมทบไม่ครบตารมระยะเวลาที่กำหนดเพื่อช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม และให้ กระทรวงแรงงานโดยกรมจัดหางานยืดหยุ่นการเปลี่ยนนายจ้างตามมาตรา 51,52 และ 53 ของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และให้นำเงินจากกองทุนเพื่อการบริหารแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบการเลิกจ้าง การขาดรายได้ ให้สามารถประทังชีวิตอยู่ได้ในช่วงวิกฤต
9.รัฐบาลต้องควบคุมและลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชน และควรเน้นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนฐานรากตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใช้วิกฤตของประเทศเพื่อการแสวงหาความมั่งคั่ง รวมถึงการหาแนวทางปรับลดหรืองดเว้นค่าบริการสาธารณะต่างๆ ตามแต่ประเภทการให้บริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจในช่วงวิกฤตให้ครอบคลุมประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าทียมและเป็นธรรม
10.ให้กระทรวงแรงงาน ประกาศยกเว้นข้อปฏิบัติกิจกรรมของสหภาพแรงงานในกรณีไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 เช่นเรื่องของการประชุมใหญ่ฯ

ข้อเสนอทั่วไปที่เสนอในปีที่ผ่านมาแต่รัฐยังไม่ดำเนินการ

1.รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการจัดให้มีรัฐสวัสดิการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้านการสาธารณะสุขและการศึกษาให้กับประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างมีคุณภาพและเท่าทียม ไม่ผลักภาระด้านการบริการดังกล่าวให้ตกเป็นภาระกับประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม
2. รัฐบาลต้องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพพื้นฐานให้สอดรับกับมาตรฐานฐานสากล ด้วยการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรอง ซึ่งอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ อยู่ในกลุ่มอนุสัญญาหลัก (ILO Core Conventions) จำนวน 8 ฉบับ ที่มีเนื้อหาให้การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานที่คนทำงานทุกคนควรได้รับ รวมถึงการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ว่ากรณี คนงานรถไฟ การบินไทย หรือกรณีอื่นๆ จนส่งผลให้สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าจากประเทศไทย
3.รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับรัฐวิสาหกิจเพื่อใช้เป็นกลไกของรัฐในการจัดแจงแบ่งปันบริการสาธารณะของประเทศอย่างเป็นธรรม และต้องไม่กระทำการใดๆ ที่ทำให้มีเกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะการให้บริการสาธารณะด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ จะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 (ร้อยละห้าสิบเอ็ด) ไม่ได้
4.ขอให้รัฐบาลยุติการลงนามเข้าเป็นสมาชิกในข้อตกลงความเข้าใจและความคืบหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) เพราะจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายด้านการเกษตร ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้เพาะปลูกได้ และจะต้องซื้อผ่านบริษัทด้านอุตสาหกรรมเกษตรเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรในภาวะเศรษฐกิจ และราคาพืชผลที่ตกต่ำ อีกทั้งจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้มากขึ้นไปอีก และส่งผลกระทบด้านยา ทำให้การผลิตยา Generic กระทำได้ยากขึ้น การประกาศใช้CL ทำได้ยากขึ้น อุตสาหกรรมยาในประเทศจะแข่งขันสู่ยานำเข้าไม่ได้ และที่สำคัญ ข้อตกลงนี้เป็นอุปสรรคของรัฐ ทำให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจไม่สามารถดำเนินภารกิจเชิงสังคมในการรองรับนโยบายด้านยาเวชภัณฑ์ และวัคซีน ที่จำเป็นต่อระบบสาธารณสุขของประเทศเช่น ในการเกิดระบาดของไวรัส COVID-19 ในขณะนี้
5. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและต้องเท่ากันทั้งประเทศ และต้องกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี
6. ให้รัฐบาลดำเนินการปฏิรูประบบประกันสังคมอย่างจริงจัง โดยการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน ให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตน มาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา 33 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ชราภาพ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนสุดท้าย
7.ขอให้ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทนจนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์
8. รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)
9. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
10. รัฐต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในการทำงานและจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งบุคลากรให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพ
พี่น้องกรรมกรที่รักทั้งหลาย รวมทั้งความสำเร็จทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพลังของพวกเราในวันนี้ และวันนี้เช่นกัน ระบบเศรษฐกิจทุนเสรีนิยมใหม่ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก กลไกของมัน และรัฐบาลแต่ละประเทศที่คลั่งไคล้ หลงใหล สมคบคิดกับระบบเศรษฐกิจเช่นที่ว่านี้ ปล่อยให้กลไกของมัน บดขยี้ ขูดรีดพี่น้องคนงานทั้งอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้นอำพราง จนพี่น้องคนงานต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าในอดีตหลายเท่าทวีคูณ ดังนั้นพี่น้องกรรมกร คนงานและขบวนการแรงงานทั้งหลายต้องเร่งศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจให้ต่อสถานการณ์ให้ถ่องแท้แจ่มชัดและต้องเร่งขยายการจัดตั้งให้กว้างขวาง พร้อมๆกับการสร้างแนวร่วมและขบวนการทางสังคม สามัคคีกับประชาชนเพื่อสร้างโอกาส แสวงหาแนวทางเพื่อบรรลุถึงความต้องการ คือ ความกินดี อยู่ดี มีความมั่นคง ปลอดภัยในการทำงาน และการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตามแม้เราจะสามัคคีกับใครส่วนไหนก็ตามแต่ตราบที่ภายในเราอ่อนแอ แตกความสามัคคี ก็เป็นเรื่องยากหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลยที่ความต้องการจะถึงฝั่งฝันบรรลุสู่เป้าหมายได้ดั่งคำที่ว่า “ภายนอกเป็นเงื่อนไข ภายในชี้ขาด” ความสัมพันธ์ภายในภายนอกจึงต้องจัดวางอย่างเหมาะสม ต้องลงมือปฏิบัติอย่าง ซื่อสัตย์ ยืนหยัด สอดคล้องและเป็นจริง ความสำเร็จจึงจะเกิดขึ้นได้

ที่มา: ว๊อยซ์เลเบอร์, 1/5/2563 

‘ออมสิน’ รับสมัครลูกจ้าง 1.2 พันอัตรา รับเงินเดือน 1.5 หมื่น 3 เดือน

1 พ.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพซบุ๊ก GSB Recruitment โพสต์ข้อความระบุว่า ธนาคารออมสิน เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้าเป็นลูกจ้างโครงการเพื่อปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐ ปฏิบัติงานตามสาขาทั่วประเทศ จำนวน 1,200 อัตรา มีระยะเวลาการจ้างงาน 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2563 ถึงวันที่ 31 ก.ค. 2563 อัตราค่าจ้าง 15,000 บาท

สำหรับหน้าที่ความรับผิดชอบ มีดังนี้

1.รับลงทะเบียนตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2563

2.ปฏิบัติงานตามมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม

3.ปฏิบัติงานในการสนับสนุนการตรวจสอบผู้ขอทบทวนสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือ “เราไม่ทิ้งกัน” 5,000 บาท แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19)

4.ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามนโยบายรัฐ

คุณสมบัติผู้สมัคร

1.สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ทุกสาขาวิชา

2.อายุไม่เกิน 45 ปีบริบูรณ์

3.มีทักษะการสื่อสาร และการใช้คอมพิวเตอร์

4.สามารถปฏิบัติงานในพื้นที่ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ปัจจุบันได้

ผู้ที่สนใจร่วมงานกับธนาคารออมสินในตำแหน่งดังกล่าว สามารถติดต่อในวันและเวลาทำการ ได้ที่ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล ส่วนสรรหาทรัพยากรบุคคล โทร 0-2299-8000 ต่อ 030211-2, 030221 หรือติดต่อได้ที่ธนาคารออมสินภาคทั่วประเทศ

ที่มา: ข่าวสด, 1/5/2563 

กรมการพัฒนาชุมชน เปิดรับสมัครนักการตลาดรุ่นใหม่ 237 อัตราสู้ภัย COVID-19 หนุนตลาดออนไลน์ ไลฟ์สดผ่านเฟสบุ๊ค OTOPTODAY

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลกอย่างรวดเร็ว กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาคการเกษตร ภาคธุรกิจและแรงงานที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง ตลอดทั้งกระทบไปยังผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ชุมชนท่องเที่ยว และประชาชนในระดับฐานรากเดือดร้อนอย่างทั่วหน้า ดังนั้นเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ OTOP และชุมชนท่องเที่ยวมีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น กรมฯจึงได้จัดกิจกรรมไลฟ์สด (Live สด) ผ่านเฟสบุ๊ค OTOPTODAY ซึ่งดำเนินการ 2 ระดับ คือ ในส่วนกลาง กรมการพัฒนาชุมชน ที่ได้ร่วมกับโอทอปเทรดเดอร์ จัดกิจกรรม Live สด ทุกวัน เวลา 12.00 – 13.30 น. สามารถติดตามชมได้ที่ https://www.facebook.com/OTOPTODAYTHAILAND/ และในระดับพื้นที่ ได้สนับสนุนให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดทุกจังหวัดจัดกิจกรรม Live สดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การตลาดออนไลน์สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น กรมฯจึงสร้างและพัฒนานักการตลาดรุ่นใหม่ (OTOP) ในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP และชุมชนท่องเที่ยวให้มีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น และสร้างให้เกิดการจ้างงานเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนา OTOP และชุมชนท่องเที่ยว โดยการเปิดรับสมัคร “นักการตลาดรุ่นใหม่ (OTOP)” จำนวน 237 คน แบ่งตามระดับขนาดของจังหวัด 3 ขนาด ดังนี้ 1.จังหวัดที่มีไม่เกิน 8 อำเภอ จำนวน 30 จังหวัด อัตราจ้างจังหวัดละ 2 คน รวม 60 คน 2.จังหวัดที่มี 9 - 15 อำเภอ จำนวน 29 จังหวัด อัตราจ้างจังหวัดละ 3 คน รวม 87 คน 3.จังหวัดที่มี 16 อำเภอขึ้นไป จำนวน 17 จังหวัด อัตราจ้างจังหวัดละ 5 คน รวม 85 คน และในส่วนของกรมการพัฒนาชุมชน (ส่วนกลาง) อัตราจ้างจำนวน 5 คน มีระยะเวลาดำเนินการจ้าง ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม – 30 กันยายน 2563 (4 เดือน 20 วัน) อัตราจ้างเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งการเปิดรับสมัครและว่าจ้างทำงานทั้ง 237 อัตราดังกล่าวนอกจากเป็นการสร้างนักการตลาดรุ่นใหม่แล้ว ที่สำคัญยังเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง หรือว่างงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชน และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ได้ประสานขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา ในการช่วยพิจารณาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ทางด้านการตลาดออนไลน์ รวมถึงการทดสอบทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อการตลาดออนไลน์

“ผมเชื่อมั่นว่า พลังของคนรุ่นใหม่ จะจุดประกายให้ชุมชนได้พบโอกาสในการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายที่ทันสมัยตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง อย่างเช่นคุณอุ๋งอิ๋ง-ธัญญ์นภัส กิ่งสุวรรณ สาวอำนาจเจริญ เจ้าของ Thorr แบรนด์ของตกแต่งบ้านร่วมสมัย สินค้าแฟชั่น ที่หยิบจับปัญหาของหัตถกรรมไทยที่เธอเห็นจนชินตาอย่าง “เสื่อกก” มาเติมแต่งให้โดนใจคนรุ่นใหม่ สร้างมูลค่า สร้างความภูมิใจกับต้นทุนชีวิต ที่มีทั้งมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษ สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับชุมชนคนอิสานได้ ซึ่งหากท่านใดสนใจที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ผลิตภัณฑ์ชุมชน ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากไปด้วยกัน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดทุกจังหวัดครับ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: บ้านเมือง, 1/5/2563

แจงกรณี รปภ.ศูนย์ราชการฯ 234 คน รวมตัวในศูนย์ราชการฯ รอลงทะเบียนรับเงินสะสม หลังหมดสัญญาจ้าง ไม่ใช่การประท้วงเพราะเลิกจ้าง ยืนยันจ่ายเงินชดเชยและเงินสะสมครบภายใน 1 มิ.ย.นี้

จากกรณีกลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัย ภายในศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ จำนวน 234 คน นัดรวมตัวกันที่ บริเวณลานอเนกประสงค์ชั้น 2 อาคาร B เรียกร้องขอความชัดเจนเรื่องเงินสะสม เงินชดเชย และค่าแรงที่ยังไม่จ่ายกับพนักงาน

วันนี้ (1 พ.ค.2563) อรปภา อาภาวัชรนนท์ ผู้บริหารบริษัทรักษาความปลอดภัย RGH ระบุว่า การที่พนักงาน 234 คน มารวมตัววันนี้ไม่ได้เป็นการประท้วง แต่ทางบริษัทเรียกให้มาลงทะเบียน เพื่อชี้แจงเรื่องเงินสะสม เงินชดเชย และค่าแรงที่ยังไม่จ่ายกับพนักงาน คนละประมาณ 20,000 บาท รวมทั้งหมดกว่า 5,000,000 บาท หลังหมดสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จะทยอยจ่ายให้ครบทั้งหมดตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 1 มิ.ย.นี้ งวดสุดท้าย ตลอดการทำธุรกิจที่ผ่านบริษัทไม่เคยมีประวัติค้างจ่ายค่าเแรง โดยหลังหมดสัญญาจ้าง พนักงาน 234 คน ก็มีพนักงาน 30% เลือกที่จะกลับภูมิลำเนาไป ส่วนอีก 70% ไปสมัครงานกับบริษัทใหม่ที่มาประมูลได้ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการเลิกจ้าง แต่เป็นการหมดสัญญาจ้าง

นายวีระ คำมี อายุ 52 ปี พนักงานรักษาความปลอดภัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ทำสัญญากับบริษัทใหม่แล้ว เพราะตัดสินใจไม่กลับบ้าน เนื่องจากไม่อยากหางานใหม่ในช่วงสภาพเศรษฐกิจที่หางานยากเช่นนี้

“วันนี้มาลงทะเบียนรับเงินในส่วนที่เหลือ โดยนายจ้างรับปากว่าจะจ่ายเงินงวดสุดท้ายให้ทั้งหมดในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ จึงรู้สึกสบายใจ”

ที่มา: Thai PBS, 1/5/2563 

สแกนแรงงานข้ามชาติสกัด COVID-19 กทม. ไล่เช็ก 392 แคมป์ทั่วกรุง

นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่าจากการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 กทม. วันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมอบหมายสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จัดส่งรายชื่อกลุ่มเสี่ยงที่ทำงานในกลุ่มก่อสร้างเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด โดยขอความร่วมมือสำรวจแคมป์ก่อสร้าง สถานที่ตั้ง จำนวนผู้พักอาศัยภายในแคมป์ รวมทั้งรายชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ผู้ประสานงานของแคมป์ ส่งสำนักอนามัยภายใน 28 เม.ย. 2563

จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นที่แต่ละเขตรวบรวมให้ มีโครงการก่อสร้างทั้งของรัฐและเอกชนจำนวน 392 แคมป์ มีแรงงานก่อสร้างไทยและต่างชาติ 60,866 คน แยกเป็น ต่างชาติที่จดทะเบียนถูกกฎหมาย 34,886 คน แรงงานไทย 25,980 คน

จำนวนมากที่สุดอยู่ในพื้นที่โซนกลุ่มกรุงเทพฯใต้ ได้แก่ เขตปทุมวัน บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย วัฒนา พระโขนง สวนหลวง และบางนา 57 แคมป์ มีแรงงานไทยและต่างชาติ 16,304 คน

โซนกรุงเทพฯกลาง ได้แก่ เขตพระนคร ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ดินแดง ห้วยขวาง พญาไท ราชเทวี และวังทองหลาง 72 แคมป์ 16,590 คน

โซนเหนือ ได้แก่ เขตจตุจักร บางซื่อ ลาดพร้าว หลักสี่ ดอนเมือง สายไหม และบางเขน 65 แคมป์ มีแรงงานไทยและต่างชาติ 11,474 คน

สำหรับมาตรการที่ใช้ดูแลแรงงานต่างด้าวได้นำ 10 มาตรการที่ใช้ดูแลแรงงานไทยมาใช้กับแรงงานต่างด้าวด้วย คือ 1) ชะลอการอนุมัตินำเข้าแรงงานต่างด้าว 2) ผ่อนปรนแรงงานต่างด้าวให้อยู่ในราชอาณาจักรจนถึง 30 พ.ย.นี้ 3) ให้ความรู้ความเข้าใจกับแรงงานในการป้องกันโควิด โดยนำร่องที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวกว่า 200,000 คน นครปฐม 80,000 คน และเตรียมกระจายไปจังหวัดอื่น ๆ 4) ตรวจสอบสถานประกอบการให้สามารถทำงานได้โดยไม่ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

5) แจ้งมาตรการให้ผู้ประกอบการคัดกรองลูกจ้างแรงงานต่างด้าว และเฝ้าระวังโควิด 6) ตรวจสอบคัดกรองและเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์ควบคุมการเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) 7.ร่วมมือกับสถานประกอบการให้ความรู้และปฏิบัติตนตามการแนะนำของกองควบคุมโรค 8) ให้บริการทางการแพทย์กับผู้ประกันตนที่ป่วยโควิด-19 9) ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน 10) ลดหย่อนอัตราเงินสมทบและขยายกำหนดเวลายื่นแบบอัตราเงินสมทบ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 1/5/2563 

กรมชลฯ เปิดรับสมัครแรงงาน 6 หมื่นคน เงินเดือน 8,000 บาท ช่วยเกษตรกรสู้ภัยแล้งและโควิด-19

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโควิด-19 ตามที่รัฐบาลอนุมัติงบ 4,497.59 ล้านบาท สำหรับการจ้างแรงงาน 88,838 คน โดยเปิดรับสมัครทั่วประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้จ้างแรงงานแล้ว 28,623 คน คิดเป็น 32% ของแผน

ซึ่งขณะนี้ กรมชลประทานยังสามารถจ้างแรงงานได้อีก 60,000 คน โดยปรับหลักเกณฑ์ให้สามารถจ้างประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 จากเดิมที่ต้องเป็นเกษตรกรและสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่โครงการชลประทานที่ว่าจ้าง โดยตำแหน่งแรงงานชลประทานที่เปิดรับสมัคร มีหน้าที่ซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำ ระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำและโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ เป็นต้น โดยได้รับค่าจ้างวันละ 377.85 บาท หรือประมาณเดือนละ 8,000 บาท ระยะเวลาการจ้างงาน 3-7 เดือน รวมรายได้ตลอดการจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-56,000 บาทต่อคน ขึ้นอยู่กับลักษณะงานและระยะเวลา

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 30 เม.ย. 2563

สช.สั่งเยียวยาครูและบุคลากรของโรงเรียนเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19

เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2563 นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ร่วมประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการขอรับเงินทดแทนในส่วนของลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม มีนายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน

นายอรรพล กล่าวว่า ครูหรือลูกจ้างโรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และถูกสั่งปิดโรงเรียนเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถทำงานได้และโรงเรียนงดจ่ายเงินเดือนค่าจ้าง ขณะนี้มีครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ ประมาณ 200,000 คน โดย 100,000 คน เป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ อีก 100,000 คน เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 การที่โรงเรียนต้องหยุดกิจการชั่วคราว โรงเรียนก็งดจ่ายค่าจ้างให้กับครู เพราะโรงเรียนไม่มีรายได้ ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา 100,000 คน ต้องได้รับเงินทดแทนจากกองทุนประกันสังคมร้อยละ 62 ของค่าจ้าง

ดังนั้นผู้รับใบอนุญาตในฐานะผู้ประกอบการต้องออกหนังสือรับรองให้แก่ลูกจ้างที่เป็นครูและบุคลากรกรณีที่ไม่ได้จ่ายเงินค่าจ้างประกันสังคมรับผิดชอบจ่ายให้ 90 วัน หรือ 3 เดือน แต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในช่วงระยะเวลาที่เบิกเงินได้ คือต้องมีการงดการจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.- 31 ส.ค.นี้ หากกรณีโรงเรียนใดที่นายจ้างงดจ่าย 1 เดือน ก็ขอรับจากประกันสังคมได้ 1 เดือน ส่วนกรณีนายจ้างจะงดจ่ายกี่เดือนก็แล้วแต่ประกันสังคมจะรับผิดชอบจ่ายเงินให้ไม่เกิน 3 เดือน

ที่มา: Thai PBS, 29/4/2563

สธ. ร่วมกับ WHO และเครือข่าย เปิดตัวสายด่วน 3 ภาษาเพื่อนบ้าน ตอบคำถามโรคโควิด-19 แก่แรงงานข้ามชาติในไทย

29 เม.ย. 2563 ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานร่วมกับ Dr. Daniel Kertesz ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงการต่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO partners) มูลนิธิรักษ์ไทย และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ร่วมเปิดตัว “สายด่วนแรงงานข้ามชาติ” (migrant hotline) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเเละความต้องการของกลุ่มเเรงงานข้ามชาติในไทยให้เข้าถึงข้อมูลอย่างถูกต้อง

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย ทำให้เกิดความต้องการข้อมูลทางด้านสุขภาพในหลากหลายมิติ ซึ่งสายด่วนแรงงานข้ามชาตินี้จะเป็นกลไกที่สำคัญสำหรับกลุ่มแรงงานที่พำนักในประเทศไทย ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ทั้งการป้องกันตนเอง ส่งผลให้เกิดการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ โดยจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา พบว่ามีแรงงานข้ามชาติ จำนวน 42 รายป่วยด้วยโรคโควิด-19 จึงสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการกระจายข้อมูลข่าวสารที่เจาะจงต่อกลุ่มเเรงงานเหล่านี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เเละมูลนิธิรักษ์ไทย ในการช่วยตอบคำถาม ผ่านสายด่วน ซึ่งสายด่วนนี้สามารถโทรได้ที่เบอร์ 1422 (สายด่วนกรมควบคุมโรค) โดยกดหมายเลขเข้าสู่ระบบภาษาเพื่อนบ้านที่ต้องการ ดังนี้ ภาษากัมพูชา กดหมายเลข 81 ภาษาลาว กดหมายเลข 82 และภาษาเมียนมา กดหมายเลข 83 ซึ่งเบอร์สายด่วนนี้จะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

ด้าน Dr. Daniel กล่าวว่าองค์การอนามัยโลกได้ร่วมดำเนินงานกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านศักยภาพกลุ่มเจ้าหน้าที่หลักขององค์กรพัฒนาเอกชนไทย (Thai NGOs) ให้เป็นครู ก. เพื่อให้สามารถสอนแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งคิดว่าสายด่วนนี้จะสามารถลดปัญหาการไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเเละหลักประกันต่างๆ ได้

ที่มา: กรมควบคุมโรค, 29/4/2563

ลูกจ้างสายสนับสนุน ก.สาธารณสุข เรียกร้องคืนตำแหน่ง “ลูกจ้างประจำ” ยินดีจ่อบรรจุ ขรก.สายวิชาชีพ 4.5 หมื่นตำแหน่ง

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้มีการบรรจุข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข จำนวนกว่า 45,000 ตำแหน่ง หลังจากเกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้แพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีวิทยา เตรียมที่จะบรรจุเข้าเป็นข้าราชการสายวิชาชีพของกระทรวงสาธารณสุข สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงวิกฤตการณ์อย่างมาก หลังจากมีความพยายามผลักดันในเรื่องนี้มาหลายปีอย่างต่อเนื่อง

แต่ในขณะเดียวกัน ความพยายามของลูกจ้างนอกระบบราชการของรัฐในกระทรวงสาธารณสุข ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในสายงานที่เรียกว่า “สายสนับสนุน” จำนวนมาก โดยไม่มีสวัสดิการ หรือไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงานที่ปฏิบัติ เช่น พนักงานเปล พนักงาน รปภ. พนักงานผู้ช่วยพยาบาล พนักงานซักรีด ซึ่งล้วนแต่เผชิญความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือเป็นด่านหน้าในการเผชิญกับสถานการณ์แรกรับผู้ป่วย หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าบุคคลสายงานนี้อยู่ในตำแหน่งลูกจ้างสัญญาจ้าง 4 ปีเท่านั้น และจะต้องมีการต่อสัญญาทุกปีหากต้องการทำงานต่อไป

นายโอสถ สุวรรณเศวต ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย หรือ สลท. เปิดเผยว่า มติ ครม.เห็นชอบการบรรจุข้าราชการไป 4.5 หมื่นตำแหน่งในสายวิชาชีพเป็นข้าราชการ ในส่วนของสหภาพลูกจ้างมีความยินดีอย่างมาก และขอแสดงความยินดีอย่างยิ่ง แต่ในส่วนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ มองลงมายังไม่ถึง คือกลุ่มพนักงานเปล พนักงานผู้ช่วยพยาบาล พนักงานทำความสะอาด พนักงาน รปภ. พนักงานขับรถ เมื่อเห็นความสำคัญน่าที่จะนำเสนอให้รัฐบาลคืนตำแหน่งลูกจ้างประจำให้คืนตำแหน่งมาเหมือนเดิม จะเป็นพนักงานอะไรก็ตาม ในขณะนี้มีสัญญาจ้างแค่ 4 ปีเท่านั้น จะทำอะไรก็ตามไม่สามารถทำได้ ไม่สามารถสร้างความมั่นคงได้ ไม่สามารถทำธุรกรรมกับสถาบันทางการเงินได้

ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย ยังให้ข้อมูลว่า ลูกจ้างเหล่านี้มีอัตราเงินเดือนเพียงแค่ 7,590-8,300 บาทต่อเดือนเท่านั้น โดยเป็นอัตราที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำด้วยซ้ำ ส่วนตำแหน่งลูกจ้างประจำนั้น ถูกรัฐบาลยกเลิกไป ลดทอนความมั่นคงของบุคลากรสายสนับสนุน ซึ่งการเรียกร้องนั้นขอเพียงแค่คืนตำแหน่งลูกจ้างประจำกลับมาให้บุคลากรเหล่านี้ให้มีที่ยืน และมีความมั่นคงในอาชีพมากขึ้น ไม่ได้คาดหวังว่าจะถึงขั้นบรรจุเป็นข้าราชการเช่นสายวิชาชีพ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 29/4/2563

รมว.แรงงาน สั่งตั้งทีมตรวจสอบสิทธิเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 เพิ่ม

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ออกคำสั่งกระทรวงแรงงานที่ 219/2563 ลงวันที่ 27 เม.ย. 2563 "แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2563" ให้แต่งตั้งข้าราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้มีอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบข้อมูล กรณีนายจ้างหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วน เป็นการชั่วคราวพร้อมรับรองผลการตรวจสอบ และรายงานต่อสำนักงานประกันสังคมโดยเร็ว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นายจ้าง และผู้ประกันตน ตามนโยบายจ่ายสิทธิประโยชน์เงินว่างงานกรณีเหตุสุดวิสัย ซึ่งจะจ่ายให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ถูกให้หยุดงานชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งคาดการณ์ว่าออกคำสั่งนี้ จะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่วินิจฉัยได้เป็นจำนวนกว่า 1,200 ราย และจะสามารถจ่ายเงินให้แก่ผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ภายหลังรับทราบปัญหาความล่าช้าในการจ่ายเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม หลังมีผู้ประกันตนแห่ลงทะเบียนขอรับเงินชดเชยมากกว่า 1.5 ล้านคน แต่จ่ายเยียวยาได้แค่ 1.2 แสนคน ประกอบกับนายจ้างอีกเกือบ 3 แสนคน ยังไม่รับรองการหยุดงานของลูกจ้างกับสำนักงานประกันสังคม จึงทำให้ยังไม่สามารถจ่ายเงินเยียวยาในส่วนนี้ได้ ทำให้ผู้ที่ลงทะเบียนขอรับเงินชดเชยว่างงานรู้สึกไม่พอใจในความล่าช้าที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่ต้องการใช้เงินในการดำรงชีวิตอย่างเร่งด่วนในสถานการณ์ที่ต้องหยุดงานไม่มีรายได้

สำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์เงินว่างงานกรณีเหตุสุดวิสัยจะจ่ายให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ถูกให้หยุดงานชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 62% ของค่าจ้างโดยกำหนดอัตราชดเชยไว้สูงสุดไม่เกิน 9,300 บาท จนกว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง แต่ไม่เกิน 90 วัน พบว่าติดปัญหาล่าช้าจากการตรวจสอบสิทธิ เนื่องจากมีกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการตรวจวินิจฉัยสิทธิ

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 28/4/2563

'เดลินิวส์' ลดคนครั้งใหญ่ เปิดโครงการสมัครใจเกษียณอายุก่อนกำหนด ชดเชยตามอายุงาน

รายงานข่าวแจ้งว่า ประพิณ รุจิรวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและธุรกิจ บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้ออกประกาศ เรื่อง โครงการสมัครใจเกษียณอายุก่อนกำหนด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารอัตรากำลังภายในองค์กรอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และเพื่อปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนทางบุคลากร และลดภาระค่าใช้จ่ายโดยรวมในระยะยาว

โดยพนักงานบริษัทฯ ทุกระดับ ที่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ ให้ส่งรายชื่อพนักงานไปให้หัวหน้าฝ่าย เพื่อรวบรวมแล้วนำส่งมาที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ภายในวันที่ 31 พ.ค. เพื่อเสนอต่อบริษัทฯ ให้พิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ และแจ้งผลการพิจารณาให้พนักงานที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ทราบ ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยตามอายุงาน ตั้งแต่วันที่เข้าทำงานกับบริษัทฯ จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 ในอัตราตั้งแต่ 30-400 วัน ขึ้นอยู่กับอายุงาน

โครงการดังกล่าวมีหลักการก็คือ บริษัทฯ จะพิจารณาเห็นชอบพนักงานที่ขอลาออกตามโครงการฯ นี้ เป็นความต้องการและสมัครใจร่วมกันทั้งสองฝ่ายระหว่างบริษัทฯ กับพนักงาน เป็นสิทธิฝ่ายเดียวของบริษัทฯ ในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้พนักงานลาออกตามโครงการ กรณีที่มีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก บริษัทฯ สงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาคัดเลือกตามเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทฯ

พนักงานที่ได้รับการอนุมัติจากบริษัทฯ แล้ว จะยกเลิกการลาออกตามโครงการฯ ภายหลังไม่ได้ และต้องมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ พร้อมทั้งส่งมอบงานให้เรียบร้อยก่อนสิ้นสภาพการเป็นพนักงาน และบริษัทฯ จะไม่รับพนักงานที่ได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการฯ กลับเข้าทำงานในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทฯ อีก ทั้งนี้ พนักงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติ จะมีผลในวันที่ 1 ก.ค. 2563 และรับเงินค่าจ้างเดือนสุดท้ายพร้อมเงินชดเชยเป็นเช็ค ในวันที่ 30 มิ.ย. 2563

สถานการณ์ธุรกิจสื่อมวลชนในช่วงที่ผ่านมา พบว่าก่อนหน้านี้ เครือเนชั่นตัดสินใจยุบกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เว็บไซต์เนชั่นสุดสัปดาห์ และ สำนักข่าวเนชั่น ของบริษัท คมชัดลึก มีเดีย จำกัด พร้อมทั้งเลิกจ้างพนักงานลงครึ่งหนึ่ง โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึกที่มีอายุกว่า 18 ปี ได้หยุดตีพิมพ์เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยให้นำเว็บไซต์ที่เหลือไปอยู่ภายใต้การดูแลของ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NBC เจ้าของสถานีข่าวเนชั่นทีวี 22

ที่มา: Positioning, 27/4/2563

ขสมก. ตรวจเชื้อไวรัส COVID-19 ให้พนักงานขับรถและกระเป๋ารถเมล์ พร้อมเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองพนักงานก่อนออกไปให้บริการประชาชน

28 เม.ย.2563 ทีมข่าวรายการร้องทุกข์ลงป้ายนี้ ลงพืื้นที่ไปยังเขตการเดินรถที่2 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ติดตามการเพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดย ขสมก.ได้มีการตรวจหาเชื้อไว้รัส COVID-19 ให้กับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บเงินบนรถโดยสารสาธารณะฟรี โดยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลตรวจให้บริการ พร้อมกันนี้ได้เพิ่มมาตรการคัดกรองพนักงานก่อนเข้าปฏิบัติงาน ด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย โดยเครื่องเทอร์โมสแกน ถ้าอุณหภูมิร่างกายปกกติก็จะให้ออกไปปฏิบัติงานบนรถโดยสารได้ แต่หากตรวจพบว่ามีอุณภูมิสูงเกินกว่ากำหนดก็จะนำส่งโรงพยาบาลทันที

ด้านนายมนัส ครุธช่างทอง ผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่2 ขสมก. บอกว่า นอกจากการติดตั้งเจลล์ล้างมือไว้ให้บริการผู้โดยสารบริเวณประตูทางขึ้น-ลง รถทุกคันแล้ว ทาง ขสมก.ได้เว้นระยะห่างของจุดยืนและที่นั่งบนรถโดยสาร โดยกำหนดจุดให้ยืน และนำเชือกสีแดงและป้ายงดนั่งชิด โควิดป้องกันได้ ไปติดตั้งไว้ตามเบาะที่ห้ามนั่ง

ในส่วนของการทำความสะอาดรถโดยสาร ก่อนนำรถออกไปให้บริการและหลังให้บริการเสร็จสิ้น จะใช้แอลกอฮอร์บริสุทธิ์100% ฉีดพ่น เช็ด ทำความสะอาดเบาะที่นั่ง ราวจับ แอร์และพัดลม บนรถเป็นประจำทุกวัน ส่วนพนักงานทุกคนจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

ด้านประชาชนที่ใช้บริการรถเมล์ ขสมก. บอกว่า ก่อนหน้านี้มีความกังวลใจอยู่บ้างขณะอยู่บนรถที่มีผู้คนจำนวนมาก ปัจจุบันรู้สึกอุ่นใจและมั่นใจมากขึ้น ที่ทาง ขสมก. มีมาตรการป้องกันไวรัส COVID-19 ให้กับผู้โดยสาร ซึ่งประชาชนก็ปฏิบัติตามกฏระเบียบที่ทาง ขสมก. กำหนดไว้ นอกจากนี้ทาง ขสมก.ได้เพิ่มรอบในการปล่อยรถโดยสารออกไปให้บริการเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเร่งรีบ เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น หากมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับ ขสมก.แจ้งสายด่วน 1348 ตลอด 24 ชม.

ที่มา: Thai PBS, 28/4/2563 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net