COVID-19 : 2 พ.ค. ไทยป่วยเพิ่ม 6 คน ต่ำสิบต่อเนื่องติดกัน 6 วัน ยอดสะสม 2,966 คน

2 พ.ค. 2563 ศบค.สรุปมีผู้ป่วย COVID-19 แค่ 6 คนถือว่าต่ำสิบต่อเนื่องติดกัน 6 วัน สะสม 2,966 คน หายกลับบ้านรวม 2,732 คน สมช.ระบุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดขายได้ตั้งแต่ 3 พ.ค.นี้ แต่ขึ้นกับอำนาจของจังหวัดรวมทั้ง กทม. มหาดไทยแจ้งแนวปฏิบัติการส่งตัวคนไทยที่ครบระยะเวลาการกักกันไว้เพื่อสังเกตอาการกลับจังหวัดภูมิลำเนา

2 พ.ค. 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่าวันนี้พบผู้ป่วยตัวเลขต่ำกว่าสิบคนต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 พบผู้ป่วยรายใหม่แค่ 6 คน และมีผู้ป่วยสะสม 2,966 คน หายป่วยเพิ่ม 13 คน รวมสะสม 2,732 คน และไม่มีผู้เสียชีวิตใหม่ คงที่ที่ 54 คน ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 180 คน

ทั้งนี้ป่วยใหม่เป็นผู้ป่วยที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 2 คน จาก จ.ภูเก็ต 1 คน และ กทม. 1 คน และพบจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 2 คนจาก จ.ภูเก็ต และพบผู้ป่วยที่เดินทางมาจากอินเดียและญี่ปุ่น และเข้าอยู่ใน State Quarantine 2 คน

“กทม.ยังมีผู้ป่วยสะสมมากที่สุด และ 9 จังหวัดไม่พบผู้ป่วยยังคงเดิม โดย จ.ระยอง ตาก และอุดรธานีมีสถานการณ์ดีขึ้นไม่มีรายงานผู้ป่วยใหม่ในช่วง 28 วัน”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับคนไทยกลับจากต่างประเทศวันนี้มีผู้กลับมาจากคาซัคสถาน 55 คน เนเธอร์แลนด์ 50 คน และ UAE จำนวน 129 คน ส่วนวันพรุ่งนี้ (3 พ.ค.) จะมีคนไทยกลับจากสเปน 45 คน กลับมาจากสิงคโปร์ 175 คน และกลับจากรัสเซีย 70 คน โดยตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.-1 พ.ค.นี้ มีผู้กลับมาจากต่างประเทศแล้ว 3,584 คน จาก 24 ประเทศ

สมช.ระบุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดขายได้ตั้งแต่ 3 พ.ค.นี้ แต่ขึ้นกับอำนาจของจังหวัดรวมทั้ง กทม.

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่ากรณีการคลายล็อกเพื่อให้ 6 ประเภทกิจการและกิจกรรมเดินหน้าต่อได้และเริ่มวันที่ 3 พ.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้มีมาตรฐานกลางในกิจกรรมที่ผ่อนปรน และกำชับให้ควบคุม 3 ระดับจากส่วนกลางคือ ศบค. ระดับการประเมิน และในระดับพื้นที่ต้องมีแนวปฎิบัติที่ชัดเจน

“กิจกรรมผ่อนปรนที่ออกมาในราชกิจจานุเษกษา เน้นการดำเนินชีวิตและด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนผ่อนคลาย”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กำชับให้คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบ COVID-19 และกำชับปลัดกระทรวง เยียวยาด้วยการจ้างงาน รวมทั้งให้ดูแลกลุ่มคนไร้บ้าน ตกงานให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้ามาดูแล

ด้าน พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วง 1 เดือนของเม.ย.เน้นความเข้มงวด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้กระทบกับการดำเนินชีวิต และด้านเศรษฐกิจ แต่ในระยะที่ 2 ของเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 3 พ.ค.นี้ โดยกำหนดว่าช่วง 14 วันจะคงด้านสาธารณสุขเป็นหลัก และมีการประเมินและการกับในกิจกรรมที่ผ่อนคลายให้ทำกิจกรรม

มีคำถามว่าทำไมอนุญาตร้านเสริมสวย ตัดผม เพราะต้องการให้ผ่อนคลายในการดำเนินชีวิตมากขึ้น แต่ผู้ประกอบกิจการและผู้รับบริการ ยังต้องคงมาตรการดูแลป้องกันทั้ง 2 ส่วน

“ตอนสระผม ถ้าใส่หน้ากากอาจไม่สะดวก ลูกค้าอาจต้องผ่อนสายรัดหูลง แล้วใช้มือจับหน้ากากเอาไว้ ก็ต้องช่วยกันดูแลตัวเองทั้ง 2 ฝ่าย”

ส่วนการออกกำลังกายกลางแจ้ง เหตุผลเพราะคนยังมีโรคภัยอื่นๆ สิ่งสำคัญต้องมีการทำให้ร่างกายแข็งแรง ส่วนการจำกัดกีฬา บางประเภท เช่น ทำไมเล่นเทนนิสได้ เพราะต้องเล่นในพื้นที่อากาศถ่ายเท แต่ไม่อนุญาตว่ายน้ำ และแบตมินตัน ส่วนส่วนสาธารณะเพื่อให้คนออกมาเดินออกกำลังกายเดิน-วิ่งได้ รวมถึงรำไทเก๊ก ก็ทำได้

“ส่วนเหตุผลให้เปิดร้านตัดขนสัตว์ สปาสัตว์ เปิดได้เพราะยังไม่มีหลักฐานว่าจากมีปัญหาการระบาดคนสู่สัตว์ และสัตว์สู่คน ”

นอกจากนี้ เลขาธิการ สมช.กล่าวอีกว่า ส่วนเคอร์ฟิว ยังใช้คงเดิมระยะเวลา 22.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ในระยะเวลา 1 เดือน และจะมีการประเมินว่าถ้ามีการฝ่าฝนน้อยลงก็จะเริ่มมาตรการระยะ 2 และ3 แต่ขึ้นอยู่กับตัวเลขทางด้านสาธารณสุขด้วย

“คำถามการเปิดสถานพยาบาล เช่น เสริมสวย ฉีดโบท็อกในวันที่ 3 พ.ค.นี้ทำได้หรือมา เลขาฯสมช. กิจกรรมที่ทำนานก็เสี่ยงจะติดโรคทั้งจากผู้รับและผู้ให้บริการดังนั้นจะประเมินใหม่ว่าจะอยู่ในเฟส 2-3 ต่อไป สรุปว่ายังไม่รวมอยู่ในการให้เปิดในวันที่ 3 พ.ค.”

ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดขายได้ตั้งแต่ 3 พ.ค.นี้ แต่ขึ้นกับอำนาจของจังหวัด รวมทั้งกทม.นั้น อนุญาตให้ทุกร้านขาย แต่ถ้าพบมีปัญหาก็ให้อำนาจสั่งปิด ส่วนซื้อไปแล้วจะส่งผลต่อการมั่วสุม ก็ย้ำให้ขอความร่วมมืองดดื่มสุราที่ร้าน และที่บ้านพักตัวเองก็ขึ้นกับดุลยพินิจ

ศปม.ตรวจห้างเตรียมผ่อนคลายบางมาตรการ 3 พ.ค.

พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง หรือ ศปม. ลงพื้นที่ตรวจห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน และห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม ที่จะมีมาตรการผ่อนคลายตามคำประกาศจะเริ่มในวันที่ 3 พ.ค. นี้

โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดระบุว่า ได้ดูความพร้อมของกิจการที่ได้รับการอนุมัติให้เปิดกิจการได้ ว่าการเตรียมการรองรับประชาชนที่จะมาใช้บริการได้ดีเพียงใดจะได้มีการปรับมาตรฐาน และเพิ่มในส่วนที่เห็นว่าต้องเป็นไปตามมาตรฐานด้านสาธารณสุข

“ซึ่งพบว่าห้างสรรพสินค้าแห่งนี้มีการเตรียมการดีตั้งแต่ช่วงที่ผ่านมาแต่มีข้อสังเกตเพิ่มเติม เรื่องของอุปกรณ์ทำความสะอาดเช่นเจลล้างมือ รวมถึงการกระจายไม่ให้ประชาชนอยู่ใกล้ชิดกัน ซึ่งในห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ตามข้อกำหนด ซึ่งไม่สามารถนั่งทานที่ร้านได้ แต่ให้นำกลับไปทานที่บ้าน หรือสั่งเดลิเวอรี่”

ส่วนมาตรการผ่อนปรนให้จำหน่ายแอลกอฮอล์และสุรานับแต่วันที่ 3 พ.ค. นั้น ได้ย้ำว่าเจตนารมณ์ของรัฐบาลต้องการให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตเป็นปกติได้ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศก็เดินต่อได้ ซึ่งการจำหน่ายสุราเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ไม่ได้สนับสนุนให้ทุกคนมาสังสรรค์ หลังผ่อนปรนเชื่อว่าทุกคนจะรับประทานเพียงผ่อนคายในครัวเรือน พร้อมขออย่าให้เลยเป็นการสังสรรค์ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อกลับมาอีกครั้ง

ยังกล่าวย้ำถึงมาตรการผ่อนคลายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศออกมานั้น นายกรัฐมนตรีได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนและคาดหวังให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นปกติให้มากที่สุด  แต่ปัจจัยสำคัญต้องสามารถรักษาระดับการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสให้ได้

“ขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันให้ความร่วมมือด้วยการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังตามเงื่อนไขของสาธารณสุขกำหนดต่อไป ไม่ใช่ว่าเมื่อมีมาตรการผ่อนคลายแล้วทำให้ทุกคนขาดความระมัดระวังจนสถานการณ์ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นที่มีการแพร่ระบาด”

ส่วนนายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่า กทม.กล่าวย้ำให้ทุกสถานที่ในกรุงเทพมหานครนั้น ตามที่ผู้ว่าราชการฯ ได้สั่งการให้ทุกสถานที่ที่ได้รับการผ่อนคลายให้ปฎิบัติตามประกาศคำสั่งอย่างเคร่งครัด เช่นห้างสรรพสินค้าจะต้องดูแลเรื่องของจำนวนคนที่เข้ามาใช้บริการที่ต้องคำนึงถึงความหนาแน่นตามพื้นที่ตามตารางเมตร  และต้องมีมาตรการเคร่งครัดเรื่องของระบบด้านสาธารณสุข เช่น เจลล้างมือ ซึ่งกทม.จะร่วมมือกับตำรวจในการดูแล

สำหรับ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าเจ้าหน้าที่ประชุมติดตามประเมินสถานการณ์ทุกวัน ร่วมกับ กทม.และคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด ขณะเดียวกันมีตัวชี้วัดสถานการณ์หลายตัวโดยเฉพาะข้อมูลด้านสาธารณสุข นำตัวเลขสถิติมาพิจารณาว่า มาตรการผ่อนคลายส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง เช่นการละเมิดกฎหมาย ซึ่งหลังจากนี้จะมีการประเมินกันทุกสัปดาห์เพื่อให้ผู้บัญชาการระดับสูงรับทราบ 

ขณะที่เรื่องของการจำหน่ายสุราจะเป็นไปตามกฎหมายกำหนด  ซึ่งในช่วงนี้แม้จะมีการผ่อนคายเรื่องของการจำหน่ายสุรา ซึ่งการจำหน่ายสุราในที่สาธารณะไม่สามารถจะทำได้ โดยเฉพาะเรื่องของกติกาเคอร์ฟิวมีเวลากำหนด ขณะเดียวกันไม่สามารถดื่มสุราในที่สาธารณะได้  ต้องอยู่ในเคหะสถานเท่านั้น 

“ฝ่ายความมั่นคงจะมีทหารและตำรวจสนธิกำลังกับสาธารณสุข เป็นชุดเคลื่อนที่เร็ว ตรวจตราดูสถานที่ต่างๆที่ได้รับการผ่อนคลายหรือสถานที่ที่ได้รับแจ้งว่ามีการจำหน่ายที่ผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดให้ดีที่สุด”

รองผู้บัญชาการตำจรวจแห่งชาติระบุว่า ขณะที่ช่วงระยะเวลาสัปดาห์หน้าที่ประชาชนจะทยอยเดินทางเข้ากลับมาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มาตรการจะต้องพิจารณาตามข้อกำหนดของคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดแต่ละจังหวัดซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่ละจังหวัดที่ต่างกันด้วย

ทั้งนี้ในพื้นที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนจะเปิดให้บริการประชาชนเข้ามาซื้อสินค้าเพียงบริเวณชั้น G ซึ่งเป็นชั้นของซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารที่จำหน่ายสำหรับให้นำกลับไปรับประทานที่บ้าน ขณะเดียวกันมาตรการด้านสาธารณสุขของห้าง มีการจัดระเบียบตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ โซเชียลดิสแทนซิ่ง โดยกำหนดพื้นที่เว้นระยะห่างสำหรับการเดินซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตมาตั้งแต่มีทีระเบียบมาตรการออกมาตั้งแต่การสั่งปิดห้างและเปิดเพียงโซนซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วก่อนหน้านี้

มหาดไทยแจ้งแนวปฏิบัติการส่งตัวคนไทยที่ครบระยะเวลาการกักกันไว้เพื่อสังเกตอาการกลับจังหวัดภูมิลำเนา

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่าตามที่กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งแนวทางปฏิบัติในการเดินทางกลับของคนไทยจากประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางในพื้นที่จังหวัดชายแดน โดยให้ทุกจังหวัดดำเนินการกักกันคนไทยกลุ่มดังกล่าวไว้ในสถานที่กักกันของจังหวัด (Local Quarantine) เพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน ตามมาตรการทางสาธารณสุข

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือแจ้งจังหวัดเพื่อแจ้งแนวทางปฏิบัติในการเดินทางกลับของคนไทยที่ครบระยะเวลาการกักกันไว้เพื่อสังเกตอาการกลับภูมิลำเนา ดังนี้
     
1.ในกรณีผู้ที่จะครบระยะเวลาการกักกันประสงค์จะเดินทางกลับด้วยตนเอง เมื่อครบระยะเวลาการกักกันแล้ว ให้เดินทางกลับได้ ทั้งนี้ หากจังหวัดภูมิลำเนาหรือจังหวัดปลายทางที่จะเดินทางไปมีมาตรการเฉพาะ เช่น การกักกันภายในที่พักอาศัย จังหวัดต้นทางต้องแจ้งให้ผู้เดินทางทราบว่าเมื่อเดินทางไปถึงให้ไปรายงานตัวตามสถานที่และดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดด้วย 
     
2.หากผู้ที่จะครบระยะเวลาการกักกันประสงค์ให้ภาครัฐจัดส่ง ให้จังหวัดต้นทางมอบหมายสำนักงานขนส่งจังหวัดหรือหน่วยงานที่กระทรวงคมนาคมมอบหมาย จัดหายานพาหนะ กำหนดเส้นทางการเดินทาง และจุดจอดรถตามความเหมาะสม พร้อมออกหนังสือรับรองให้แก่ผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะไปส่งผู้ผ่านการกักกันแล้วตามจุดหมายที่กำหนด และให้จังหวัดปลายทางมอบหมายสำนักงานขนส่งจังหวัดหรือหน่วยงานที่กระทรวงคมนาคมมอบหมาย จัดยานพาหนะไปรับผู้ที่ครบระยะเวลาการกักกัน ณ จุดจอดรถที่นัดหมาย หากจังหวัดต้นทางจัดยานพาหนะไปส่งไม่ถึงจังหวัดปลายทาง

ทั้งนี้ ได้ให้จังหวัดต้นทางซึ่งเป็นสถานที่กักกันดำเนินการสำรวจและจัดทำข้อมูลการเดินทางกลับของผู้ครบระยะเวลาการกักกัน แจ้งจังหวัดภูมิลำเนาหรือจังหวัดปลายทางทราบและประสานการดำเนินการ และให้จังหวัดต้นทางจัดทำหนังสือรับรองให้แก่ผู้ที่ครบระยะเวลาการกักกันตามแบบที่กรมควบคุมโรคกำหนดด้วย

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] [3]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท